แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 225
ทุกท่านเห็นทุกวัน สีสันวัณณะเป็นสภาวธรรม มีลักษณะที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ จะไปรู้อย่างอื่น จะชื่อว่ารู้สภาวธรรมได้ไหม ก็ไม่ได้ ฉันใด ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานย่อมรู้ด้วยสามารถลักษณะ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ตาม เมื่อเป็นสภาวธรรม ต้องมีลักษณะปรากฏ
ย่อมเห็นด้วยสามารถกิจ เห็นความต่างกันของสภาวธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง สภาพรู้ทางตา คือ การเห็น ก็เป็นอย่างหนึ่ง สภาพรู้ทางหู คือ การได้ยิน ก็เป็นสภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง นามธรรมที่เห็นไม่ใช่นามธรรมเดียวกับนามธรรมที่ได้ยินนามธรรมที่เห็นจะเกิดขึ้นครั้งใด ขณะใด ก็ทำกิจเห็น นามธรรมที่ได้ยินจะเกิดขึ้นครั้งใด ขณะใด ก็ทำกิจได้ยินเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสามารถรู้สภาวธรรมได้โดยสามารถลักษณะ และย่อมเห็นด้วยสามารถกิจของสภาวธรรมนั้นๆ
โลภเจตสิกเกิด มีความยินดี มีความติดข้อง มีความพอใจ มีความปรารถนา มีกิจที่ทำให้ติด ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะเห็นด้วยสามารถของกิจของสภาวธรรมนั้นๆ ย่อมรู้ทั่วด้วยสามารถอาการปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นจิต หรือเจตสิก หรือรูปก็ตาม ที่ปัญญาจะรู้ทั่ว ที่ปัญญาจะรู้ได้นั้น ย่อมรู้ทั่วด้วย สามารถอาการปรากฏ เมื่อสภาวธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่างไร ผู้ที่เจริญสติก็ระลึกรู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง จึงชื่อว่า ย่อมรู้ทั่วด้วยสามารถอาการปรากฏ
ถ้าสภาพธรรมปรากฏแล้ว ไม่รู้ หลงลืมสติไป จะรู้ทั่วได้ไหม ไม่ได้เพราะฉะนั้น ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมปรากฏทางตา หรือทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ตาม เมื่อปรากฏแล้วไม่หลงลืมสติ จึงรู้ทั่วด้วยสามารถอาการปรากฏของสภาพธรรมนั้นๆ นี่คือ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานและแทงตลอดด้วยสามารถเหตุใกล้ให้เกิด
การที่จะรู้ถึงเหตุปัจจัยของสภาพธรรมที่ปรากฏได้จะต้องเป็นญาณขั้นธัมมัฏฐิติญาณ คือ ญาณที่รู้ว่าสภาพธรรมนั้นอาศัยปัจจัยอะไรจึงได้เกิดขึ้น แต่ว่าก่อนที่จะรู้ถึงปัจจัย ผู้นั้นจะต้องรู้ด้วยสามารถลักษณะ ด้วยสามารถกิจ ด้วยสามารถอาการปรากฏของสภาพธรรมนั้น และการรู้ ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริง ถ้าคลาดเคลื่อนสักนิดหนึ่งก็ไม่สามารถบรรลุถึงวิปัสสนาญาณ แม้แต่เพียงขั้นต้น
อย่างคำว่า “จิตสั่ง” ตามข้อความที่ท่านผู้ฟังเขียนมามีใจความว่า เป็นคำที่รู้กันอยู่ ใช้กันอยู่ระหว่างอาจารย์กับศิษย์บ้าง ระหว่างผู้ที่ปฏิบัติบ้าง ไม่ควรจะเป็นคำที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดถึงสภาพธรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่าเป็นที่รู้ที่เข้าใจกันอยู่แล้ว
แต่ที่ว่า เป็นที่รู้ เป็นที่เข้าใจนั้น รู้ถูก เข้าใจถูกตรงตามสภาพลักษณะของธรรมนั้นๆ หรือว่า รู้ผิด เข้าใจผิด
อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ถ้ารู้ว่า จิตสั่ง จะเป็นการรู้ลักษณะของนามธรรมหรือเปล่าก็ไม่ใช่ เพราะว่าลักษณะของนามธรรม คือ สภาพรู้ ซึ่งไม่มีสีสันวัณณะ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง แต่กำลังเห็นในขณะนี้ ที่เห็นนี้เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดระลึกรู้ว่าสภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ท่านจึงจะรู้ว่า ที่ท่านเคยยึดถือเป็นเราเห็นนั้น ความจริงแล้วเป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตาชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้สั่งอะไรใช่ไหม
ถ้าท่านระลึกรู้อย่างนี้ ปัญญาของท่านจะรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรมถูกต้อง ไม่ คลาดเคลื่อน ขณะที่กำลังได้ยิน กิจของสภาพธรรมนี้ คือ รู้เสียง เพราะฉะนั้น ท่านรู้ลักษณะของนามธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น
ขณะที่ได้ยิน สั่งอะไรหรือเปล่า ไม่ได้สั่ง ถ้าท่านเจริญปัญญารู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ท่านจะไม่คลาดเคลื่อน และท่านจะถึงความสมบูรณ์ที่เป็นวิปัสสนาญาณได้
