แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 167

เหตุที่ทำให้ฝืดเคือง มีชีวิตที่ลำบากยากไร้นั้นมีแล้วในอดีต ไม่ใช่ว่า ผู้มีพระภาคไปทรงเบียดเบียนบุคคลเหล่านั้น บุคคลเหล่านั้นจึงได้เกิดทุพภิกขภัย หรือมีชีวิตที่ฝืดเคือง นี่เป็นกรรมที่ได้กระทำไว้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ เพราะถึงแม้ว่าจะมีวัตถุไทยธรรมน้อย แต่สามารถที่จะสละให้ได้ ขณะจิตนั้นก็เป็นกุศลจิต อย่าสับสนระหว่างเหตุกับผล เวลาที่เห็นใครมีชีวิตลำบากยากไร้ขัดสน แล้วคิดว่า เป็นเพราะเหตุที่พระภิกษุบิณฑบาต หรือว่าเบียดเบียน ความเข้าใจอย่างนั้นไม่ถูก แต่การที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ใกล้นาฬันทคามนั้น เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลที่ไม่ได้กระทำบุญไว้ในอดีตได้กระทำ และผลที่ดีที่เกิดจากการถวายไทยธรรม หรือถวายภัตตาหารแก่พระองค์ ก็จะเกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่า อสิพันธกบุตรซึ่งเป็นนายบ้าน ยอมจำนนต่อเหตุผล จึงสามารถละทิ้งความเห็นผิด แต่ถ้าบุคคลใดถึงแม้ว่าจะศึกษาพระธรรม แต่ไม่พิจารณาเหตุผล ไม่ถือเหตุผลเป็นประมาณ ย่อมจะไม่ละความเห็นผิด แม้ในขณะที่ให้ทาน สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป เป็นการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อย่าเข้าใจผิดว่า การเจริญวิปัสสนาหรือการเจริญสติปัฏฐานนั้นให้ทานไม่ได้ ขอให้ดูชีวิตของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและวิสาขามิคารมารดา ซึ่งเป็นพระอริยสาวก ท่านให้ทานอย่างมากทีเดียว

พระอริยสาวกที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นเสกขบุคคล ต้องเจริญสติปัฏฐานต่อไป เจริญปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปต่อไปจนกว่าจะเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้น เพราะฉะนั้น ชีวิตปกติของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและวิสาขามหาอุบาสิกานั้น ท่านก็เจริญสติปัฏฐาน ท่านไม่หลงเข้าใจผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ และท่านก็ถวายทานเป็นอันมาก ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐานแล้วให้ทานไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ใช่ชีวิตปกติประจำวัน เพราะเหตุว่าการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงต้องเป็นการรู้สภาพชีวิตจริงๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

อย่างจิตตานุปัสสนา บรรพที่ไม่ใช่สราคจิต ระลึกรู้ในขณะที่จิตเป็นกุศล ในขณะที่จิตเป็นวิบาก การที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ได้ยินเสียงต่างๆ ได้กลิ่นต่างๆ รู้รสต่างๆ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้หนึ่งผู้ใดเลย เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทำไว้ เพราะฉะนั้น สติระลึกรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ไปกั้น ไปสร้างอะไรขึ้นมาปิดบังสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สัพพลหุสสูตร (ข้อ ๑๓๐) แสดงให้เห็นวิบาก ข้อความมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาตอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นผู้มีอายุน้อยให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อทินนาทานอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งอทินนาทานอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความพินาศแห่งโภคะให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาเมสุมิจฉาจารอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจารอย่างเบาที่สุด ย่อมยังศัตรูและเวรให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มุสาวาทอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการกล่าวตู่ด้วยคำไม่เป็นจริงให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปิสุณาวาจาอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งปิสุณาวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการแตกจากมิตรให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผรุสวาจาอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งผรุสวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมยังเสียงที่ไม่น่าพอใจให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัมผัปปลาปะอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด ย่อมยังคำไม่ควรเชื่อถือให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งการดื่มสุราและเมรัยอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นบ้าให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

