แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 282

สำหรับข้อความที่ว่า ถ้าบุคคลผู้ที่รับเป็นผู้ทุศีล เปรตจะไม่ได้รับอุทิศส่วนกุศล

ขุททกนิกาย เปตวัตถุ จูฬเสฏฐีเปตวัตถุ มีข้อความว่า

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ตรัสถามจูฬเศรษฐีเปรตว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นบรรพชิต เปลือยกาย ซูบผอม เพราะเหตุแห่งกรรมอะไร ท่านจะไปที่ไหนในราตรีเช่นนี้ ขอท่านจงบอกการที่ท่านจะไปแก่เราเถิด เราสามารถจะให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแก่ท่าน ด้วยความอุตสาหะทั้งปวง

เป็นบุคคลที่เห็นเปรตและไม่กลัว ก็จะได้ทราบถึงบุญกรรมของเปรตนั้น และกระทำกิจที่ควรกระทำแก่เปรตด้วย

จูฬเศรษฐีเปรตทูลว่า

เมื่อก่อน พระนครพาราณสีมีกิตติคุณเลื่องลือไปไกล ข้าพระองค์เป็นคฤหบดีผู้มั่งคั่งอยู่ในพระนครนั้น แต่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ไม่เคยให้สิ่งของแก่ใครๆ มีใจข้องอยู่ในอามิส ได้ถึงวิสัยแห่งพระยายมเพราะความเป็นผู้ทุศีล ข้าพระองค์ลำบากแล้วเพราะความหิวเสียดแทง เพราะบาปกรรมเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ปรารถนาอามิสจึงได้มาหาหมู่ญาติ มนุษย์แม้เหล่าอื่น มีปกติไม่ให้ทาน แล้วไม่เชื่อว่าผลแห่งทานมีอยู่ในโลกหน้า มนุษย์แม้เหล่านั้น จักเกิดเป็นเปรตเสวยทุกข์ใหญ่เหมือนข้าพระองค์ ฉะนั้น ธิดาของข้าพระองค์บ่นอยู่เนืองๆ ว่า เราจะให้ทานอุทิศให้มารดา บิดา ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย พวกพราหมณ์กำลังบริโภคทานอันธิดาของข้าพเจ้าตกแต่งแล้ว ข้าพระองค์จักไปยังเมืองอันธกาวินทนคร เพื่อบริโภคอาหาร

พระราชาจึงตรัสสั่งเขาว่า

ถ้าท่านไปได้เสวยผลทานนั้น พึงรีบกลับมาบอกเหตุที่มีจริงแก่เรา เราฟังคำอันมีเหตุผลควรเชื่อถือได้แล้ว จักทำการบูชาบ้าง

จูฬเศรษฐีเปรตทูลรับพระดำรัส แล้วได้ไปยังอันธกาวินทนครนั้น แต่ไม่ได้รับผลแห่งทานนั้น เพราะพราหมณ์ทั้งหลายที่บริโภคภัตรเป็นผู้ไม่มีศีล ไม่สมควรแก่ทักษิณา ภายหลังจูฬเศรษฐีเปรตกลับมาสู่พระนครราชคฤห์อีก ได้ใปแสดงกายให้ปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ชน พระราชาทอดพระเนตรเห็นเปรตนั้นกลับมาอีก จึงตรัสถามว่า

เราจักให้ทานอะไร ถ้าเหตุที่จะให้ท่านอิ่มหนำตลอดกาลมีอยู่ไซร้ ขอท่านจงบอกเหตุนั้นแก่เรา

จูฬเศรษฐีเปรตทูลว่า

ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์จงทรงอังคาสพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ด้วยข้าวและน้ำ และจงทรงถวายจีวร แล้วทรงอุทิศกุศลนั้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพระองค์ด้วยการทรงบำเพ็ญกิจอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึงอิ่มหนำตลอดกาลนาน

ลำดับนั้นพระราชาเสด็จออกจากปราสาททันที ทรงถวายทานอันประณีตยิ่งแก่สงฆ์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ แล้วทรงกราบทูลเรื่องราวแด่พระตถาคต ทรงอุทิศส่วนกุศลให้จูฬเศรษฐีเปรต

จูฬเศรษฐีเปรตนั้นอันพระราชาทรงบูชาแล้ว เป็นผู้งดงามยิ่งนัก ได้มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าชน แล้วกราบทูลว่า

ข้าพระองค์เป็นเทวดา มีฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว มนุษย์ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์เสมอด้วยข้าพระองค์ไม่มี ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูอานุภาพอันหาประมาณมิได้ของข้าพระองค์นี้เถิด ซึ่งเกิดจากผลที่พระองค์ทรงถวายทานอันจะนับมิได้แก่สงฆ์ อุทิศส่วนพระราชกุศลให้แก่ข้าพระองค์ ด้วยทรงอนุเคราะห์

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเทพแห่งมนุษย์ ข้าพระองค์เป็นผู้อันพระองค์ยังพระอริยสงฆ์ให้อิ่มหนำด้วยไทยธรรม มีข้าว และน้ำ ผ้าผ่อน เป็นต้น เป็นอันมาก จึงได้อิ่มหนำแล้วเนืองๆ บัดนี้ข้าพระองค์มีความสุขแล้ว ขอทูลลาพระองค์ไป

