แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 269
เรื่องของการที่จะละความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้หมดสิ้นจริงๆ เป็นสมุจเฉทนั้น จะต้องละโดยลำดับ คือ ขั้นแรกจะต้องละด้วยความรู้สภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายที่เกิดปรากฏว่า สิ่งนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ท่านจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียด อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ จนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นๆ พร้อมสติที่กำลังระลึกรู้ในสภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ
ถ . การเจริญสติ กับการดูภาพยนต์ที่จะให้สนุก ผมคิดว่าถ้าจะดูภาพยนต์ให้สนุกแล้ว สติก็ไม่เกิด เพราะว่าดูสนุก โลภะเข้า สติเข้าไม่ได้
สุ . จะเป็นตัวตนที่คิดอย่างโน้น คิดอย่างนี้ หรือแม้ว่ากำลังสนุกเพลิดเพลินสติที่ได้อบรมมาแล้ว ก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่า แม้ขณะนั้นความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน ความพอใจนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ยังเพลิดเพลินพอใจอยู่หรือเปล่าเดี๋ยวนี้ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นความลึกซึ้งของอารมณ์ที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
ขณะที่เพลิดเพลินยินดี ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ไม่ว่าลักษณะของนามธรรมประเภทใดจะเกิดขึ้น สติจะต้องระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นตามปกติ ตามความเป็นจริง ต้องเจริญอย่างละเอียดทีเดียวจึงจะละการที่เคยยึดถือว่าสภาพนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านกล่าวว่า ท่านไปในสถานที่หนึ่งและเห็นอนิฏฐารมณ์อย่างแรงมาก ท่านก็เบือนหน้าหนี ท่านมีความรู้สึกว่า ท่านไม่ควรจะทำอย่างนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ท่านไม่ควรที่จะเบือนหน้าหนี แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ที่เบือนหน้าหนีนั้น สติก็จะต้องระลึกรู้ในนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ใครจะเบือนหน้าหนี หรือไม่เบือนหน้าหนี ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลที่ทำให้เกิดการกระทำเช่นนั้นขึ้น ซึ่งแต่ละบุคคลสะสมมาไม่เหมือนกัน
ถ้าท่านได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน มีความเข้าใจขึ้น เริ่มเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ท่านละเว้นสิ่งที่ไม่ควร แต่ไม่ใช่เพราะฝืน หรือว่าเข้าใจผิด แต่จิตใจของท่านจะน้อมไปในทางกุศลยิ่งขึ้น และจะเว้น จะละสิ่งที่ท่านเห็นว่าไม่ควรยิ่งขึ้น
สำหรับเรื่องของกำเนิดดิรัจฉาน ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานพระองค์ได้ทรงพยากรณ์บุคคลที่สิ้นชีวิตแล้วว่าปฏิสนธิโดยกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน มีข้อความใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ สุภสูตร ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จูฬกัมมวิภังคสูตร และใน อรรถกถา ปปัญจสูทนี ภาค ๓ ซึ่งเป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า โตเทยยพราหมณ์ ผู้เป็นบิดาของ สุภมานพนั้น เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ก็เกิดเป็นสุนัขในบ้านของตนนั่นเอง
ข้อความใน อรรถกถา ปปัญจสูทนี ภาค ๓ มีว่า
มีชื่อว่าสุภ คือชื่อของมานพนั้น เพราะมีลักษณะงดงาม
คำว่า มานพ เรียกกันในวัยหนุ่ม
สุภมานพ เป็นบุตรของโตเทยยพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล
