แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 249

ถ. (ต่อ) วิการรูป อธิบายกันมากมายว่า วิการรูปนี้เป็นรูปที่ทำให้สิ่งที่แข็งๆ นั้นเกิดอ่อนตัวเพื่อทำงานได้ เป็นรูปซึ่งไม่มีสภาวะโดยเฉพาะจะเอามาพิจารณาในฐานะที่เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานหรือสติปัฏฐานไม่ได้ แต่ที่ท่านเน้นจริงๆ คือ รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน

พูดถึงเวลาปฏิบัติของท่านก็มี ไปลองดูสัก ๓ วัน ๗ วันก็รู้ได้ ก็ไปลองกัน ไปลองกันเรื่องอะไรผมก็ไม่ทราบ ไปลองแล้วก็กลับมา ถ้าไม่ได้อยู่ในห้องปฏิบัติ ในทัศนะของท่านอาจารย์เหล่านั้นบอกว่าเจริญไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในห้องที่จำกัดจะไปเจริญได้อย่างไร ท่านก็ว่าของท่านอย่างนี้

ทางฝ่ายท่านอาจารย์สุจินต์ก็บอกว่า เราจะกำหนดอารมณ์ได้อย่างไร ไปจำกัดอารมณ์ได้หรือ อารมณ์อะไรจะเกิดขึ้นเราก็ต้องรู้ จะไปจำกัดว่า อย่างนี้ควรจะรู้ อย่างนี้ควรเว้นไม่ควรรู้ นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานท่านก็วางหลักไว้แล้วว่า เป็นกายนุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา สุดแล้วแต่ว่าอะไรโผล่ขึ้นมาให้รู้ เราก็รู้ตรงสิ่งนั้น ท่านอาจารย์ท่านว่าอย่างนี้

เรื่องสถานที่ อยู่ที่ไหน ก็กายเรานี้ เราไปไหน เราอยู่ที่นี่ก็ปฏิบัติได้ หรืออยู่ที่ไหน อยู่ในห้อง อยู่ในส้วม หรืออยู่ในกุฏิ ที่ไหนก็แล้วแต่ จะอยู่บนอากาศ หรืออยู่ในน้ำ ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้ามีสติแล้วปฏิบัติได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ที่ห้องนั้น

เรื่องกาลเวลา กาลเวลานี่เรื่องใหญ่มาก เพราะเหตุว่าพระพุทธเจ้าเองก็ย้ำนักย้ำหนาเรื่องกาลเวลา บอกว่าต้องมีสติทุกลมหายใจเข้าออก ลองคิดดู เดี๋ยวนี้เรามีสติทุกลมหายใจเข้าออกหรือเปล่า เราก็ไม่สามารถอย่างนั้น เพราะว่าเรายังไม่ใช่พระพุทธเจ้า หรือยังไม่ใช่พระอรหันต์ทั้งหลาย เราเป็นแต่เพียงปุถุชนธรรมดา เรามีสติบ้าง หรือว่ามีสติมากขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง มากขึ้นๆ เป็นลำดับในวันหนึ่งๆ ก็ยังมีประโยชน์ แต่ถ้าไปปฏิบัติเพียง ๓ วัน ๕ วัน และออกมา ๑ เดือน หรือ ๑๑ เดือน ไม่เจริญสติเลย ประโยชน์อะไรจะเกิดขึ้นแก่เรา เราก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เป็นอันว่าเสียเปล่า ธรรมของพระองค์เป็นอันว่าใช้ไม่ได้ หรือว่าไม่เกื้อกูลแก่พุทธบริษัทเลย

