แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 198
บางท่านอาจจะเข้าใจว่า เจตนาเป็นองค์ของมรรคในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้แก่
สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ๑ สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑สัมมาวาจา ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก ๑ สัมมากัมมันตะ ได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก ๑ สัมมาอาชีวะ ได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิก ๑ สัมมาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก ๑สัมมาสติ ได้แก่ สติเจตสิก ๑ สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ๑
มีเจตนาในมรรคมีองค์ ๘ ไหม ไม่มี
เจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นนามธรรม เป็นเจตสิก
คำว่า “เจตสิก” เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต ถ้าในภูมิที่มีรูปเป็นที่เกิด ก็เกิดที่เดียวกับจิต เวลาที่จิตเกิดขึ้น เพราะจิตเป็นสังขารธรรม เพราะฉะนั้น จะมีแต่เฉพาะจิตซึ่งเป็นสภาพรู้เพียงอย่างเดียวเกิดขึ้นโดยไม่มีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยไม่ได้
สังขารธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย สำหรับจิตขณะหนึ่งๆ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง อย่างมาก ๓๐ กว่าดวง แล้วแต่ประเภทของจิต แล้วแต่กิจของจิต
สำหรับเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงมี ๗ ดวง ได้แก่ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ถ้าท่านศึกษาปรมัตถธรรมก็คุ้นหู ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทริย มนสิการ เป็นเจตสิก ๗ ดวงที่เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่ากำลังนอนหลับ ก็จะต้องมีผัสสเจตสิก มีเวทนาเจตสิก มีสัญญาเจตสิก มีเจตนาเจตสิก มีเอกัคคตาเจตสิก มีชีวิตินทริยเจตสิก มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ในขณะปฏิสนธิจะมีความต้องการหรือไม่ต้องการจะเกิดก็ตาม จะมีความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจอย่างไรก็ตาม ปฏิสนธิจิตนั้นก็จะต้องมีผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย แต่ว่าที่กล่าวถึงนี้ กล่าวถึงเฉพาะเจตสิก ๗ ดวงที่เกิดกับจิตทุกดวง ไม่เว้นเลย
สำหรับลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นของที่มีจริง ถ้าท่านศึกษาโดยปริยัติ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ปรมัตถธรรมซึ่งเป็นเจตสิกธรรมแต่ละประเภทนั้นมีลักษณะอย่างไร มีกิจการงานอย่างไร มีอาการปรากฏอย่างไร มีอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
อย่างผัสสเจตสิกเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ ถ้าไม่กระทบอารมณ์ที่ปรากฏ จิต เจตสิกจะรู้อารมณ์นั้นไม่ได้ การที่จะรู้อารมณ์นั้นได้จะต้องมีนามธรรมกระทบกับอารมณ์นั้น จึงรู้อารมณ์นั้นได้ อย่างขณะที่กำลังเห็น ก็จะต้องมีจักขุสัมผัส มีผัสสเจตสิกกระทบกับอารมณ์ที่ปรากฏ จักขุวิญญาณจึงเห็น จึงเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่มีการเห็น ทราบได้ว่ามีผัสสะ กระทบแล้วจึงได้เห็น ถ้าไม่มีผัสสะกระทบ การเห็นก็มีไม่ได้ นี่เป็นเจตสิกดวงหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกดวง
นอกจากนั้นเวทนาเจตสิก ความรู้สึกจะเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตที่กำลังหลับ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ จิตที่ทำกิจภวังค์ใดๆ จะมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ความรู้สึก มีทั้งเป็นสุขก็ได้ เป็นทุกข์ก็ได้ ดีใจก็ได้ เสียใจก็ได้ อทุกขมสุขก็ได้ ใครจะไปยับยั้งกีดกัน ไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดกับจิต ไม่ให้ผัสสะเกิดกับจิต เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น จะไปยับยั้งว่า ขณะหลับไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดกับจิต ก็ยับยั้งไม่ได้
สำหรับสัญญาเจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง ทำให้จำ หมายสิ่งที่เห็นและเมื่อเห็นอีก ก็ทราบว่าเคยเห็น หรือสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร
ถ้าเป็นทางหู เวลาที่ได้ยิน ก็มีสภาพที่จำ หมายลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ทำให้รู้ว่าเป็นเสียงใคร เป็นเสียงอะไร หรือว่าเสียงนั้นมีความหมายว่าอะไร นี่ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยิน ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพนามธรรมที่จำ เป็นสิ่งที่มีจริงที่สติจะต้องระลึกได้รู้ว่า แม้ขณะที่รู้เรื่อง แม้ขณะที่จำได้ ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่จำ มีกิจที่จะจำ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งเท่านั้น
สำหรับเจตสิกประเภทต่อไป ที่เป็นปัญหาของคุณพุทธบุตร คือ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง
โดยสภาวะลักษณะ เจตนาเจตสิก มีความจงใจ เป็นลักษณะ
มีการประมวลมาให้สหธรรมทั้งหลาย เป็นไปตามความประสงค์ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
มีการจัดแจง เป็นอาการปรากฏ
เวลาที่เกิดความคิด ตั้งใจจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ลักษณะที่ตั้งใจ จงใจ เป็นลักษณะที่ปรากฏชัดของเจตนา ซึ่งขอให้ท่านคิดถึงลักษณะ สภาพของเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง
ในขณะปฏิสนธิ จิตดวงแรกที่ทำกิจปฏิสนธิมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ในขณะนั้นมีความจงใจ มีความตั้งใจอะไรไหมที่จะปรากฏให้รู้ได้ จงใจจะเกิดที่นั่น เป็นบุคคลนั้น เป็นมนุษย์อย่างนั้น เป็นเทวดาอย่างนั้นได้ไหม ในขณะนั้น ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพของปฏิสนธิจิตนั้นเป็นผลของกรรม กรรมทำให้เจตนาที่เป็นวิบากเกิดร่วมด้วย ขวนขวาย กระตุ้นสหชาตธรรม คือ นามธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ให้กระทำกิจให้สำเร็จตามฐานะของสภาพธรรม นั้นๆ นี่เป็นลักษณะของเจตนา
กำลังเห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีความรู้สึกว่าจงใจอะไรหรือเปล่าในขณะที่เห็น ไม่มี เพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เห็น เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ได้ยิน แต่แม้กระนั้นก็มีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตที่เห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตที่ได้ยิน สภาพธรรมที่เป็นลักษณะของเจตนา คือ เพียงทำให้สหชาตธรรม จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันกระทำกิจสำเร็จลงไปตามสภาพฐานะของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกอะไรก็ตาม เจตนาก็มีกิจกระตุ้น ขวนขวาย ประมวลมา กระทำให้สำเร็จกิจของสภาพธรรมนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ตั้งใจให้สติเกิดได้ไหม มีใครตั้งใจให้สติเกิดได้บ้าง สติเป็นคุณธรรมที่มีประโยชน์มาก มีคุณมาก ไม่ว่าสติที่จะระลึกเป็นไปในทานก็มีประโยชน์เพราะเหตุว่าทำให้เกิดกุศลจิต ทำให้เกิดกุศลกรรม สติที่ระลึกได้เป็นไปในศีลก็มีประโยชน์มาก สติที่ระลึกได้เป็นไปในการทำจิตให้สงบก็มีประโยชน์มาก สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมรู้ชัดว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลก็มีประโยชน์มาก
เมื่อสติเป็นคุณธรรม มีประโยชน์มากมายถึงอย่างนี้ ลองจงใจ ตั้งใจ เจตนาให้สติเกิด สติจะเกิดได้ไหม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้น ทำไมถึงจะคิดว่าจะต้องรู้เรื่องของเจตนา และจะได้ตั้งต้นเสียที ในเมื่อเจตนาไม่ใช่องค์มรรคในมรรคมีองค์ ๘
เจตนาเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง เจตนามี ๒ อย่าง คือ โดยปัจจัยแล้วเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ๑ เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ๑