โตเทยย มีความหมายคือ เป็นอธิบดี คือ เป็นใหญ่อยู่ในหมู่บ้านนั้น โตเทยยพราหมณ์มีทรัพย์มากถึง ๘๗ โกฏิ แต่ก็เป็นผู้ที่บรมตระหนี่
ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปรมมจฺฉรี ปรม คือ บรม มจฺฉรี คือ ตระหนี่ เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ถึงแม้จะมีทรัพย์ถึง ๘๗ โกฏิ แต่ก็บรมตระหนี่
เขามีความคิดว่า เมื่อให้อะไรใครแล้ว ที่ชื่อว่าโภคทรัพย์จะมีนั้น ไม่มี หมายความว่า เมื่อให้โภคทรัพย์นั้น ก็ย่อมจะต้องหมดไป เขาเห็นว่า บัณฑิตผู้ครองเรือนย่อมเห็นสิ่งเหล่านี้ จึงจะเป็นเศรษฐีได้ คือ เห็นความสิ้นไปแห่งยาหยอดตา
เพราะเหตุว่า ยาหยอดตานั้นจะต้องใช้ทีละน้อย ทีละหยด ทีละหยาด และใช้อย่างระมัดระวัง แต่ทั้งๆ ที่เป็นทีละหยด ทีละหยาดนั่นเอง เมื่อใช้ไป ใช้ไป ก็ย่อมจะถึงความหมดสิ้นไปได้
เพราะฉะนั้น คาถาของเศรษฐี คือ ผู้ที่เห็นความสิ้นไปแห่งยาหยอดตา เห็นการสั่งสมพอกพูนขึ้นของจอมปลวก และในการประมวลน้ำผึ้งของตัวผึ้ง อยู่ครองเรือน สำหรับโตเทยยพราหมณ์นั้น แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ไกล ก็ไม่เคยถวายอาหารแม้ทัพพีเดียว
ถ้าท่านผู้ฟังได้พบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คงจะมีจิตศรัทธา ใคร่ที่จะถวายภัตตาหาร แต่ถ้าเกิดเป็นบุคคลในครั้งโน้น ที่ไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจธรรม แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะประทับอยู่ไม่ไกล โตเทยยพราหมณ์ก็ไม่เคยถวายอาหารแม้เพียงทัพพีเดียว
เพราะความโลภในทรัพย์ เมื่อตายไปแล้ว ก็เกิดเป็นสุนัขข์ในบ้านนั้นนั่นเอง คือ ในบ้านของตน สุภมานพรักสุนัขนั้นมาก ให้สุนัขนั้นกินอาหารที่เขาจัดสำหรับตน แล้วก็ให้นอนด้วยในที่นอนของตน
ในวันหนึ่ง เวลาย่ำรุ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นสุนัขนั้นและทรงพระดำริว่า วันนี้เมื่อเราไปยังเรือนของสุภมานพ สุนัขนั้นเห็นเราแล้วก็จะเห่า ต่อจากนั้นเราก็จะพูดสักคำหนึ่ง สุนัขนั้นก็จะรู้ว่า พระสมณะทรงรู้จักเราแล้วจักไปนอนที่เตาไฟ แต่นั้นสุภมานพก็จะสนทนากับเรา สุภมานพนั้นฟังธรรมแล้ว ตั้งอยู่ในสรณะ ส่วนสุนัขจักตายไปเกิดในนรก
นี่คือผู้ที่ทรงรู้แจ้งการสะสมของจิต หรืออัธยาศัยของสัตว์โลก รู้ว่าสะสมกรรมใด และกรรมใดถึงพร้อมด้วยกาลที่จะให้ผลเช่นไรเกิดขึ้นต่อไป แต่เพื่อประโยชน์ของสุภมานพ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าสุภมานพจะตั้งอยู่ในสรณะอย่างนี้แล้ว จึงได้เสด็จไปยังบ้านของสุภมานพ
เมื่อสุนัขเห็นพระผู้มีพระภาคแล้วก็เห่า แล้วเข้าไปใกล้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับสุนัขนั้นว่า โตเทยย แล้วตรัสพยากรณ์ว่า สุนัขนั้นจักไปเกิดในนรก เมื่อสุนัขได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็เกิดความเดือดร้อนใจว่า พระโคดมทรงจำเราได้ ก็ม้วนคอไปนอนที่เตาไฟ คนในบ้านไม่สามารถยกไปนอนบนที่นอนได้ พอสุภมานพกลับมาเห็นดังนั้น ก็ถามว่า ใครเอาสุนัขลงจากที่นอน คนในบ้านก็ตอบว่า ไม่มีใครเอาลงไป แล้วก็เล่าเรื่องราวให้ฟัง สุภมานพฟังแล้วก็โกรธ กล่าวว่า บิดาเราบังเกิดแล้วในพรหมโลกโน้น สุนัขที่ชื่อว่า โตเทยยะนั้นไม่มีหรอก แต่พระโคดมทรงทำให้บิดาเราเป็นสุนัขไปเสียแล้ว พระโคดมนั้นตรัสง่ายๆ เขาต้องการจะข่มพระผู้มีพระภาคด้วยมุสาวาท เขาจึงได้ไปยังพระวิหาร ทูลถามเรื่องราวนั้น
น่าโกรธไหมที่จะพยากรณ์ว่า ผู้เป็นบิดาเกิดเป็นสุนัขในบ้านนั่นเอง และด้วยความเชื่อที่ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาว่ากรรมใดจะให้ผลอย่างไร ก็เข้าใจว่า โตเทยยพราหมณ์ผู้เป็นบิดาต้องเกิดในพรหมโลกแน่นอน ไม่ใช่เกิดเป็นสุนัขอย่างนี้
