แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 226

อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๘๔ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดพวกโจรมีกำลัง สมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินย่อมถอยกำลัง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินย่อมไม่สะดวกที่จะเสด็จผ่านไป เสด็จออกไป หรือที่จะออกคำสั่งไปยังชนบทชายแดน ในสมัยเช่นนั้น แม้พวกพราหมณ์และคฤหบดีก็ไม่สะดวกที่จะผ่านไป จะออกไป หรือเพื่อตรวจตราการงานภายนอก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใดพวกภิกษุเลวทรามมีกำลัง สมัยนั้นพวกภิกษุที่มีศีลเป็นที่รักย่อมถอยกำลัง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้นภิกษุพวกที่มีศีลเป็นที่รัก เป็นผู้นิ่งเงียบทีเดียวนั่งในท่ามกลางสงฆ์หรือคบชนบทชายแดน ข้อนี้นั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อมิใช่สุขของชนมาก แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดพระเจ้าแผ่นดินมีกำลัง สมัยนั้นพวกโจรย่อมถอยกำลัง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินย่อมสะดวกที่จะเสด็จผ่านไป เสด็จออกไป หรือที่จะออกคำสั่งไปยังชนบทชายแดน ในสมัยเช่นนั้น แม้พวกพราหมณ์และคฤหบดีย่อมสะดวกที่จะไป ออกไป หรือตรวจการงานภายนอก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใดพวกภิกษุที่มีศีลเป็นที่รักมีกำลัง สมัยนั้นพวกภิกษุที่เลวทรามย่อมถอยกำลัง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น พวกภิกษุที่เลวทรามเป็นผู้นิ่งเงียบทีเดียว นั่งในท่ามกลางสงฆ์ หรือออกไปทางใดทางหนึ่ง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้นั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชนมาก เพื่อสุขของชนมาก แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เป็นเรื่องสมัยนี้หรือเปล่า และเป็นเรื่องธรรมก็ได้ การที่จะส่งคำสั่งออกไป การที่จะประกาศธรรมเผยแพร่ออกไป เป็นคำอุปมาให้เห็นว่า ขณะใดสมัยใดสะดวก ขณะใดสมัยใดลำบาก ถ้าเป็นสมัยที่ความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง มีการสอบทาน มีการพิจารณาตรวจสอบ เป็นสมัยที่ธรรมควรกระจายขยายออกไป ให้ได้พิจารณา ให้ได้ฟัง ให้ได้ศึกษา ให้ได้ตรวจสอบ แต่ถ้าเป็นสมัยที่ไม่มีความสนใจที่จะตรวจสอบสภาพธรรม ก็ไม่ใช่กาลสมัยที่จะขยาย หรือว่ากระจายพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วโดยสะดวก

ข้อความต่อไป ข้อ ๒๘๕ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญความปฏิบัติผิดของคน ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังกุศลธรรมที่นำออกให้สำเร็จได้ เพราะเหตุแห่งการทำความปฏิบัติผิด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญความปฏิบัติชอบของคน ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมยังกุศลธรรมที่นำออกให้สำเร็จได้ เพราะเหตุแห่งการทำความปฏิบัติชอบ

ขึ้นอยู่กับเหตุหรือเปล่า เพราะเหตุแห่งการทำความปฏิบัติชอบ ข้อปฏิบัติของท่านเป็นข้อปฏิบัติชอบ หรือว่าเป็นข้อปฏิบัติผิด เป็นสิ่งที่ท่านจะได้ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ของท่านเอง ถ้าสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปฏิบัติชอบ หรือว่าปฏิบัติผิด

จิตกำลังมีโลภะ มีความชอบใจ ไม่ใช่ตัวตน รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง การระลึกเช่นนี้ เป็นการปฏิบัติชอบ หรือว่าเป็นปฏิบัติผิด

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ทำให้รู้สภาพธรรมละเอียดขึ้น ไม่ว่าจะพูดอย่างไร จะทำอย่างไร จิตจะเป็นอย่างไร สติก็รู้ในสภาพที่ควรและไม่ควร สภาพใดเป็นสิ่งที่ควรจะละ ควรจะเว้น สติก็เกิดขึ้นรู้ แล้วก็ละ แล้วก็เว้น เป็นการขัดเกลา เป็นการละคลายกิเลส พร้อมกับการเจริญสติปัฏฐานที่รู้ว่าสภาพนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นหนทางที่จะดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉทได้