เคยเห็นวิบากกรรมต่างๆ เหล่านี้ไหม บางอย่างท่านก็ประสบ บางอย่างท่านก็ไม่ได้ประสบในภพนี้ชาตินี้ ภพหน้า ชาติหน้าแน่นอนไหมว่า ท่านจะไม่ประสบเลย เหตุมีแล้วในอดีตมากมายเหลือเกิน ถ้าได้ปัจจัยพร้อมที่จะเกิดเมื่อไรก็ต้องเกิด แต่ผู้ที่เจริญสติจะรู้ถึงความเป็นปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง

สัมโมหวิโนทนี มีข้อความว่า

ชื่อว่า อริยสัจจะ ด้วยอรรถว่า เป็นสัจจะอันแท้จริงบ้าง

บทว่า อริยะ มีอรรถว่า แท้จริง ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อน ดังที่ตรัสไว้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ นี้แล เป็นของแท้จริง ไม่ผิด ไม่ใช่เป็นประการอื่น ฉะนั้นเราจึงเรียกว่า อริยสัจ

. ตามนัยของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สภาวธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้จริงๆ มีเพียงเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เท่านี้เอง แต่ทำไมท่านจึงบัญญัติบรรพไว้ต่างๆ กัน เช่น อานาปานบรรพ อริยาบถบรรพ สัมปชัญญะบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ ทำไมจึงต้องบัญญัติไว้มากมายอย่างนี้

สุ. ถ้าท่านจะพิจารณาอรรถของมหาสติปัฏฐาน ทั้งกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ประมวลได้ว่า เพื่อความไม่ประมาท เพื่อความไม่หลงลืมสติ

ลมหายใจทุกท่านมี จึงให้ระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจที่ปรากฏ กำลังนั่งก็ให้ระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ ที่ส่วนของกายที่กำลังทรงอยู่ในอิริยาบถใด ก็มีลักษณะของรูปที่สติระลึกรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เห็นกายในกาย ในอิริยาบถที่รูปทรงอยู่ตั้งอยู่ในขณะนั้น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น มีปรากฏให้สติระลึกได้

ส่วนต่างๆ ของกายที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ บรรพนั้น เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ ถ้าลมหายใจปรากฏ สติก็ระลึก กำลังนั่ง สติก็ระลึกรู้ลักษณะรูปที่ปรากฏในขณะที่นั่ง กำลังยืน สติก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในอิริยาบถนั้น กำลังนอน กำลังเดิน สติก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในขณะนั้น กำลังกระทบผม หรือขน หรือเล็บ หรือฟัน หรือหนัง เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ที่ปรากฏโดยความเป็นธาตุ ผู้นั้นก็ระลึกตรงลักษณะที่เป็นธาตุ บางท่านอาจจะไม่ระลึกตรงลักษณะที่เป็นธาตุ แต่ระลึกถึงลักษณะที่เป็นผม หรือเป็นเล็บก่อน แล้วอาศัยเพียงสักว่าเป็นเครื่องระลึก แล้วปัญญาก็รู้ชัดในสภาพของรูปที่กำลังปรากฏ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ รวมทั้งสติปัฏฐานอื่น คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ

โดยนัยที่กลับกัน เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรม ท่านก็ควรจะพิจารณาว่า วันหนึ่งก็พูดถึงเรื่องผมกันบ่อยๆ พูดถึงเรื่องเล็บกันบ่อยๆ ปัญญารู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงหรือยัง

ท่านมีทางที่จะสอบสติปัฏฐานได้หลายนัยทีเดียว เป็นต้นว่า ถ้าท่านยังไม่แน่ใจในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ว่าจะเจริญอย่างไร ปัญญานั้นรู้อย่างไร ท่านก็ดูในมหาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ คือ อานาปานบรรพว่า ในขณะที่มีลมหายใจปรากฏบ้างในวันหนึ่งๆ นั้น สติเคยระลึกไหม ถ้าท่านไม่ระลึก ขณะนั้นหลงลืมสติหรือเปล่า ถ้าไม่ได้รู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรมใดๆ แม้ว่ามีลมหายใจปรากฏ ก็เป็นเรา กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เคยระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในอิริยาบถที่กำลังทรงอยู่ตั้งอยู่ในขณะนี้ไหม

