แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 223

การเจริญปัญญาของท่าน ถ้าท่านเจริญถูก ท่านก็ประจักษ์สภาวธรรมถูกต้องอย่างที่บุคคลในครั้งอดีตได้เจริญ และได้ประจักษ์สภาวธรรมถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน แต่จะกล่าวด้วยความยึดถือว่า ผู้อื่นไม่รู้สภาวะรูปนั่ง นอน ยืน เดินไม่ได้ เพราะเหตุว่าผู้อื่นรู้สภาวรูปจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตามความเป็นจริง

ถ้าไม่มีท่านผู้ฟังที่เข้าใจผิดอย่างนี้ การใช้พยัญชนะก็คงจะใช้อย่างหละหลวมต่อไปได้ แต่ขอให้คิดดูว่า ความเห็นผิด ความไม่รู้ อวิชชา และทิฏฐิที่สะสมมามากมายเนิ่นนานในอดีตอนันตชาติ พร้อมที่จะทำให้ท่านเข้าใจเขวไปทันที อย่างเช่นเอาจิตออกมารู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คลาดเคลื่อนอีก มีการรู้สึกว่าจะทำวิปัสสนา จะเอาจิตออกมา ก็จะต้องมีตัวตนที่เอาจิตออกมา และเอาออกมาจากไหน

กำลังได้ยิน เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง หรือว่าเสียงที่ปรากฏทางหู ลักษณะของเสียงก็ปรากฏแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรไปไว้ที่ไหน อย่างไร เพราะเหตุว่ากำลังวุ่นที่จะทำอย่างนั้น เสียงก็ดับไปนานแล้ว และไม่ได้ระลึกรู้ว่าเป็นสภาพรู้ด้วย ไม่ได้แยกว่า ที่กำลังได้ยินนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งลักษณะสภาพรู้อย่างนี้ รู้เสียง ไม่ใช่รู้อย่างอื่น ซึ่งผู้เจริญสติปัฏฐานนั้นจะต้องละทิ้งสีลัพพตปรามาสและความเห็นผิดโดยลำดับจริงๆ โดยละเอียดจริงๆ โดยหมดสิ้นจริงๆ จึงจะสามารถรู้ลักษณะของนามและรูปตรงลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่มีตัวตนที่กำลังพลิกแพลง กำลังบิดเบือน กำลังคิดจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้

ถ้าท่านเห็นว่า การฟังธรรมเป็นประโยชน์ที่จะได้เข้าใจชัดเจนและละเอียดขึ้นเพื่อที่จะได้ทิ้งความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ก็ขอให้ทราบว่า การฟังธรรม หรือการบรรยายธรรมก็ด้วยกุศลจิต ไม่ใช่เป็นอกุศลจิตอย่างที่ท่านคิดว่า ผู้บรรยาย หรือผู้ฟังคงจะเกิดอกุศลจิต

ถ. ความเข้าใจของผมเรื่องห้องกัมมัฏฐาน คือ ในจิตของเราที่มีสติพร้อมบริบูรณ์ ในเรื่องกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ เป็น ๔ ประตู อุปมาเหมือน ๔ ประตูนี้เป็นห้องกัมมัฏฐาน จะไปทางไหนก็ใช้ห้อง ๔ ประตูนี้เป็นประจำ โดยไม่ต้องเลือกเวลา ไม่เลือกกาล จะถูกต้องไหมครับ

สุ. ไม่ต้องใช้คำว่าห้อง ไม่ต้องสมมติ การเจริญวิปัสสนาเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่เหมือนอย่างการเจริญสมถภาวนา แม้จะรู้ธาตุลม หรือจะระลึกถึงธาตุลม ยังต้องอาศัยดูใบไม้ที่ไหว นั่นเป็นสมถภาวนา แต่วิปัสสนาภาวนาไม่ใช่การไปดูใบไม้ไหวและรู้ว่าเป็นธาตุลม นั่นไม่ใช่ลักษณะของธาตุลมที่จะไป ประมวล สมมติ หรือว่าทำให้รู้ในลักษณะจริงๆ ได้