ถ้ากล่าวถึงชื่อ ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่ายาก แต่ที่ทรงแสดงไว้ คือ กรรมได้แก่เจตนาเจตสิก ที่เราพูดถึงกรรมบ่อยๆ กุศลกรรม อกุศลกรรม ก็คือ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวายให้กิจนั้นสำเร็จลงไป
เมื่อเจตนาเกิดกับจิตทุกดวง สภาพของเจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวงนั้น เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ชาตะ แปลว่า เกิด สหะ แปลว่า ร่วมกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อเจตนาเป็นกรรม ก็เกิดร่วมกับจิต เกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ เจตนาที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิตนั้น เป็นปัจจัยของจิตและเจตสิกโดยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวง
แต่สำหรับนานักขณิกกัมมะ อีกประเภทหนึ่งนั้น หมายเฉพาะเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตเท่านั้น เพราะเหตุว่าเจตนาที่เกิดกับวิบากจิต กิริยาจิต กับจิตเห็น กับจิตได้ยินเหล่านั้น เป็นต้น ไม่มีกำลัง ไม่เหมือนกับเจตนาเจตสิกที่เกิดกับชวนจิต ที่เป็นกุศล เป็นอกุศล มีกำลังสามารถที่จะเป็นปัจจัยโดยที่ว่า ถึงแม้ว่าจิตนั้นที่เกิดร่วมกับเจตนานั้นดับไปแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นในกาลข้างหน้าต่อไปได้
เพราะฉะนั้น ที่ทุกท่านมีวิบากจิต มีการเกิด และมีการเห็น มีการได้ยิน บางครั้งก็ดี บางครั้งก็ไม่ดีนั้น เป็นผลของกรรม คือ เจตนาในอดีต แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลเจตนา หรือว่าเป็นผลของอกุศลเจตนา ซึ่งเป็นนานักขณิกกัมมะ เวลาที่กุศลจิตเกิด จงใจ ตั้งใจที่จะให้จิตเป็นกุศลได้ไหม ไม่ได้ กุศลจิตจะเกิด ก็เพราะว่าได้เคยอบรมสะสมเหตุปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุ มีปัจจัยที่ได้สะสมมาที่จะให้กุศลจิตเกิด กุศลจิตก็เกิด
ไม่มีใครชอบอกุศลจิต โลภมูลจิตก็ไม่ชอบ โทสมูลจิตก็ไม่ชอบ โมหมูลจิตก็ไม่ชอบ เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย เป็นอกุศลจิต จงใจ ตั้งใจให้เกิดหรือเปล่า ไม่ชอบอกุศลจิต แต่อกุศลจิตก็เกิด และมีเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่จงใจกระทำกิจของตนให้สำเร็จ ในกิจนั้น โดยที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ เพราะฉะนั้น อกุศลจิตก็เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย แม้เจตนาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตก็มีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น เป็นอนัตตา
สภาพที่จงใจ สภาพที่ตั้งใจ เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น วันนี้มีใครตั้งใจจะทำอะไรบ้างหรือเปล่า ทำจริงๆ อย่างที่ตั้งใจไว้ทุกครั้งหรือเปล่า บางครั้งตั้งใจว่าจะทำอย่างนี้ แต่ว่ามีสิ่งอื่นเกิดขึ้น ทำให้ไม่ได้กระทำสิ่งที่ตนตั้งใจไว้
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าต้องมีเจตนาซึ่งเป็นความตั้งใจ แต่ต้องเป็นมรรคมีองค์ ๘ คือ สติที่จะต้องระลึกรู้ว่า แม้เกิดความตั้งใจจะกระทำอะไรสภาพที่ตั้งใจนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เจตนาเป็นสังขารธรรม ไม่มีเหตุปัจจัย เจตนาก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อเจตนาเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติก็ระลึกรู้ในขณะที่ตั้งใจ จงใจนั้นว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น
ถ. เมื่อวานนี้ผมตั้งใจจะมาฟังอาจารย์พูด ผมตั้งใจมาตั้งแต่วานนี้ อย่างนี้ยังไม่เรียกว่าตั้งใจอีกหรือ
สุ. ตั้งใจเมื่อวานนี้ เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ดับไปเมื่อวานนี้ และมีเจตนาอื่นเกิดกับจิตอื่น เกิดสืบต่อๆ ไป ทุกๆ ขณะจิต กำลังเห็นก็มีเจตนาเจตสิกเกิดแล้วก็ดับ กำลังได้ยินก็มีเจตนาเจตสิกเกิดแล้วก็ดับพร้อมกับจิตที่ได้ยิน เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ตั้งใจเมื่อวานนี้ก็ดับเมื่อวานนี้ เจตนาเกิดแล้วก็ดับ สืบต่อกันไปเรื่อยๆ สภาพธรรมทั้งหลายอาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น มีปัจจัยที่จะให้สัมมาสติเกิดขึ้นเพราะอาศัยการฟัง แล้วก็เข้าใจ ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น โดยที่ไม่ต้องมีตัวตนไปจงใจที่จะตั้งต้น