ท่านผู้ฟังหลายท่านซาบซึ้งในพระพุทธดำรัส ที่ทรงอุปมาการเจริญสติปัฏฐานว่า เหมือนกับการจับด้ามมีด แล้ววันหนึ่งก็จะปรากฏการสึกของด้ามมีดไปทีละเล็กทีละน้อย

ทางตาที่กำลังเห็น นี่คือด้ามมีดอยู่ที่นี่ ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกก็ด้ามมีด ทางลิ้นก็ด้ามมีด ทางกายก็ด้ามมีด ทางใจก็ด้ามมีด เพราะฉะนั้น ที่กำลังเห็นนี้ ด้ามมีดทางตาสึกไปบ้างหรือยัง และวิธีที่จะสึกไป อวิชชาที่ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปทางตาที่จะสึกไป หมดไปได้ ก็เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามที่เห็นทางตา ของรูปที่ปรากฏทางตา เป็นด้ามมีดที่จะใช้อะไรขัด ใช้อะไรถากก็ไม่ได้ทั้งนั้น นอกจากสติระลึก ปัญญาพิจารณาแล้วรู้ชัด และท่านก็จะประจักษ์ว่า ด้ามมีดทางตาค่อยๆ สึกไปบ้างไหม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ค่อยๆ สึกไปบ้างไหม

. ขณะที่กำลังฟังธรรม จิตก็วอกแวก ต้องใช้สติกำหนดบ้างไหม

สุ. ถ้าฟังการเจริญสติปัฏฐาน และรู้ลักษณะของสติว่า ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ขณะที่มีสติต่างกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไร สติก็เกิดแทรกได้ เหมือนกับจิตที่วอกแวกไปได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่อัตตาที่จะไปบังคับ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะไปใช้สติ แต่ระลึกรู้ได้ว่า ขณะนี้มีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

. ถ้าเป็นผู้ที่มีสติปัญญา หรือมีศรัทธาเลื่อมใส และตั้งใจมาฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์อย่างนี้ สามารถจะบรรลุมรรคผลได้หรือไม่

สุ. ฟังแล้วเข้าใจ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาแทงตลอดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ละคลายการยึดถือสภาพนามธรรมและรูปธรรมได้ รู้แจ้งสภาพธรรม ความรู้ชัดสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณ ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่เหตุต้องสมควรกับผล ถ้าเหตุ คือ สติระลึกนิดเดียว ปัญญาก็ยังรู้ไม่ชัด การละ การคลายก็ไม่มี การรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็เป็นไปไม่ได้

ชีวิตจริงๆ ของท่านมีอกุศลมาก ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ การเจริญสติก็แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามที่เป็นอกุศล หรือนามที่ไม่ใช่อกุศล

. สติมีกี่อย่าง มีเป็นขั้นๆ หรือว่ามีขั้นเดียว

สุ. สติจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ขณะใดที่จิตเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าสติเป็นสภาพที่ระลึกในทางที่เป็นโสภณะ ในทางที่ดีงาม ในขณะที่คิดให้ทาน ไม่ใช่ตัวตน แต่ตลอดเวลาที่ยังไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นตัวตนที่ให้ทาน เป็นเราที่ให้ทาน แต่สภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในทานเกิดขึ้น

ขณะใดที่วิรัติทุจริตก็เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในศีล ขณะใดที่จิตใจไม่สงบ รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต มีสติที่จะน้อมจิตไปให้เกิดความสงบ ในขณะนั้นก็เป็นสติที่เป็นไปกับความสงบหรือสมถภาวนา แต่สติปัฏฐานนั้น ระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะใดเป็นนามธรรมก็รู้ ลักษณะใดที่เป็นรูปธรรมก็รู้ นามธรรมก็มีหลายชนิด รูปธรรมก็มีหลายชนิด สติจึงระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดที่เกิดแล้วปรากฏ เพราะฉะนั้น การเจริญสติ จึงไม่ใช่คิดล่วงหน้าหรือเตรียมก่อน