แต่ไม่ใช่ว่า ท่านไม่มีสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติตามความเป็นจริงเลย ก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลโดยไม่รู้สภาพธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อขณะเห็นก็ไม่รู้ ขณะได้ยินก็ไม่รู้ ขณะได้กลิ่นก็ไม่รู้ ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน และจะไปรู้แจ้งพระนิพพานได้อย่างไร โดยไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ข้อ ๒๘๖ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่ห้ามอรรถและธรรม โดยสูตรซึ่งตนเรียนไว้ไม่ดีด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติแล้วเพื่อมิใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อมิใช่สุขของชนมาก แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

อนึ่ง ภิกษุพวกนั้นยังจะประสบบาปเป็นอันมาก และทั้งชื่อว่า ทำสัทธรรมนี้ให้อันตรธานไปอีกด้วย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่อนุโลมอรรถและธรรม โดยสูตรซึ่งตนเรียนไว้ดี ด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติแล้วเพื่อประโยชน์ของชนมาก เพื่อความสุขของชนมาก แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุพวกนั้นยังประสบบุญเป็นอันมาก ทั้งชื่อว่า ดำรงสัทธรรมนี้ไว้อีกด้วย

พระสัทธรรมเป็นเรื่องยากที่จะรักษา ที่จะดำรงการตรัสรู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดและลึกซึ้ง ซึ่งจะต้องดำรงทั้งอรรถและพยัญชนะอย่างดี ไม่ให้คลาดเคลื่อนไปได้ มิฉะนั้นแล้วก็เป็นหนทางที่จะทำให้พระสัทธรรมนั้นฟั่นเฟือน เลือนหายไป

. หนูเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ พอได้ยินอาจารย์พูดก็เจริญว่า ได้ยินหนอ แบบนี้จะถูกหรือไม่ กำหนดว่า มีสติเกิด มีปัญญาเกิด พอได้ยินก็รู้ว่า ดับแล้ว สมาธิก็เกิด ก็สงบไป

สุ. ขณะนั้น ขณะที่ได้ยินหนอนั้น รู้อะไร

ถ. รู้ว่าอาจารย์พูดว่าอย่างไร

สุ. เวลานึกว่าได้ยินหนอนั้น อะไรเป็นนามธรรมที่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน

. ที่ไม่ใช่ตัวตนหรือ

สุ. ลักษณะอะไรที่ไม่ใช่ตัวตน

ถ. ปัญญา

สุ. ปัญญารู้อะไร

. รู้ว่าอาจารย์พูดก็ดับไปแล้ว รู้ว่าดับไปๆ ก็กำหนดเรื่อยไป ถูกไหม

สุ. กำลังเห็น อะไรเป็นนามธรรม ขณะนี้ ขณะที่กำลังเห็นนี้จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะรู้อย่างไร

ถ. ก็กำหนดว่า เห็นหนอๆ

สุ. กำหนดว่า เห็นหนอ และรู้ได้อย่างไรว่าไม่ใช่ตัวตน

ถ. ก็ปัญญาก็เกิด

สุ. แต่ว่าลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ในขณะนั้นไม่ได้รู้ว่ามีลักษณะต่างกันอย่างไร ถ้านึกว่าได้ยินหนอ เป็นสภาพธรรมที่คิดนึกไม่ใช่สภาพธรรมที่รู้เสียง สภาพธรรมนามธรรมแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนั้นไม่ได้สำเหนียก ไม่ได้สังเกตว่า มีนามธรรมกี่ชนิด มีลักษณะต่างกันอย่างไร สติไม่ได้ค่อยๆ ระลึกจนกระทั่งรู้ในความต่างกันของลักษณะของนามธรรมชนิดต่างๆ และในขณะนั้นก็เป็นตัวตนที่กำลังคิดว่าได้ยินหนอ เพราะไม่รู้ว่า ที่คิดว่าได้ยินหนอนั้น ก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ได้ยิน เข้าใจหรือยังคะ