พระ เวลาที่อาตมาเห็นรูป ก็กำหนดในใจว่า เห็นหนอๆ เวลาที่ได้ยินเสียง ก็กำหนดในใจว่า ได้ยินหนอๆ เวลาที่ปวด ก็กำหนดในใจว่า ปวดหนอๆ อาตมากำหนดอย่างนี้ จะเรียกได้หรือเปล่าว่า เป็นบาทของวิปัสสนา หรือว่าเป็นอย่างไร
สุ. วิปัสสนาเป็นความรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏโดยถูกต้องตามความเป็นจริง สภาพธรรมในวันหนึ่งๆ มีหลายอย่าง นามธรรมก็มีหลายประเภท ไม่ว่าจะคิด จะนึก จะสุข จะทุกข์ จะเห็น จะได้ยิน ก็เป็นนามธรรมแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมแต่ละชนิดเท่านั้น ที่กำลังเห็น เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกับได้ยิน ไม่เหมือนกับคิดนึก แต่เป็นสภาพรู้
ถ้าระลึกรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นเป็นการรู้ลักษณะของนาม ธรรม แต่ถ้าขณะที่เกิดความคิดว่า เห็นหนอ ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะนามธรรมที่กำลังเห็นว่าเป็นสภาพรู้ ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ว่า ที่คิดหรือนึกอย่างนั้นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ถ้าเกิดคิดในใจขึ้นมาว่า เห็น มีคำว่าเห็น มีคำว่าเห็นหนอในใจ สติจะต้องระลึกรู้ว่า ที่เกิดระลึกคิดเป็นเห็นหนอขึ้นมานั้นไม่ใช่สภาพที่เห็น
คำว่า บาทของวิปัสสนา หมายความว่าจะต้องอาศัยสภาพธรรมที่มีจริง และสติระลึกตรงลักษณะ เมื่อระลึกแล้วค่อยๆ รู้ขึ้นจนกว่าจะชัด เมื่อรู้ชัดจึงเป็นวิปัสสนา แต่จะต้องระลึกรู้ตรงลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละชนิด
ถ้าเป็นนามธรรมที่คิดนึก สติจะต้องระลึกรู้สภาพที่คิด ที่นึก ถ้าเป็นขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องคิดเลย แต่รู้ว่าเห็นก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง คือ แยกกันได้อย่างละเอียด นามที่เกิดดับสืบต่อกันนั้นละเอียดและรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น สติจะต้องละเอียดที่จะรู้ความต่างกันของนามธรรมแต่ละชนิด อย่างนามที่เห็น ไม่คิดก็เห็น เพราะฉะนั้น ที่เห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งโดยที่ไม่ต้องคิดว่า เห็นหนอ ต้องแยกสภาพรู้ทั้ง ๖ ทาง
คุณพุทธบุตรเขียนตอนจบว่า ขออ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัย จงช่วยบันดาลให้คุณจงเป็นนักปฏิบัติที่สมบูรณ์อันใกล้นี้ จะได้ไม่พูดโดยอาศัยจินตามยปัญญาของคุณเสียที คุณจะได้พูดอย่างนักปฏิบัติที่แท้จริง โดยไม่เอาชนะกันโดยโวหาร แต่ว่าจะพิจารณากันโดยนัยอารมณ์ของนักปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นโดยสุขุมลึกซึ้งกว่าจินตามยปัญญาของคุณเสียอีกเป็นไหนๆ
ไม่ทราบว่า คุณพุทธบุตรเข้าใจความหมายของคำว่านักปฏิบัติที่แท้จริงอย่างไร ถ้าขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนาม รู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูป รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นปฏิบัติธรรมหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม ขณะนั้นเป็นอะไร ขณะที่สติกำลังระลึกแล้วรู้นามรูป
และที่กล่าวว่า แต่ว่าจะพิจารณากันโดยนัยอารมณ์ของนักปฏิบัติ อารมณ์ของนักปฏิบัติหมายความว่าอย่างไร การใช้พยัญชนะต้องให้ถูกต้องตามความเป็นจริงด้วย
อารมณ์เป็นสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้น อารมณ์ของผู้ปฏิบัติธรรม คือ ผู้ที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม อารมณ์ คือ สภาวลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงนั่นเอง ไม่ใช่อย่างอื่นเลย
กำลังเห็น สติระลึกรู้ว่าเป็นสภาพรู้ เป็นของจริง เป็นอารมณ์ของผู้ปฏิบัติธรรม เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม เมื่อเป็นนามธรรม ผู้ที่ระลึกก็รู้ได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็ด้วยสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่หนทางอื่น