เมื่อสุภมานพได้ไปยังพระวิหารทูลถามเรื่องราวนั้น แม้พระผู้มีพระภาค เพื่อจะไม่ให้ข้อความคลาดเคลื่อนจากที่ตรัสไว้ จึงตรัสถามเขาว่า ทรัพย์ที่บิดาของท่านยังไม่ได้บอกมีหรือไม่
สุภมานพกราบทูลว่า
มีสุวรรณมาลา คือดอกไม้ทอง ราคาแสนหนึ่ง สุวรรณบาทุกา คือรองเท้าทอง ราคาแสนหนึ่ง ถาดทองราคาแสนหนึ่ง และกหาปนะราคาแสนหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ไปเถิด ให้สุนัขนั้นบริโภคข้าวปายาส ให้นอนบนที่นอน พอหลับได้สักหน่อย แล้วค่อยถาม สุนัขจะบอกทุกสิ่งแก่ท่าน ท่านกำหนดสิ่งนั้นไว้ แล้วพึงทราบว่า สุนัขนั้นเป็นบิดาของท่าน
วิธีที่จะให้สุภมานพได้ประจักษ์จริงๆ ว่า สุนัขนั้นเป็นโตเทยยพราหมณ์ ซึ่งเป็นบิดา คือ ให้ทราบว่าทรัพย์ที่บิดาไม่ได้บอกไว้นั้นอยู่ที่ใด
ซึ่งฝ่ายมานพ คือ สุภมานพนั้นก็ดีใจด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ดีใจว่า ถ้าเป็นความจริงอย่างพระผู้มีพระภาคตรัส ตนเองก็จะได้ทรัพย์ประการ ๑ ถ้าไม่เป็นจริงก็จะได้ข่มพระผู้มีพระภาคด้วยมุสาวาท เพราะฉะนั้น สุภมานพก็ได้กระทำตามที่ พระผู้มีพระภาคตรัส
ทางฝ่ายสุนัขส่งเสียงดัง หุ หุ แล้วเดินไปยังที่ฝังทรัพย์ไว้ ใช้เท้าคุ้ยดินให้สัญญา ทางฝ่ายสุภมานพก็ถือเอาทรัพย์นั้น แล้วก็เกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคว่า ทรงเป็นพระสัพพัญญูแน่แท้ แล้วก็ได้แต่งปัญหาทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องกรรม ในจูฬกัมมวิภังคสูตร ๑๔ ข้อ
เกิดความเลื่อมใสเพราะเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงสามารถที่จะรู้ในสภาพธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งว่า บุคคลใดจุติจากโลกนี้แล้วปฏิสนธิในที่ใด มีใครมีความสามารถอย่างนี้บ้างไหม อาจจะมีคนที่เดา แต่ไม่ใช่เป็นสัพพัญญูที่จะรู้ถึงกรรมของบุคคลนั้นโดยละเอียดตามความเป็นจริงว่า กรรมใดสมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุปัจจัยและกาละที่จะให้ผลปฏิสนธิ แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงเดา หรือว่าคาดคะเนอย่างบุคคลอื่น แต่ว่าทรงรู้ชัดถึงสภาพธรรมที่บุคคลนั้นได้สะสมมาแม้ในอดีตอนันตชาติ และทรงทราบว่า กรรมใดทำให้บุคคลนั้นปฏิสนธิหลังจากที่จุติในโลกนี้แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อสุภมาณพเห็นพระสัพพัญญูของพระผู้มีพระภาคอย่างนี้จึงได้เกิดความเลื่อมใส และจึงได้ทูลถามปัญหาเรื่องกรรม ๑๔ ข้อ
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จูฬกัมมวิภังคสูตร มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถึ สมัยนั้นแล สุภมาณพ โตเทยยบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
สุภมาณพ โตเทยยบุตร พอนั่งเรียบร้อย ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลว และความประณีต คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏมี อายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคน้อย มีโภคมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลว และความประณีต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลว ให้ประณีตได้
ต่อจากนั้น สุภมาณพได้กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม จำแนกเนื้อความโดยละเอียด ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกรรมต่างๆ ที่เป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิ เป็นทุคติ และให้เกิดในมนุษย์ภูมิ เป็นสุคติภูมิ ซึ่งวิจิตรต่างกัน ตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังสนใจก็จะศึกษาหาความละเอียดได้ ใน จูฬกัมมวิภังคสูตร
ในปัจจุบันชาตินี้ มีหลายท่านที่เห็นเพียงผลที่เกิดกับท่าน โดยไม่ทราบว่าผลที่ท่านได้รับอยู่นี้ ในปัจจุบันชาตินี้ มาจากเหตุอะไร
