แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 261

โดยการศึกษา ได้ยินเมื่อสักครู่นี้ดับไป ที่เห็นในขณะนี้ก็ต้องดับ เพราะถ้าไม่ดับ จิตอื่นก็เกิดไม่ได้ นี่เป็นขั้นของการฟัง

เพราะฉะนั้น ขั้นที่จะเจริญสติปัญญาจนกระทั่งแทงตลอดในสภาพธรรมนั้น จะผิดจากความจริงไปได้อย่างไร ในเมื่อรูปเกิดดับอย่างรวดเร็ว จะให้เที่ยงอยู่ได้อย่างไร แต่ว่าสัญญาความจำต่างหากที่จำไว้ว่าคงสภาพเดิม มหาภูตรูปยังดับ สีสันวัณณะที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปจะไม่ดับได้อย่างไร แต่เพราะว่าปัญญายังไม่ได้พิจารณาจนแทงตลอด

ปัญญาของผู้ที่เจริญสติปัฏฐานกำลังเริ่มพิจารณานามนั้นบ้าง รูปนี้บ้าง เมื่อมีนามและรูปปรากฏเกิดขึ้น ปัญญาของผู้ที่กำลังเริ่มเจริญสติปัฏฐานก็รู้ได้จริงๆ ว่า ระลึกรู้พิจารณาลักษณะของนามใดรูปใด ทางทวารไหนมากกว่าทวารอื่น หรือว่ามีความรู้ยิ่งขึ้น เพิ่มขึ้นทางทวารไหนมากกว่าทวารอื่น

ถ้าทางตายังไม่คลาย ยังไม่แยกออกจากทวารอื่น ก็เพราะว่าพิจารณาทางทวารอื่นมากกว่าทางตา หรือว่าทางตาอาจจะพิจารณาน้อยเหลือเกิน หรือว่ายังไม่ได้เริ่มพิจารณาจนกระทั่งเป็นปัญญาที่ละคลายว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ก็เป็นเพียงสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เมื่อยังไม่คลาย จะไปประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้อย่างไร

ที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป จะต้องรู้ชัดเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น และละคลายมากขึ้นจนเสมอกันหมดทั้ง ๖ ทวาร จึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปที่เป็นวิปัสสนาญาณ ที่เป็นอุทยัพพยญาณได้

แต่ถ้าพิจารณานามใดน้อย รูปใดน้อย ทวารใดน้อย ก็ไม่ประจักษ์ หรือว่าไม่มีความรู้ชัดในทวารนั้น อาจจะรู้ทางทวารอื่น เพราะพิจารณาทางทวารอื่น เช่น ทางหู พิจารณาเสียง ก็มีความรู้ระลึกได้บ่อยขึ้น ค่อยๆ คลายไปในการที่จะยึดถือหรือการที่จะไม่รู้ในลักษณะของเสียง หรือว่าทางกายก็อาจจะพิจารณาเย็นเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ร้อนเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แต่อ่อนแข็งไม่หมดใช่ไหม ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจึงจะเป็นผู้ที่ปฏิบัติตาม รู้แจ้งตาม และแทงตลอดตามในสภาพธรรม ซึ่งจะต้องเจริญอบรมนานมากทีเดียว

และใครจะรู้ว่าปัญญาของใครเพิ่มขึ้น ชัดขึ้น ทางทวารนั้น หรือทางทวารนี้ หรือยังสังสัยอยู่มาก ยังระลึกน้อยมาก ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อรู้ ก็รู้ เมื่อไม่รู้ ก็ไม่รู้ เมื่อยังสังสัย ก็สงสัย เมื่อรู้เพิ่มขึ้น ก็เพิ่มขึ้น เป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ต่อสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่หลอกตัวเอง เมื่อไม่รู้ จะไปบอกว่ารู้หมดแล้ว อย่างนั้นไม่ใช่ผู้ตรงต่อธรรม ไม่ใช่ผู้ที่จะขัดเกลา หรือละกิเลสได้ แต่ผู้ที่จะขัดเกลาหรือผู้ที่จะละกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ และไม่ใช่ไปรู้อื่นด้วย ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ จะไปรู้อื่น นั่นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตรงต่อธรรม คือ ไม่เจริญหนทางที่จะให้ละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเจริญ ต้องอบรมต่อไปอีก จนกว่าจะเป็นปัญญาจริงๆ รู้จริงๆ ละได้ จริงๆ แต่ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ใช่หลอกๆ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่คิดว่ารู้

ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย สุตตนิบาต วาเสฏฐสูตร ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมเทศนาเรื่องใดๆ ก็ตาม จะไม่พ้นไปจากเรื่องของสติปัฏฐาน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะกราบทูลถามในเรื่องใด พระผู้มีพระภาคจะตรัสตอบในเรื่องที่ไม่พ้นไปจากการเจริญสติปัฏฐาน

ในพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกำเนิดของสัตว์ดิรัจฉานว่า มีสัณฐานที่สำเร็จมาแต่ชาติ แต่ว่าสำหรับมนุษย์แล้ว เพศที่สำเร็จมาแต่ชาติเป็นอันมาก ไม่มีในมนุษย์ทั้งหลาย

คือ สัตว์ดิรัจฉานจะมีรูปร่างสัณฐานสำเร็จมาเป็นแต่ละประเภท แต่ละพวกไป เช่น สัตว์ประเภทหนอน ประเภทตั๊กแตน มดต่างๆ ชนิด มดดำ มดแดง ประเภทสัตว์ ๔ เท้า ประเภทที่อยู่ในน้ำ ประเภทที่บินไปในอากาศ เป็นความวิจิตรของจิต

จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัตว์นั้นมีสัณฐานต่างกัน แต่สำหรับมนุษย์มีไหมที่จะต่างกันมากเหมือนสัตว์ดิรัจฉาน มีมนุษย์ที่อยู่ในน้ำ มีมนุษย์ที่บินไปในอากาศ มีมนุษย์ประเภทที่เหมือนอย่างหนอน เหมือนอย่างตั๊กแตนบ้างไหม ไม่มี ส่วนสัตว์วิจิตรต่างกันไปตามกำเนิด ตามชาติทีเดียว

ในพระสูตรนั้น

วาเสฏฐมานพ กับภารทวาชมานพ เดินพักผ่อนอยู่ และได้สนทนากันที่ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลคาม ภารทวาชมานพเห็นว่า บุคคลชื่อว่าพราหมณ์ เพราะมารดาบิดาเป็นพราหมณ์ มีกำเนิดดีทั้ง ๒ ฝ่ายแต่กำเนิดตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษส่วนวาเสฏฐมานพกล่าวว่า บุคคลเป็นผู้มีศีล และถึงพร้อมด้วยวัตรชื่อว่า เป็นพราหมณ์

ทั้ง ๒ คนตกลงกันไม่ได้ ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระผู้มีพระภาค ก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อให้พระองค์ทรงแสดงว่า บุคคลที่เป็นพราหมณ์นั้น เป็นอย่างไร

เพราะเหตุว่ามนุษย์ไม่ได้ต่างกันโดยกำเนิดเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉานที่เป็นประเภทๆ อย่างนั้น เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่เป็นพราหมณ์นั้น คือ มนุษย์ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐจะเป็นอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ความต่างกันในมนุษย์ทั้งหลาย บัณฑิตกล่าวไว้โดยสมัญญา ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่พราหมณ์

ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีพด้วยศิลปเป็นอันมาก ผู้นั้นเป็นศิลปิน มิใช่พราหมณ์

นี่คือการจำแนกมนุษย์ซึ่งมีมาก และไม่สามารถจะจำแนกออกไปโดยสัณฐานแห่งชาติตั้งแต่เกิดก็จริง แต่ว่าการที่จะเห็นความต่างกันของมนุษย์นั้น ก็โดยสมัญญาคือ โดยการกระทำของบุคคลนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง อาศัยการค้าขาย เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็น พ่อค้า มิใช่พราหมณ์

ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นผู้รับใช้ มิใช่พราหมณ์

ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง อาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร มิใช่พราหมณ์

ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง อาศัยลูกศรและศาสตราเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นนักรบอาชีพ มิใช่พราหมณ์

ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยความเป็นปุโรหิต ผู้นั้นเป็นผู้ยังบุคคลให้บูชา มิใช่พราหมณ์

ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง ปกครองบ้านและแว่นแคว้น ผู้นั้นเป็นพระราชา มิใช่พราหมณ์

ก็เราหากล่าว ผู้เกิดแต่กำเนิดในท้องมารดาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ ผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่า โภวาที ผู้นั้นแล ยังเป็นผู้มีเครื่องกังวล

เรากล่าวบุคคล ผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์

ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า เครื่องกังวล ปลิโพธ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็เราหากล่าว ผู้เกิดแต่กำเนิดในท้องมารดาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ ผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่าโภวาที ผู้นั้นแล ยังเป็นผู้มีครื่องกังวล เพราะฉะนั้น เครื่องกังวล คือ ปลิโพธ ความห่วงใย ความยินดีพอใจที่เกี่ยวเนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นยังไม่หมด จึงยังต้องมีการเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า ท่านจะสละไป หนีไป เป็นอันว่าท่านหมดปลิโพธ หรือความกังวล แต่การที่จะเป็นผู้ที่ละความกังวลได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้แจ้งอริยสัจธรรม และละอกุศลธรรมเป็นลำดับขั้นไป

