แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 191
สุ. ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร อุทเทสวารคาถา แสดงข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎกว่า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
จบ อุทเทสวาระ
มีข้อความอะไรที่กล่าวว่า ต้องได้อภิญญาเสียก่อน
ใน อุทเทสวาระ ทรงแสดงว่า หนทางนี้เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ธรรมที่ถูกต้อง ที่จะทำให้แจ้งพระนิพพาน คือ การพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม แต่เพราะว่ากายมีปรากฏลักษณะต่างกันเป็นเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง เวทนาก็มีหลายชนิด มีทั้งโสมนัส มีทั้งโทมนัส มีทั้งอทุกขมสุข มีทั้งสุข มีทั้งทุกข์ จิตก็มีต่างๆ หลายประเภท ธรรมก็มี ต่างๆ หลายประเภท เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงธรรมข้ออื่นอีก ทั้งพระอภิธรรมปิฎกและพระสุตตันตปิฎก เพื่อที่จะให้ได้ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรมต่างๆ ที่เกิดปรากฏกับท่านให้ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่โดยอุทเทสวาระ คือ ระลึกรู้ลักษณะของกาย ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ระลึกรู้ลักษณะของจิต ระลึกรู้ลักษณะของธรรมขณะใด ขณะนั้นเป็นหนทางที่จะทำให้รู้ธรรมถูกต้อง และทำให้แจ้งพระนิพพานได้
นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะได้ยินได้ฟังคำของบุคคล ก็พิจารณา ถ้าผู้ใดไม่เจริญสติปัฏฐาน ผู้นั้นก็หลงลืมสติ อกุศลก็เกิดมาก
ข้อความในพระไตรปิฎก ที่กล่าวถึงอุบาสกท่านหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสให้ทรงจำคุณธรรมของท่านไว้ ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต หัตถสูตร ที่ ๑ มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับที่อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้เมืองอาฬวี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๗ ประการ ๗ ประการเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ มีจาคะ ๑ มีปัญญา ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๗ ประการนี้แล
พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ครั้นได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปสู่พระวิหาร
ดูเหมือนกับว่าเป็นคุณธรรมธรรมดา คือ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ มีจาคะ ๑ มีปัญญา ๑ แต่ความจริงอุบาสกท่านนี้เป็นพระอริยเจ้า แต่พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสโดยตรงว่า ให้ทรงจำหัตถกอุบาสกว่าเป็น พระอริยเจ้า ซึ่งผู้ที่มีศรัทธาก็มีมาก ผู้ที่มีศีลก็มีมาก ผู้ที่มีหิริ มีโอตตัปปะ เป็นพหูสูต มีจาคะ มีปัญญาก็มีมาก แต่ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ทรงจำหัตถกอุบาสก
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้นเวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี ครั้นแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่ปูไว้
ลำดับนั้น หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเข้าไปหาภิกษุนั้น ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วภิกษุนั้นได้กล่าวกะหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีว่า
ดูกร อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นผู้ที่ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๗ ประการ ๗ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ มีจาคะ ๑ มีปัญญา ๑
ดูกร อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ๗ ประการนี้แล
