แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 258

. ตรงนี้ อาจารย์คงจะหมายความว่า ทิฏฐิของบุคคลที่มีความเห็นผิดนี่สมมติว่า ไปแตะเก้าอี้ ก็รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเก้าอี้ แต่ว่าความรู้ที่ว่าสิ่งนี้เป็นเก้าอี้ก็รู้อย่างที่เรียกว่าจำได้ แต่ที่แตะจริงๆ นั้น ความจริงไม่ใช่เก้าอี้ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีแต่เพียงลักษณะอ่อนหรือแข็ง แต่ไม่มีความรู้อย่างนี้ กลับไปมีความรู้รวมทั้งหมด กลายเป็นว่านี่เป็นเก้าอี้ หรือไปแตะที่คน ที่สัตว์ ก็เรียกว่าไปถูกคน ถูกแมว ถูกหมา แต่ที่ถูกจริงๆ ไม่ใช่แมว ไม่ใช่หมา ไม่ใช่ตัวตนอะไร คำว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนี้ คงจะเป็นความหมายที่ว่า รวมเป็นอันเดียวกันนั่นเองใช่ไหมครับ

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังจะถือเฉพาะร่างกายนี้ว่าเป็นตัวตน ที่จะต้องให้เห็นถูก และเวลาที่ท่านเห็นสัตว์ เห็นนก เห็นไก่ จะละความยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ไหม ในเมื่อท่านเพียงพากเพียรจะละการยึดถือแต่เฉพาะกายนี้อย่างเดียว

สิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคน จะเป็นสัตว์ จะเป็นวัตถุสิ่งของก็ตาม ท่านจะรู้ชัดในสภาพที่ต่างกันว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนการที่จะรู้ว่าเป็นนก เป็นสัตว์ เป็นคน เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ นั้น เป็นนามธรรมที่รู้ทางใจ สามารถที่จะรู้ความต่างกันของลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด และรูปธรรมแต่ละชนิดตรงตามความเป็นจริงได้ ซึ่งถ้าแยกแล้วจะมีปรากฏเพียง ๖ โลกเท่านั้น คือ ทางตา ลักษณะหนึ่ง ทางหู ลักษณะหนึ่ง ทางจมูก ลักษณะหนึ่งทางลิ้น ลักษณะหนึ่ง ทางกาย ลักษณะหนึ่ง ทางใจ ลักษณะหนึ่ง

. ท่านอาจารย์บรรยายเรื่องธุดงค์ ๑๓ ประเภท ว่ามีบิณฑบาต มีจีวร มีเสนาสนะ มีวิริยะ และอะไรๆ อาจารย์ก็ได้อธิบายไปแล้ว สงสัยว่า พระพุทธองค์ท่านไม่ทรงสรรเสริญการทรมานกาย ท่านสรรเสริญแต่มัชฌิมาปฏิปทา แต่ธุดงควัตรที่พระท่านไปปฏิบัติ แสนจะลำบากยากเย็นทั้งนั้น จะไม่ขัดกันหรือ

สุ. กิเลสไม่น้อย อย่าลืม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่ใช่โลภะ ก็โทสะ ถ้าไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ก็โมหะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นว่าการที่มีชีวิตอย่างฆราวาสเป็นเรื่องยากที่จะขัดเกลากิเลสให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้ ท่านก็ละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นบรรพชิต เพราะปัจจัยได้สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ซึ่งกิจของบรรพชิต คือ การเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม และท่านผู้ที่จะรักษาธุดงค์ ก็เพราะมีเหตุปัจจัยที่สะสมมา ส่วนภิกษุที่ไม่รักษาธุดงค์ แต่รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็มีมาก

