แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 166

การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ท่านผู้ฟังจะรู้จักสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ มีนามธรรมและรูปธรรม นามธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธาน คือ จิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ โดยประเภทที่เป็นการเกิดของจิตที่เรียกว่าโดยชาติแล้ว มี ๔ ชาติ คือ เป็นอกุศล ๑ เป็นกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑

อกุศลจิต มีเหตุที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลที่ไม่ดี เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากจิต

กุศลจิต เป็นจิตที่ดีงาม เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลคือ กุศลวิบากจิต

สำหรับจิตประเภทวิบากนั้น ไม่ใช่เหตุ แต่เกิดขึ้นเพราะอกุศลจิตเป็นปัจจัยและกุศลจิตเป็นปัจจัย อกุศลจิตเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิด และกุศลจิตก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตเกิด อกุศลจิตจะไปเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตเกิดไม่ได้ และกุศลจิตจะไปเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดไม่ได้ เหตุกับผลต้องตรงกัน

และมีจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต จิตประเภทนั้นเป็นกิริยาจิต ส่วนมากเป็นจิตของพระอรหันต์ แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิต ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนจิต

ใน จิตตานุปัสสนา บรรพแรก คือ สราคจิต ได้แก่ จิตมีราคะ ซึ่งได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ดวง

สำหรับบรรพต่อไปยิ่งเป็นเครื่องชี้ให้ท่านเห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดต่อไป ได้แก่ วีตราคจิต คือ จิตปราศจากราคะ

ใน ปปัญจสูทนี มีคำอธิบายว่า

สำหรับจิตปราศจากราคะ คือ วีตราคจิตนั้น ได้แก่ จิตอันเป็นกุศลและ อัพยากตะ อันเป็นโลกียะ

ที่ทรงจำแนกไว้ในพระไตรปิฎกโดยละเอียดเพื่อที่ว่า เมื่อสติของท่านผู้ใดระลึก ก็จะได้รู้ชัดในสภาพของจิตชนิดหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน แล้วจะได้ละคลายไม่ยึดถือว่า สภาพจิตนั้นๆ เป็นตัวตน ธรรมดาของจิตนั้นเป็นอกุศลมากกว่ากุศล ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ก็ย่อมจะเป็นโลมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น ที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่ายังธรรมอันลามกให้สะเทือน ให้หวั่นไหว ให้พินาศ

เพราะฉะนั้น อย่ารังเกียจกุศลจิตทุกประการ หรืออย่าคิดว่าท่านจะเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของกุศลจิตไม่ได้ แม้โลภมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลจิต สติก็ยังระลึกรู้ได้ แล้วทำไมฝ่ายกุศลธรรม คือ กุศลจิตที่เกิดขึ้น สติจะระลึกรู้ไม่ได้ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง

การรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้นจะต้องขัดเกลาจิตทุกประการ ถ้าท่านตรวจสอบดูในพระไตรปิฎก สำหรับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนแล้วนั้น ขัดเกลาทั้งพระวินัย และพระธรรมที่ทรงแสดง จึงควรสะสมหรือว่าให้กุศลจิตเกิด เพราะว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นยังธรรมอันลามกให้สะเทือน ให้หวั่นไหว ให้พินาศได้

นอกจากนั้น ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า บั่นรอน คือ ตัดสภาพที่นอนอยู่ ด้วยอาการที่น่าเกียจ คือ อกุศลธรรม ให้อกุศลธรรมนั้นเบาบางลง

นอกจากนั้น กุศลธรรมนั้น เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ มีสุขเป็นวิบาก ไม่มีโรค เป็นความฉลาดด้วย

โดยมากสิ่งจะที่กั้นท่านไว้ คือ ความไม่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน คิดว่าขณะที่ให้ทานเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ คิดว่าขณะที่ฟังธรรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ คิดว่าขณะที่แสดงธรรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ คิดว่าขณะที่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แต่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ไม่ว่ากุศลจิตจะเป็นไปในขณะใด สติก็ย่อมระลึกรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคลได้

สำหรับประโยชน์ของกุศลธรรม ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาตอัปปมาทสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเท่าใด ไม่มีเท้าก็ดี สองเท้าก็ดี สี่เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ดี พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดของสัตว์เหล่านั้น ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดของกุศลธรรมเหล่านั้น

แสดงให้เห็นว่า เวลาที่กุศลจิตจะเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนาก็ตาม จะต้องเพราะมีความไม่ประมาท ประชุมลงในความไม่ประมาท มีความไม่ประมาทเป็นมูล กายทุจริตย่อมเกิดขึ้นได้ในขณะที่ประมาท สติไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมนั้นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควร วจีทุจริตเกิดได้ในขณะที่ประมาท สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะว่า วาจาเช่นนั้นควรหรือไม่ควร