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีถามว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คฤหัสถ์ไรไรผู้นุ่งผ้าขาว ไม่มีในตำแหน่งที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์หรือ
ถ้าเป็นบุคคลอื่นจะกล่าวว่าอย่างไร ในเมื่อเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ แต่เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ทรงคุณธรรม จึงไม่ได้อวดตัว ไม่ได้ตื่นเต้น ไม่ได้ฟูใจ แต่ก็ถามพระภิกษุรูปนั้นตามปกติว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คฤหัสถ์ไรไรผู้นุ่งผ้าขาว ไม่มีในตำแหน่งที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์หรือ หมายความว่า คงจะมีคนอื่นอีก ไม่ใช่มีแต่เฉพาะตัวท่านที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ แต่ภิกษุรูปนั้นก็กล่าวตอบว่า
ดูกร อาวุโส ไม่มี
เมื่อได้ฟังอย่างนี้แล้ว หัตถกอุบาสกผู้ทรงคุณธรรมสูงก็กล่าวตอบว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดีแล้วที่คฤหัสถ์ไรไรผู้นุ่งผ้าขาว ไม่มีในตำแหน่งที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์นี้
ข้อความต่อไปในพระสูตรมีว่า
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีแล้ว ลุกจากที่นั่ง แล้วหลีกไป ภายหลังภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลข้อความที่ได้สนทนากับหัตถกอุบาสกให้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบทุกประการ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลข้อความนั้นให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ถูกแล้ว ถูกแล้ว กุลบุตรนั้นมีความปรารถนาน้อย ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้กุศลธรรมที่มีอยู่ในตน
ดูกร ภิกษุ ถ้าอย่างนั้นเธอจงทรงจำหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีไว้ว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมานี้ คือ ความเป็นผู้ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้กุศลธรรมที่มีอยู่ในตน
จบข้อความในพระสูตร
ใน มโนรถปูรนี อรรถกถา มีข้อความอธิบายว่า
ข้อว่า มีความปรารถนาน้อย คือ มีความปรารถนาน้อยในอธิคม อธิคม คือ การบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ถึงแม้ว่าท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านก็มีความปรารถนาน้อย ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้กุศลธรรมที่มีอยู่ในท่าน ซึ่งก็จะเปรียบเทียบชีวิตของอุบาสก อุบาสิกาที่เจริญสติปัฏฐานได้ว่า ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจริงย่อมจะไม่แสดงตน โอ้อวดคุณธรรม
ใน พระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคตรัสถึงบุคคล ๒ จำพวก คือ
ผู้ที่หนักในลาภ กับ ผู้ที่หนักในสัทธรรม
ถ้าผู้ที่หนักในลาภ ก็สรรเสริญคุณซึ่งกันและกัน ท่านผู้นี้ได้บรรลุคุณธรรมขั้นนั้น ท่านผู้นั้นได้บรรลุคุณธรรมขั้นนี้
นั่นคือผู้ที่หนักในลาภ แต่ว่าผู้ที่หนักในสัทธรรมนั้นจะไม่สรรเสริญว่า ท่านผู้นี้หรือว่าตน หรือว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรม คือ ไม่มีการโอ้อวด หรือว่าบอกโดยนัยต่างๆ ให้บุคคลอื่นรู้ว่าตนหรือว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่บรรลุธรรมขั้นนั้น ขั้นนี้ เพื่อประโยชน์อะไรในการที่จะกล่าวว่า บรรลุญาณนั้นหรือญาณนี้ หรือได้เป็นพระอริยเจ้าแล้ว
สำหรับท่านหัตถกอุบาสก ท่านเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็ควรที่จะได้เห็นชีวิตของท่านว่าเป็นอย่างไร ซึ่งใน หัตถกสูตร ที่ ๒ มีข้อความในอรรถกถาว่า