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงบัญญัติให้ธุดงค์เป็นพระวินัย แต่ว่าเป็นข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีศรัทธาที่ได้สะสมมาที่จะขัดเกลากิเลสของตนใน ลักษณะนั้น เป็นผู้ที่มีปกติ เป็นอัธยาศัยอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ฝืนปกติไปชั่วครั้งชั่วคราว เพราะเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าฝืนปกติแล้วจะรู้ความจริง แต่ผู้ที่จะรักษาธุดงค์ได้ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติในเพศของบรรพชิต หรือ อุบาสก อุบาสิกาก็แล้วแต่ ตามธุดงค์ข้อที่สามารถจะรักษาได้ ตามเพศ ตามฐานะของตน เป็นผู้ที่รู้ความจริง เป็นผู้ที่มีปกติเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไปฝืน หรือไปทำสิ่งที่ไม่ได้สะสมมา และไม่ใช่การทรมานตนด้วย เพราะเหตุว่าเป็นปกติของท่านผู้นั้น เป็นผู้ที่มีฉันทะความพอใจอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ฝืนอัธยาศัยเข้าใจผิดคิดว่า ต้องทำจึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งถ้าเป็นการฝืนอัธยาศัยแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

ธรรมที่ท่านได้ฟังจากพระวินัยปิฎกก็ดี พระสุตตันตปิฎกก็ดี พระอภิธรรมปิฎก ก็ดี จะเห็นได้ถึงพระมหากรุณาคุณอย่างยิ่งของพระผู้มีพระภาคที่ทรงเกื้อกูลพุทธบริษัททุกโอกาส แม้แต่ธรรมปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นโอวาทที่ทรงพร่ำสอนเพื่อที่จะให้พุทธบริษัทเจริญกุศล เป็นผู้ที่ไม่ประมาททั้งสิ้น

ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย นิทานวรรค โอปัมมสังยุต นขสิขสูตร มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นเล็กน้อยไว้ที่ปลายพระ นขา แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนขึ้นไว้ที่ปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนี้ อย่างไหนมากกว่ากัน

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาปฐพีนั่นแหละมากกว่า ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงช้อนขึ้นไว้ที่ปลายพระนขานี้ มีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งการนับ ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งการเทียบเคียง ย่อมไม่ถึงซึ่งแม้ซึ่งส่วนแห่งเสี้ยว เพราะเทียบมหาปฐพีเข้าแล้ว ฝุ่นที่พระผู้มีพระภาคทรงช้อนขึ้นไว้ที่ปลายพระนขา มีประมาณเล็กน้อย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีประมาณน้อย สัตว์ไปเกิดในกำเนิดอื่นจากมนุษย์มีมากกว่ามากทีเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ไม่ประมาท

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ

มีใครกลัวที่จะไปสู่นรกบ้างไหม กลัวผล แต่ว่าโลภะ โทสะ โมหะ วันนี้ไม่ทราบว่ามากเท่าไร และสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่จะให้รู้ชัด เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ นรก สัตว์ดิรัจฉาน เปรต หรือเปตวิสัย ก็มีน้อย

ซึ่งตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม กิเลสที่มีมากๆ ทุกวัน จะมีกำลัง ที่จะทำให้เกิดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่จะเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิได้ เพราะเหตุว่าไม่ได้ดับหมด กิเลสมีมาก แต่สติมีน้อย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ไม่ประมาท ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ

ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะพร่ำเตือนพุทธบริษัทให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทเลย ที่เล็บมีฝุ่นกันทุกคนไหม เคยเห็นก็บ่อย แต่ไม่เคยระลึกได้เลยว่า ถ้ายังมีกิเลสอยู่ตราบใด และยังไม่รู้แจ้งคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว การที่จะไปสู่กำเนิดอื่นนั้น ย่อมมากกว่าการที่จะกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ ตัวอย่างเช่น พระเทวทัต

ท่านผู้ฟังเห็นฝุ่นที่เล็บทุกวัน แต่ไม่มีใครเตือน แต่พระผู้มีพระภาคทรงไม่ละเว้นโอกาส แม้แต่การที่จะให้ระลึกได้ว่า ฝุ่นที่เล็บนี้ยังน้อยกว่าที่พื้นปฐพี เหมือนกับวันหนึ่งๆ นี้ สติ กับกิเลส อย่างไหนจะเกิดมากกว่ากัน

เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่พากเพียรที่จะเป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด ก็ไม่มีหนทางอื่นที่จะทำให้พ้นจากอบายภูมิได้ แต่ถ้าศึกษาธรรม ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ สติก็จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทันที ได้แล้วใช่ไหมขณะหนึ่ง สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

สำหรับบุคคลที่เห็นคุณประโยชน์ของการฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคในครั้งโน้นก็มีมาก ขอยกตัวอย่างท่านผู้หนึ่ง ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ลิจฉวีสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวี ชื่อนันทกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแก่มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวี ชื่อนันทกะว่า