อาจารย์ ๒ ฝ่ายนี้ ฝ่ายหนึ่งว่าไปอย่างนี้ ออกนอกคัมภีร์ไป แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ดึงเข้ามาสู่คัมภีร์เสียบ้าง ให้ถูกตรงตามคัมภีร์ที่พระพุทธองค์ท่านทรงแสดงไว้ ไม่ใช่มาทะเลาะกับใคร คือ ถ้าเฉออกไปมาก ยิ่งเฉออกไปเท่าไร ธรรมของพระพุทธองค์ก็ยิ่งจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปทุกวันๆ และจะไม่เกื้อกูลแก่ท่านผู้ฟังเลย ท่านก็พยายามดึงเข้ามาให้กลับมาสู่ฐานะเดิม คือ อย่างของพระพุทธองค์นั่นแหละ คือ ธรรมสมัยครั้งที่ ๒๕๐๐ กว่าปีเขาปฏิบัติกันมาอย่างไร ท่านก็พยายามนำเข้ามาสู่ฐานะนั้น นี่คือดั้งเดิม ไม่ใช่ใหม่ ดั้งเดิมจริงๆ ท่านก็พยายามอ้างอะไรต่างๆ พระสูตรก็ดี พระอภิธรรมก็ดี ก็อ้างหลายแง่หลายมุมมาสู่ท่านผู้ฟัง ท่านผู้ฟังก็พิจารณาเองว่า จะควรจะเหมาะจะสมอย่างไรก็สุดแล้วแต่

สุ. สำหรับเรื่องที่ท่านผู้ฟังได้รับฟังธรรมจากที่ต่างๆ จากผู้บรรยายหลายท่าน และรู้สึกว่าข้อความไม่ตรงกัน ถ้าจะดูในทางโลก ก็เหมือนทะเลาะกัน หรือว่าค้านกัน แต่ถ้าในทางธรรมแล้วเป็นเรื่องของเหตุผล เมื่อมีเหตุผล มีสภาวธรรมอย่างไร ท่านผู้ฟังก็สังเกต สำเหนียก พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ และสนทนาเทียบเคียง ตรวจสอบได้

ระหว่างผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานกับผู้ที่จดจ้องรู้ท่าทางแล้วก็นึกว่าเป็นรูป แต่ไม่ได้รู้นามและรูปตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านที่จดจ้องรู้ท่าทางแล้วก็นึกว่าเป็นรูป ท่านคิดว่าท่านได้ความรู้ทุกข์ว่านั่งนี่เมื่อย เพราะฉะนั้น เกิดมานี้มีแต่ทุกข์ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ว่าขณะที่กำลังเห็น กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ตามปกติในชีวิตประจำวัน ท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมสติและปัญญาเพื่อจะรู้ชัดตามสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ทั้งหมดไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น นี่เป็นความต่างกัน

สำหรับผู้ที่เปลี่ยนจากการไปจดจ้องดูท่านั่ง นอน ยืน เดิน ในวันแรกๆ ตอนแรกๆ เกือบจะรู้สึกผิดหวัง ดูเหมือนกับว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เหมือนกับว่าเป็นผู้ที่ขาดสติอย่างมากมาย ไม่ได้ไปจดจ้องรู้ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินอย่างเคย เพียงแต่ว่าสติเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อยเหลือเกิน แต่เป็นปกติตามความเป็นจริง เป็นสัมมาสติ รู้ว่าสตินั้นเป็นอนัตตา อาจจะระลึกรู้รูปทางกาย หรือรูปทางหู หรือว่ารูปทางจมูก หรือว่านามที่เห็น ที่ได้ยิน ที่คิดนึก ที่เป็นสุข ที่เป็นทุกข์ แต่ว่าน้อยมาก

เมื่อเทียบกับที่เคยจดจ้องที่รู้เป็นท่าเป็นทางแล้ว ดูเหมือนกับว่า เกือบจะไม่ได้ผลอะไรเลย แต่เมื่อท่านเป็นผู้ที่มีปกติสำเหนียก สังเกตเพิ่มขึ้น จะทราบว่า ความรู้เพิ่มขึ้นในสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง รู้ลักษณะของสติซึ่งเป็นอนัตตา และก็รู้สภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่ปรากฏแล้วก็หมดไป เป็นการที่จะละคลาย ไม่ยึดถือ และเป็นการเพิ่มความรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อยตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่สติจะระลึกได้ในขณะใด ก็เพิ่มความสังเกต สำเหนียกในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เป็นความรู้จริงๆ

