แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 210

สำหรับผู้ที่มั่นคงในทาน ท่านกล่าวว่า

ข้าพระบาทจะพึงเลิกศรัทธาเพราะเหตุการบริโภคทรัพย์อันใด ทรัพย์อันนั้น อย่าได้มีเลย

เคยคิดว่าจะบริจาคเป็นการกุศล ถ้าจะไม่บริจาค ขออย่าให้ได้ทรัพย์นั้นมาเลย นั่นเป็นผู้ที่มั่นคงในการให้ กิเลสนี้เหนียวแน่นเหลือเกิน แม้แต่วัตถุก็ยังสละยากถึงปานนี้ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ชัดในสภาพนามธรรมและรูปธรรมจนกระทั่งไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น จะยิ่งยากกว่าการสละวัตถุสักเท่าไร ถ้าไม่พิจารณา ไม่พิสูจน์จากชีวิตจริงๆ ท่านจะไม่รู้จักตัวท่านเองอย่างละเอียดว่า การละกิเลสนั้นจะต้องละอย่างไร และยากอย่างไร ท่านคิดข้ามๆ เพียงแต่ว่า ท่านเห็นนามรูปเกิดดับได้ก็จะหมดกิเลส แต่ว่าความจริงแล้ว กิเลสเป็นเป็นเรื่องละเอียด และจะต้องรู้แจ้งจริงๆ

ข้อความต่อไป ที่ท่านผู้มีความมั่นคงในการให้ทาน ท่านกล่าวว่า

รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็แล่นไปทางนั้น ข้าแต่ท้าววาสวะ วัตรที่ข้าพระบาทบำเพ็ญมาแล้วแต่ครั้งก่อน ขอจงเป็นไปเหมือนอย่างนั้นเถิด ถ้ายังมี ยังเป็นอยู่ ข้าพระบาทก็จะให้ เมื่อไม่มี ไม่เป็น จะให้ได้อย่างไร แต่ถึงจะเป็นอย่างนี้แล้วก็ตาม ก็จะต้องให้ เพราะข้าพระบาทจะลืมทานเสียมิได้

เป็นเรื่องของผู้ที่ถึงแม้ว่าท่านจะมีทรัพย์น้อย มีอาหาร หรือมีเสื้อผ้า มีเครื่องนุ่งห่มน้อย แต่ว่าจิตใจของท่านที่เป็นผู้มักสละสิ่งที่ท่านมีอยู่แม้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ก็สามารถที่จะสละอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตรได้ คงจะเคยเห็นผู้ที่มีทรัพย์น้อย แต่ว่าเกื้อกูลกันเสมอทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีปกติให้ที่ได้สะสมมาแล้ว

สำหรับในเรื่องของทาน บางท่านก็อาจจะคิดว่า พระอริยสาวกนั้นจะดำเนิน ชีวิตอย่างไร จะมีจิตใจอย่างไร จะมีการให้มากน้อยกว่าปุถุชนอย่างไร

ขอกล่าวถึงพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปัตตกรรมวรรคที่ ๒ ปัตตกัมมสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

ทุกท่านที่ทำมาหาเลี้ยงชีพก็ปรารถนาให้โภคะเกิดขึ้นโดยทางธรรม ผู้ที่เจริญสติกับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปรารถนาอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าปรารถนาเฉพาะผู้ที่ไม่เจริญสติ ส่วนผู้ที่เจริญสตินั้นไม่ปรารถนาเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เจริญสติหรือว่าผู้ที่ไม่เจริญสติก็ตาม ยังคงมีความปรารถนา ขอให้โภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม เพราะฉะนั้น การเจริญสติเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ธรรมประการต่อไปที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก คือ

เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เรา พร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

เมื่อได้โภคะโดยทางธรรมแล้ว ความปรารถนาไม่สิ้นสุด ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เรา พร้อมด้วยญาติ และมิตรสหาย