ปลิโพธ หรือความกังวล นิวรณธรรม เป็นสติปัฏฐานได้ไหม ไม่ใช่ว่าท่านจะตัดความกังวล และไปเจริญสติปัฏฐาน แต่การที่จะละความกังวลทั้งมวลได้เป็นสมุจเฉท ก็เพราะสติระลึกรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง จึงละอกุศลธรรมได้เป็นลำดับขั้น

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เรากล่าว ผู้ตัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด ไม่สะดุ้งเลย ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องแล้ว พรากโยคะทั้ง ๔ ได้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ที่ตัดชะเนาะ คือ ความโกรธ เชือก คือ ตัณหา หัวเงื่อน คือ ทิฏฐิ ๖๒ พร้อมทั้งสายโยง คือ อนุสัยเสียได้ ผู้มีลิ่มสลักอันถอดแล้ว ผู้ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นได้ซึ่งคำด่าว่า การทุบตี และการจองจำ ผู้มีกำลัง คือ ขันติ ผู้มีหมู่พล คือ ขันติ ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ไม่โกรธ มีวัตร มีศีล ไม่มีกิเลสอันฟูขึ้น ฝึกตนแล้ว ทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย ดุจน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว ดุจเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้รู้ชัด ความสิ้นไปแห่งทุกข์ของตนในศาสนานี้แล ผู้ปลงภาระแล้ว พรากกิเลสได้หมดแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง มีเมธา ผู้ฉลาดในทางและมิใช่ทาง ผู้บรรลุถึงประโยชน์อันสูงสุด ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยคน ๒ พวก คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งผู้ที่สดุ้งและมั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ไม่ปองร้าย ผู้ดับเสียได้ในผู้ที่มีอาชญาในตน ผู้ไม่ยึดถือในผู้ที่มีความยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ที่ทำราคะ โทสะ มานะ และมักขะให้ตกไปแล้ว ดุจเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้เปล่งถ้อยคำไม่หยาบ ให้รู้ความกันได้ เป็นคำจริง ซึ่งไม่เป็นเหตุทำใครๆ ให้ข้องอยู่ ว่าเป็นพราหมณ์

ก็เรากล่าว ผู้ไม่ถือเอาสิ่งของยาวหรือสั้น น้อยหรือใหญ่ งาม หรือไม่งาม ซึ่งเจ้าของมิได้ให้แล้วในโลก ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ไม่มีความหวังทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า ผู้สิ้นหวัง พรากกิเลสได้แล้ว หมดแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ไม่มีความอาลัย รู้แล้วทั่วถึง ไม่มีความสงสัย หยั่งลงสู่นิพพานได้บรรลุแล้วโดยลำดับ ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ละทิ้งบุญและบาปทั้ง ๒ ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องได้แล้ว ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลี บริสุทธิ์แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้มีความยินดีในภพหมดสิ้นแล้ว ผู้บริสุทธิ์ มีจิตผ่องใสไม่ขุ่นมัว ดุจพระจันทร์ที่ปราศมลทิน ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ล่วงทางอ้อม หล่ม สังสาระ โมหะเสียได้ เป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง เพ่งฌาน ไม่หวั่นไหว ไม่มีความสงสัย ดับกิเลสได้แล้ว เพราะไม่ถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ละกามในโลกนี้ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่มีเรือน บวชเสียได้ มีกามราคะหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ละตัณหาในโลกนี้ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่มีเรือน งดเว้น เป็นผู้มีตัณหาและภพหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ละโยคะที่เป็นของมนุษย์ แล้วล่วงโยซึ่งเป็นของทิพย์เสียได้ ผู้พรากแล้วจากโยทั้งปวง ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ละความยินดี และความไม่ยินดี เป็นผู้เยือกเย็น หาอุปธิมิได้ ผู้ครอบงำโลกทั้งปวง มีความเพียร ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย โดยอาการทั้งปวง ผู้ไม่ข้อง ไปดี ตรัสรู้ ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ที่เทวดา และคนธรรพ์ และมนุษย์รู้คติไม่ได้ ผู้สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ไม่มีเครื่องกังวลในขันธ์ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้องอาจ ประเสริฐ เป็นนักปราชญ์ แสวงหาคุณใหญ่ ชนะมาร ไม่มีความหวั่นไหว ล้างกิเลสหมด ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าว ผู้ระลึกชาติก่อนๆ ได้ เห็นสวรรค์และอบาย ถึงความสิ้นไปแห่งชาติแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

