แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 247

ขอเล่าถึงเรื่องการสนทนากับอุบาสิกาแม่ชี ซึ่งใคร่ที่จะให้ท่านผู้ฟังได้รับฟังและพิจารณา แม่ชีที่สนทนาด้วยมีทั้งที่อายุยังน้อย และท่านที่สูงอายุแล้ว แม่ชีที่อายุน้อยท่านหนึ่ง ท่านซักถามเรื่องอื่น หลายเรื่องทีเดียว ส่วนแม่ชีผู้สูงอายุก็เตือนสติว่าสำหรับในวันนี้ขอให้มีความรู้จริงเพียงอย่างเดียวก็พอ ขอให้พูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ เพื่อความเข้าใจที่จะเกิดขึ้นจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ขอเพียงให้เข้าใจลักษณะของสติในการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ยังไม่ต้องพูดถึงอย่างอื่นประการใดเลย ถ้าตราบใดที่ยังไม่เข้าใจลักษณะของสติแล้ว เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เป็นของที่แน่นอนที่สุด ไม่ว่าโดยพยัญชนะจะกว้างขวางไปถึงมรรคองค์อื่นๆ หรืออย่างไรก็ตาม แต่ถ้าผู้นั้นไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของสมาธิกับลักษณะของสติออกจากกัน ผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะเจริญสติปัฏฐานได้

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นขอให้ได้ความรู้จริงเพียงประการเดียวว่า สติมีลักษณะอย่างไร และอย่างไรชื่อว่าสัมมาสติ เป็นการทำให้ท่านผู้ฟังซึ่งมีความหวังไกลถึงมรรคผลนิพพาน ได้ย้อนกลับมาถึงจุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง อาจจะเคยปฏิบัติไปไกล หลงไปก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสติ หรือว่าไม่ใช่การเจริญสัมมาสติจริงๆ

ถ้าในขณะใดที่เข้าใจว่า กำลังทำวิปัสสนา แต่ผู้นั้นไม่สามารถจะตอบได้ว่า ลักษณะของสติเป็นอย่างไร ขอให้ผู้นั้นกลับมาระลึกว่า ลักษณะของสติที่เป็นสัมมาสตินั้น เป็นปกติอย่างไร และจะเกิดขึ้นในขณะนี้ได้ไหม ถ้าใครยังคิดว่า ขณะนี้สติเกิดไม่ได้ นั่นไม่ถูก และสติระลึกรู้อะไรจึงจะเป็นสัมมาสติ

สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ทางตากำลังเห็น เมื่อสักครู่นี้หลงลืมไป แต่ลักษณะของสตินั้น เป็นสภาพที่ระลึกได้ ที่ระลึกได้ไม่ใช่คิด หมายความว่ากำลังรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะเป็นทางตาในขณะนี้ ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตาซึ่งเป็นนามธรรม หรือว่าถ้าจะระลึกรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ก็เป็นของจริงที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้าระลึกตรงลักษณะที่กำลังเห็น และรู้อย่างนี้ทีละเล็กทีละน้อย เป็นการเจริญอบรมให้ปัญญารู้สภาพธรรมมากขึ้น ทั่วขึ้น เป็นปกติ นั่นจึงจะชื่อว่าสัมมาสติ

เพราะฉะนั้น สติเกิดได้เป็นปกติ ไม่ใช่ว่าเกิดไม่ได้ แต่ว่าแม่ชีที่อายุน้อยยังไม่มีความเข้าใจในลักษณะของการเจริญสัมมาสติ คิดว่ารู้ไม่ได้ ไม่ทราบทำไมถึงคิดว่า กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นของจริง เป็นปกติในชีวิตประจำวันนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมลักษณะต่างๆ ชนิดที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยนั้น ระลึกรู้ไม่ได้ นี่เป็นความเห็นผิดซึ่งกั้นไม่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ แต่ถ้าท่านผู้ฟังไม่ได้คิดอย่างนี้ ไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ สติเกิดได้ เริ่มระลึกได้ทีละเล็กทีละน้อยเป็นปกติ ตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ

