แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 192

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ดุจฝนตกในที่บางส่วนเป็นอย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แก่สมณะ พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกบางพวก ไม่ให้แก่บางพวก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ดุจฝนตกในที่บางส่วนเป็นอย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ดุจฝนตกในที่ทั่วไปเป็นอย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แก่สมณะ พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกทั้งปวง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลดุจฝนตกในที่ทั่วไปเป็นอย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัส คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

บุคคลได้พบสมณะ พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกแล้ว ย่อมไม่แบ่งข้าว น้ำและเครื่องบริโภคให้ บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวบุคคลผู้เป็นบุรุษต่ำช้านั้นแลว่า เป็นผู้เสมอด้วยฝนไม่ตก

บุคคลใดย่อมไม่ให้ไทยธรรมแก่บุคคลบางพวก ย่อมให้แก่บุคคลบางพวก ชนผู้มีปัญญาทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า ดุจฝนตกในที่บางส่วน

บุคคลผู้มีวาจาว่า ภิกษาดี ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั่วหน้า มีใจยินดี ประดุจเรี่ยรายไทยธรรมกล่าวอยู่ว่า จงให้ จงให้ ดังนี้

บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เช่นนั้น รวบรวมทรัพย์ที่ตนได้แล้วด้วยความหมั่นโดยชอบธรรม ยังวณิพกทั้งหลายผู้มาถึงแล้วให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำโดยชอบ เปรียบเหมือนเมฆบันลือ กระหึ่มแล้ว ย่อมยังฝนให้ตก ยังน้ำให้ไหลนอง เต็มที่ดอน และที่ลุ่ม ฉะนั้น

เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล

จบข้อความในพระสูตร

ท่านเป็นบุคคลประเภทไหน

ถ้ายังเป็นบุคคลเหมือนกับฝนที่ตกในที่บางแห่ง ก็ยังไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงพอที่จะมีจิตเสมอ โดยไม่จำกัดการอุปการะช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ บุคคลใด ซึ่งถ้าท่านรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ท่านก็สงเคราะห์ได้มากขึ้น

ถ. ในขณะที่เรากำลังบริจาคทานนั้น มีตัวตน แต่ถ้าในขณะที่เราบริจาคทาน เราระลึกรู้ถึงลักษณะของนามและรูป จะได้กุศลทั้ง ๒ ชนิด หรือว่าจะอยู่ในประเภทสติปัฏฐานเท่านั้น เพราะในขณะนั้นเป็นนามและเป็นรูป

สุ. ต้องได้กุศลทั้ง ๒ ประการแน่ ท่านที่ให้ทานโดยไม่เจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ได้อานิสงส์ของทานที่เป็นกุศลนั้นเท่านั้น แต่ว่าท่านที่ให้ทานและเจริญ สติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ท่านละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ท่านก็มีโอกาสที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ไม่เหมือนท่านที่ให้ทาน แต่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ถึงแม้ว่าท่านจะได้อานิสงส์ของทาน ได้โภคสมบัติ ได้ทรัพย์สมบัติ ท่านก็จะต้องวนเวียนไปในวัฏฏะเรื่อยไป แล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมอะไร ในโอกาสไหน ท่านก็รับผลของกรรมนั้น ในขณะนั้น เพราะเหตุว่าทุกชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งชีวิตแต่ละวันที่ปรากฏก็แสดงให้เห็นถึงการรับผลของอกุศลกรรม อุบัติเหตุต่างๆ การประทุษร้ายเบียดเบียนกันต่างๆ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดที่ให้ทานด้วย และเจริญสติปัฏฐานด้วย ท่านก็ได้อานิสงส์ ๒ ประการ

ถ. พระก็มี ฆราวาสก็มี มีใบฎีกา บอกให้ทำทานอย่างโน้น ให้ทำทานอย่างนี้ บางคนเขารำคาญ เขาก็ให้ทานไป บางคนก็บอกว่า นิมนต์ไปข้างหน้าก่อน ยังไม่ศรัทธา การทำทานอย่างนี้คล้ายๆ กับถูกบังคับมากกว่า ขอความกรุณาอาจารย์ จะทำอย่างไรดี