เพราะฉะนั้น จะเห็นคุณของสติว่า ถ้าปราศจากสติซึ่งเป็นธรรมที่ระลึกแล้วกุศลจิตย่อมเกิดไม่ได้ กำลังให้ทานที่ไหนก็ได้ กำลังถวายอาหารบิณฑบาตที่ไหนก็ได้ เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ได้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังจะกล่าววจีทุจริต แต่วิรัติเพราะเห็นว่า ไม่เกื้อกูล ไม่เป็นประโยชน์ สภาพธรรมที่วิรัติในขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง จิตในขณะนั้นเป็นกุศลจิต เวลาที่สติระลึกรู้ แม้ในขณะนั้นก็รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่สภาพของนามธรรม

อัฏฐสาลินี ซึ่งเป็นอรรถกถา ธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กล่าวถึงลักษณะของ สติ ว่า สตินั้น มีการระลึกได้ เป็นลักษณะ

ตรงกับสภาพธรรมที่ท่านเจริญหรือเปล่า ระลึกขณะใด รู้ลักษณะสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏ อีกพยัญชนะหนึ่ง มีข้อความว่า

มีการเข้าไปช่วยประคอง เป็นลักษณะ

มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ คือ เป็นรสะ

มีการรักษาอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ คือ เป็นปัจจุปัฏฐาน

เช่น ขณะที่กำลังรู้สึกเย็นตรงส่วนหนึ่งส่วนใด ปกติธรรมดา แล้วสติระลึกรู้สภาพที่เย็นส่วนนั้น ในขณะนั้นเป็นกิจของสติที่ว่า มีการรักษาอารมณ์ที่กำลังปรากฏให้ปรากฏโดยสภาพความเป็นอารมณ์นั้นจริงๆ

มีความจดจ่อต่ออารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน

มีสัญญาอันมั่นคง เป็นปทัฏฐาน

สัญญา คือ ความจำ ถ้าท่านไม่เคยฟังเรื่องของสัมมาสติเลย สัมมาสติก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้าเคยฟังเรื่องของสัมมาสติ และมีสัญญาความจำสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มีการพิจารณา และไม่ลืมสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ อารมณ์อะไรก็ได้ ถ้าท่านมีสัญญาความจำอันมั่นคงในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้พิจารณาแล้ว ก็เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้สติระลึกได้

อัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ ได้แสดงปทัฏฐาน เหตุใกล้ให้เกิดของสติอีกนัยหนึ่ง คือ

มีสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน

นอกจากนั้นยังมีข้อความว่า

พึงเห็นว่า เป็นเช่นเดียวกับเสาเขื่อน เพราะตั้งมั่นในอารมณ์ และพึงเห็นว่า เป็นเสมือนนายประตู เพราะรักษาจักขุทวาร เป็นต้น

สติเมื่อเกิดขึ้น ย่อมให้ใคร่ครวญคติธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และมิได้เป็นประโยชน์เกื้อกูลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์เกื้อกูล ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ดังนี้

บรรเทาธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ประคองไว้แต่ธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล สติมีการประคอง คือ ประคองให้อยู่ในกุศลธรรมเป็นลักษณะอย่างนี้

สติย่อมให้กำหนด หรือย่อมให้ระลึกถึงกุศลธรรมโดยชอบ เป็นอินทรีย์ เพราะครอบงำความเป็นผู้หลงลืมสติเสียได้

อกุศลจิตเกิด ผู้ที่เจริญสติก็ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลจิต แต่ไม่ใช่ไปห้าม หรือไปสั่ง หรือไปบอกให้ตั้งต้นอย่างนั้น ตั้งต้นอย่างนี้ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดของรูปใด

ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง นามธรรมชนิดนี้เกิดบ่อยไหม ใครทราบ ถ้าไม่ได้เจริญสติจะทราบไหม วันหนึ่งๆ นามธรรมประเภทไหนเกิดมากกว่ากัน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ถ้าสภาวะลักษณะของจิตในขณะนั้นไม่ปรากฏ

สภาวะลักษณะที่ดีงามขณะที่ให้ทาน จะถวายอาหารบิณฑบาต หรือให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ผู้ที่เจริญสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ว่าขณะที่เจริญสติปัฏฐานแล้วให้ทานไม่ได้ แต่ไม่ว่าชีวิตปกติประจำวันของท่านจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังเป็นจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

จะเห็นได้ว่า การเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนหรือผิดไปนั้น มีไม่น้อยเลย และมีในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ถ้าจะไม่กล่าวถึงในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน จะกล่าวถึงความเข้าใจธรรมทั่วๆ ไป บางท่านก็คิดว่า ทานไม่มีประโยชน์เลย ให้แล้วก็หมดไป ผู้ที่เข้าใจอย่างนี้ก็มี และเป็นผู้ที่ไม่ให้ทาน เพราะว่าไม่เห็นประโยชน์ของทาน บางคนเข้าใจผิดในการให้ แม้ในครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเองก็ยังถูกบุคคลอื่นเข้าใจผิด

ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค กุลสูตรข้อ ๖๒๐ มีข้อความว่า

