แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 266

การรู้แจ้งอริยสัจธรรมของบุคคลที่เป็นพระอริยสาวกที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จะเห็นได้ว่า สำหรับผู้ที่เป็นฆราวาสแต่ละท่านนั้น อย่างพระเจ้าสุทโธทนะ พระราช บิดาของพระผู้มีพระภาครู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ไหน

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะกล่าวว่าต้องไปสู่สำนักปฏิบัติจึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ จะค้านกับพระไตรปิฎกไหม เป็นความคิดความเห็นของท่านที่ไม่รู้ว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ต้องเป็นการเจริญเหตุให้สมควรแก่ผล เมื่อผลพร้อมที่จะเกิดแล้ว ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ที่ใด ผลคือการรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็เกิดได้

มารดาและภรรยาท่านยสกุลบุตร รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวกที่ไหน

นางขุชชุตตรา พระนางสามาวดีและหญิงบริวาร รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ไหน

ท่านวิสาขามิคารมารดา รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ไหน

ปุณณทาสีซึ่งเป็นทาสีของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ไหน

ถ้าท่านศึกษาการรู้แจ้งอริยสัจธรรมของพระอริยสาวกในพระไตรปิฎกที่เป็นฆราวาส ท่านจะเห็นว่า ท่านเหล่านั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะที่เป็นชีวิตปกติธรรมดาของท่าน

บางท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ในขณะที่กำลังทำอาหาร อยู่ในครัว เป็นชีวิตปกติธรรมดา แม้แต่ผู้ที่เป็นพระภิกษุ ท่านก็จะต้องมีปกติเจริญ สติปัฏฐาน และเมื่อท่านอบรมปัญญาสมควรแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็รู้แจ้งอริยสัจธรรม เช่น ภิกษุที่ถูกงูกัดในขณะที่กำลังฟังธรรม พิจารณาธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น บรรลุความเป็นอรหันต์ที่ไหนก็ได้ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็รู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ต้องรอ ไม่ต้องคอย ไม่ต้องผลัดว่าจะต้องไปรู้แจ้งที่อื่น เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น เป็นการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เสมอกันหมดไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

ชาวนาผู้หนึ่งเสียใจที่นาของตนถูกน้ำท่วมเสียหายมาก มีความเศร้าโศกเสียใจพระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวกของชาวนาท่านนั้น เพราะฉะนั้น ก็ได้เสด็จไปโปรด ทรงแสดงธรรมให้ชาวนานั้นคลายความโศกเศร้า และบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นชีวิตจริงๆ ในขณะนั้นไม่ได้ไปเปลี่ยน ไปเทศนาบอกว่าให้ไปที่อื่น

สำหรับท่านพาหิยะ ที่ท่านเป็นเอตทัคคะในการตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ได้โดยเร็วพลัน ขณะที่พระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ท่านพระพาหิยะก็ได้ไปเฝ้า ฟังธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนั้น เพราะว่าพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ปรากฏแล้วก็หมดไป เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ท่านผู้ฟังสามารถตรวจสอบได้ว่า ปัญญาของท่านนั้นสมควรแก่การที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้วหรือยัง ถึงแม้ว่าท่านจะไปสู่สถานที่สงบ เงียบสงัดแล้วก็เข้าใจว่าปัญญารู้แจ้งในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมชัดเหลือเกิน แต่เวลาที่ท่านมีชีวิตปกติประจำวัน ซึ่งทุกๆ ขณะก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น สติระลึกจริง แต่ว่าปัญญาไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ขอให้ท่านทราบว่า ท่านยังไม่พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

เพราะฉะนั้น ชีวิตของฆราวาสจะเจริญอบรมอย่างไร ปัญญาจึงจะสมบูรณ์จนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยสาวกได้ หรือว่าชีวิตของบรรพชิตก็เช่นเดียวกัน เวลาที่กำลังสงบ มีความคิดความเข้าใจว่า รู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม แต่เวลาอื่น เช่น เวลาบิณฑบาต เวลาแสดงธรรม เวลากระทำกิจของสงฆ์ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รู้ชัดในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเสมอเหมือนกันหมดหรือไม่ ถ้าในขณะนั้นไม่เป็นอย่างนั้น ก็ยังไม่พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า

