แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 231

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า ปกติท่านเคยเจริญสมาธิ และเพิ่งเริ่มสนใจในการเจริญสติปัฏฐาน ตอนแรกๆ ท่านฟังแล้วก็ไม่เข้าใจว่า ลักษณะของสติเป็นอย่างไร ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ แต่หลังจากที่ท่านได้ฟัง ได้พิจารณาไตร่ตรอง ท่านก็ทราบว่า ขณะที่มีสตินั้น คือ ขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะเป็นลักษณะของเสียง ของกลิ่น ของอ่อน ของแข็ง ของเย็น ของร้อน ของเห็น ของคิดนึก ของสุข ของทุกข์ ของพอใจ ไม่พอใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะต่างๆ กัน เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่เพราะเหตุว่าท่านเคยเจริญสมาธิมาก่อนมาก และนานแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ท่านก็มีนโยบายที่จะให้สติเกิดมากๆ ไม่ให้หลงลืมสติไป โดยท่านท่องพุทโธด้วยในขณะที่จะให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เวลาที่สติหลงลืมไป ท่านก็รู้สึกว่า การที่เคยอบรมเจริญอานาปานสติสมาธิแล้วก็ระลึกถึงพุทโธ ทำให้จิตไม่ไปที่อื่น เพราะฉะนั้น ท่านก็ระลึกถึงพุทโธเพื่อไม่ให้สติขาดไป อย่างนี้จะถูกหรือจะผิด

มีความต้องการอะไรบ้างหรือเปล่าในขณะนั้น มีความเป็นตัวตนแทรกอยู่หรือเปล่าในขณะที่ต้องการให้สติรู้อยู่ที่สภาพนามธรรมหรือรูปธรรม ให้จิตระลึกถึงคำว่า พุทโธ เพื่อที่จะไม่ให้สติไปที่อื่น เพราะฉะนั้น มีพุทโธสลับคั่นระหว่างที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม อย่างนี้จะผิดหรือจะถูก

ขณะที่กำลังต้องการให้สติไม่ไปที่อื่น ขณะนั้นเป็นอะไร ตัวตน หรือไม่ใช่ตัวตน มีความต้องการที่จะไม่ให้สติไปที่อื่น ไม่ใช่ว่า ขณะใดที่สติเกิดขึ้นก็รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเวลาที่หลงลืมไป ภายหลังสติก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่มีเยื่อใย หลงลืมไปก็หลงลืมไป เวลาที่สติเกิดขึ้นใหม่ก็รู้นามรู้รูปที่ปรากฏต่อไป เป็นสติขณะนั้นที่กำลังรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีตัวตนที่ไปจัดการคอยดึงไว้ คอยประคองไว้ หรือคอยให้ระลึกถึงพุทโธ

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพียงความเข้าใจผิดเล็กน้อยที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ ก็ทำให้ไม่สามารถละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ เพราะว่ายังมีความยึดถือในนามธรรมรูปธรรมแทรกคั่นอยู่ เป็นความต้องการไม่ให้สติไปที่อื่น นั่นเป็นลักษณะของตัวตนหรือเปล่า หรือว่าเป็นความรู้ชัดในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม หลงลืมสติก็เป็นแต่เพียงนามธรรม หรือกำลังมีสติก็เป็นแต่เพียงนามธรรม

นี่เป็นเรื่องละเอียด ถ้าท่านผู้ฟังไม่สังเกต ไม่สำเหนียก ไม่พิจารณาความต่างกัน ท่านก็จะไม่ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นไปด้วยความต้องการ เป็นไปด้วยความเห็นผิด

ท่านผู้ใดเคยอบรมสมาธิจนกระทั่งมีความชำนาญแคล่วคล่อง แต่ไม่ได้ต้องการที่จะให้จิตเป็นสมาธิ เวลาที่จิตน้อมไปสู่สมาธิ สติก็ตามระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็ทิ้ง แล้วก็ละ ไม่ห่วงใย ไม่เยื่อใย ไม่กังวล มีนามอื่น มีรูปอื่นที่เกิดปรากฏที่สติระลึกต่อไป ไม่ใช่เป็นความจดจ้องต้องการ หรือมีเยื่อใยที่จะให้จิตเป็นสมาธิไม่ไปที่อื่น เพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม นี่ผิดกันแล้วใช่ไหมระหว่างผู้ที่มีปกติเจริญสติที่เคยอบรมสมาธิ และจิตมักจะน้อมไปสู่สมาธิ แต่กระนั้นสติก็ยังระลึกได้ว่า ลักษณะของจิตที่สงบนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็หมดไป ไม่เยื่อใย และพิจารณานามอื่นรูปอื่นต่อไป ซึ่งลักษณะของจิตใจผิดกันกับผู้ที่ต้องการผูกสติไว้ด้วยสมาธิ