สมัยหนื่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงนาฬันทคาม ได้ยินว่า สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้นาฬันทคาม สมัยนั้นแล ชาวนาฬันทคามมีภิกษาหาได้ยาก เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยสลาก (บัตรปันส่วน)

สมัยนั้นแล นิครณฐ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ในนาฬันทคาม พร้อมด้วยบริษัท นิครณฐ์เป็นอันมาก ครั้งนั้นนายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตร สาวกนิครณฐ์ เข้าไปหานิครณฐ์นาฏบุตรยังที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วนิครณฐ์นาฏบุตรได้พูดกับนายคามณีอสิพันธกบุตรว่า

มาเถิด นายคามณี จงยกวาทะแก่พระสมณโคดม กิตติศัพท์อันงามของท่านจักขจรไปอย่างนี้ว่า นายคามณีอสิพันธกบุตร ยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้

นายคามณีก็ถามว่า

ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างไร

นิครณฐ์นาฏบุตรก็กล่าวว่า

มาเถิดท่านคามณี จงเข้าไปหาพระสมณโคดม ครั้นแล้วจงกล่าวกะพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยเอนกปริยายมิใช่หรือ ถ้าพระสมณโคดมถูกท่านถามอย่างนี้แล้ว ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า อย่างนั้นนายคามณี ตถาคตสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยเอนกปริยาย

ท่านจงกล่าวกะพระสมณโคดมนั้น อย่างนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช่นนั้น ทำไมพระผู้มีพระภาคกับพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมากจึงเที่ยวจาริกอยู่ในนาฬันทคามอันเกิดทุพภิกขภัย เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยฉลากเล่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อตัดรอนสกุล เพื่อให้สกุลเสื่อม เพื่อให้สกุลคับแค้น

ดูกร นายคามณี พระสมณโคดมอันท่านถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจคาย จะไม่อาจกลืนได้เลย

อสิพันธกบุตรก็รับคำนิครณฐ์นาฏบุตร แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลตามที่นิครณฐ์นาฏบุตรได้สั่งสอนให้กราบทูลทุกประการ

ได้ทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยเอนกปริยายมิใช่หรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

อย่างนั้น นายคามณี ตถาคตสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยเอนกปริยาย

ซึ่งอสิพันธกบุตร ก็ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช่นนั้น ทำไมพระผู้มีพระภาคกับพระภิกษุสงฆ์ เป็นอันมาก จึงเที่ยวจาริกอยู่ในนาฬันทคาม อันเกิดทุพภิกขภัย เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยฉลากเล่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อตัดรอนสกุล เพื่อให้สกุลเสื่อม เพื่อให้สกุลคับแค้น

พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติผิดหรือถูกในการประทับที่ใกล้เมืองนาฬันทคาม ซึ่งขณะนั้นมีทุพภิกขภัย ชาวบ้านฝืดเคืองเป็นอันมาก ถ้าไม่เข้าใจเหตุผลเรื่องของกุศลกรรมและกุศลวิบาก อกุศลกรรมและอกุศลวิบาก ก็จะเข้าใจคลาดเคลื่อน และอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติผิด

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร นายคามณี แต่ภัทรกัปป์นี้ไป ๙๑ กัปป์ที่เราระลึกได้ เราไม่รู้สึกว่าเคยเบียดเบียนสกุลไหนๆ ด้วยการถือเอาภิกษาที่สุกแล้วเลย อนึ่งเล่า สกุลเหล่าใดมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีทรัพย์ คือ เครื่องอุปกรณ์มาก มีทรัพย์ คือ ข้าวเปลือกมาก สกุลทั้งปวงนั้นเจริญขึ้นเพราะการให้ทาน เพราะสัจจะและสัญญมะ

ดูกร นายคามณี เหตุปัจจัย ๘ อย่าง เพื่อความคับแค้นแห่งสกุลทั้งหลาย คือ สกุลทั้งหลายถึงความคับแค้นจากพระราชา ๑ จากโจร ๑ จากไฟ ๑ จากน้ำ ๑ และทรัพย์ที่ฝังไว้เคลื่อนจากที่ ๑ ย่อมวิบัติเพราะการงานที่ประกอบไม่ดี ๑ทรัพย์ในสกุลเกิดเป็นถ่านไฟ ๑ คนในสกุลใช้จ่ายโภคทรัพย์เหล่านั้นฟุ่มเฟือย ให้พินาศสูญหายไป ๑ ความไม่เที่ยงเป็นที่ ๘

ดูกร นายคามณี เหตุปัจจัย ๘ อย่าง เหล่านี้มีอยู่ ผู้ใดพึงว่าเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคปฏิบัติเพื่อให้สกุลขาดสูญ เพื่อให้สกุลเสื่อม เพื่อให้สกุลคับแค้น ดังนี้ ผู้นั้นยังไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่สละทิฏฐินั้น ต้องดิ่งลงในนรกแน่แท้

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายคามณีอสิพันธกบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเจ้าข้า

เปิด  393
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566