สุ. ถ้าท่านเห็นว่า เป็นเรื่องที่สมควรแก่การที่จะให้ ก็ให้ ไม่สมควรที่จะให้ก็ไม่ให้ เพราะว่ากุศลจิตไม่เกิด และที่ไม่ให้ เพราะจะให้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กว่าก็ได้ หรือถ้าคิดว่าจะให้ ก็ให้โดยดี

ขณะที่ไม่ให้ เป็นตัวท่านหรือเปล่า ขณะที่จะให้ ก็ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่ไม่ให้ก็ไม่ใช่ตัวตน สติจะต้องระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะนั้นเกิดแล้ว ไม่ให้ผ่านไปแล้ว เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็แล้วไป สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏต่อไป

แต่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ รู้ทุกอย่างเลย อกุศลมีอะไรบ้าง โลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ ล้วนแต่เป็นอกุศลที่ไม่ดีทั้งนั้น รู้ทั้งรู้ แต่ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดได้ แล้วก็เกิดอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ก่อนที่ทันจะระลึกได้ ความไม่พอใจก็เกิดแล้ว หรือความไม่เต็มใจก็เกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าได้เจริญสติ ระลึกรู้ความละเอียดของจิตในขณะนั้น แม้ขณะนั้นก็เป็นอนัตตา ความไม่พอใจก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ความไม่เต็มใจก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ย่อมสามารถที่จะรู้สภาพของนามและรูปได้

สำหรับท่านผู้ฟังที่ข้องใจในเรื่องของบรรพชิตว่า ท่านจะมีการให้หรือไม่ ขอกล่าวถึง พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปาจิตตีวรรคที่ ๕ อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๑ เรื่องพระอานนท์ มีข้อความว่า

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้น กองขนม เครื่องขบฉันเกิดแก่พระสงฆ์ จึงท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงให้ขนมเป็นทานแก่พวกคนกินเดน

ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว จัดคนกินเดนให้นั่งตามลำดับ แล้วแจกขนมให้คนละชิ้น ได้แจกขนม ๒ ชิ้น สำคัญว่าชิ้นเดียวแก่ปริพาชกาผู้หนึ่ง พวกปริพาชกาที่อยู่ใกล้เคียงได้ถามปริพาชิกาผู้นั้นว่า

พระสมณะนั้นเป็นคู่รักของเธอหรือ

นางนั้นตอบว่า

ท่านไม่ใช่คู่รักของฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้น สำคัญว่าชิ้นเดียว

ดูเรื่องของคนมีกิเลสว่า วุ่นวายสักแค่ไหน เพียงขนมที่คนอื่นได้รับคนละชิ้น แต่ว่านางปริพาชิกาผู้นี้ได้รับ ๒ ชิ้น เพราะท่านพระอานนท์สำคัญว่าเป็นชิ้นเดียว ความที่เป็นผู้ที่มีกิเลสก็คิดไปต่างๆ นานา และเมื่อคิดแล้ว ดำริผิด วาจาผิดเกิดขึ้น เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยทั้งนั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์เมื่อแจกขนมให้คนละชิ้น ได้แจกขนมให้ ๒ ชิ้น สำคัญว่าชิ้นเดียวแก่ปริพาชิกาคนนั้นแหละซ้ำถึง ๓ ครั้ง พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้เคียงได้ถามปริพาชิกาผู้นั้นว่า พระสมณะนั่นเป็นคู่รักของเธอหรือ

นางตอบว่า

ท่านไม่ใช่คู่รักของฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้น สำคัญว่าชิ้นเดียว

พวกปริพาชิกาจึงล้อเลียนกันว่า

คู่รัก หรือ ไม่ใช่คู่รัก

เรื่องของมนุษย์ไม่ว่าสมัยไหน แม้ในครั้งที่ยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน และท่านพระอานนท์ ท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่แม้กระนั้นเพียงการกระทำที่พลาดพลั้ง ผิดพลาดไปด้วยความสำคัญผิด ก็เป็นเหตุให้บุคคลที่มีกิเลสนั้นเข้าใจต่างๆ นานา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชีวิตปกติของบรรพชิต มีการให้ทาน เจริญสติปัฏฐานด้วย ในขณะนั้น