ในนามรูปปริจเฉทญาณ จะไม่มีสภาพนามธรรมที่ปรากฏโดยไม่ใช่สภาพรู้ ก่อนที่ท่านจะรู้ถึงปัจจัยว่า นามธรรมชนิดนั้นที่กำลังปรากฏ อาการอย่างนั้น ลักษณะอย่างนั้น เกิดเพราะอะไรเป็นปัจจัย ก่อนที่จะแทงตลอดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในญาณนั้น ท่านจะต้องรู้สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม รู้สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏในญาณนั้น ตรงตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน จึงจะแทงตลอดในสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยได้ และจะละคลายได้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแต่ละอย่าง แต่ไม่มีจิตสั่งเลย
ไม่ว่าท่านจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด นามธรรมเป็นสภาพรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาสอบทานสภาพธรรมตามลักษณะที่ปรากฏกับพยัญชนะที่ท่านได้ยินได้ฟังโดยถูกต้อง มิฉะนั้นแล้ว ท่านจะไม่สามารถรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้
สำหรับท่านผู้ฟังที่ยังไม่เห็นความสำคัญของพยัญชนะและอรรถที่จะต้องสมบูรณ์ทั้งสองประการ ใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อธิกรณวรรคที่ ๒ ข้อ ๒๖๖ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือนเลือนหายแห่งสัทธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ บทพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ๑ อรรถที่นำมาไม่ดี ๑ แม้เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ก็ย่อมเป็นอันนำมาไม่ดี ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือนเลือนหายแห่งสัทธรรม
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งสัทธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ บทพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี ๑ อรรถที่นำมาดี ๑ แม้เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่ตั้งไว้ดีแล้ว ก็ย่อมเป็นอันนำมาดี ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือนไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม
นี่เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคโดยตรงจากพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรจะเห็นความสำคัญของพยัญชนะและอรรถ ถ้าท่านผู้ฟังไม่เห็นประ โยชน์ของพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมจากพระโอษฐ์ ก็หมายความว่า ท่านไม่เห็นคุณค่าของพระธรรม แต่ว่าทุกพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้น เพื่อพุทธบริษัทจะได้ใคร่ครวญและพิจารณา เพื่อตรวจสอบตัวของท่านเอง
อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๖๗ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนพาล ๒ จำพวก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ คนที่ไม่รับรองตามธรรมเมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนพาล ๒ จำพวกนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต ๒ จำพวก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ คนที่รับรองตามธรรมเมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลายบัณฑิต ๒ จำพวกนี้แล
มีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ สำหรับใคร ถ้าไม่ใช่กพุทธบริษัท ที่จะตรวจสอบว่า ท่านเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ทั้งปริยัติและปฏิบัติหรือไม่ ถ้าปริยัติอย่างหนึ่ง ปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่ตรงกันเสียแล้ว และเมื่อท่านได้ฟังธรรมแล้ว ท่านเป็นผู้ที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ หรือว่าไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ท่านเป็นผู้ที่รับรองตามธรรมเมื่อผู้อื่นแสดงโทษ หรือว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่รับรองตามธรรมเมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเตือนให้ท่านผู้ฟังได้คิด ได้พิจารณาว่า การฟังธรรมและการปฏิบัติธรรมของท่านนั้น ตามเหตุและผลที่ถูกต้องหรือไม่