ดูกร นันทกะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลอันพระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกร นันทกะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ ในเบื้องหน้า

ทรงแสดงคุณธรรมเพื่อเตือน แม้มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวี ไม่ให้เป็นผู้ที่ประมาท ให้เป็นผู้ที่ควรจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยบุคคล

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร นันทกะ ก็แลอริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยอายุ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยวรรณะ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยสุข ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยความเป็นใหญ่ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

ดูกร นันทกะ ก็เราได้ฟังแต่สมณะ หรือพราหมณ์อื่น จึงกล่าวเรื่องนั้น หามิได้ ความจริง เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง จึงกล่าวเรื่องนั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บุรุษคนหนึ่งได้กล่าวกับมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีชื่อนันทกะว่า

ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว ท่านผู้เจริญ

นันทกะมหาอำมาตย์ กล่าวว่า

ดูกร พะนาย บัดนี้ ยังไม่ต้องการอาบภายนอก ต้องการจักอาบภายใน คือความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค

นี่คือความเลื่อมใส ความใคร่ในการฟังธรรม การเห็นประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงเกื้อกูลแก่บุคคลทั้งหลาย ของมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีในครั้งนั้น ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ในวันนี้ ก็เพื่อที่จะให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้ไม่ไปสู่นรก ซึ่งได้ทรงแสดงไว้มากในพระไตรปิฎกว่าเป็นภูมิที่มีจริง เป็นภูมิที่ทนทุกข์ทรมานมาก เป็นภูมิที่ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

. ที่ว่า การตามเห็นรูปว่าเป็นตนก็ดี การตามเห็นเวทนาว่าเป็นตนก็ดี การตามเห็นสัญญาว่าเป็นตนก็ดี การตามเห็นสังขารว่าเป็นตนก็ดี การตามเห็นวิญญาณว่าเป็นตนก็ดี เหล่านี้ ตนในที่นี้เป็นรูป หรือเป็นนาม หรือว่าเป็นบัญญัติ

สุ. ทรงแสดงไว้ว่า ในสักกายทิฏฐิ ๒๐ เห็นรูปว่าเป็นตน ๑ เห็นเวทนาว่าเป็นตน ๑ เห็นสัญญาว่าเป็นตน ๑ เห็นสังขารว่าเป็นตน ๑ เห็นวิญญาณว่าเป็นตน ๑ถ้าเห็นรูปว่าเป็นตน ก็เป็นเรื่องของรูป ถ้าเห็นเวทนาว่าเป็นตน ก็เป็นเรื่องเห็นเวทนาว่าเป็นตน เห็นว่าสัญญาเป็นตน เห็นว่าสังขารเป็นตน เห็นว่าวิญญาณเป็นตน

แต่เวลาที่เห็นว่าตนมีรูป ยึดถือนามขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเกิดพร้อมกัน เกิดร่วมกันว่าเป็นตน ในขณะที่กำลังพิจารณารูป รู้ว่าเป็นรูป ใครรู้ว่าเป็นรูป ก็เรา เพราะฉะนั้น ก็ยังมีความสำคัญในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณนั้นว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นเรา

. ที่อาจารย์กล่าวว่า การเจริญสตินี้ อะไรๆ ก็เป็นอารมณ์ได้ ไม่ว่าจะขับรถยนต์ หรือจะประกอบอาหาร หรือจะทำไร่ไถนา อะไรก็ตาม ก็เป็นอารมณ์แห่ง สติปัฏฐานได้ทั้งนั้น บางคนก็เลยกล่าวว่า การเจริญอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน กำลังฆ่าสัตว์อยู่ ก็เจริญสติปัฏฐานแล้วก็ฆ่าสัตว์กันต่อไป หรือกำลังลักทรัพย์ ก็เจริญสติปัฏฐานได้แล้วก็ลักทรัพย์นั้นต่อไป หรือกำลังร้องรำทำเพลงกันอยู่ กำลังสนุกสนานรื่นเริงกันอยู่ ก็เจริญสติปัฏฐานได้แล้วก็ทำกิจกรรมนั้นต่อไป หรือกำลังเสพเมถุนอยู่ ก็เจริญสติปัฏฐานได้เหมือนกัน เขาว่าอย่างนี้ ดูอย่างนางวิสาขา เป็นถึงโสดาบันยังเจริญ สติปัฏฐานจนมีลูกมากมาย เขาว่ากันอย่างนี้ ขอท่านอาจารย์ช่วยคลี่คลายด้วย