บางท่านประคับประคองกิริยาอาการ ค่อยๆ ลุกขึ้นยืนตามที่คิด ด้วยการคิดว่า จิตสั่งให้เป็นอย่างนั้น แต่ความจริง จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ในขณะที่กำลังนั่งอยู่มีสิ่งใดที่ปรากฏ จิตเป็นสภาพรู้ สติก็ระลึกรู้ในลักษณะของอารมณ์ และปัญญาก็รู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เวลาที่จิตเกิดเป็นกุศลเป็นไปในทาน สติก็ระลึกรู้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง และในขณะที่กำลังให้ทาน ซึ่งแต่ก่อนนี้เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะสติไม่ได้ระลึกรู้ว่า สภาพธรรมในขณะนั้นเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมเท่านั้น

อกุศลกรรม หรืออกุศลจิตนั้น มีผลเป็นทุกข์ เป็นโทษ แต่กุศลจิต กุศลกรรมนั้นให้ผลเป็นสุข อานิสงส์ของกุศลจิต กุศลกรรม จะมากหรือจะน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัญญา การให้ของผู้ที่ยังเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าสติระลึกรู้จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกหรือจิตเกิดสลับสืบต่อกันหลายอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเจริญสติปัฏฐานด้วย การให้ของท่านจะมีอานิสงส์ยิ่งขึ้น เพราะปัญญารู้ในสภาพของจิต

สำหรับกุศลจิตขั้นทานซึ่งเป็นขั้นต้น ที่เป็นกุศลขั้นต้นก็เพราะเหตุว่า เยื่อใยการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนหนาแน่น และเหนียวแน่นเหลือเกิน วันหนึ่งๆ บางท่านอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องของการให้เลยเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะความตระหนี่ และความประมาท ด้วยการเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนไม่ได้ระลึกถึงการให้เลย เพราะเป็นตัวตนมากมายแล้วก็เหนียวแน่น ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาก็เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นของเราทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะคิด จะนึก จะตรึก จะตรองถึงอะไร ก็จะไม่พ้นไปจากตัวตนและความเป็นเรา

วันนี้มีความยินดีต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อะไรบ้าง ไม่ได้ระลึกเป็นไปในการให้หรือในทานเลย ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า ที่ให้ไม่ได้นั้น ก็เพราะความตระหนี่และเพราะความประมาท

การเจริญกุศลจะต้องเป็นขั้นๆ ด้วย เพราะเหตุว่าอกุศลนั้นมีมาก การขัดเกลาจึงต้องมีมากด้วย แต่การเจริญสติจะทำให้ท่านรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะที่กำลังให้ เพราะบางท่านให้เพราะหวังผล แต่ถ้าท่านเจริญสติ เวลาที่จิต ที่สละวัตถุทานให้แก่บุคคลอื่นเกิดและดับไปแล้ว จิตที่หวังผลเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เวลาที่เจริญสติ มีการให้ เกิดขึ้น ความหวังผลของการให้เกิดต่อ สติก็ตามระลึกรู้ได้ว่า เป็นโลภมูลจิต เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

อย่างที่ท่านเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศล แต่เมื่อเกิดมาแล้วมีชีวิตต่างๆ กันไป เพราะท่านไม่ได้ทำแต่กุศลกรรมอย่างเดียวตลอด ในอดีตอนันตชาติมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม อกุศลกรรมก็ย่อมตามมาเบียดเบียน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต กุศลให้ผลเป็นสุข อกุศลให้ผลเป็นทุกข์ แต่เวลาที่จิตของท่านเป็นไปในกุศล เช่น การให้ อกุศลที่มีมาก ก็ยังมาแทรกด้วยการหวังผลบ้าง

เปิด  303
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566