อย่างการเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะมีสภาวะลักษณะปรากฏให้รู้ อย่างนี้จะผิดหรือจะถูก ถ้าเจริญสติรู้อย่างนี้จะชื่อว่า ปฏิบัติผิดได้ไหม แต่ถ้าท่านไม่เจริญสติระลึกรู้สภาพธรรม คือ นามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ อย่างนั้นจะชื่อว่าปฏิบัติธรรมผิดหรือถูก ถ้าไม่มีสภาวะลักษณะปรากฏให้รู้ แต่เข้าใจว่ารู้มาก ซึ่งความจริงไม่ได้รู้นามธรรมและรูปธรรมที่มีสภาวะลักษณะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ข้อความต่อไปในข้อ ๒๖๘ มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ย่อมกล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนเจ้าโทสะซึ่งมีโทษอยู่ภายใน ๑ คนที่เชื่อโดยถือผิด ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมกล่าวตู่ตถาคต
ไม่ใช่พวกเดียว แต่ว่ามี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่ง คนเจ้าโทสะ ซึ่งมีโทษอยู่ภายใน ไม่พอใจในคำที่มีเหตุมีผล ได้ยินได้ฟังสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล แต่ไม่พอใจ ไม่ชอบในเหตุและผลนั้น เป็นคนเจ้าโทสะซึ่งมีโทษอยู่ภายใน ๑ และเป็นคนที่เชื่อโดยถือผิด ๑ สิ่งที่ถูกได้ฟังแล้วคิดว่าผิด สิ่งที่ผิดได้ฟังแล้วคิดว่าถูก เพราะเหตุว่าเป็นคนที่เชื่อโดยถือผิด
ข้อ ๒๖๙ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ย่อมกล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่แสดงสิ่งที่ตถาคตมิได้ภาษิตไว้มิได้ตรัสไว้ว่า ตถาคตได้ภาษิตไว้ได้ตรัสไว้ ๑คนที่แสดงสิ่งที่ตถาคตภาษิตไว้ตรัสไว้ว่า ตถาคตมิได้ภาษิตไว้มิได้ตรัสไว้ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้แล ย่อมกล่าวตู่ตถาคต
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ย่อมไม่กล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่แสดงสิ่งที่ตถาคตมิได้ภาษิตไว้มิได้ตรัสไว้ว่า ตถาคตมิได้ภาษิตไว้มิได้ตรัสไว้ ๑ คนที่แสดงสิ่งที่ตถาคตภาษิตไว้ตรัสไว้ว่า ตถาคตได้ภาษิตไว้ได้ตรัสไว้ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้แล ย่อมไม่กล่าวตู่ตถาคต
ท่านผู้ใดจะชื่อว่ากล่าวตู่ หรือไม่กล่าวตู่ ก็คือ ยกพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้มาแสดง เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้นั้น สมบูรณ์พร้อมทั้งเหตุผล ทั้งสภาพธรรมปรากฏที่ให้พิสูจน์ได้ เพราะทนต่อการพิสูจน์ เพราะฉะนั้น ทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว ก็ควรที่พุทธบริษัทจะได้กล่าวถึงทั้งพยัญชนะและอรรถที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ว่าคลาดเคลื่อน โดยการใช้พยัญชนะที่ไม่มีในพระไตรปิฎก
อย่างคำว่า เข้ากัมมัฏฐาน กับ การเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังได้ยินคำไหนในพระไตรปิฎก เจริญสติปัฏฐาน หรือว่าเข้ากัมมัฏฐาน ออกกัมมัฏฐาน
ในพระไตรปิฎกมีคำว่า หลงลืมสติ กับคำว่า มีสติเจริญสติ และการเจริญสติก็ไม่ใช่ว่ามีตัวตนไปเจริญ แต่การเจริญ คือ การอบรม ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าสติและปัญญาจะมั่นคง นั่นคือ การเจริญสติ ไม่ใช่ว่ามีตัวตนไปเข้า ไปออก หรือแม้แต่ความคิดที่ว่าทำวิปัสสนา บางทีเวลาที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม จะเกิดความรู้สึกว่าทำวิปัสสนาขึ้นแทรก ในขณะนั้น แม้อย่างนั้น ก็ยังต้องละ เพราะว่าเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ตรงสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่มีสิ่งอื่น ไม่มีการรู้สึกว่าทำวิปัสสนาเข้ามาแทรก หรือเข้ามาคั่น ที่จะทำให้ไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง
ถ้าสติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว มีแต่ลักษณะปรมัตถธรรม สภาวธรรมลักษณะหนึ่งๆ ที่ปรากฏแต่ละทางตามความเป็นจริงเท่านั้นแต่ถ้ารู้สึกว่าทำวิปัสสนาขึ้น ก็ไม่ตรงลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องความละเอียดที่ผู้เจริญสติปัฏฐานจะต้องทราบว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติขณะใดเป็นตัวตน มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนแทรก หรือคั่น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องรู้ เพื่อละ