สุ. เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ประพฤติปฏิบัติได้ทั้งบรรพชิตและฆราวาส แล้วแต่เพศ แล้วแต่การสะสม ซึ่งแต่ละบุคคลสะสมมาไม่เหมือนกัน ถ้าท่านผู้ใดใคร่ที่เจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ท่านก็ละอาคารบ้านเรือน ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานตามเพศของท่าน ซึ่งท่านจะมีความประพฤติปฏิบัติอย่างเพศฆราวาสไม่ได้ ที่จะทำกิจอย่างที่ฆราวาสกระทำโดยที่ไม่สมควรแก่สมณะก็ไม่ได้ เพราะท่านมีอัธยาศัยที่สะสมมาที่จะเจริญ สติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต

เพราะฉะนั้น ถ้าพระภิกษุรูปใดมีความเข้าใจผิด คิดว่า ท่านกระทำอย่างฆราวาสได้ ท่านผู้นั้นก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าท่านไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดกับท่าน ที่ทำให้ท่านประพฤติปฏิบัติในเพศของบรรพชิต แต่ถ้าท่านจะกระทำอย่างฆราวาส หมายความว่าเพศของท่านคือฆราวาส ซึ่งเปรียบกันไม่ได้เลย ดังตัวอย่างใน อลคัททูปมสูตร ซึ่งท่านอริฏฐภิกขุมีความเห็นผิดว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย บรรพชิตก็เสพได้ คือ ตาก็ยังเห็นรูปที่ดี หูก็ยังได้กระทบเสียงที่ดี จมูกก็ยังได้กลิ่นที่ดี ลิ้นก็ยังได้รสอาหารที่ดี โผฏฐัพพะก็ได้จีวรเป็นต้นที่ดี เพราะฉะนั้น อริฏฐภิกขุมีความเห็นว่า แม้การเสพกามโดยวิสัยของฆราวาสนั้นบรรพชิตก็เสพได้ นี่เป็นความเข้าใจผิด ที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยนั้น สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้ทั้งฆราวาสและบรรพชิต แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมของแต่ละบุคคล แต่ละเพศตามความเป็นจริง ถ้าเป็นเพศบรรพชิต ก็เจริญสติปัฏฐานโดยบริสุทธิ์ดุจสังข์ขัดในเพศของบรรพชิต แต่ถ้าเป็นฆราวาส ไม่ใช่เพศบรรพชิต เพราะไม่ได้สะสมอุปนิสัยปัจจัยที่จะละอาคารบ้านเรือนเป็นเพศบรรพชิต ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญ สติปัฏฐาน และต้องเป็นผู้ที่เข้าใจลักษณะของสติ โดยเฉพาะสติปัฏฐานว่า เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ และในมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีทั้งศีล สมาธิ ปัญญาในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึก คือ ไม่หลงลืมไป แต่รู้ที่ลักษณะ ที่เป็นสภาพของนามธรรม หรือสภาพของรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้น สังวรจากทุจริต ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ในขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น มีใครบ้างที่จะยับยั้งไม่ให้โลภมูลจิตเกิด ในเมื่อยังไม่ใช่เป็นผู้ที่หมดโลภมูลจิต ยังไม่ได้เป็นผู้ที่ดับโลภมูลจิตเป็นสมุจเฉท ผู้ที่เจริญ สติปัฏฐานรู้ถึงปัจจัยว่า ที่โลภมูลจิตเกิดขึ้นนั้นเพราะมีเหตุปัจจัย คือ การเห็นสิ่งที่ดี น้อมนึกถึงสภาพที่น่ายินดีของอารมณ์ที่กำลังเห็น ทำให้เกิดความยินดี ความพอใจขึ้น แม้ความยินดี ความพอใจนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งในขณะที่สติกำลังสังวร ระลึก ไม่หลงลืม จึงรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่เป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และในขณะนั้นก็เป็นการสังวรจากทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ

เปิด  299
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566