ถ. เข้าใจแล้วค่ะ

สุ. ยังไม่ได้ประจักษ์ความเกิดดับอะไร เพราะเหตุว่ายังรู้ไม่ทั่ว

ถ. ขอบคุณมากค่ะ

อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๙๓ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ บริษัทที่หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม ๑ บริษัทที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรมเป็นไฉน ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ต่างสรรเสริญคุณของกันและกันต่อหน้าคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นอุภโตภาควิมุต รูปโน้นเป็นปัญญาวิมุต รูปโน้นเป็นกายสักขีรูปโน้นเป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็นสัทธาวิมุต รูปโน้นเป็นธัมมานุสารี รูปโน้นเป็นสัทธานุสารี (เป็นชื่อของผู้ที่บรรลุความเป็นพระอริยะด้วยอินทรีย์ต่างๆ กัน) รูปโน้นมีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้นทุศีล มีธรรมเลวทราม เธอต่างได้ลาภด้วยเหตุนั้น ครั้นได้แล้วต่างก็กำหนัดยินดี หมกมุ่ม ไม่เห็นโทษ ไร้ปัญญา เป็นเหตุออกไปจากภพบริโภคอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทผู้หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม

โดยมากชอบพูดถึงเรื่องผลของการเจริญสติปัฏฐาน หรือที่ใช้คำว่าผลของการเจริญวิปัสสนา เกรงว่าถ้าไม่พูดถึงผลแล้ว ท่านผู้ฟังจะไม่เลื่อมใส แต่ว่าความจริงแล้วควรที่จะได้ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้ที่หนักในสัทธรรม และผู้ใดเป็นผู้ที่หนักในอามิส

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิสเป็นไฉน ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ต่างไม่พูดสรรเสริญคุณของกันและกันต่อหน้าคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มขาวว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นอุภโตภาควิมุต รูปโน้นเป็นปัญญาวิมุต รูปโน้นเป็นกายสักขี รูปโน้นเป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็นสัทธาวิมุต รูปโน้นเป็นธัมมานุสารี รูปโน้นเป็นสัทธานุสารี รูปโน้นมีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้นทุศีล มีธรรมเลวทราม เธอต่างได้ลาภด้วยเหตุนั้น ครั้นได้แล้วก็ไม่กำหนัด ไม่ยินดี ไม่หมกมุ่น มักเห็นโทษ มีปัญญา เป็นเหตุออกไปจากภพบริโภคอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิสเป็นเลิศ

ท่านผู้ฟังมักจะถามเสมอ ใครได้ญาณไหนแล้ว สนใจที่จะทราบ พยายามที่จะถาม แต่ว่าท่านผู้ฟังไม่ควรที่จะเป็นผู้ที่เพียงเชื่อเพราะได้ฟัง ใครบอกก็เชื่อ อย่างนั้นไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ท่านได้เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยเหตุและผล แต่จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่เชื่อทุกอย่างที่คนอื่นบอก หรือว่าเวลาที่ท่านถาม ใครพูดอย่างไร ท่านก็คิดว่าคนนั้นเป็นผู้ที่มีสัจจะ เพราะฉะนั้น ก็ได้บรรลุคุณธรรมดังที่กล่าวแล้ว แต่ว่านั่นไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุและผล

สำหรับหนทางที่จะทำให้ท่านผู้ฟังไม่ใช่เป็นบุคคลที่เพียงเชื่อเพราะได้ฟัง คือการพิจารณาเหตุผลที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าจากท่านผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม และประพฤติปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ท่านก็จะรู้ได้ว่า ข้อปฏิบัติเช่นใด บุคคลใดได้ปฏิบัติแล้ว ก็ได้รู้แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ควรที่จะมีบุคคลที่ท่านคิดว่าเป็นมิตรสหายชักชวนให้เชื่อเพียงเพราะได้ฟังเท่านั้น แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผลในการที่จะเชื่อ ด้วยปัญญาของท่านเอง

อังคุตตรนิกาย ตติยปัณณาสก์ ข้อ ๓๗๙ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๒ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ให้ถูกทำลาย เขาย่อมเป็นไปกับด้วยโทษ ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบาปเป็นอันมากอีกด้วย ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ไม่พิจารณาไตร่ตรอง พูดสรรเสริญคุณของคนที่ควรติเตียน ๑ ไม่พิจารณาไตร่ตรอง พูดติโทษของคนที่ควรสรรเสริญ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย เขาย่อมเป็นไปกับด้วยโทษ ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบาปเป็นอันมากอีกด้วย

ท่านผู้ฟังไม่ค่อยกลัวคำว่า บาป คล้ายๆ กับว่าห่างไกลตัวท่านเสียเหลือเกิน แต่คงจะไม่ทราบว่า เพียงแต่ท่านออกนอกทางที่ถูกไป ก็เป็นทางที่ผิดเสียแล้ว และก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ท่านหมดจดจากกิเลสได้เลย เพราะฉะนั้น จึงต้องระมัดระวังและไม่ประมาทจริงๆ เพราะเหตุว่าบาปนั้นไม่ได้อยู่ไกล อยู่ใกล้ทุกๆ ขณะที่เกิดความเห็นผิดขึ้น เพียงการสรรเสริญผิด ท่านก็ไม่ทราบเลยว่า ประสบบาปเป็นอันมากเพราะเหตุว่าชื่นชมกับความเห็นผิด