ถ้ายังรู้ไม่ชัด ก็สังเกต สำเหนียก ระลึกไปจนกว่าจะเริ่มรู้ขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง สังเกต สำเหนียก ระลึกไป รู้นามนั้น รูปนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นความรู้ขึ้น รู้เพื่อการละ เพราะเหตุว่าการที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้นั้น ถ้าไม่เจริญความรู้ให้เป็นความรู้ที่แท้จริง ให้เป็นความรู้ที่ชัด ละเอียด และทั่วขึ้นแล้ว ไม่สามารถที่จะละความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะเห็นคุณของการรู้จริงตามปกติในสภาพธรรมที่ปรากฏ และเจริญอบรมสัมมาสติให้มากขึ้น โดยไม่มีตัวตนที่คอยจะไปทำอีก ซึ่งก็แล้วแต่ศรัทธา ฉันทะของท่านผู้ฟัง ถ้าท่านนิยมความไม่รู้ ท่านก็ปฏิบัติแบบไม่รู้

แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่รู้ว่ากิเลสมากจริงๆ และยิ่งเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ก็ยิ่งเห็นความละเอียด ความเหนียวแน่น ความลึกซึ้งของกิเลส ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็เป็นไปแล้วกับตัวตนทันทีตลอดเวลา แต่ขณะใดที่สติเกิดขึ้น ก็รู้ขณะหนึ่งว่าเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ถ้าหลงลืมไปอีก ก็เป็นตัวตนอีก ซึ่งผู้ที่มีปกติเจริญสติก็ทราบว่าขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสตินั้นต่างกัน จึงสามารถที่จะอบรมเจริญขณะที่มีสติให้มากขึ้น และอบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดขึ้นได้ แต่ต้องตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะจริงๆ เพราะว่าโดยมากความคิดจะเข้ามาแทรกเสียมาก ซึ่งการที่จะรู้ตรงลักษณะจริงๆ แยกได้ว่าไม่ใช่สภาพที่คิด เป็นลักษณะคนละอย่างนั้น ต้องอาศัยการสังเกต การสำเหนียก การระลึกเนืองๆ บ่อยๆ

. ท่านอาจารย์กล่าวถึงคำว่า ลักษณะ เรื่องลักษณะนี้ ถ้าเกี่ยวกับปริยัติแล้วสำคัญมาก เพราะเหตุว่าการที่จะพิสูจน์ธรรมของพระพุทธองค์ได้หรือไม่ได้นี้ ก็อยู่ที่ลักษณะ ในทางธรรมท่านเรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ คือ มีลักษณะ ไม่ว่ารูปก็ดี หรือเจตสิกก็ดี หรือจิตก็ดี จะต้องมีลักษณะประจำตัวของเขาโดยเฉพาะๆ ก็มีอยู่ ๔ อย่าง คือ มีลักษณะ มีรสะ มีปัจจุปัฏฐาน มีปทัฏฐาน

สำหรับฝ่ายโน้นที่อธิบายวิปัสสนาภูมิ ๖ ก็อธิบายถึงขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ ปฏิจจสมุปปาท วิปัสสนาภูมิ ๖ นี้อธิบายละเอียดมาก แม้กระนั้นก็ยังมีรูปนั่ง นอน ยืน เดิน แทรกเข้าไป ทั้งๆ ที่ในนั้นไม่มีเลย แต่ยังมีอธิบายแทรกเข้าไป

ถ้าเราจะพิสูจน์ ก็พิสูจน์ด้วยเรื่องนี้ แต่ถ้าจะนำสิ่งลอยๆ มาพิสูจน์ เราก็ไม่รู้ว่าจะพิสูจน์อย่างไร และถ้าไม่ตรงตามนี้ เรียกว่าพิสูจน์ไม่ได้ ถ้าพิสูจน์ได้ ต้องตรง ตามที่ท่านแสดงไว้ ไม่มีคลาดเคลื่อนเป็นเด็ดขาด

นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่ และสำคัญมากด้วย เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์ที่นี่ท่านพยายามอย่างยิ่งที่จะพูดถึงลักษณะ เน้นแล้วเน้นอีกเรื่องลักษณะเหล่านี้ เพราะลักษณะของเจตสิกมีตั้ง ๕๒ มีลักษณะต่างๆ กัน พูดถึง วิตก พูดถึง เจตนา อะไรอย่างนี้ก็มีลักษณะต่างกัน ซึ่งบางทีใกล้เคียงกันมากจนเราไม่รู้ จิต ก็มีลักษณะว่า รู้อารมณ์ ใครๆ จะมาพูดอย่างไร ก็รู้อารมณ์เท่านั้นเอง นี่เป็นเรื่องที่จะพิสูจน์ธรรมของพระพุทธองค์ได้ ตามที่ท่านกล่าวว่า ธรรมของท่านพิสูจน์ได้เสมอ ตามความเป็นจริงอย่างนี้