เพราะฉะนั้น การที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้หมดสิ้นจริงๆ จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดและแยบคาย ซึ่งผู้ที่เจริญ สติปัฏฐานจะต้องสังเกต สำเหนียกอยู่เสมอว่า ขณะนั้นมีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน มีความต้องการ มีความจดจ้อง ซึ่งแสดงลักษณะว่ายังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ยังรู้สภาพธรรมยังไม่ทั่ว เมื่อรู้ยังไม่ทั่วและยังไม่ใช่ความรู้จริง จึงตัดเยื่อใยไม่ขาดที่ต้องการที่จะผูกสติไว้

. อยากจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามมหาสติปัฏฐาน สิ่งทั้งหลายที่อาจารย์ ร้อยแปดที่เราจดจำไว้ผิดตั้งหลายสิบเปอร์เซนต์ ลบออกเสีย และเรียนสติปัฏฐานจนสว่างเข้าๆ นี่ผมกำลังลบ ตัวผมกำลังลบ

สุ. มีท่านผู้ฟังหลายท่านที่ท่านกล่าวอย่างเดียวกัน ท่านใช้คำว่าลบเหมือนกัน คือ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ทิ้งไป ยังไม่ลบให้หมด ยังเหลือเยื่อใย ห่วงใย กังวล เพราะคิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่จะมาผสมกันได้ แต่ว่าเป็นการผสมระหว่างความเห็นผิด ซึ่งยังเหลือเยื่อใยอยู่ ก็ไม่เปิดโอกาสให้ความเห็นถูกได้เจริญขึ้น พิจารณาไตร่ตรองสิ่งใดที่จะคลาดเคลื่อน หรือว่ายังมีเยื่อใยที่จะเห็นผิดต่อไป ขอให้พิจารณาให้ดีว่า ควรจะทิ้งไปหรือไม่ควร เพราะถ้ายังเก็บไว้ ก็ไม่มีหนทางที่จะทำให้ข้อปฏิบัติเจริญขึ้นได้

ถ้าขณะนี้สติเกิดไม่ได้ หรือว่าสติไม่เกิด จะทำอย่างไร ก็ฟังต่อไปจนกว่าจะมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะของสติ ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สัญญาความจำที่มั่นคงนั้น เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ที่ได้ฟังๆ นี้ มีการจำได้ จึงเป็นเหตุให้ระลึกได้ นอกจากนั้น ปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดสติ ก็ได้แก่สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง เพราะว่าทุกๆ ขณะมีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรมปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อมีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม ก็เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

ท่านผู้ฟังที่สนทนาด้วย ที่เคยเจริญสมาธิมาก่อน ท่านกล่าวว่าท่านได้รับ ประ โยชน์จากการเจริญสติปัฏฐาน ทำให้ท่านรู้จักตัวของท่านเองละเอียดขึ้นมาก และท่านก็ชักชวนมิตรสหายของท่านซึ่งเป็นผู้ที่เจริญสมาธิมาด้วยกันให้เจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าท่านเหล่านั้นไม่ฟัง และก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ยอมที่จะเจริญสติปัฏฐาน ยังคงเจริญสมาธิต่อไป

ในคราวก่อนได้พูดถึงภพภูมิต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ทุกท่านก็มาแล้วสู่ภูมินี้ มนุษย์ภูมิ ทราบไหมว่ามาจากไหน ในอดีตอนันตชาติ กี่ชาติ ท่านจะเคยนั่ง นอน ยืน เดินอยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครทราบได้ จะกระทำกิจเป็นกุศลกรรม เป็นอกุศลกรรมมากน้อยอย่างไร ก็ไม่มีใครสามารถที่จะทราบได้ แต่ขณะนี้ท่านนั่งอยู่ที่นี่ แต่ท่านจะไปที่ไหนต่อไป ไม่สามารถที่จะทราบได้เลย ถ้าท่านไม่ศึกษาเรื่องของภูมิที่จะไป ท่านก็จะเป็นผู้ที่ประมาท และไม่ทราบว่า ความจริงแล้ว การที่ท่านมีความสุขอยู่ในโลกมนุษย์นี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถาวรมั่นคงตลอดไป ถึงแม้ชีวิตในโลกนี้ วันนี้มีความสุขความสะดวกสบาย อีกไม่นานก็อาจจะเป็นความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสก็ได้ และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่ที่ๆ ลำบากยิ่งกว่าโลกนี้มากมายก็ได้

อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๒๐๖

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์กลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย คือ เป็นเปรต มากกว่าโดยแท้

สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในเทพยดามีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

ชีวิตที่เป็นมนุษย์มีการสะสมของกิเลสและอกุศลกรรมมากกว่าการเจริญกุศลหรือว่าน้อยกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์แล้ว แต่จุติแล้วที่จะกลับมาเกิดในมนุษย์ หรือในเทพยดานั้นมีเป็นส่วนน้อย ถึงแม้ว่าท่านจะเกิดในสวรรค์แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไร

ข้อความต่อไปมีว่า

สัตว์ที่จุติจากเทพยดากลับมาเกิดในเทพยดามีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากเทพยดาไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

ถึงขึ้นไปปฏิสนธิด้วยกำลังของกุศลกรรม แต่อำนาจการสะสมของกิเลส เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเทพ จุติแล้วที่จะกลับมาเกิดในเทพยดาอีกนั้นมีเป็นส่วนน้อย แต่ที่จะเกิดในนรก ในกำเนิดเดรัจฉาน ในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

ถ้าท่านไม่เจริญสติปัฏฐานเลย จะมีกระแสของโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิตมากสักเท่าไร มากกว่ากุศลกรรมอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านเกิดที่นั่นแล้ว และคิดว่าไม่หวังที่จะกลับเป็นเทพอีก ขอเพียงเกิดมาเป็นมนุษย์ก็พอ ก็ขอให้ฟังข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

สัตว์ที่จุติจากเทพยดากลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจาก เทพยดาไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

หมิ่นเหม่เหลือเกินต่อการที่ไม่พ้นจากอบายภูมิ จากการเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอสุรกาย อกุศลกรรมทำให้เกิดในนรก ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ยังมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดในนรก

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดจากวันนี้ไปสู่นรก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

สัตว์ที่จุติจากนรกกลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากนรกไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

สัตว์ที่จุติจากนรกไปเกิดในเทพยดามีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากนรก ไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

ท่านที่หวังอยู่เสมอ คือ หวังสุคติ จะสมหวังไหม เพราะเหตุว่ากำลังของกิเลสและกรรมที่ได้สะสมมาฝ่ายใดมีมาก ที่จะไปสู่สุคติมาก หรือว่าที่จะไปสู่ทุคติมาก

สำหรับสัตว์ที่เกิดเป็นเดรัจฉานแล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

สัตว์ที่จุติจากกำเนิดเดรัจฉานกลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากกำเนิดเดรัจฉานไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

สัตว์ที่จุติจากกำเนิดเดรัจฉานไปเกิดในเทพยดามีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากกำเนิดเดรัจฉานไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

ก็มองเห็นชีวิตปกติของสัตว์เดรัจฉานว่า เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ตกไปในกระแสของกิเลสที่จะเป็นหนทางเดินไปสู่ทุคติภูมิ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานที่จะกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์และเทพยดานั้นน้อย

สำหรับผู้ที่เกิดเป็นเปรต ผู้ที่เกิดเป็นเปรตแล้วนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยกลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยไปเกิดในเทพยดามีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัย ไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้

เปรียบเหมือนในชมพูทวีปนี้ มีสวนที่น่ารื่นรมย์ มีป่าที่น่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์เพียงเล็กน้อย มีที่ดอน ที่ลุ่ม เป็นแม่น้ำ เป็นที่ตั้งแห่งตอและหนาม มีภูเขาระเกะระกะ เป็นส่วนมากโดยแท้ ฉะนั้น

ถ. การฆ่าสัตว์เป็นบาปและตกนรก โมหะก็เป็นเดรัจฉาน โทสะก็จะเป็นสัตว์นรกใช่ไหมครับ แต่ว่าอสุรกาย ผมไม่ทราบว่าทำบาปอย่างไรจึงจะเป็นอสุรกาย

สุ. ถ้าเป็นอบายภูมิ ก็เป็นผลของอกุศลธรรม อกุศลกรรมทั้งนั้น ไม่ได้ทรงแสดงจำกัดจำเพาะไปว่า เฉพาะการกระทำอย่างนั้นเท่านั้นจึงจะไปเป็นอสุรกาย แต่หมายความว่า พวกกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมจะเป็นปัจจัย ความวิจิตรของจิตที่ปรุงแต่งทำให้สัตว์ไปเกิดในนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง

ภูมิของอสุรกายนั้นไม่แน่นอน บางทีเป็นประเภทเทวดา บางทีเป็นประเภทเปรต จึงรวมเรียกว่า อสุรกาย คือ ผู้ที่ไม่ได้รับความสุขความเจริญอย่างเต็มที่

ถ. ผมเข้าใจว่า การที่เราตั้งใจจะฆ่า แต่สัตว์นั้นไม่ตาย สัตว์นั้นลำบากเพราะการกระทำของเรา เช่น ทำให้ขาขาด แขนขาด กว่าจะตายไปก็ต้องอยู่ด้วยความทนทุกข์ เพราะจิตของเราที่ไปทำด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง ถ้าเป็นอย่างนี้ โทษนั้น หมายความว่า ถ้าเราเกิดในชาติหน้า ภพหน้า ต้องได้รับกรรมอย่างนั้น คือ เกิดมาขาไม่ดี แขนไม่ดี มีข้างเดียวบ้าง อย่างนี้จะจัดว่าเป็นอสุรกายไหม

สุ. ไม่ตรง ไม่ใช่ภูมิ การเกิด เพราะว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ กำเนิดเป็นมนุษย์ แต่ว่าได้รับผลที่เป็นเศษของกรรม หลังจากที่กรรมให้ผลอย่างมากแล้ว ถ้ายังไม่หมด มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังมีเศษของกรรมที่จะต้องติดตามมาให้ผลด้วย แต่ไม่ใช่ว่า มนุษย์ที่กายพิการนั้นเป็นอสุรกาย ไม่ใช่อย่างนั้น

ขอกล่าวถึงเรื่องภูมิต่างๆ

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ฉิคคฬสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๗๔๓ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปใน มหาสมุทร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาสมุทรนั้น ต่อล่วงร้อยๆ ปี มันจะโผล่ขึ้นคราว หนึ่งๆ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น ต่อล่วงร้อยๆ ปี มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นได้บ้างหรือหนอ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าล่วงกาลนานไป บางครั้งบางคราวเต่าจะสอดคอให้เข้าไปในแอกนั้นได้บ้าง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอด ต่อล่วงร้อยๆ ปี มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ สอดคอให้เข้าไปในแอก ซึ่งมีช่องเดียวโน้นยังจะเร็วกว่า เราย่อมกล่าวความเป็นมนุษย์ เพราะคนพาล ผู้ไปสู่วินิบาตแล้ว คราวเดียวก็หามิได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะว่าในวินิบาตนี้ ไม่มีการประพฤติธรรม การประพฤติชอบ การกระทำ กุศล การกระทำบุญ มีแต่การเคี้ยวกินกันและกัน การเคี้ยวกินผู้มีกำลังน้อยกว่า ย่อมเป็นไปในวินิบาตนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔

อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ สมุทยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ผู้ที่ตกไปสู่อบายภูมินั้น เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ขณะนี้มีอริยสัจธรรมกำลังปรากฏ แต่ยังไม่เห็น ทำอย่างไร ก็ต้องเจริญสติ เจริญปัญญา จนกว่าจะเห็นอริยสัจธรรมทั้ง ๔

พระธรรมวินัยทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้ จะไม่เว้นจากการที่เตือนให้พุทธบริษัทไม่ประมาทในการเจริญกุศล โดยเฉพาะการรู้อริยสัจธรรม ๔ ถึงแม้ในเรื่องของภพภูมิที่ทรงแสดง ก็จะจบลงด้วยการทรงเน้นถึงการที่จะต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ทัณฑสูตร ข้อ ๑๗๑๖

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนท่อนไม้ที่บุคคลขว้างขึ้นไปบนอากาศแล้ว บางคราวเอาโคนตกลงมาก็มี บางคราวเอาตอนกลางตกลงมาก็มี บางคราวเอาปลาย ตกลงมาก็มี ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้มีนิวรณ์ คือ อวิชชา มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ ได้แล่นไปอยู่ ท่องเที่ยวไปอยู่ บางคราวจากโลกนี้ไปสู่ปรโลกก็มี บางคราวจากปรโลกมาสู่โลกนี้ก็มี ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔

อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ สมุทยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

กำลังนั่งฟังอยู่ขณะนี้ กระทำความเพียรได้ทันที ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

เปิด  288
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565