แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 165

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้าพเจ้ากลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

ละอภิชฌาในโลกได้แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา

ละความชั่ว คือ พยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่ว คือ พยาบาท

ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ

ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ

ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้ ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

ต่อจากนั้นเข้าฌาน ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จนถึงจตุตถฌาน

ถ้าท่านผู้ใดพบพยัญชนะที่เกี่ยวกับเสนาสนะป่า หรือซอกเขา โคนไม้ ป่าช้า ป่าชัฏ ลอมฟาง ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่เจริญความสงบแล้วก็ได้ฌาน ไม่ใช่ว่าท่านสับสนกันในการเจริญสติปัฏฐานและในการเจริญสมถภาวนา เพราะก่อนที่ท่านจะยินดีในเสนาสนะอันสงัด ท่านเป็นผู้ที่ประกอบด้วยอินทรียสังวร คือ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ และได้ฌานด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้าพเจ้าเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว จึงได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ข้าพเจ้าได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะ

บางท่านยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติ เช่น บางท่านคิดว่าขณะที่กำลังเข้าใจความหมาย เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ จะต้องกั้นอยู่เพียงแค่เห็น ไม่ให้รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูก เพราะการรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการที่สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ท่านผู้ฟังถามว่า เมื่อเห็นคนที่ไม่ชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจขึ้น จะทำอย่างไร

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อักขมสูตร เฉพาะข้อความตอนท้ายมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรูปอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุ ย่อมไม่กำหนัดในรูปที่ชวนให้กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้ชอบ

สำหรับเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็โดยนัยเดียวกัน ทุกคนต้องอดทน เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ เมื่อเห็นแล้วให้เป็นผู้อดทน ไม่ได้มีข้อความบอกว่า พอเห็นแล้วไม่ให้รู้ว่าเป็นอะไร ไม่ได้บอกว่า พอได้ยินแล้วไม่ให้รู้ความหมาย

และการอดทนได้จริงๆ ต้องเป็นไปโดยลำดับขั้นด้วย เพราะเหตุไร นึกอดทนเอาเองได้ไหม พอเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็นึกอดทนเอาเองว่า อย่าโกรธ หรืออย่าโทมนัส อย่าขัดเคือง หรือเห็นสิ่งที่น่าพอใจก็เหมือนกัน จะห้ามไม่ให้เกิดความยินดีพอใจก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายนั้นเป็นอนัตตา อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เมื่อยังมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความยินดี ความยินดีก็เกิด เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความยินร้าย ความยินร้ายก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้น การละหรือการเป็นผู้อดทนสามารถที่จะตั้งจิตไว้ชอบนั้น ก็โดยที่สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วว่า แม้แต่ความไม่แช่มชื่น ความไม่ชอบใจ ความโทมนัส ความขัดเคืองนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติเป็นผู้ที่หวั่นไหวต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์น้อยลง เพราะระลึกได้ รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ไปบังคับด้วยความเป็นตัวตน นั่นเป็นความเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองสามารถบังคับสภาพธรรมได้ แต่ไม่ใช่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นปกติเพราะมีเหตุปัจจัย และสติก็ระลึกรู้สภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องประสบ

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต โสตวสูตร มีข้อความว่า

ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง ย่อมตั้งใจ สำรวมใจ เงี่ยโสตลงฟังธรรม ในเมื่อผู้อื่นแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว สำรวมอินทรีย์ ไม่ถือโดยนิมิต และโดย อนุพยัญชนะ

ซึ่งการสำรวมอินทรีย์ ไม่ถือโดยนิมิต โดยอนุพยัญชนะนั้น ก็เพื่อไม่ให้อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ในพระไตรปิฎกจะพบพยัญชนะที่ว่า เพื่อไม่ให้อภิชฌาและโทมนัสครอบงำ แต่ไม่ใช่เพื่อไม่ให้รู้ความหมายของสิ่งที่เห็น ไม่ใช่เพื่อไม่ให้รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยิน ถ้าสติระลึกได้ อภิชฌาและโทมนัสก็ครอบงำไม่ได้ แต่ถ้าขณะใดที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นอภิชฌาและโทมนัสก็ครอบงำได้