สุ. ดิฉันเองแม้ว่าจะได้บรรยายเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานพร้อมทั้งหลักฐานและธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิสูจน์ แต่บางทีท่านผู้ฟังก็คิดว่า เพราะดิฉันเป็นผู้บรรยาย แต่ผู้ที่รับฟังนี้จะได้พิจารณา และได้พิสูจน์แล้วบ้างนั้น มีไหมที่จะได้เข้าใจถึงความสำคัญ และความละเอียดของการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่ได้พิจารณา ปฏิบัติ พิสูจน์ธรรม และเห็นความสำคัญว่า ธรรมนั้นควรที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด ปัญญาจึงจะเจริญและเพิ่มขึ้นได้

วันนี้ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังฉบับหนึ่ง

บ้านเลขที่ ๒ หมู่ ๔ ต.บางชัน

อ.มีนบุรี กรุงเทพมหานคร

วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๕

เรียนท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพ

ผมได้ฟังอาจารย์บรรยายธรรมทางวิทยุ และได้ถามท่านผู้ฟังว่า รูปนั่งในรูป ๒๘ มีไหม ซึ่งเนื่องมาจากสำนักหนึ่งสอนผู้ปฏิบัติธรรมให้พิจารณารูปนั่ง และอาจารย์ก็ตอบเองว่า รูปนั่งในรูป ๒๘ นั้นไม่มี ในฐานะที่ผมเป็นผู้ฟังอาจารย์ ขอตอบว่า คำว่า รูปนั่งนั้น เป็นสำนวนเพื่อจะให้ผู้ฟังเข้าใจ เมื่อกายเรากำลังเคลื่อนไหว หรือตั้งอยู่ด้วยอาการอย่างไร แม้ในมหาสติปัฏฐานสูตร อิริยาปถบรรพ คำว่า เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน ก็มีปรากฏอยู่ ในรูป ๒๘ นั้นเป็นรูปปรมัตถ์แท้ ๑๘ รูป คือ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ และอาหารรูป ๑ ส่วนที่เหลือ ๑๐ รูปนั้น เป็นรูปพิเศษที่เกิดขึ้นในรูปปรมัตถ์แท้ ๑๘ รูปนั่นเอง

รูปนั่งนั้น คือ มหาภูตรูป ได้แก่ วาโยธาตุ มีลักษณะเคร่งตึง เรียกว่า วิตถัมภนวาโย มีลักษณะเคลื่อนไหวเรียกว่า สมีรณวาโย รูปนั่งในที่นี้หมายเอาอาการเคร่งตึงของมหาภูตรูป เพราะมหาภูตรูปเป็นสมสนรูป คือ รูปที่โยคีบุคคลพิจารณาโดยความเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้

โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าอาจารย์ผู้บรรยายธรรมทั้งหลายควรจะสนับสนุนส่งเสริมกัน เพราะทุกท่านที่นับถือพุทธก็เป็นลูกสมเด็จพ่อองค์เดียวกัน ที่ผมเรียนตอบมาทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น ผิดหรือถูกประการใด ขอให้อาจารย์ตอบทางวิทยุด้วย ขอขอบพระคุณอย่างสูง ผมจะรอรับฟังคำตอบทุกเวลา

ในสุดท้ายนี้ ขอให้อาจารย์บรรยายธรรมในพระไตรปิฎกแท้ๆ อย่าแทรกความเห็นส่วนตัวเลย

เคารพอย่างมาก

สุ. ท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างไรบ้าง ตามข้อความในจดหมาย ท่านมีความหวังดีที่จะให้เข้าใจถูกว่า รูปนั่งหมายความถึงมหาภูตรูป การใช้คำว่ารูปนั่งเป็นเพียงสำนวน ส่วนการที่จะรู้ลักษณะของรูปปรมัตถ์จริงๆ ต้องรู้ลักษณะของมหาภูตรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ ดิฉันก็บรรยายอย่างนี้ ให้ทราบว่ารูปนั่งที่เป็นท่าทางนั้นไม่มีในรูป ๒๘

เปิด  264
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565