จบจูฬเศรษฐีเปตวัตถุที่ ๘

ในเรื่องของผู้ที่ทุศีล เปรตจะไม่ได้รับอุทิศส่วนกุศล ก็น่าจะสงสัยเหมือนกันว่า ถ้าในบางแห่ง บางสถานที่ ไม่มีพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลจะทำอย่างไร เพราะว่าในครั้งนั้นดูเหมือนเปรตมาปรากฏบ่อยๆ เป็นกาลสมบัติ เป็นกาลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยผู้ที่ทรงศีล สมควรแก่ทักษิณา แล้วก็อุทิศส่วนกุศลไปให้ได้ แต่ว่าในบางแห่ง ในบางประเทศในบางถิ่นที่ไม่มีพระภิกษุจะเกื้อกูลแก่ญาติผู้ล่วงลับ อย่างไรจะอุทิศส่วนกุศลให้ได้ หรือไม่ได้

ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

ถึงแม้ว่าผู้ทรงศีลนั้นมิใช่ภิกษุ ก็สามารถที่จะให้วัตถุเป็นทาน แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เปรตก็ได้

ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ขัลลาติยเปติวัตถุ มีข้อความว่า

หัวหน้าพ่อค้าถามหญิงเปรตตนหนึ่งว่า

ท่านเป็นใครหนอ อยู่ภายในวิมานนี้ ไม่ออกจากวิมานเลย ดูกร นางผู้เจริญเชิญท่านออกมาเถิด ข้าพเจ้าจะขอดูท่านผู้มีฤทธิ์

นางเวมานิกเปรตฟังคำถามดังนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า

ข้าพเจ้าเป็นหญิงเปลือยกาย มีแต่ผมปิดบังไว้ กระดากอายที่จะออกไปภายนอก ข้าพเจ้าได้ทำบุญไว้น้อยนัก

พ่อค้ากล่าวว่า

ดูกร นางผู้มีรูปงาม เอาเถอะข้าพเจ้าจะให้ผ้าเนื้อดีแก่ท่าน เชิญท่านนุ่งผ้านี้แล้วจงออกมาภายนอก เชิญออกมาภายนอกวิมานเถิด ข้าพเจ้าจะขอดูท่านผู้มีฤทธิ์มาก

นางเวมานิกเปรตตอบว่า

ผ้านั้นถึงท่านจะให้ที่มือของข้าพเจ้าเองก็ไม่สำเร็จแก่ข้าพเจ้า ถ้าในหมู่ชนนี้มีอุบาสกผู้มีศรัทธาเป็นพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงให้อุบาสกนั้นนุ่งห่มผ้าที่ท่านจะให้ข้าพเจ้า แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพเจ้า เมื่อท่านทำอย่างนั้น ข้าพเจ้าจึงจะได้นุ่งห่มผ้านี้ตามปรารถนา ถึงซึ่งความสุข

พ่อค้าทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงให้อุบาสกนั้นอาบน้ำลูบไล้ แล้วให้นุ่งห่มผ้าแล้วอุทิศส่วนกุศลให้นางเวมานิกเปรตนั้น

พระสังคีติกาจารย์เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถาความว่า

ก็พ่อค้าเหล่านั้น ยังอุบาสกนั้นให้อาบน้ำ ลูบไล้ด้วยของหอม แล้วให้นุ่งห่มผ้าแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้นางเวมานิกเปรตนั้น ในทันตาเห็นนั้นเอง วิบากย่อมบังเกิดขึ้นแก่นางเวมานิกเปรตนั้น โภชนะ เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม ย่อมบังเกิดขึ้น นี่เป็นผลแห่งทักษิณา ลำดับนั้น นางมีสรีระบริสุทธิ์ นุ่งห่มผ้าสะอาด งามดีกว่าผ้าแคว้นกาสี เดินยิ้มออกมาจากวิมานประกาศว่า นี้เป็นผลแห่งทักษิณา

พ่อค้าเหล่านี้ถามว่า

วิมานของท่านงดงาม มีรูปภาพวิจิตรดี สว่างไสว ดูกร นางเทพธิดา พวกข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร

นางเทพธิดานั้นตอบว่า

เมื่อข้าพเจ้าเป็นมนุษย์อยู่นั้น มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายแป้งคั่วอันเจือด้วยน้ำมันแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตมีจิตซื่อตรง ข้าพเจ้าเสวยวิบากแห่งกุศลกรรมนั้นในวิมานนี้สิ้นกาลนาน ก็ผลบุญนั้นเดี๋ยวนี้ยังเหลือนิดหน่อย พ้นจาก ๔ เดือนไปแล้ว ข้าพเจ้าจักจุติจากวิมานนี้จักไปตกนรกอันเร่าร้อนสาหัส มี ๔ เหลี่ยม ๔ ประตู จำแนกเป็นห้องๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง ประกอบด้วยความเร่าร้อนแผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ ข้าพเจ้าจะต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นตลอดกาลนาน ก็การเสวยทุกข์เช่นนี้เป็นผลแห่งกรรมชั่ว ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเศร้าโศกที่จะไปเกิดในนรกนั้น