และแม่ชีอายุน้อยนั้นก็ยังเข้าใจว่า จะต้องรู้รูปนั่ง คือ ความเห็นผิดนี้จะโยงไป เมื่อปกติอย่างนี้เข้าใจว่า ระลึกรู้ไม่ได้ ก็จะต้องไปสู่ที่หนึ่งที่ใด เพราะคิดว่าสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกตินี้ระลึกไม่ได้ รู้ไม่ได้ จึงคิดว่าจะต้องไปรู้อย่างอื่น คือ คิดว่าจะต้องไปรู้รูปนั่ง นี่เป็นความเห็นผิด ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนถามว่า ขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้ ที่ตัวมีอะไรปรากฏ อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหวปรากฏไหม เมื่อปรากฏ เป็นของจริง สภาพธรรมนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริง จึงจะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนได้ แต่ถ้ายังควบคุมประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นรูปนั่งอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะละการยึดถือท่าทางนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

ขอเรียนเหตุการณ์ให้ทราบตามความเป็นจริง ซึ่งท่านก็ไม่ทราบว่าเป็นผู้หนึ่งผู้ใด แต่ว่าเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่กำลังเกิดอยู่ ปรากฏอยู่ทุกๆ ขณะ ไม่ว่ากับบุคคลใด เป็นไปเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แม่ชีที่อายุน้อยเวลาที่นั่งฟัง กิริยาท่าทาง ลักษณะอาการไม่เหมือนกับแม่ชีสูงอายุ แม่ชีสูงอายุกิริยาอาการเรียบร้อยในขณะที่ฟังธรรม แต่แม่ชีอายุน้อยนั่งห้อยเท้า แกว่งเท้าเล็กน้อย ขอให้ทราบว่า ผู้ที่ไม่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะไม่ทราบความละเอียดของจิต ซึ่งเป็นเหตุให้กายนั้นไหวอย่างนั้น หรือว่าปรากฏอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะมีความชำนาญที่จะระลึกรู้สภาพของจิต ของเวทนา ของความรู้สึก ของสภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดปรากฏละเอียดขึ้น นี่เป็นลักษณะของผู้ที่มีปกติเจริญสติ ไม่ใช่ไปเจาะจงจะรู้เฉพาะรูปเดียว หรือว่านามเดียว แต่เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสัมมาสติว่า ขณะใดที่กำลังรู้สภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นสัมมาสติที่เกิด และรู้ลักษณะสภาพธรรมนั้นแล้ว ไม่ใช่ว่ามีตัวตนจะไปทำสติ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติย่อมเป็นผู้ที่ขัดเกลาทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจมากขึ้น ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ท่านก็จะเห็นได้ในการกราบพระแต่ละครั้ง บางครั้งก็รีบร้อน บางครั้งก็ขาดความนอบน้อมเลื่อมใส บางครั้งก็กำลังมีอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติตรงตามความเป็นจริง จะระลึกรู้ในสภาพที่ไม่เหมาะไม่ควร ในสภาพธรรมที่เป็นอกุศล ถ้าขณะนั้นระลึกไม่ได้ รู้ไม่ได้ จะละได้อย่างไร จิตใจในขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ เป็นมานะ ก็ไม่ทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศลที่เกิดแล้ว แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมละเอียดขึ้น เพื่อการขัดเกลามากขึ้น

การที่จะรู้แจ้งพระนิพพานได้นั้น เป็นการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าไม่มีการขัดเกลากิเลสเลย กิเลสจะดับได้อย่างไร เพียงแต่ไปวูบวาบขึ้นมา แต่แท้ที่จริงแล้วกิเลสอยู่ที่จิต เต็มทั้งโลภะ โทสะ โมหะ มานะ อิสสา สารพัดอย่างที่เป็นเรื่องของอกุศล ซึ่งผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐานจะไม่รู้จักสภาพธรรมที่ละเอียด ที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ จะรู้จักสภาพธรรมละเอียดขึ้น และขัดเกลามากขึ้น