ยศมี ๓ อย่าง คือ อิสริยยศ เกียรติยศ บริวารยศ

ทุกท่านไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เมื่อท่านอยู่กับบุคคลอื่น ก็ย่อมจะต้องการมีความรู้สึกว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่ต้องการได้รับการยกย่อง การเคารพนับถือ บางคนก็ต้องการตำแหน่งหน้าที่ เกียรติยศ เป็นยศศักดิ์ต่างๆ เป็นอิสริยยศ แต่บางคนก็ต้องการความเคารพนับถือยกย่องในคุณความดีจากบุคคลอื่นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีคุณความดี น่าเคารพ น่านับถือ นั่นก็เป็นเกียรติยศ นอกจากนั้นยังมีความต้องการบริวารยศ ผู้ที่จะอำนวยความสะดวก มีผู้ที่ช่วยเหลือรับใช้กระทำกิจการงานธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าท่านจะไปในสถานที่ใด หรือว่ามีธุระการงานที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น ท่านก็ต้องการที่จะให้มีผู้ที่อำนวยความสะดวกให้ มีความต้องการในบริวารยศ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติกับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติเป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าเป็นเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เจริญสติ ส่วนผู้ที่เจริญสติไม่เป็นอย่างนี้ แม้ผู้ที่เจริญสติก็เป็นอย่างนี้ กำลังเจริญสติเพื่อละกิเลส เพื่อละอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น มีความต่างอะไรกันระหว่างบุคคลผู้ที่ไม่ได้เจริญสติกับบุคคลที่เจริญสติ ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติก็ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมชนิดใดเกิด สภาพธรรมชนิดนั้นก็เกิดขึ้น และหนทางที่จะละอกุศลธรรมทั้งปวงได้ มีทางเดียวจริงๆ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะเกิดความปรารถนาในเกียรติยศ ในบริวารยศ หรือว่าในอิสริยยศขณะใด สติก็จะต้องระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง สภาพธรรมทั้งหลายเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น และน่าปรารถนาจริงๆ หรือเปล่า อย่างบริวารยศ ต้องการให้มีใครช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ไหม เวลาที่ท่านมีกิจธุระที่จะต้องกระทำ

ข้อความต่อไปซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ประการที่ ๓ คือ

เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมทั้งญาติและมิตรสหายแล้ว ขอเราจงเป็นอยู่นาน จงรักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

ถ้ามีโภคะ มียศ พร้อมด้วยญาติมิตรสหายแล้ว อยากจะจากไปไหม ไม่ได้คิดอยากจะจากไปเลย ยังคงต้องการอยู่เรื่อยๆ ความต้องการไม่หมดเลย ถึงมีแล้วก็ยังอยากที่จะมีชีวิตอยู่นานๆ ไม่อยากจะจากสิ่งที่น่าปรารถนา น่าพอใจนั้นไป

สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานกับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเหมือนกันไหม ไม่ต่างกันเลย อย่าไปคิดแยก คิดว่า ขณะนี้ท่านกำลังเจริญสติปัฏฐานไม่อยากอะไรทั้งนั้น เลิกหมดแล้ว รูป เสียง กลิ่น รส โภคะ ญาติมิตร อะไรต่างๆ จนกระทั่งแม้แต่ชีวิต นั่นไม่ใช่ความจริง ความจริง คือ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่เจริญสติหรือว่าท่านไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็ตาม ท่านยังคงมีความปรารถนาในธรรมที่น่าปรารถนา ถึงท่านไม่อยากจะจากญาติหรือมิตรสหาย พร้อมทั้งโภคะและยศไป แต่ท่านต้องจากแน่ เมื่อไรๆ ก็จะต้องจาก จะทำอย่างไรดี ก็จะต้องเจริญสติเพื่อที่จะดับการที่จะต้องจากญาติ มิตร ยศ โภคะต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นสมุจเฉท

ธรรมประการที่ ๔ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลกนั้น คือ

เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นาน รักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้แล น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

ได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นาน เป็นผู้ที่มีอายุยืนนานด้วย และทุกท่านทราบว่า ท่านจะต้องสิ้นชีวิต จะต้องจากโลกนี้ไป เพราะฉะนั้น อะไรเป็นความปรารถนาอีก ก็คือ ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

จะต้องไปแน่ เมื่อไรไม่ทราบ วันไหนไม่ทราบ แต่อยากจะไปที่ไหน สุคติโลกสวรรค์นี้แน่นอนที่สุด ไปได้ไหม ทราบได้ไหม ทราบไม่ได้ เหมือนกับการที่ท่านได้เกิดมาแล้ว มีชีวิตเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ชาติก่อนทราบไหมว่า จะต้องมาเกิดในโลกนี้ มีชีวิตอย่างนี้ เป็นบุคคลนี้ ก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านสิ้นชีวิตลง ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้แน่นอนว่า ท่านจะไปเกิดที่ใด ในภพภูมิใด มีสุข มีทุกข์อย่างไร นอกจากท่านจะเป็นพระอริยบุคคล ก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิแน่นอน แต่ถ้ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล ก็ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะทราบได้เลยว่า แม้ท่านปรารถนาที่จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ แต่จะไปได้หรือไปไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับกรรม

พระผู้มีพระภาคมิได้เพียงทรงแสดงธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ปรารถนาของทุกท่านเท่านั้น แต่ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ พระผู้มีพระภาคทรงทราบเหตุที่จะให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้ด้วย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเหตุที่จะให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้กับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปอีกว่า

ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ศรัทธาสัมปทา ๑ ศีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑

คือ การถึงพร้อมด้วยศรัทธา การถึงพร้อมด้วยศีล การถึงพร้อมด้วยจาคะ การสละความตระหนี่ และการถึงพร้อมด้วยปัญญา

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร คฤหบดี ก็ศรัทธาสัมปทา เป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ (และพระคุณธรรมข้ออื่นๆ) เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกร คฤหบดี นี้เรียกว่า ศรัทธาสัมปทา