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งก่อนนั้นสนใจเจริญวิปัสสนา ได้พยายามพากเพียรปฏิบัติโดยวิธีต่างๆ เท่าที่ได้ยินได้ฟัง แต่เมื่อท่านเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานว่า เป็นปกติ เป็นธรรมดา ไม่ต้องไปทำให้ผิดปกติ ไม่ต้องไปทำให้ผิดธรรมดาเลย เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏเป็นปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อท่านมีความตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐานอย่างนี้ ท่านก็ถูกชักชวนให้ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ซึ่งเป็นสถานที่ที่จำกัดในข้อปฏิบัติ จำกัดในการรู้ลักษณะของนามและรูปว่า ให้รู้เฉพาะบางรูปบางนาม หรือว่าบางอารมณ์เท่านั้น ซึ่งท่านผู้นั้นก็ได้กล่าวกับผู้ที่ชักชวนท่านว่า ท่านได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะมากจะน้อยก็เป็นเรื่องของสติ ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ท่านที่ชักชวนก็กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้นจะไม่ได้ผล เพราะเหตุว่าช้า ไม่เหมือนกับการไปสู่สถานที่ที่จำกัด ซึ่งมีข้อปฏิบัติที่ทำให้สามารถที่จะได้รับผลอย่างรวดเร็ว ท่านก็กล่าวตอบว่า ถ้าไปสู่สถานที่ที่จำกัด และจำกัดความรู้เฉพาะบางนามบางรูป ท่านก็ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น ผลที่ได้ จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ หรือญาณอื่นๆ ก็ตาม ก็เป็นการไม่รู้อะไร แต่มุ่งหวังในผลอย่างรวดเร็ว โดยการรู้เฉพาะเพียงบางนามบางรูป ก็ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างทั่วถึง

สำหรับตัวท่านเอง ท่านเจริญสติปัฏฐานเพื่อความรู้ในชีวิตของท่านจริงๆ สภาพนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับท่านเป็นปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ ท่านเจริญสติเพื่อรู้ว่า ขณะใดที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น มีความชอบใจ เพราะอาศัยทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะใดที่เกิดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ความอิสสา หรือสภาพของมานะ ความสำคัญตน ท่านก็เจริญสติเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พอจะวินิจฉัย พิจารณา ตัดสินได้ว่า ข้อปฏิบัติใดจะทำให้เกิดญาณ ความรู้ที่ชัดเจนในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับตัวท่านเป็นปกติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

และสำหรับญาณต่างๆ จะมีอะไรเป็นเครื่องวัด เครื่องเทียบว่าเป็นวิปัสสนาญาณ หรือว่าไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ซึ่งวิปัสสนาญาณนั้น เป็นความรู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ ไม่มีลักษณะจริงๆ ของอารมณ์ปรากฏให้รู้ชัด จะกล่าวว่า มีปัญญารู้ชัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลานี้อารมณ์ปรากฏ ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่ท่านต้องการวิปัสสนาญาณกันมาก จนข้ามความรู้ในลักษณะของอารมณ์ ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน

. อานาปานสตินี้แยกออกเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งเป็นทางสติปัฏฐาน อีกนัยหนึ่งเป็นทางสมถะ สับสนว่าจะอย่างไรกัน คือ จะเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าจะเจริญสมถะให้เป็นสมาธิเสียก่อน แล้วจึงเจริญสติปัฏฐานต่อไป ช่วยกรุณาชี้แจง

สุ. สำหรับอานาปานสติ หรือ อานาปานสติสมาธิ หรือ อานาปานบรรพ

ใน มหาสติปัฏฐานสูตร กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพแรก คือ อานาปานบรรพ หมายความถึง บรรพ หรือหมวด ในการเจริญสติเพื่อให้รู้สภาพของกาย โดยระลึกรู้ที่ลมหายใจ ใช้คำว่า อานาปานบรรพ คือ หมวดของ "กองลมหายใจ" แต่ในการระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงรูปธรรม เป็นส่วนหนึ่งของกาย คือ รูปกาย ต้องอาศัยสติ เวลานี้ทุกคนมีนาม มีรูป ลมหายใจก็มี แต่ก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจว่า ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั้น เพราะมีสภาพอย่างไร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นแต่เพียงลักษณะที่อ่อน หรือเบา ร้อน หรือเย็น ที่กระทบช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก ปรากฏเพียงชั่วครู่นิดเดียวแล้วก็หมดไป

แต่สำหรับอานาปานสติสมาธิ เป็นเรื่องของสมถภาวนา ซึ่งการที่จะให้จิตสงบจากโลภะ โทสะ ก็จะต้องอาศัยการจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด ในครั้งพุทธกาลได้มีการเจริญอานาปานสติสมาธิ การที่จะให้จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจให้เป็นสมาธิที่มั่นคงขึ้น ต้องอาศัยสติระลึกที่ลมหายใจ ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้จิตสงบขึ้นจนกระทั่งเกิดเป็นนิมิต มีจิตที่เป็นสมาธิมั่นคงยิ่งขึ้น จากอุปจารสมาธิถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิตขั้นต่างๆ นั่นเป็นอานาปานสติสมาธิ เป็นเรื่องของสมถภาวนา