แม่ชีผู้สูงอายุเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของสัมมาสติ ก็เตือนแม่ชีผู้ที่อายุน้อยด้วยถ้อยคำที่น่าฟังว่า ท่านมีความหวังดี ท่านมีเจตนาที่จะสอนเหมือนกับเป็นลูกเป็นหลานของท่านจริงๆ กิริยาใดสมควรแก่การฟังธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้วไม่หลอกตัวเอง ทุกอย่างตรงตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้ที่มากด้วยกิเลส และจะลดน้อยลงไปได้ก็เพราะสติระลึกรู้สภาพธรรมนั้น

ตอนสุดท้าย แม่ชีผู้สูงอายุก็เตือนสติแม่ชีผู้อายุน้อยนั้นอีกว่า การที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ เป็นการละความต้องการ เพราะว่าส่วนมากผู้ที่จะทำวิปัสสนา มีความต้องการนำหน้า อยากจะได้ผลเร็วเหลือเกิน บางคนบอกว่า การระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างนี้ ไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่คิดว่าเป็นการอบรมความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งวันหนึ่งความรู้นั้นจะชัด ละเอียด และก็ทั่วขึ้น ซึ่งเป็นการละคลายความไม่รู้ แต่กลับไปเข้าใจว่า การที่มีปกติเจริญสติไม่เห็นได้อะไร เพราะว่าหวังได้อย่างมากเหลือเกิน ซึ่งแม่ชีผู้สูงอายุก็เตือนสติว่า การที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นการละความต้องการ เพราะถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ยังไม่ปรากฏ นั่นเป็นไปด้วยอำนาจของความต้องการหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติจึงเป็นผู้ที่ละความต้องการในผล หรือว่าในวิปัสสนาญาณ โดยการที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทันที นี่เป็นวิธีที่จะละความต้องการ ไม่อย่างนั้นก็จะมีความต้องการที่พาไปให้ทำอย่างอื่น แทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดแล้วปรากฏตามปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง

มีใครอยากจะถึงพระนิพพานบ้าง หรือไม่อยากถึง อยากถึง แต่มีสิ่งที่ไม่รู้มาก มีวิธีง่ายๆ ไหม ถ้าจะถึงพระนิพพานจริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่คมกล้าที่ถึง เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ได้เจริญปัญญาจนกระทั่งคมกล้าและรู้จริง ถึงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การที่จะถึงได้ด้วยปัญญาที่คมกล้า ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าปัญญาจะแทงตลอดสภาพธรรมได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องถึง แต่ควรระลึกว่า ปัญญาเริ่มรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ตอนแรกๆ อย่าไปหวังที่จะรู้หมด หรือว่าจะรู้มาก หรือจะรู้ทั่ว แต่ควรจะคิดหรือระลึกถึงว่า สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏบ้างหรือเปล่า เพียงแต่บ้างหรือเปล่า และเวลาที่สติระลึกลักษณะที่ปรากฏ จะรู้ว่าขณะนั้นสติระลึกรู้ทางตา หรือว่าระลึกรู้ทางหู หรือว่าระลึกรู้ทางจมูก หรือว่าระลึกรู้ทางลิ้น หรือว่าระลึกรู้ทางกาย หรือว่าระลึกรู้ทางใจ เป็นลักษณะจริงๆ ที่เป็นอนัตตา และสติเริ่มเจริญขึ้น อบรมขึ้น

คำว่า เจริญ เพราะอาศัยการอบรมจึงเพิ่มขึ้น มากขึ้นได้ เป็นปัญญาที่เจริญเพราะอาศัยสติที่ระลึกได้

. พิจารณาแต่เพียงว่า สิ่งที่มีทั้งหมดไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป โดยที่ไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด จะเป็นสติปัฏฐานไหม