บางท่านไม่ได้ไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใด เวลาที่ท่านรู้สึกว่าท่านทำวิปัสสนา ดิฉันก็ได้เรียนให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นตัวตน ท่านก็บอกว่าจะเป็นตัวตนได้อย่างไร ตัวตนของท่านนี้บางมากแล้ว ท่านไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมดิฉันจึงกล่าวว่าเป็นตัวตน ทำไมดิฉันไม่อนุโมทนาที่ท่านกล่าวว่าได้ญาณนั้นญาณนี้แล้ว ซึ่งในขณะนั้นมีสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ท่านไม่ได้ระลึกรู้ คือสภาพของนามธรรมที่คิดอย่างนั้นหรือรู้สึกอย่างนั้นว่า เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง
ทุกนาม ทุกรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติระลึกนิดเดียว เกิดแทรกขึ้นมาอีกแล้วว่า จะทำอย่างนั้นบ้าง หรือว่ากำลังทำวิปัสสนาบ้าง หรือกำลังเป็นอย่างนี้บ้าง ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าไม่รู้ทั่วจริงๆ ตัวตนก็หมดสิ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้วิปัสสนาญาณจึงมีหลายขั้น และสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าพอสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามรูป ท่านก็ไม่มีตัวตนแล้ว บางมากแล้ว หมดไปตั้งมากแล้ว ถ้าอย่างนั้นคงจะสะดวกมาก ง่ายมากต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
ถ้าญาณขั้นที่หนึ่งยังไม่เกิด จะไม่ทราบว่าตัวตนมีมากสักเท่าไร ต่อเมื่อสติระลึกทั่วขึ้น ย้อนไปถึงอดีต ก็ทราบได้ว่า ขณะนั้นตัวตนมากเหลือเกิน เพราะเหตุว่ายังรู้ไม่ทั่วตามปกติของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง
การที่ปัญญาจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ขอให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาจนกระทั่งมีความแน่ใจจริงๆ ว่า ปัญญานั้นไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่จะต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏแก่ท่านแต่ละคน ตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมา
ถ้าท่านมีโลภะทางตา เพราะว่าสะสมมามาก อีกท่านหนึ่งมีโลภะทางหูมากกว่าทางอื่น เพราะเหตุว่าสะสมความพอใจในเสียงมามาก ในอดีตตัวท่านเป็นอย่างไร สภาพธรรมใดเกิดปรากฏ เพราะเหตุปัจจัยอย่างไร ผู้ที่เจริญสติจะต้องรู้ชัดในสภาพธรรมที่ตนเองได้สะสมมา และรู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง จึงจะสามารถละคลายการที่เคยยึดถือนามและรูปว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ถ้าท่านไปบังคับไว้ไม่ให้โลภะเกิด ไม่ให้โทสะเกิด และคิดว่าท่านมีความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมาก แต่นั่นไม่ใช่ชีวิตจริงๆ ซึ่งถ้าท่านจุติ ปฏิสนธิใหม่ เป็นเด็กยังคงมีความพอใจไหม ในรสอาหาร ในเครื่องเล่น ในสิ่งต่างๆ ยับยั้งไม่ได้เลย กลับมีความพอใจอีก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะเหตุว่าท่านไปบังคับไว้ ท่านไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้ผิด
เพราะฉะนั้น ถ้าได้สะสมอบรมมาจริงๆ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นพระอรหันต์ได้ แม้ว่าอายุเพียง ๗ ขวบ ๗ ขวบเป็นวัยของการเล่น เป็นวัยของการสนุก เป็นวัยของการเพลิดเพลิน แต่เพราะเหตุว่าเคยสะสมการระลึกรู้สภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นปกติ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีวัยเพียง ๗ ขวบ ซึ่งเป็นวัยของความสนุก ความติด ความเพลิดเพลิน แต่ผู้นั้นก็ยังสามารถเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่มีปกติรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
การที่จะรู้แจ้งเป็นพระอรหันต์สำหรับผู้ที่ได้สะสมอบรมมานั้น ท่านตรัสรู้กันเร็วมาก ทำไมรู้ได้ ยังไม่ได้ไปเข้ากัมมัฏฐาน ยังไม่ได้ออกกัมมัฏฐานอะไรเลย แต่เพราะเหตุว่าระลึกรู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ หรืออะไรๆ จะเห็นอะไร ได้ยินอะไร เป็นปกติอย่างไร สติจะต้องระลึกรู้ เพื่อละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และถ้าท่านระลึกรู้อย่างนี้ละเอียดขึ้น ความรู้เพิ่มขึ้น ทั่วขึ้น ย่อมสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ถ้าท่านไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ก็ไม่บรรลุ ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนทั้งนั้น