เมื่อหัตถอุบาสกรับประทานอาหารเช้าแล้ว ก็ถือดอกไม้ ธูปเทียนไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคพร้อมกับอุบาสกบริวาร ซึ่งเป็นอริยบริวาร คือ เป็นตั้งแต่พระโสดาบันบุคคล ถึงพระอนาคามีบุคคล ประมาณ ๕๐๐ คน
ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี ว่า
ดูกร หัตถกะ บริษัทของท่านนี้ใหญ่ ก็ท่านสงเคราะห์บริษัทใหญ่นี้อย่างไร
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงสังคหวัตถุ ๔ ประการไว้
สังเกตได้จากคุณธรรมของท่านที่ว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นธรรมที่ท่านปฏิบัติอยู่ แต่ท่านก็ไม่ได้โอ้อวดว่าเป็นธรรม เป็นคุณธรรมของท่านเลย แต่ท่านกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงสังคหวัตถุ ๔ ประการไว้ ข้าพระองค์สงเคราะห์บริษัทใหญ่นี้ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการเหล่านั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ว่า ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยทาน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยทาน ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการวางตนเสมอ
ก็โภคทรัพย์ในตระกูลของข้าพระองค์มีอยู่ ชนทั้งหลายจึงสำคัญถ้อยคำของ ข้าพระองค์ว่าควรฟัง ไม่เหมือนของคนจน
การสงเคราะห์บริษัทใหญ่ เป็นชีวิตจริงๆ ของใคร ผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานได้ไหม ได้ ทาน การให้ก็มี วาจาอ่อนหวานก็มี การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็มี การสงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอก็มี
คนที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน คงจะไม่สามารถเจริญคุณธรรมได้ละเอียด และสำหรับการให้ ถ้าท่านไม่พิจารณาโดยละเอียด ท่านจะไม่ทราบว่า ท่านได้เจริญกุศลขั้นนี้ คือ ขั้นของทานโดยทั่วถึง หรือไม่ทั่วถึง เพราะเหตุว่าบางท่านอาจจะสงเคราะห์คนที่อยู่ห่างไกล แต่ลืมคนที่อยู่ใกล้ชิด คนในบ้าน หรือญาติพี่น้อง ท่านก็ลืมสงเคราะห์ ท่านมุ่งแต่จะสงเคราะห์สังคมประการเดียว และบางคนนั้นก็คิดถึงแต่เฉพาะในครอบครัว ในหมู่บริษัทบริวารเท่านั้น ไม่คิดไกลไปถึงบุคคลอื่นซึ่งกำลังอยู่ในฐานะที่ควรจะสงเคราะห์ แต่ว่าถ้าท่านได้เจริญสติมีการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เห็นความเสมอกันของสัตว์ทั้งหลาย และผู้ใดควรสงเคราะห์ ท่านก็สงเคราะห์ทั้งบุคคลที่อยู่ไกล และบุคคลที่อยู่ใกล้ คือ ผู้ที่เป็นบริษัทบริวารของท่านด้วย
ใน มโนรถปูรนี อรรถกถา มีข้อความอธิบายเรื่องสังคหวัตถุ ซึ่งเป็นเหตุ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวว่า มี ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ทาน การให้
ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ทุกประการ ให้ได้ทั้งนั้น เช่น ให้ไถ ให้โค ให้ข้าว ให้พืช ให้ของหอม ให้ดอกไม้ ให้จุน คือ ให้สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ
ประการที่ ๒ การสงเคราะห์ด้วยวาจาที่อ่อนหวาน ซึ่งเป็นถ้อยคำเป็นที่รัก รื่นหู อ่อนโยน มีคำว่า พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นต้น
เป็นการขัดเกลากิเลสอีกเหมือนกัน ทำไม มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้คำที่ไม่น่าฟัง ไม่รื่นหู ไม่อ่อนโยน ถ้าท่านศึกษาปรมัตถธรรม ท่านจะทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ถ้าท่านเจริญสติ จิตประเภทไหน จิตที่หยาบกระด้าง หรือว่าเป็นจิตที่เมตตากรุณาในขณะที่มีคำพูดอย่างนั้น
ท่านที่ต้องการจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังอยากจะใช้วาจาที่ไม่รื่นหูบ้างไหม และชีวิตในวันหนึ่งๆ ต้องใช้วาจามากไหมกับบุคคลอื่น ในขณะนั้นไม่ใช่โอกาสที่จะให้อย่างอื่น แต่ให้วาจาที่อ่อนหวานได้