เวลาที่ลักษณะที่ไหว ที่ตึงปรากฏ ผู้เจริญสติก็รู้ว่าสภาพนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นเป็นการรู้ลักษณะของธรรมของธาตุที่เป็นวาโย ที่เป็นธาตุลม เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมีอะไรมาสมมติ

ท่านเจ้าของจดหมายเขียนว่า

“ ที่ผมเข้าใจเช่นนี้จะถูกผิดอย่างไร ผมมิได้ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระไตรปิฎก ถึงจะเทียบเคียงก็หาพระไตรปิฎกไม่ได้ หรือหาได้ก็จะต้องค้นกันเป็น วันๆ ซ้ำข้อความในพระไตรปิฎกก็เหมือนอ่านตัวบทกฎหมายนั่นเอง ก็ต้องอาศัยอาจารย์ผู้รู้อีก ถ้าผมมัวเทียบเคียงอยู่อย่างว่า คงตายไปเสียก่อนได้ปฏิบัติแน่ ด้วยเหตุนี้ผมจึงถือว่า เมื่อรักสมัครนับถือเป็นลูกศิษย์อาจารย์กันแล้ว ก็ควรเชื่อถือและพิจารณาใคร่ครวญจากการปฏิบัติที่ท่านอาจารย์ก็คงจะพอ เพราะเราไม่ใช่ชาวกาลามะในสมัยโน้น “

ความคิดเห็นของคนในสมัยนี้กับความคิดเห็นของคนในสมัยก่อน จะไม่เหมือน กันหรือ โลภะของคนสมัยก่อนกับโลภะของคนสมัยนี้ ลักษณะต่างกันหรือ โทสะของคนสมัยก่อนกับโทสะของคนสมัยนี้ ต่างกันไหม ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดของคนสมัยก่อนกับความเห็นผิด ความเข้าใจผิดของคนในสมัยนี้ ต่างกันไหม เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ชาวกาลามะในครั้งกระโน้น แต่เป็นบุคคลในครั้งนี้ ความคิด ความเห็นจะไม่เหมือนกับบุคคลที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกับชาวกาลามะใน เกสปุตตสูตร หรือ และสำหรับสูตรนี้โดยมากจะได้ยินได้ฟังเสมอว่า กาลามสูตร ได้ยินได้ฟังสืบต่อกันมา แต่ถ้าท่านจะค้นในพระไตรปิฎก ไม่มีกาลามสูตรในพระไตรปิฎก ซึ่งบางท่านก็คงยึดถือต่อๆ ไปอีก ไม่คิดว่า การตรวจสอบค้นคว้า เกื้อกูลแก่พระธรรมวินัยนั้นควรจะกระทำ ควรจะแก้ไข

ขออ่านข้อความในสูตรนี้ให้ฟังอย่างครบถ้วน เพราะว่าท่านได้ยินชื่อนี้บ่อยๆ แต่พูดกันว่า กาลามสูตร และไม่ใช่เฉพาะแต่ในประเทศไทย ไม่ว่าในหนังสืออื่น ฉบับต่างประเทศก็ใช้คำว่า กาลามสูตร แต่ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ใคร่จะศึกษาค้นคว้า ไตร่ตรอง สอบทานพระธรรมวินัย ท่านก็ควรจะทราบว่า กาลามสูตรไม่มีในพระไตรปิฎก มีแต่ เกสปุตตสูตร

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสถ์ มหาวรรคที่ ๒ เกสปุตตสูตร ที่ ๕ ข้อความใน เกสปุตตสูตร มีเรื่องสติสัมปชัญญะด้วย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านผู้ฟังกำลังฟังเรื่องสติปัฏฐาน ใน เกสปุตตสูตร นี้ ก็มีเรื่องของสติสัมปชัญญะด้วย ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะ ชื่อว่า เกสปุตตะ พวกชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคม ได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศายสกุลแล้ว เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมโดยลำดับ ก็กิตติศัพท์อันงามของพระสมณโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า

แม้เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ทรงเบิกบานแล้ว ทรงจำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล ครั้งนั้นชาวกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคม ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งเฉยๆ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เมื่อต่างก็นั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้นพูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบ กระเทียบ ดูหมิ่น พูดปด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า

มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ถึงพราหมณ์พวกนั้นก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดปด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า

พวกข้าพระองค์ ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นใครพูดจริง ใครพูดเท็จ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่านทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว

มาเถิดท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา

อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา

อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินว่าอย่างนี้

อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา

อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง

อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน

อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ

อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่า ต้องกับทิฏฐิของตัว

อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้

อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา

เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์

พวกชนกาลามโคตรต่างกราบทูลว่า

เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์พระเจ้าข้า

ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับชาวกาลามะ ที่ว่า เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ

ที่จะรู้ด้วยตนเองนั้น เมื่อไร ที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังเกิดปรากฏ หรือว่าปล่อยให้ผ่านไป ไม่รู้เลย หลงลืมสติ แต่ท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ท่านจะสังเกตได้ว่า สติ การระลึกได้บ่อยขึ้น แม้ทำสิ่งที่ไม่สมควรไปแล้ว สติก็ระลึกได้ทัน หรือว่าก่อนจะทำ สติอาจจะระลึกได้ หรือกำลังเป็นอกุศลจิต สติก็ยังรู้สภาพของจิตในขณะนั้น นี่เป็นสัมปชัญญะ ปกติตามธรรมดา ไม่เหมือนกับขณะที่สติไม่ได้เกิดขึ้น โดยความเป็นอนัตตา ไม่สามารถระลึกรู้ปรมัตถธรรมสภาวลักษณะที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะละธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลได้ ก็เพราะรู้ตามความเป็นจริง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

พวกชนกาลามโคตรกราบทูลว่า

จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า

พิจารณาสภาพของความโลภแล้ว เห็นว่าเป็นจริงอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสไหมว่า เมื่อเป็นความโลภแล้ว ผู้ที่ถูกความโลภครอบงำ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่ใช่ประโยชน์

พวกชนกาลามโคตรกราบทูลว่า

เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตอันความโกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โกรธย่อมชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

พวกชนกาลามโคตรกราบทูลว่า

จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความหลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์

พวกกาลามชนกราบทูลว่า

เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ มีจิตอันความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้หลงย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

พวกกาลามชนกราบทูลว่า

จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า

เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวของท่านหรือเปล่า ท่านมีโลภะไหม มีโทสะไหม มีโมหะไหม ถ้ายังไม่หมด และมีมากจนกระทั่งโลภะครอบงำ โทสะครอบงำ โมหะครอบงำ จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นเรื่องของตัวท่านเองจริงๆ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

พวกกาลามชนกราบทูลว่า

เป็นอกุศลพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

มีโทษ หรือไม่มีโทษ

พวกกาลามชนกราบทูลว่า

มีโทษพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ท่านผู้รู้ติเตียน หรือท่านผู้รู้สรรเสริญ

พวกกาลามชนกราบทูลว่า

ท่านผู้รู้ติเตียนพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์หรือหาไม่ ในข้อนี้ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร

พวกกาลามชนกราบทูลว่า

ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ ในข้อนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกร กาลามชนทั้งหลาย มาเถิดท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกับทิฏฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ฯ (ข้อความซ้ำต่อไปจนถึง) อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์

พวกกาลามชนกราบทูลว่า

เพื่อประโยชน์พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ถูกความโลภครอบงำ มีจิตไม่ถูกความโลภกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โลภ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น

พวกกาลามชนกราบทูลว่า

จริงอย่านั้นพระเจ้าข้า

ขณะนี้จิตของท่านไม่โลภได้ไหม ขณะที่ฟังนี้ สติเกิด ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม สลับไปกับการฟัง ขณะนั้นเป็นความไม่โลภ คือ ถ้าความไม่โลภเกิดขึ้นในขณะใด ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ชักชวนมิตรสหายเพื่อความไม่โลภ เพื่อการเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงนั้น ที่จะพ้นจากสติปัฏฐาน ไม่มี

ได้ยินเป็นธรรม ระลึกได้ เสียงเป็นธรรม ระลึกได้ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏ ก็ระลึกได้

ที่ไม่อยากจะข้ามพระสูตรนี้ ก็เพราะเหตุว่าท่านผู้ฟังพูดถึงพระสูตรนี้บ่อยๆ แต่ไม่ได้แสดงพระสูตรอย่างครบถ้วน

เปิด  288
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565