ผู้ที่เป็นภิกษุ ท่านละอาคารบ้านเรือนเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ คือ มรรคมีองค์ ๘ ในเพศของบรรพชิต ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด จะประกอบกิจการงานต่างๆ ตามพระพุทธโอวาทที่ว่า ให้เจริญสติทุกลมหายใจเข้าออก แม้กระนั้น พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ทานกองขนมที่มีมากนั้นกับคนอื่น เพราะฉะนั้น ก็เจริญสติปัฏฐานได้ ไม่ใช่ว่าในขณะที่ให้ทาน เจริญสติปัฏฐานไม่ได้

ข้อความต่อไปเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ

อาชีวกอีกคนหนึ่งได้ไปสู่ที่อังคาส คือ ที่ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ ภิกษุรูปหนึ่งคลุกข้าวกับเนยใสเป็นอันมาก แล้วได้ให้ข้าวก้อนใหญ่แก่อาชีวกนั้น เมื่อเขาได้ถือก้อนข้าวนั้นไปแล้ว อาชีวกอีกคนหนึ่งได้ถามอาชีวกผู้นั้นว่า

ท่านได้ก้อนข้าวมาจากไหน

อาชีวกนั้นตอบว่า

ได้มาจากที่อังคาสของพระสมณะโคดม คฤหบดีโล้นนั้น

ไม่ได้คิดถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เมื่อมีความเห็นผิด วาจาก็ผิดตามไปด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

อุบาสกทั้งหลายได้ยิน ๒ อาชีวกนั้นสนทนาปราศรัยกัน จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า

พระพุทธเจ้าข้า เดียรถีย์พวกนี้เป็นผู้มุ่งติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ขออย่าให้พระคุณเจ้าทั้งหลายให้ของแก่พวกเดียรถีย์ด้วยมือของตนเอง

เรื่องของการให้ การให้ด้วยความนอบน้อมนั้น ให้ด้วยมือของตนเอง ไม่ใช่อย่างโยนให้ ไม่ใช่อย่างเหวี่ยงให้ เป็นการให้อย่างดี แต่สำหรับบรรพชิตเป็นโอกาสที่บุคคลอื่นจะเข้าใจผิดได้ อย่างเช่น ท่านพระอานนท์ เวลาที่ท่านให้ขนม ๒ ชิ้นด้วยสำคัญว่าชิ้นเดียว ก็ทำให้คนอื่นกล่าวโทษ หรือว่าติเตียน หรือใช้วาจาที่ไม่สมควร หรือแม้แต่เวลาที่อาชีวกได้ก้อนข้าวจากพระภิกษุรูปหนึ่ง ก็ยังกล่าวว่าอย่างนั้น

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกเหล่านั้นเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ครั้นอุบาสกเหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ กลับไปแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงทำ ธรรมีกถาอันเหมาะสมแก่เรื่องนั้น อันสมควรแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อการรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจักบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

พระบัญญัติมีข้อความว่า

อนึ่ง ภิกษุใดให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี แก่อเจลกะก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือของตน เป็นปาจิตตีย์

สำหรับทานใดจะมีอานิสงส์มาก ข้อความใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ทานวรรคที่ ๔ เขตตสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ไม่มีผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความเจริญมาก นาประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นาในโลกนี้เป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ๑ เป็นที่ปนหินปนกรวด ๑ เป็นที่ดินเค็ม ๑ เป็นที่ไถลงลึกไม่ได้ ๑ เป็นที่ไม่มีทางน้ำเข้า ๑ เป็นที่ไม่มีทางน้ำออก ๑ เป็นที่ไม่มีเหมือง ๑ เป็นที่ไม่มีคันนา ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความเจริญมาก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่เจริญแพร่หลายมาก สมณพราหมณ์ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ในโลกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑ เป็นมิจฉาสังกัปปะ ๑ เป็นมิจฉาวาจา ๑ เป็นมิจฉากัมมันตะ ๑ เป็นมิจอาชีวะ ๑ เป็นมิจฉาวายามะ ๑ เป็นมิจฉาสติ ๑ เป็นมิจฉาสมาธิ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่เจริญแพร่หลายมาก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนพืชที่บุคคลหว่านลงในนาอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการมีผลมาก มีความดีใจมาก มีความเจริญมาก นาประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างไร

นาประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างไรนั้น ก็เป็นนาที่ตรงกันข้ามกับข้อต้น คือ เป็นนาซึ่งไม่เป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ๑ ไม่เป็นที่ปนหิน ปนกรวด ๑ ไม่เป็นที่ดินเค็ม เป็นที่ไถลงลึกได้ ๑ เป็นที่มีทางน้ำเข้าได้ ๑ เป็นที่มีทางน้ำออกได้ ๑ เป็นที่มีเหมือง ๑ เป็นที่มีคันนา ๑

สำหรับบุคคลก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑

ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก รุ่งเรืองมาก เจริญแพร่หลายมาก

พืชอันหว่านลงในนาที่สมบรูณ์ เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ธัญชาติย่อมงอก งาม ไม่มีศัตรูพืช ย่อมแตกงอกงามถึงความไพบูรณ์ให้ผลเต็มที่ ฉันใด โภชนะที่บุคคลถวายในสมณพราหมณ์ผู้มีศีลสมบูรณ์ ก็ฉันนั้น ย่อมนำมาซึ่งกุศลอันสมบูรณ์ เพราะกรรมที่เขาทำนั้นสมบรูณ์แล้ว เพราะฉะนั้น บุคคลในโลกนี้ ผู้หวังกุศลสัมปทา จงเป็นผู้มีประโยชน์ถึงพร้อม พึงคบหาท่านผู้มีปัญญาสมบูรณ์ ปุญญสัมปทาย่อมสำเร็จได้อย่างนี้

ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้จิตตสัมปทาแล้ว กระทำกรรมให้บริบูรณ์ ย่อมได้ผลบริบูรณ์ รู้โลกนี้ตามเป็นจริงแล้ว พึงถึงทิฏฐิสัมปทา อาศัยมัคคสัมปทา มีใจบริบูรณ์ ย่อมบรรลุอรหัต เพราะกำจัดมลทินทั้งปวงได้แล้ว บรรลุถึงนิพพานสัมปทาได้แล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น จักเป็นสัพพสัมปทา

เพราะฉะนั้น สังฆทาน หรือว่าการให้กับผู้ที่เป็นเขตบุญจึงมีอานิสงส์มาก นอบน้อมต่อพระอริยเจ้า ถ้าไม่คิดถึงความเป็นพระอริยสงฆ์ ไม่คิดถึงความเป็นพระอริยเจ้าแล้ว จะมีความต่างกันของการให้ไหม

ให้ทานแก่บุคคลอื่น ยาจก วณิพก หรือว่าคนกำพร้า คนเดินทาง กับการถวายแด่พระอริยเจ้า มีความต่างกันที่จิตจะนอบน้อมได้ในสงฆ์ เพราะเหตุว่าระลึกถึงความเป็นพระอริยเจ้าของพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย การให้นั้นจึงสามารถที่จะนอบน้อมในขณะที่ให้ได้ แต่ถ้าให้โดยที่ไม่ระลึกถึงความเป็นพระอริยเจ้า ก็เกือบจะไม่ต่างกันเลยกับการให้บุคคลอื่น เพราะว่าจิตในขณะนั้น ไม่ได้น้อมระลึกถึงความเป็นอริยสงฆ์ ก็เป็นทานทั่วไป เหมือนกับให้บุคคลอื่น ถึงแม้ว่าจะมีการเตรียมการอย่างใหญ่โตสักเท่าไรก็ตาม ใช้โภคทรัพย์มากสักเท่าไรก็ตาม แต่ใจของท่านไม่เสมอเหมือนกับเวลาที่ท่านน้อมระลึกถึงว่า ท่านถวายแด่พระอริยเจ้า

ความเป็นสงฆ์ ความเป็นสังฆรัตนะ หมายความถึงความเป็นพระอริยเจ้าที่จะเคารพได้สูง ที่จะทำให้จิตนอบน้อมได้อย่างยิ่ง ก็โดยประการเดียว คือ น้อมระลึกถึงความเป็นพระอริยเจ้า มิฉะนั้นแล้วขณะที่ให้ก็เหมือนกับการให้บุคคลอื่น จิตจะไม่นอบน้อมถึงกับเป็นสังฆทาน

เปิด  362
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566