ประการที่ ๓ อัตถจริยา
ข้อความในอรรถกถามีว่า เมื่อกิจด้วยทานและปิยวาจาไม่มี ทราบว่า ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยอัตถจริยา แล้วก็สงเคราะห์ด้วยอัตถจริยา กล่าวคือ การช่วยกิจการที่เกิดขึ้น
ถ้าใครจะทำอะไร เห็นว่าน่าจะใช้กำลังหรือดูจะเหนื่อยยาก หรือว่าอาจจะเสร็จช้า ถ้าท่านช่วยสักหน่อยหนึ่ง อาจจะเสร็จเร็วขึ้น และก็ไม่เหนื่อยเท่าไร อย่างนั้นควรไหมที่จะช่วย หรือว่าก็คงยังนั่งเฉยๆ ดูดายต่อไป ถ้าผู้ใดมีเมตตาจิต ท่านก็สามารถที่จะเจริญกุศลได้มาก
ประการที่ ๔ สมานัตตา
มีข้อความว่า เมื่อทราบว่า สำหรับผู้นี้กิจด้วยทานเป็นต้น ไม่มี แต่เขาควรสงเคราะห์ด้วยสมานัตตา ก็พึงสงเคราะห์ให้เสมอกับตนด้วยการบริโภค ด้วยการดื่ม การนั่งร่วมกัน เป็นต้น
ในภพนี้ ชาตินี้เป็นบุคคลนั้น เมื่อสิ้นภพชาตินี้ มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม แต่ถ้าไม่รู้สภาพตามความเป็นจริงอย่างนี้ ย่อมมีความไม่เสมอกัน จะมีความถือตนเกิดขึ้น มีความสำคัญตนเกิดขึ้น แต่ผู้ที่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ย่อมเป็นผู้ที่เมื่อไม่มีกิจด้วยทาน เป็นต้น ก็สงเคราะห์ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอด้วยการบริโภค การดื่ม การนั่งร่วมกัน เป็นต้น และผู้ที่จะทำได้อย่างสนิทใจจริงๆ เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ฝืนทำ เพราะบางคนอาจจะฝืนทำบางกาละ บางโอกาส เพราะเห็นว่าเมื่อทำแล้วอาจจะได้ประโยชน์จากการทำเช่นนั้น แต่นั่นไม่ใช่อุปนิสัยหรืออัธยาศัยจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นอัธยาศัยจริงๆ ของท่าน ท่านจะเป็นผู้ที่อ่อนโยนขึ้น ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่เห็นความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรม จะทำให้ท่านนั่งร่วมกัน บริโภคร่วมกันกับบุคคลอื่น ไม่ใช่ด้วยการฝืนทำ หรือแม้แต่ปิยวาจา ก็ไม่ใช่ฝืนทำ เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์ และจะได้รับประโยชน์จากวาจาที่อ่อนหวานนั้น
สำหรับพยัญชนะในพระไตรปิฎก ข้อความที่ว่า ท่านหัตถกอุบาสกกราบทูลว่า
ข้าพระองค์รู้ว่า ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยทาน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยทาน ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยความประพฤติสิ่งที่เป็ นประโยชน์ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยความประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอ
ก็โภคทรัพย์ในตระกูลของข้าพระองค์มีอยู่ ชนทั้งหลายจึงสำคัญถ้อยคำของข้าพระองค์ว่าควรฟัง ไม่เหมือนของคนจน
ถ้อยคำของคนยากจน คนอื่นก็ไม่ค่อยจะเชื่อ ไม่ค่อยจะทำตาม เพราะฉะนั้นถ้อยคำนี้เป็นเพียงคำอุปมาให้เห็นว่า บริษัท บริวารของท่านนั้นตั้งอยู่ในอนุศาสนี คือ คำสอน โอวาทของท่าน ไม่สำคัญเหมือนถ้อยคำของคนยากจน
ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อวุฏฐิกสูตร อีกพระสูตรหนึ่ง กล่าวถึงเรื่องของทาน มีข้อความว่า
จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็น พระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้เสมอด้วยด้วยฝนไม่ตก ๑ ผู้ดุจฝนตกในที่บางส่วน ๑ ผู้ดุจฝนตกในที่ทั่วไป ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเสมอกันด้วยฝนไม่ตกเป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่พัก เครื่องประทีป แก่สมณะ พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกทุกหมู่เหล่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เสมอด้วยฝนไม่ตก เป็นอย่างนี้แล