นามและโคตรที่เขากำหนดกัน เป็นบัญญัติในโลก นามและโคตรมาแล้ว เพราะการรู้ตามๆ กันมา ญาติสาโลหิตทั้งหลาย กำหนดไว้ในกาลที่บุคคลเกิดแล้วนั้น นามและโคตรที่กำหนดกันแล้วนี้ เป็นความเห็นของพวกคนผู้ไม่รู้ ซึ่งสืบเนื่องกันมาสิ้นกาลนาน พวกคนผู้ไม่รู้ย่อมกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติก็หามิได้ แต่เป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรม ไม่เป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรม

เป็นชาวนา ก็เพราะกรรม เป็นศิลปิน เป็นพ่อค้า เป็นผู้รับใช้ เป็นโจร เป็นนักรบอาชีพ เป็นปุโรหิต และแม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรม

บัณฑิตทั้งหลาย ผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปปาท ฉลาดในกรรมและวิปาก ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้

โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน เปรียบเหมือนหมุดแห่งรถที่แล่นไปอยู่

ฉะนั้น บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะกรรมอันประเสริฐนี้ คือ ตบะ สัญญมะ พรหมจรรย์ และทมะ กรรมนี้ นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้

บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยไตรวิชชา เป็นคนสงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว เป็น พราหมณ์ผู้องอาจของบัณฑิตทั้งหลาย ผู้รู้แจ้งอยู่ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด วาเสฏฐะ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมานพ และภารทวาชมานพ ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้ง ๒ ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ข้อความที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกับวาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพในตอนต้นเริ่มจากกำเนิดของสัตว์ดิรัจฉานที่ต่างกันโดยชาติตั้งแต่เกิด แต่ท้ายของพระสูตรทรงชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของความเป็นมนุษย์ที่สามารถจะดับกิเลสได้ ซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นความต่างกันของกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานกับกำเนิดของมนุษย์

เรื่องของกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานในพระไตรปิฎก แม้พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีในระหว่างที่ยังไม่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น พระผู้มีพระภาคก็มีกำเนิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แม้พระสาวกอื่นๆ และแม้ทุกๆ ท่าน ก็คงเคยผ่านการเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานมาแล้ว ซึ่งในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่สามารถที่จะเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น ที่จะฟังธรรมรู้เรื่อง ที่จะพิจารณาเหตุผล และเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมในกำเนิดของสัตว์ดิรัจฉานก็ไม่ได้

เรื่องของการเกิด ย่อมเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่ากรรมใดจะทำให้ปฏิสนธิ แต่ทราบไหมว่า การเกิดในชาตินี้เป็นผลของทาน หรือว่าเป็นผลของศีล หรือว่าเป็นผลของการเจริญภาวนา อย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ ในชาตินี้ ก็ทราบไม่ได้

เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว สุข ทุกข์ ก็ยังต่างกัน หรือแม้สัตว์ดิรัจฉานก็ยังต่างกันไปตั้งแต่รูปร่างลักษณะ มนุษย์มีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณต่างกันตามความวิจิตรของกรรมฉันใด สัตว์แต่ละตัว แต่ละชนิด แต่ละประเภท ถ้าพิจารณาโดยละเอียด ก็จะเห็นความต่างกันที่วิจิตรตามกรรมฉันนั้น แม้สุข ทุกข์ของมนุษย์ แม้สุข ทุกข์ของสัตว์ดิรัจฉาน ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้กระทำแล้ว

สำหรับเรื่องของกรรม มีกิจ ๔ กิจ คือ

ถ้าเป็นกิจที่กระทำให้ปฏิสนธิ เป็นชนกกรรม

เมื่อปฏิสนธิแล้วยังมีกรรมอื่นที่สามารถจะอุปถัมภ์ เป็นอุปถัมภกกรรม หรือว่า ถึงแม้จะเกิดมาแล้ว จะเป็นสัตว์ หรือเป็นมนุษย์ก็ตาม ชีวิตทุกๆ วันย่อมจะเป็นโอกาสของกรรมหนึ่งกรรมใดทำกิจเบียดเบียน เป็นอุปปีฬกกรรม

หรือว่า ทำกิจอุปัจเฉทกกรรม คือ ตัดรอนสภาพธรรมที่กำลังได้รับอยู่

เป็นเรื่องของกรรม ที่นอกจากจะทำให้ปฏิสนธิแล้ว ยังอุปถัมภ์ หรือว่าเบียดเบียน หรือว่าตัดรอนได้

เปิด  341
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565