ซึ่งถ้าท่านไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรองจริงๆ ท่านก็ยังคงมีความเห็นผิดอยู่ แต่ว่าถ้าท่านเป็นผู้ที่ไตร่ตรอง พิจารณา เทียบเคียงเหตุผล และละความเห็นผิด ท่านก็จะพ้นจากบาปข้อนี้ได้ แต่ถ้าท่านไม่เป็นผู้ที่สำเหนียก ไม่เป็นผู้ที่สังเกต ไม่กลัวบาป ไม่คิดว่าบาปนั้นใกล้มากเพราะความเห็นผิด ท่านก็ยังคงมีบาปมากมาย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาดเฉียบแหลมประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย เขาย่อมไม่มีโทษ ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบุญเป็นอันมากอีกด้วย ธรรม ๒ ประการเป็นไฉน คือ พิจารณาไตร่ตรองแล้วพูดติเตียนคนที่ควรติเตียน ๑ พิจารณาไตร่ตรอง แล้วพูดสรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาดเฉียบแหลมประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย เขาย่อมไม่มีโทษ ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบุญเป็นอันมากอีกด้วย

พิจารณาไตร่ตรองแล้วพูดติเตียนคนที่ควรติเตียน เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล พูดติเตียนด้วยกุศลจิตได้ไหม เพื่ออนุเคราะห์ให้เห็นว่าสิ่งนั้นไม่ควร มิฉะนั้นแล้ว ผู้นั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้พิจารณาว่า ข้อความที่บุคคลอื่นกล่าวถูกหรือผิดอย่างไร ถ้าเป็นบุคคลที่รับฟังก็ย่อมจะได้ประโยชน์ แต่ว่าผู้ที่จะกล่าวนั้น ก็ด้วยกุศลจิต ไม่ใช่ด้วยอกุศลจิต เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ไตร่ตรองแล้วพูดติเตียนคนที่ควรติเตียน ๑ พิจารณาไตร่ตรองแล้วพูดสรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ ๑

ข้อความต่อไป ข้อ ๓๘๐ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ให้ถูกทำลาย เขาย่อมเป็นไปด้วยกับโทษ ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบาปเป็นอันมากอีกด้วย ธรรม ๒ ประการเป็นไฉน คือ ไม่พิจารณาไตร่ตรองแล้วเกิดเลื่อมใสในฐานะอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ๑ ไม่พิจารณาไตร่ตรองแล้วเกิดไม่เลื่อมใสในฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย เขาย่อมเป็นไปกับด้วยโทษ ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบาปเป็นอันมากอีกด้วย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาดเฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย เขาย่อมไม่มีโทษ ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบุญเป็นอันมากอีกด้วย ธรรม ๒ ประการเป็นไฉน คือ พิจารณาไตร่ตรองแล้วเกิดไม่เลื่อมใสในฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เลื่อมใส ๑ พิจารณาไตร่ตรองแล้วเกิดความเลื่อมใสในฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาดเฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมบริหารตน ไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย เขาย่อมไม่มีโทษ ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบุญเป็นอันมากอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ โดยให้ท่านผู้ฟังพิจารณาไตร่ตรอง แล้วเกิดความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส เกิดความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ไม่ใช่ว่า ฟังแล้วให้เชื่อทั้งหมด ให้เลื่อมใสทั้งหมด นั่นต้องเป็นอสัตบุรุษแน่

เท่าที่ท่านผู้ฟังได้รับฟังข้อความจากพระไตรปิฎก พอที่จะทราบไหมว่า พระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมตอนนี้เพื่อประโยชน์อะไร ก็เพื่อจะได้พ้นจากความเห็นผิด เพราะเหตุว่าความเห็นผิดนั้นมีโทษมาก

อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๑๘๑ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง

ข้อนี้เห็นได้ชัดว่า ผู้ใดที่มีความเห็นผิด มีความเลื่อมใสผิด มีการปฏิบัติผิดย่อมไม่สามารถที่จะพ้นไปจากวัฏฏะได้ มีแต่จะเพิ่มพูนข้อปฏิบัติผิดนั้นยิ่งๆ ขึ้น

เปิด  273
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565