แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 237

ทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่มีรูปที่เกิดเพราะกรรมก็จริง มีรูปที่เกิดเพราะจิตก็จริง มีรูปที่เกิดเพราะอาหารก็จริง ถ้าไม่มีอุตุ ไม่มีรูปที่เกิดเพราะความเย็นร้อนที่เกิดเพราะจิต คือลมหายใจ ใครทำอะไรได้บ้าง มีรูปที่เกิดเพราะกรรม แต่ถ้าไม่มีลมหายใจที่เกิดเพราะจิต เป็นอุตุที่ทำให้กายดำรงอยู่ต่อไปได้ มีใครสามารถจะเดิน จะยิ้ม จะพูด จะทำอะไรได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น แยกรูปที่เกิดเพราะกรรม เพราะจิต เพราะอุตุ เพราะอาหารทั่วทั้งกายไม่ได้

การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ให้ท่านแยกไปรู้เฉพาะจิตตชรูป คือ รูปที่เกิดเพราะจิต เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจผิด ก็ปฏิบัติผิด บรรลุผิด พ้นผิด และการที่จะกลับมารู้ถูก พ้นถูกจะยากสักแค่ไหน

การปฏิบัติผิดจะไม่ทำให้พ้นจากการเกิดซึ่งเป็นเหวใหญ่ เมื่อเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดก็เป็นเหวลึก ยากเหลือเกินที่จะขึ้นมาจากเหวของความเข้าใจผิด การปฏิบัติผิด และการพ้นผิดได้ นอกเสียจากว่า ท่านจะเป็นผู้ที่ฟังธรรม พิจารณาเหตุผลโดยรอบคอบ ศึกษาโดยละเอียด และพิจารณามากขึ้น

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า การที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ก็เจริญอยู่ อบรมอยู่ แต่ว่ายากเหลือเกินที่จะให้รู้ว่าลักษณะที่ปรากฏไม่ใช่ตัวตน ยากจริงๆ แม้ว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น ความรู้ชัดยังไม่เกิด จนกระทั่งทุกอย่างเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นที่มีลักษณะต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัยก็จริง แต่ว่าวันหนึ่งการอบรมนั้นจะต้องถึงความรู้ชัด

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้หลายประการ เพื่อที่จะเกื้อกูลให้ผู้ฟังพิจารณาต่อไปโดยละเอียด โดยไม่ข้าม โดยไม่เว้น เพื่อจะได้รู้ชัดจริงๆ ว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่ว่าแบ่งแยก จำกัดเฉพาะให้รู้รูปนั้นเท่านั้น นามนั้นเท่านั้น แต่ว่าสภาพธรรมใดที่ปรากฏ เคยไม่รู้ เคยสงสัย เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็จะต้องอบรมสติปัญญาจนกระทั่งรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ

ท่านผู้ฟังอยากจะละอภิชฌาและโทมนัสไหม เวลาเห็น เวลาได้ยิน จะต้องมีอภิชฌาหรือโทมนัสอย่างหนึ่งอย่างใด เวลาได้กลิ่น เวลารู้รส เวลารู้โผฏฐัพพะก็เช่น เดียวกัน บางครั้งหวั่นไหวเหลือเกิน เพลิดเพลิน ลืมไปหมดว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมเป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งการที่ท่านเจริญสติปัฏฐาน อบรมปัญญาเพี่อละอภิชฌาและโทมนัส เพื่อละกิเลสนั้น ท่านละอภิชฌาและโทมนัสเมื่อไร เวลาที่อภิชฌาไม่เกิดโทมนัสไม่เกิด หรือว่าเวลาที่เห็นและเกิดเพลิดเพลินด้วยอภิชฌา หลงใหลไป ยินดีในอารมณ์นั้นอย่างมาก

เพราะฉะนั้น ควรจะละด้วยสติที่ระลึกได้ และรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ปกติชีวิตจริงๆ ของท่านที่เห็น ได้ยิน เกิดโทมนัส อยากจะละโทมนัสไหม ถ้าจะละก็เพราะสติเกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพธรรม คือ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น นี่คือการละอภิชฌาและโทมนัสเป็นปกติ