เพราะฉะนั้น ควรเจริญสติปัฏฐานกันอย่างไร และในขณะไหน จึงจะเป็นการ อบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดได้จริงๆ พร้อมกับสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะให้ปัญญารู้ชัดในความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงได้

. ผมเรียนปัฏฐาน ท่านกล่าวถึงฌาน ฌานนี้มีองค์ ๕ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา องค์ ๕ นี้เป็นได้ทั้งกุศล เป็นได้ทั้งอกุศล แต่ที่เข้าใจกันโดยมากคิดว่าฌานต้องเป็นกุศล และได้ทราบมาอีกอย่างหนึ่ง คือ ท่านอ้างถึงโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลนี้ สงเคราะห์เข้าในปฐมฌาน ผมยังไม่เข้าใจ

สุ. ท่านผู้ฟังที่ยังไม่มั่นใจในผลของการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านอาจจะได้พบข้อความบางตอนที่แสดงว่า โสตาปัตติมรรคสงเคราะห์เป็นปฐมฌาน หรือประกอบด้วยองค์ของปฐมฌาน ก็อาจจะทำให้ท่านที่หวั่นไหวอยู่แล้วในเรื่องการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มีความโน้มเอียงไปว่า เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตนั้นสงเคราะห์เป็นปฐมฌาน เพราะประกอบด้วยองค์ของปฐมฌาน ก็น่าที่จะไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด เมื่อเกิดสมาธิ มีความสงบมากแล้ว จึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยเจ้าได้

แต่ขอให้ท่านทราบว่า เรื่องของการที่จะละอนุสัยกิเลสนั้น เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ชัด พร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็วเป็นปกติในขณะนี้เอง แต่ว่าความรู้ชัดที่เป็นวิปัสสนาญาณนั้น ไม่ใช่ความรู้ที่พึ่งเริ่มระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมบ้างบางนาม หรือว่าไม่ใช่ขณะที่สติพึ่งเริ่มระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมบ้างบางรูป ยังไม่ทั่วถึง ยังไม่ชัดเจน แต่เวลาที่เกิดสงบขึ้นนิดหนึ่ง ท่านก็มีความรู้สึกว่า ขณะนั้นท่านรู้ชัดแล้วในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ความจริงแล้ว ยังไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ เพราะเหตุว่าการปรากฏความรู้ชัดของวิปัสสนาญาณนั้น ต้องโดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่โดยการตระเตรียมว่า จ้องให้ ดีๆ และความรู้ชัดในลักษณะของนามที่กำลังจดจ้องอยู่นั้นจะเกิด หรือว่าความรู้ชัดในลักษณะของรูปที่กำลังจดจ้องอยู่นั้นจะเกิด โดยลักษณะนั้นเป็นการทำ เป็นตัวตน

และขณะที่ปัญญาที่สมบูรณ์ ที่เป็นวิปัสสนาญาณจริงๆ รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะความมั่นคงของสติที่ไม่หวั่นไหว เพราะชินกับการพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งในขณะนั้น ผู้ที่ประกอบพร้อมด้วยวิปัสสนาญาณนั้นจะรู้ชัดว่า แม้นามรูปปริจเฉทญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณแรก ขณะนั้นก็ประกอบด้วยสมาธิ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสมาธิเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้น นั่นเพราะเหตุไร

เพราะเหตุว่า ในขณะนั้นปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมทีละหนึ่ง ลักษณะ ในลักษณะของรูปธรรมทีละหนึ่งลักษณะ ซึ่งการปรากฏโดยสภาพจริงๆ ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ผู้ที่มี วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นย่อมรู้ว่า แม้แต่วิปัสสนาญาณแรก คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ก็ประกอบพร้อมด้วยสมาธิ นี่เป็นเพียงวิปัสสนาญาณแรก ซึ่งไม่เคยเกิดในสังสารวัฏฏ์ ที่จะไปเจาะจงเลือก รู้นามนั้น รูปนั้น จดจ้องรอคอยอยู่ นั่นไม่ใช่ลักษณะของนามรูปปริจเฉทญาณ และเป็นแต่เพียงตรุณวิปัสสนา