สำหรับอานาปานสตินั้น เป็นการเจริญ สมถภาวนาในลักษณะหนึ่ง และวิปัสสนาภาวนาก็ในลักษณะหนึ่ง

ถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนาแล้ว ต้องการให้จิตสงบมั่นคงถึงขั้นฌานจิต แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดจะถึงหรือว่าไม่ถึง

แต่ถ้าเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อละความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูป เพื่อไม่ยึดถือนามและรูปที่ปรากฏ ไม่หลงเข้าใจผิดยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน นี่เป็นจุดประสงค์ของการเจริญวิปัสสนา โดยการที่สติระลึกรู้สภาวะลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะเวลาที่ลมหายใจปรากฏ ก็มีลักษณะที่เบา หรืออ่อน หรือแรง หรือร้อน หรือเย็น หรือตึง หรือไหว

เพราะฉะนั้น การเจริญอานาปานบรรพ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่บังคับ หรือไม่ใช่ต้องไปเจริญอานาปานสติสมาธิให้ถึงฌานจิตเสียก่อน จึงจะมีสติระลึกรู้ลมที่ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงรูปธรรม

ถ้าท่านจะเจริญสติปัฏฐาน เจริญวิปัสสนาภาวนา ไม่ใช่สมถภาวนา สติของท่านผู้หนึ่งผู้ใดมักจะระลึกที่ใด คนอื่นบอกได้ไหม ก็ไม่ได้ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บางท่านอาจจะระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กาย บางท่านอาจจะระลึกรู้ลักษณะของนามที่กำลังเห็น ระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจบ้างหรือเปล่า เย็นกำลังเกิดปรากฏกระทบส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เป็นลมที่พัดมาจากทิศหนึ่งทิศใดก็ได้ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของลมเย็นที่ปรากฏที่กาย และลมหายใจของท่านก็เย็นร้อนเหมือนกัน มีท่านผู้ใดระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจที่เย็นหรือที่ร้อน ที่ตึงหรือที่ไหวในขณะนี้บ้าง

สำหรับท่านที่เคยอบรมอานาปานสติสมาธิมาก่อน โดยให้จิตตั้งมั่นจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ ท่านเหล่านั้นเคยอบรมมาแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ลมก็ย่อมปรากฏกับท่านที่เคยอบรมการเจริญ อานาปานสติสมาธิแล้ว แม้ว่าในขณะนั้นท่านไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้จิตสงบเป็นสมาธิที่ลมหายใจ แต่ว่าเมื่อลมหายใจปรากฏ สติก็ระลึก

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องห้าม ไม่ใช่เรื่องบังคับ ไม่ใช่เรื่องกฎเกณฑ์ ไม่ใช่เรื่องที่ว่า ท่านผู้ใดจะเจริญอานาปานบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านจะต้องไปตั้งต้นด้วยการเจริญอานาปานสติสมาธิให้เป็นฌานจิตแล้วจึงจะเจริญอานาปานบรรพในมหาสติปัฏฐาน

ถ้าปัจจุบันชาติ ท่านไม่เคยเจริญอานาปานสติสมาธิ แต่ในอดีตชาติท่านเคยอบรมการเจริญอานาปานสติสมาธิ เวลาที่ท่านฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ถ้าลมหายใจปรากฏ สติสามารถที่จะระลึกรู้ และประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของลมหายใจได้

เพราะฉะนั้น เรื่องการเจริญสติปัฏฐานทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องกฎเกณฑ์ ผลและอานิสงส์อย่างสูงในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เพียงให้จิตสงบเป็นสมาธิ แต่เพื่อปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้บุคคลในครั้งพุทธกาลก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เคยเจริญฌาน เจริญสมถภาวนา หรือแม้อานาปานสติสมาธิ แต่นั่นไม่ใช่อานิสงส์สูงสุดในพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เคยอบรมเจริญอานาปานสติสมาธิ ก็ไม่ใช่ควรจะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น เวลาที่สติของผู้นั้นเกิดระลึกที่ลมหายใจ ที่จะมีอานิสงส์มาก มีผลมากนั้น เพราะรู้ว่าเป็นกาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

. ทำไมประตูของโลกจึงปิดหมด หน้าต่างทำไมปิดหมด

สุ. ท่านผู้ฟังถามว่า เวลานั่ง แล้วทำไมประตูของโลกปิดหมด ขณะนี้เห็นอะไรไหม ถ้าเห็น ประตูตาก็ไม่ได้ปิด ถ้าเป็นปัญญาแล้ว ต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

. ไปทางสมาธิหมายความว่าอะไร หูก็อื้อ ไม่ได้ยินเลย

สุ. นั่นไม่ใช่สภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน

เปิด  378
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566