ใน สุมังคลวิลาสินี อธิบายว่า กำจัดอภิชฌาและโทมนัสแล้ว จึงเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

เพราะเหตุว่าปกติเป็นอภิชฌาและโทมนัส เพราะฉะนั้น ที่จะเห็นกายในกาย เพราะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสด้วยสติที่ระลึกได้ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น เมื่อสติระลึกได้ จึงเห็นว่าเป็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม แต่ถ้าสติไม่เกิด ระลึกไม่ได้ ขณะนั้นจะเห็นว่าเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมก็ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเจริญสติ เพื่อละอภิชฌาและโทมนัส

ถ้าท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ท่านจะละอภิชฌาและโทมนัสในขณะที่อภิชฌาและโทมนัสกำลังเกิด และสติระลึกได้ จึงรู้ว่าเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม นี่เป็นหนทางที่จะละ แต่ถ้าท่านไม่เจริญสติปัฏฐานอย่างนี้จะละได้อย่างไร หลงไป ก็ปล่อยให้หลงไป สติไม่เกิด อย่างนั้นหรือจะละอภิชฌาและโทมนัส ก็ปล่อยไปตามกระแสของอภิชฌาและโทมนัส แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่แม้อภิชฌาหรือโทมนัสเกิดก็ระลึกได้ รู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ ตัวตนในขณะนั้น

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค แสดงถึงการเจริญสติปัฏฐานว่า ต้องอบรมเจริญเนืองๆ บ่อยๆ เพื่อความรู้ชัด เพื่อความรู้จริง

อัคคัยหสูตรที่ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละจักษุนั้นเสีย จักษุนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละใจนั้นเสีย หมายความว่า ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เธอทั้งหลายจงละใจนั้นเสีย ใจนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนพึงนำหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวันนี้ไป หรือพึงเผา หรือพึงทำตามสมควรแก่เหตุ เธอทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำพวกเราไป หรือเผา หรือทำพวกเราตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้ บ้างหรือหนอ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

หาเป็นดังนั้นไม่ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

เพราะเหตุว่า หญ้า เป็นต้นนั้น มิได้เป็นตน หรือเป็นของเนื่องด้วยตนของข้าพระองค์ทั้งหลายเลย พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล จักษุไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละจักษุนั้นเสีย จักษุนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละใจนั้นเสีย ใจนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ของเราทั้งหลาย

ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูปที่เกิดเพราะจิตหรือเปล่า ไม่ใช่ เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม จะต้องรู้ แล้วก็ละตามความเป็นจริง ไม่ยึดถือ ไม่ใช่ว่าจะไปรู้เฉพาะจิตตชรูปเท่านั้น ถ้าไม่ใช่จิตตชรูปแล้วไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจอย่างนั้นผิด เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ถ. ท่านอาจารย์กล่าวว่า อภิชฌาและโทมนัสนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีสติระลึกรู้ เป็นอันว่า สามารถกำจัดอภิชฌาและโทมนัสนั้นได้ แต่อีกนัยหนึ่ง เมื่อสติสามารถระลึกรู้นามหรือรูปตามความเป็นจริงเช่นนี้ จะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสได้หรือไม่

สุ. ถ้าสติไม่ระลึก ไม่รู้ อภิชฌาและโทมนัสก็เกิดต่อไป ไม่มีอะไรไปกำจัดเลย แต่เพราะเหตุว่าสติระลึก และรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นการละอภิชฌาที่กำลังเกิด ที่ปรากฏ ที่เกิดแล้ว และที่จะเกิดต่อไปด้วย ถ้าสติไม่เกิดเลย อะไรจะละ และจะละเมื่อไร

ข้อความต่อไปใน อัคคัยหสูตรที่ ๒ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาจากพระพุทธดำรัสโดยตรงว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตาม ปกติอย่างไร ข้อความมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย

รูป ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้ จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละธัมมารมณ์นั้นเสีย

ซึ่งรวมความถึงละเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์

เธอทั้งหลาย จงละธัมมารมณ์นั้นเสีย ธัมมารมณ์นั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนพึงนำหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวันนี้ไป หรือพึงเผา หรือพึงทำตามสมควรแก่เหตุ เธอทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำพวกเราไป หรือเผา หรือทำตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้ บ้างหรือหนอ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

หาเป็นดังนั้นไม่ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

เพราะเหตุว่า หญ้า เป็นต้นนั้น มิได้เป็นตน หรือเป็นของเนื่องด้วยตนของข้าพระองค์ทั้งหลายเลย พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละธัมมารมณ์นั้นเสีย ธัมมารมณ์นั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

เว้นหรือเปล่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ไม่เว้น ไม่ได้บอกไว้ว่าไม่ให้พิจารณา ถ้าไม่พิจารณาจะเป็นอะไร อวิชชา และยังคงมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั่นเอง

ที่ปรารถนาทุกวัน ที่เกิดอภิชฌาและโทมนัสมีบ้างไหมที่ไม่ใช่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่จะชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ ก็เพราะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์นี้เอง เพราะฉะนั้น การที่จะละได้ ต้องรู้แจ้ง รู้จริงว่าสภาพธรรมนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เหตุอัชฌัตตสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของไม่เที่ยง

พูดถึงสิ่งที่มีตามปกติ

แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักษุนั้นก็ไม่เที่ยง จักษุอันเกิดแต่เหตุที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า

หูเป็นของไม่เที่ยง แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง หูอันเกิดแต่เหตุที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า

จมูกเป็นของไม่เที่ยง แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจมูกนั้นก็ไม่เที่ยง จมูกอันเกิดแต่เหตุที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า

ลิ้นเป็นของไม่เที่ยง แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งลิ้นนั้นก็ไม่เที่ยง ลิ้นอันเกิดแต่เหตุที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า

กายเป็นของไม่เที่ยง แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกายนั้นก็ไม่เที่ยง กายอันเกิดแต่เหตุที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า

ใจเป็นของไม่เที่ยง แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งใจนั้นก็ไม่เที่ยง ใจอันเกิดแต่เหตุที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน จักษุ แม้ในหู แม้ในจมูก แม้ในลิ้น แม้ในกาย แม้ในใจ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

ท่านที่จะเป็นอริยสาวก อย่าผ่าน หรือว่าละเลยที่จะพิจารณาข้อความนี้ ที่ว่า จักษุเป็นของไม่เที่ยง แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักษุนั้นก็ไม่เที่ยง ถ้าสติไม่เกิด ขณะที่กำลังเห็นจะรู้อย่างนี้ไหม ไม่รู้

เป็นพระพุทธดำรัสที่พระผู้มีพระภาคทรงเตือน ทรงโอวาท เพื่อไม่ให้หลงลืมสติในขณะที่เห็น แต่ถ้าผ่านไป ไม่พิจารณา จะไม่ทราบว่า กำลังเห็น สติจะต้องระลึก และรู้ในความไม่เที่ยง เพราะเหตุว่าจักษุอันเกิดแต่เหตุที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า ตลอดไปจนถึงหู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นของไม่เที่ยง แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งใจนั้นก็ไม่เที่ยง

ถ้ากำลังคิด สติไม่ระลึก ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้อย่างนี้ จะรู้ไหมว่า ใจนั้นไม่เที่ยง ก็ไม่รู้ กำลังเห็นก็ไม่รู้ กำลังได้ยินก็ไม่รู้ กำลังได้กลิ่นก็ไม่รู้ กำลังรู้รสก็ไม่รู้ กำลังได้รับกระทบโผฏฐัพพะก็ไม่รู้ กำลังคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ก็ไม่รู้ ก็เป็นไม่รู้อยู่นั่นเอง แต่ผู้ที่เป็นอริยสาวก อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ หมายความว่า สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ตามปกตินี่เอง

เหตุอัชฌัตตสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นทุกข์ แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักษุ นั้นก็เป็นทุกข์ จักษุอันเกิดแต่เหตุที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจักเป็นสุขเล่า

หูเป็นทุกข์ แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งหูนั้นก็เป็นทุกข์ หูอันเกิดแต่เหตุที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจักเป็นสุขเล่า

จมูกเป็นทุกข์ แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจมูกนั้นก็เป็นทุกข์ จมูกอันเกิดแต่เหตุที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจักเป็นสุขเล่า

ลิ้นเป็นทุกข์ แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งลิ้นนั้นก็เป็นทุกข์ ลิ้นอันเกิดแต่เหตุที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจักเป็นสุขเล่า

กายเป็นทุกข์ แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกายนั้นก็เป็นทุกข์ กายอันเกิดแต่เหตุที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจักสุขเล่า

ใจเป็นทุกข์ แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งใจก็เป็นทุกข์ ใจอันเกิดแต่เหตุที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจักเป็นสุขเล่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในจักษุ แม้ในหู แม้ในจมูก แม้ในลิ้น แม้ในกาย แม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นอนัตตา แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่ง จักษุนั้นก็เป็นอนัตตา จักษุอันเกิดแต่เหตุที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า

หูเป็นอนัตตา แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งหูนั้นก็เป็นอนัตตา หูอันเกิดแต่เหตุที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า

จมูกเป็นอนัตตา แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจมูกนั้นก็เป็นอนัตตา จมูกอันเกิดแต่เหตุที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า

ลิ้นเป็นอนัตตา แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นของลิ้นนั้นก็เป็นอนัตตา ลิ้นอันเกิดแต่เหตุที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า

กายเป็นอนัตตา แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นของกายนั้นก็เป็นอนัตตา กายอันเกิดแต่เหตุที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า

ใจเป็นอนัตตา แม้เหตุและปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งใจก็เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในจักษุ แม้ในหู แม้ในจมูก แม้ในลิ้น แม้ในกาย แม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ไม่มีแล้วมี และสิ่งที่มีแล้วกลับไม่มี เสียงเมื่อสักครู่นี้ไม่มีแล้วก็มี ที่มีแล้วก็กลับไม่มีอีก คือ เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้นไม่ใช่สุข เพราะเหตุว่าไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา จะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาบอกทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ว่า กำลังเห็นนี้ไม่ใช่ทุกข์ สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏนี้ก็ไม่ใช่ทุกข์ ได้ยินนี้ก็ไม่ใช่ทุกข์ เสียงที่ปรากฏนี้ก็ไม่ใช่ทุกข์ กลิ่นที่ปรากฏนี่ก็ไม่ใช่ทุกข์ สภาพที่รู้กลิ่นก็ไม่ใช่ทุกข์ เป็นความจริงอย่างนั้นหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ทุกข์ไม่ใช่อย่างอื่น นอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คิดนึก สุข ทุกข์ต่างๆ คือ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปนั่นเองเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น จะมีใครกล้าพูดไหมว่า กำลังเห็นนี้ไม่ใช่ทุกข์ กำลังได้ยินนี้ไม่ใช่ทุกข์ กำลังได้กลิ่นนี้ไม่ใช่ทุกข์ กำลังรู้รสนี้ไม่ใช่ทุกข์ กำลังคิดนึกนี้ไม่ใช่ทุกข์ พูดได้ไหมอย่างนี้ สำหรับผู้ที่ไม่รู้ความจริงก็กล่าวว่าอย่างนั้น แต่ผู้ที่ประจักษ์ความจริงแล้ว ทุกข์ไม่ใช่อย่างอื่นเลย นอกจากกำลังเห็นขณะนี้เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์ไม่ใช่อย่างอื่นเลย กำลังได้ยินในขณะนี้เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

เปิด  279
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565