สุ. ไม่เป็น เพราะว่าปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่เกิดจากการคิด ทุกคนคิดได้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งที่เกิดมาแล้วก็แตกดับเปลี่ยนแปลงไป วันนี้เป็นผู้ที่แข็งแรงสมบูรณ์ไม่มีโรคภัย วันรุ่งขึ้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หรือว่าวัตถุที่มีอยู่วันนี้ก็อาจจะแตกสลายไปในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ความคิดอย่างนี้ คิดถึงความไม่เที่ยงเท่านั้น แต่ไม่ใช่การรู้ว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นมีลักษณะของสภาพธรรมนั้นเอง แต่ละชนิด แต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ต้องรู้ว่า ลักษณะแต่ละลักษณะไม่ใช่ตัวตน

. ถ้าคิดอย่างนี้เรื่อยๆ จะมีทางไปถึงสติปัฏฐาน ไหม

สุ. ไม่ถึง เป็นแต่เพียงความคิด เพราะฉะนั้น ต้องรู้ลักษณะของสติ ที่สำคัญที่สุด ท่านผู้ฟังที่จะเจริญสติปัฏฐานต้องทราบว่า ลักษณะของสติคืออย่างไร ต้องรู้ในลักษณะของสติเสียก่อนจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้

. รู้สึกยากจริงๆ สำหรับการเพิ่งเริ่ม

สุ. ทุกอย่างที่เพิ่งเริ่มจะง่ายไม่ได้เลย แม้แต่การศึกษาในทางโลกก็ต้องยาก เวลาที่ท่านศึกษากันมากๆ ก็เป็นความยากทั้งนั้น แต่ว่าการเริ่มต้นจะทำให้ไปถึงความสมบูรณ์ได้

ท่านผู้ฟังเป็นห่วงว่า ถ้าไม่ได้ศึกษามาแต่เด็ก และชีวิตนี้ก็อยู่อีกไม่นาน เพราะฉะนั้น ก็เป็นห่วง ถ้าท่านผู้ฟังเป็นห่วงจริงๆ ท่านต้องการปัญญาจริงๆ ที่จะละความห่วงอันนั้น ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ เป็นความรู้ขั้นคิด เป็นความรู้ขั้นฟัง ยังไม่ใช่ความรู้ที่ประจักษ์จริงๆ ละไม่ได้

เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อประโยชน์ที่สำคัญที่สุด คือ ความรู้ถูกในการเจริญสติปัฏฐาน และเริ่มเจริญ ตั้งต้นเจริญได้ เมื่อเริ่มแล้ว ทีหลังก็มากขึ้น แต่อย่าไปหวังว่าจะมากมายทีเดียว

ถ้าเป็นการตั้งต้นที่ผิด ก็ผิดไปเรื่อย ชาติหน้าก็ไม่ได้ปัญญาที่ถูกต้อง ก็ยังคงหลงไปรู้สิ่งที่ผิดอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าตั้งต้นถูก ต่อไป ชาติต่อๆ ไปก็เจริญอบรมให้มากขึ้นได้ เมื่อเริ่มจะตั้งต้น ชาตินี้ก็ตั้งต้นให้ถูก ขณะใดที่สติเกิดขึ้น จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทีละลักษณะ ทางไหนก่อนก็ได้ ทางไหนมาก ทางไหนน้อย ก็เป็นเรื่องของสติ ไม่ใช่เป็นเรื่องไปเลือกด้วยความเป็นตัวตนว่า วันนี้จะกำหนดเสียง อย่างนั้นไม่ใช่สัมมาสติ แต่ว่าสติของผู้ใดจะระลึกที่กายบ่อยๆ เนืองๆ มากกว่าทางอื่นก็ได้ แต่จะต้องรู้ว่า จะต้องระลึกรู้จนทั่ว

เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่กำลังฟังอยู่ บางท่านเป็นอกุศลจิต บางท่านเป็นกุศลจิต บางท่านเกิดสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นสติปัฏฐาน ไม่เหมือนกัน มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งก็เป็นผู้ที่ศึกษาปริยัติ แต่ท่านเห็นว่า การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนี้ คงจะยากไปสำหรับท่าน