ท่านผู้ฟังมีความเคลือบแคลงในพระธรรมที่ได้ฟังบ้างไหม ถ้าเคลือบแคลงจะชื่อว่า ท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศรัทธา เป็นผู้ที่มีศรัทธาสัมปทาได้ไหม ก็ไม่ได้ และการที่ท่านผู้ฟังจะมีความมั่นคงในศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคได้นั้น ต้องอาศัยการศึกษาธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ และประพฤติปฏิบัติตาม พิจารณาพระธรรมว่า พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้สมบรูณ์ด้วยความจริงทั้งเหตุและผลอย่างไร ก็จะทำให้ท่านเพิ่มพูนศรัทธา ความเชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ศีลสัมปทา เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต (แล้วก็ศีลข้อต่อไปจนถึง) เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ศีลสัมปทา

เรื่องของศีลเป็นเรื่องที่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม ท่านจะเห็นว่า สภาพธรรมใดเป็นอกุศล สภาพธรรมใดเป็นกุศล เมื่อได้เห็นจริงว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ท่านก็จะเว้นการทำทุจริตกรรม เพราะถึงแม้ว่าอกุศลจิต ความพอใจ ความไม่พอใจ จะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ก็จะไม่ทำให้รุนแรงถึงกับกระทำทุจริตกรรมได้ นอกจากจะเพื่อประโยชน์ของท่านเอง ก็เป็นการงดเว้นการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนด้วย ถ้าท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นศีลสัมปทา

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็จาคสัมปทา เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา

เรื่องของจาคสัมปทา เป็นความสามารถที่จะสละการติดในวัตถุ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสที่ยึดมั่นในวัตถุ ในสิ่งต่างๆ ถ้าไม่มีจาคะ ไม่มีการสละ ก็ยังเป็นผู้ที่ติดยึดอย่างเหนียวแน่นทีเดียวในวัตถุ ในสิ่งต่างๆ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ปัญญาสัมปทา เป็นไฉน บุคคลมีใจอันความโลภ ไม่สม่ำเสมอ คือ อภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำอยู่ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาทครอบงำ อันถีนมิทธะครอบงำ อันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข

เคยรู้สึกบ้างไหมว่า จิตของท่านไม่สม่ำเสมอด้วยอภิชฌา ต้องการผลของการปฏิบัติจนกระทั่งลืมที่จะพิจารณาว่า เหตุอย่างไรจึงจะทำให้เกิดผลอย่างไร หรือสิ่งที่ท่านคิดว่าเป็นผลนั้น เป็นผลที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าท่านมีความโลภ มีความต้องการเสียเหลือเกิน ยึดถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นผลจริงๆ ซึ่งโดยมากในการเจริญวิปัสสนา ท่านมักจะถามว่าได้อะไร ได้ญาณขั้นไหน ถ้าท่านไม่เป็นผู้ที่พิจารณาธรรมอย่างละเอียดรอบคอบให้เหตุตรงกับผล อภิชฌา ความโลภจะทำให้ท่านทำกิจที่ไม่ควรทำ ซึ่งจะทำให้ท่านเสื่อมจากยศและความสุข เพราะเหตุว่าบางทีด้วยอำนาจของอภิชฌา ท่านก็อาจจะถึงกับกล่าวว่าธรรมที่ถูกนั้นเป็นธรรมที่ผิด หรือว่า ธรรมที่ผิดนั้นเป็นธรรมที่ถูก ก็แล้วแต่จิตใจของท่าน ซึ่งไม่มีบุคคลอื่นจะรู้ดียิ่งกว่าตัวของท่านเอง

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนั้นแล รู้ว่า อภิชฌา วิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอภิชฌา วิสมโลภะ อันเป็นอุปกิเลสของจิตเสียได้

รู้ว่า พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละวิจิกิจฉา อันเป็นอุปกิเลสของจิต

ดูกร คฤหบดี เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า อภิชฌา วิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสของจิต ดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้

เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้

อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้เห็นทาง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา

ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้แล อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่อย่าลืมว่า จะละอะไรก่อน วิจิกิจฉา ความสงสัย ความไม่รู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องละเป็นลำดับขั้น ขั้นแรกไม่ใช่ละโลภะ โทสะ นั่นเป็นขั้นของ พระอนาคามี ขั้นของพระอรหันต์ แต่ว่าขั้นของพระโสดาบันบุคคลนั้นละวิจิกิจฉา ความสงสัย ความไม่รู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ธรรมที่น่าปรารถนาทั้ง ๔ ประการนี้ จะสำเร็จสมความปรารถนาได้ก็ด้วยธรรมที่เป็นเหตุ ๔ ประการ ถึงพร้อมข้อไหนแล้วบ้าง ศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา ที่จะเป็นเหตุให้ได้ธรรมที่น่าปรารถนา ๔ ประการนั้น

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญอบรมให้ถึงความสมบูรณ์พร้อมทั้งศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา และปัญญาสัมปทา ไม่ควรประมาท ต้องการผลอย่างไร ก็ต้องเจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย

เปิด  345
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565