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านถูกหลอกลวง และท่านก็เล่าวิธีที่คนนั้นหลอกลวงท่าน นี่เป็นผลในปัจจุบันชาติซึ่งเกิดกับท่าน แต่ท่านไม่เห็นเหตุในอดีตเลยว่าในอดีตท่านก็ได้หลอกลวงทำอย่างนี้มาแล้ว เพราะฉะนั้น ปัจจุบันชาตินี้ ท่านก็ได้รับผล คือ การหลอกลวงจากบุคคลอื่น
แม้บุคคลอื่นยังกระทำการหลอกลวงอย่างนี้ได้ในปัจจุบันชาติ ในอดีตชาติที่ผ่านมาแล้ว ท่านจะไม่เคยกระทำกรรมอย่างนี้เช่นเดียวกันบ้างหรือ เขาหลอกอย่างไรในชาตินี้ จะไม่เคยกระทำเหมือนกันบ้างหรือ สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส ที่ยังไม่ได้ขัดเกลา และก็มีกรรมที่ได้กระทำแล้ว จึงทำให้ปรากฏผลในปัจจุบันชาตินี้ คือ การถูกหลอกลวงจากบุคคลอื่น
ส่วนผู้ที่จะทำเหตุในปัจจุบัน คือ การหลอกลวงในปัจจุบันชาติ ก็ไม่ทราบผล ว่า ในอนาคตก็จะต้องถูกหลอกลวงจากบุคคลอื่นเหมือนกันนั่นเอง เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่มีเหตุปัจจัยที่ได้กระทำแล้วทั้งสิ้นในอดีต ถ้าท่านผู้ใดจะได้รับกรรมอย่างไร ขอให้ระลึกถึงว่า ในอดีตซึ่งเป็นเหตุ ท่านก็คงจะได้กระทำกรรมเช่นนั้นมาแล้ว อย่างนั้นมาแล้ว แม้ในเรื่องการหลอกลวง หรือในการทุจริตอื่นๆ ก็ตาม
สำหรับพระสัพพัญญุตญาณ ที่พระผู้มีพระภาคทรงสามารถที่จะพยากรณ์ถึงกรรมของบุคคลนั้น ที่ว่า เมื่อจุติจากภพนั้นแล้วจะไปสู่กำเนิดใด ก็เป็นเพราะเหตุว่าพระองค์ได้ทรงสะสมพระบารมีที่เพรียบพร้อมด้วยพระญาณต่างๆ ไม่ใช่ว่าทรงเดาหรือทรงคาดคะเน
แต่เวลาที่ญาติพี่น้องมิตรสหายซึ่งเป็นที่รักหรือผู้มีคุณสิ้นชีวิตลง บางท่านอาจจะอยากทราบว่าไปสู่กำเนิดใด สู่ภูมิใด ท่านก็ไปหาบางท่านที่ท่านคิดว่าจะพยากรณ์ได้ แต่ว่าจะถูกหรือจะผิด เพราะผู้นั้นไม่ใช่เป็นผู้ที่มีพระสัพพัญญุตญาณ ไม่สามารถที่จะรู้ความละเอียดของกรรมของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมาที่วิจิตรต่างๆ กัน
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โปสาลมาณวก ปัญหานิทเทส มีข้อความว่า
ท่านโปสาละทูลถามว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ไม่ทรงมีความหวั่นไหว ทรงตัดความสงสัยเสีย แล้ว ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ย่อมทรงแสดงอดีต ข้าพระองค์มีความต้องการ ด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
คำว่า โย ในอุทเทสว่า โย อตีตํ อาทิสติ ดังนี้
ความว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด เป็นพระสยัมภู ไม่มีอาจารย์ ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งสัจจะทั้งหลายเอง ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์ไม่เคยได้ยินมาในกาลก่อน ทรงบรรลุซึ่งความเป็นสัพพัญญูในธรรมเหล่านั้น แล้วทรงบรรลุซึ่งความเป็นผู้ชำนาญในพลธรรมทั้งหลาย
คำว่า ย่อมทรงแสดงอดีต ความว่า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงแม้อดีต ย่อมทรงแสดงแม้อนาคต ย่อมทรงแสดงแม้ปัจจุบันของพระองค์เอง และของผู้อื่น
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงอดีตของพระองค์อย่างไร พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงชาติ ๑ บ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง อันเป็นอดีตของพระองค์เองว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้น อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้น อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ พระองค์ทรงแสดงชาติก่อนเป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงแสดงอดีตของพระองค์เองอย่างนี้
ข้อความต่อไปมีว่า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงอดีตของผู้อื่นอย่างไร ซึ่งก็ทรงแสดงโดยนัยเดียวกับที่ทรงแสดงอดีตของพระองค์