เรื่องของการหลอกตัวเองมีหลายลักษณะจริงๆ แม้ว่าท่านผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีความรู้ดีในปริยัติ ท่านก็ยังดูรูปนั่ง และกล่าวว่า ดูรูปนั่งก็ยังดีกว่าให้เป็นอกุศลจิต แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นความเห็นผิด ที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ตรงต่อตัวเอง ไม่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะไม่ได้ผล คือ ปัญญาที่รู้ชัด ที่รู้ถูกต้องตามสภาพธรรมเลย

มีท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง ท่านเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานว่า เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัดจริงๆ ท่านก็เลยไม่เจริญสติปัฏฐาน ท่านคิดว่า การที่จะรู้แจ้งพระนิพพานยากนัก เพราะฉะนั้น เจริญสมาธิดีกว่า

การจะถึงนิพพานไม่ใช่ง่าย ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เนืองๆ บ่อยๆ จะถึงหรือไม่ถึงท่านทราบไหม ซึ่งความจริงก็คือ ถึงท่านจะเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่ว่าจะถึงได้โดยเร็ว หรือไม่ใช่ว่าจะถึงได้โดยง่าย

แต่ทำไมถึงจะไม่เจริญ ให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง วันละเล็กวันละน้อยเท่าที่สติจะเกิดขึ้น ซึ่งมีแต่ประโยชน์ ถ้าท่านเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง และสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เป็นสัมมาสติ

ขณะที่หลงลืมสติ ก็หลงลืมไป ไม่เดือดร้อน สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ตามธรรมดา เพราะฉะนั้น ก็มีแต่คุณ ถ้าท่านจะเป็นผู้ที่เข้าใจถูกในสภาพธรรม ไม่หลงผิด โดยการที่ไปรู้ผิด ปฏิบัติผิด ซึ่งจะทำให้ท่านยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีความรู้สึกว่า สิ่งใดก็ยังดี ท่านเห็นความดีในสิ่งนั้น ทำให้ท่านยึดติดในสิ่งนั้น ไม่ทิ้ง ไม่ปล่อย ไม่หันมาสู่ข้อปฏิบัติที่ละ ข้อปฏิบัติที่ถูก ข้อปฏิบัติที่ทำให้รู้ตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่จะทำให้รู้ชัดตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเหตุว่าท่านจะหวังหรือไม่หวังก็ตาม ถ้าข้อปฏิบัติถูกแล้วย่อมบรรลุ ถ้าข้อปฏิบัติผิดย่อมไม่บรรลุ เพราะฉะนั้น ท่านหวังเหลือเกิน ไปทุ่มเท พากเพียรสักเท่าไร แต่ถ้าข้อปฏิบัติผิด ไม่บรรลุ

แต่ถ้าท่านไม่หวังเลย เจริญสติปัฏฐานอบรมไปเรื่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง แม้ไม่หวัง ถ้าท่านเจริญเหตุสมควรแก่ผล ท่านก็ย่อมบรรลุนิพพาน

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องหวัง หรือเรื่องไม่หวัง แต่เป็นเรื่องเข้าใจข้อปฏิบัติถูก และปฏิบัติให้ถูกด้วย ใครที่ไม่มีอกุศล ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นอุชุปฏิปันโน เป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ท่านจะมีอกุศลมาก หรือน้อยสักเท่าไร ในทางใด ตรงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ได้หลอกตัวเองเลย ท่านยิ่งเจริญสติปัฏฐานมากเท่าไร อกุศลเกิดขึ้นขณะใด คนอื่นยังไม่รู้ ใครรู้ ผู้ที่เจริญสติรู้ลักษณะของอกุศลนั้น หยาบกระด้างมากน้อยเท่าไรคนอื่นไม่ทราบ มีกำลังแรงเท่าไร ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานทราบตามความเป็นจริง

เปิด  300
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565