แต่ความรู้ชัดที่สามารถรู้ในลักษณะของรูปธรรมทีละลักษณะ ก็ต้องเป็นรูปที่ละเอียด นามธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งสภาพของนามธรรมนั้นก็เป็นสภาพที่ละเอียดสุขุมยิ่งกว่ารูปธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นที่จะไม่ประกอบด้วยสมาธิ ไม่มี

นี่เป็นแต่เพียงวิปัสสนาญาณแรก เพราะฉะนั้น เมื่อเจริญอบรมถึงความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณจริงๆ ขั้นต่อไป คือ ปัจจยปริคหญาณ ความรู้ชัดในขณะนั้น ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะว่าสามารถจะรู้ถึงปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งละเอียดด้วยในขณะนั้น ก็ต้องประกอบด้วยสัมมาสมาธิเป็นของที่แน่นอน และเมื่อบรรลุญาณสูงขึ้น ละเอียดขึ้น เป็นพลววิปัสสนา เป็นมหาวิปัสสนา จนกระทั่งถึง มรรคจิต ซึ่งการรู้แจ้งประจักษ์ในสภาพของนิพพานที่ละเอียดยิ่งกว่านามธรรมและรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่สุขุมนั้น ที่จะไม่ประกอบด้วยสัมมาสมาธินั้น เป็นไม่มี

สำหรับอัปปนาอารมณ์ ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินได้ฟังว่า เป็นเรื่องของการเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตสงบ เป็นสมาธิที่มั่นคง ประกอบพร้อมด้วยองค์ของฌาน คือ ประกอบด้วย วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก เวทนา คือ สุขเวทนาเจตสิก และเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งในขณะนั้น จิตแนบแน่นมากในอารมณ์ที่เป็นนิมิตถึงขั้นปฐมฌานเป็นอัปปนาสมาธิ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอบรมวิปัสสนาภาวนาจนกระทั่งมรรคจิตเกิด มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ต้องประกอบพร้อมด้วยสมาธิ และพร้อมด้วยมรรคทั้ง ๘ องค์ ด้วยกำลังของวิปัสสนา

ถ้าท่านผู้ฟังต้องการผล คือ ปัญญา จนสมบูรณ์ถึงขั้นที่เป็นพระอริยสาวก จริงๆ ต้องอบรมเจริญปัญญา เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะปรากฏโดยสภาพความเป็นอนัตตา ซึ่งก็เพราะความสมบูรณ์ของเหตุ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานและปัญญาจนรู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม และละคลายการไม่รู้มากขึ้น

สำหรับคำถามของท่านผู้ฟังเรื่องของฌาน ที่เป็นได้ทั้งอกุศลฌานและกุศลฌานนั้น มีข้อความในพระไตรปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ โคปกโมคคัลลานสูตร ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า

วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ก็เวลานี้ พระอานนท์ อยู่ที่ไหน

ท่านพระอานนท์กล่าวตอบว่า

ดูกร พราหมณ์ เวลานี้อาตมาอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน

วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า

ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ก็พระวิหารเวฬุวันนั้น เป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่หรือ

ท่านพระอานนท์ กล่าวว่า

ดูกร พราหมณ์ แน่นอน พระวิหารเวฬุวันจะเป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่ อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่ ก็ด้วยมีผู้รักษาคุ้มครองเช่นท่าน

วัสสการพราหมณ์ กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ความจริง พระวิหารเวฬุวันจะเป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่ ก็ด้วยมีพระคุณเจ้าทั้งหลายเพ่งฌาน และมีฌานเป็นปกติต่างหาก พระคุณเจ้าทั้งหลายทั้งเพ่งฌาน และมีฌานเป็นปกติทีเดียว

ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตการสนทนาของท่านพระอานนท์ กับวัสสการพราหมณ์จะเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นประโยชน์ของการพึ่งพากันทั้งทางโลกและทางธรรม เช่น ท่านพระอานนท์กล่าวว่า พระวิหารเวฬุวันจะเป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่อีกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่ ก็ด้วยมีผู้คุ้มครองเช่นท่าน คือ เช่น วัสสการพราหมณ์ ถ้าบ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย พระวิหารเวฬุวันยังจะเป็นที่สงบได้ไหม ก็ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยทางโลก

และทางโลกก็ต้องอาศัยทางธรรมโดยที่วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า ความจริงพระวิหารเวฬุวันจะเป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่ ก็ด้วยมีพระคุณเจ้าทั้งหลายเพ่งฌาน และมีฌานเป็นปกติต่างหาก

ถึงแม้ว่าเป็นสวนที่น่ารื่นรมย์ แต่ผู้ที่อยู่ในสวนนั้นไม่ใช่ผู้สงบ ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสมณธรรม หรือทรงคุณของสมณะ แม้ว่าสถานที่นั้นจะรื่นรมย์ ก็เอะอะเอิกเกริกได้ แต่ด้วยเหตุที่ว่าพระคุณเจ้าทั้งหลายเพ่งฌาน และมีฌานเป็นปกติต่างหาก ตามคำของวัสสการพราหมณ์ แต่วัสสการพราหมณ์มีความเข้าใจเรื่องฌานในความหมายที่เป็นฝ่ายกุศลฌานเท่านั้น โดยท่านได้เล่าให้ท่านพระอานนท์ฟังว่า

ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ กระผมขอเล่าถวาย สมัยหนึ่ง พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล กระผมเข้าไปเฝ้าพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นยังที่ประทับ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ณ ที่นั้นแล พระองค์ได้ตรัสฌานคาถาโดยเอนกปริยาย พระองค์ทั้งเป็นผู้เพ่งฌาน และเป็นผู้มีฌานเป็นปกติ แต่ก็ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวง

แสดงว่า ถ้าท่านผู้ใดกล่าวพยัญชนะอย่างนี้ผู้นั้นเข้าใจอรรถของฌานเพียงกุศลฌานเท่านั้น

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

ดูกร พราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวงก็มิใช่ ไม่ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวงก็มิใช่ พระองค์ไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นไร

ดูกร พราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีใจรัญจวนด้วยกามราคะ ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดกามราคะอันเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะกามราคะ ทำกามราคะไว้ในภายใน

สำหรับองค์ของฌาน ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา องค์ของฌานโดยความเป็นปัจจัยนั้นได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา ซึ่งเวทนาอาจจะเป็นโสมนัสเวทนาก็ได้ โทมนัสเวทนาก็ได้ อุเบกขาเวทนาก็ได้

ขณะใดที่ใจเร่าร้อน เพ่ง จดจ่อ ปักใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนั้นจะไม่ปราศจากวิตกถึงสิ่งนั้น วิจารถึงสิ่งนั้น และแล้วแต่ว่าเวทนานั้นจะระลึกถึงสิ่งนั้นด้วยโสมนัส หรือว่าด้วยโทมนัส หรือว่าด้วยอุเบกขา เป็นองค์ของฌานจริงๆ ซึ่งท่านผู้ฟังสามารถตรวจสอบสภาพธรรมกับจิตใจของท่านได้ โดยเฉพาะที่ท่านพระอานนท์ได้กล่าวถึงนิวรณธรรมเป็นลำดับไป เริ่มด้วย

ดูกร พราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีใจรัญจวนด้วยกามราคะ ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดกามราคะอันเกิดขึ้นแล้วตามความป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะกามราคะ ทำกามราคะไว้ในภายใน

ที่ว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้มีใจรัญจวนด้วยกามราคะ กามราคะนี้รวมหมด ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เวลาที่ความปรารถนารูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดีเกิดขึ้น ถูกกามราคะครอบงำอยู่ ไม่ใช่ว่าห้าม กั้นไว้ไม่ให้เกิดแต่เมื่อเกิดแล้ว ถูกครอบงำด้วยกามราคะ และไม่รู้จักสลัดกามราคะอันเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง นี่สำหรับผู้ที่ไม่รู้วิธีที่จะสลัด หรือละกามราคะ

ห้ามกามราคะไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะยังมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง เพราะมีเหตุปัจจัย แต่ถ้าไม่รู้จักสลัดกามราคะอันเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะกามราคะ ทำกามราคะไว้ในภายใน

เปิด  265
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565