จบขัลลาติยเปติวัตถุที่ ๑๐

ท่านก็ได้รู้เรื่องของเปรต และการอุทิศส่วนกุศลไปให้เปรต ถ้าท่านบังเอิญเห็นเปรต อย่ากลัว แต่ควรเกิดกุศลจิตรู้ว่า ภพนั้นมีจริง และควรที่จะได้กระทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้

สำหรับเรื่องการให้วัตถุแก่อุบาสกผู้มีศรัทธา ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ จูฬวรรคที่ ๓ อภิชชมานเปตวัตถุ มีข้อความว่า

โกสิยมหาอำมาตย์ได้ให้ข้าวสัตตูและคู่ผ้าแก่อุบาสก แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต ซึ่งเปรตก็ได้รับอุทิศส่วนกุศลนั้น

ถ้าเป็นบุคคลผู้ทุศีล แม้ว่าจะให้ทาน และอุทิศส่วนกุศลให้เปรต เปรตไม่ได้รับเพราะไม่อนุโมทนา ไม่เกิดกุศลจิตที่จะอนุโมทนา แต่ถ้าเป็นบุคคลผู้ทรงศีล เป็นพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีพระภิกษุสงฆ์ที่จะถวายทานอุทิศให้ ก็ให้กับอุบาสกผู้มีศีล ผู้เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอุทิศส่วนกุศลให้ เปรตนั้นก็จะได้รับอุทิศส่วนกุศลด้วย

ขอกล่าวถึงเรื่องเปรตอีกบางสูตร เพื่อท่านจะได้ฟังข้อความที่เปรตกล่าวกับบุคคลต่างๆ เพราะว่าเป็นข้อความที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในเรื่องนี้ เปรตจะปรากฏแก่ผู้ที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล สมควรไหมที่จะเกื้อกูล เพราะว่าในการที่จะปรากฏ ก็ปรากฏเพื่อจะเกื้อกูลบุคคลนั้นด้วย

ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อัมพสักขรเปตวัตถุ มีข้อความว่า

มีนครของชาววัชชีนครหนึ่งนามว่า เวสาลี ในนครเวสาลีนั้น มีกษัตริย์ลิจฉวีทรงพระนามว่า อัมพสักขระ ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตตนหนึ่ง

เปรตนั้นวนเวียนอยู่ที่บุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งถูกเสียบไว้ที่หลาวไม้ ฉะนั้น พระองค์ก็ใคร่ที่จะทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะว่าการนอน การนั่ง การเดินไปเดินมา การลิ้ม การดื่ม การเคี้ยว การนุ่งห่ม แม้หญิงบำเรอของบุคคลผู้ถูกเสียบไว้บนหลาวนี้ ย่อมไม่มี ชนเหล่าใดผู้เป็นญาติ เป็นมิตรสหาย เคยเห็นเคยฟังร่วมกันมา เคยมีความเอ็นดูกรุณาของบุคคลใดมีอยู่ในกาลก่อน เดี๋ยวนี้ชนเหล่านั้น แม้จะเยี่ยมเยียนบุคคลนั้นก็ไม่ได้ บุรุษนี้มีตนอันญาติเป็นต้นสละแล้ว มิตรสหายย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ตกยาก พวกมิตรสหายทราบว่าผู้ใดขาดแคลน ย่อมละทิ้งผู้นั้น และเห็นใครมั่งคั่งบริบูรณ์ ก็พากันไปห้อมล้อม คนที่มั่งคั่งด้วยสมบัติย่อมมีมิตรสหายมาก ส่วนบุคคลผู้เสื่อมจากสมบัติเป็นผู้ฝืดเคืองด้วยโภคะ ย่อมหามิตรยาก นี่ย่อมเป็นธรรมดาของโลก

บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบนี้ มีร่างกายเปื้อนด้วยเลือด ตัวทะลุเป็นช่องๆ ชีวิตของบุรุษนี้จักดับไปในวันนี้พรุ่งนี้ เหมือนหยาดน้ำค้างอันติดอยู่บนปลายหญ้าฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุไรท่านจึงพูดกับบุรุษผู้ถึงความลำบากอย่างยิ่ง นอนหงายอยู่บนหลาวไม้สะเดาเช่นนี้ว่า ดูกร บุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นของประเสริฐ

น่าสนใจใช่ไหม แม้แต่คนที่กำลังถูกหลาวไม้เสียบอยู่ แต่เปรตนั้นก็ยังอุตส่าห์มาพร่ำพูดว่า ขอท่านจงมีชีวิตเป็นอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นของประเสริฐ ซึ่งทุกท่านกำลังมีชีวิตอยู่ เป็นมนุษย์ เป็นของประเสริฐ

เปรตนั้นกราบทูลว่า

ข้าแต่พระราชา บุรุษนี้เป็นสาโลหิตของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ระลึกชาติก่อนข้าพระองค์เห็นแล้วมีความกรุณาแก่เขาว่า ขออย่าให้บุรุษผู้เลวทรามนี้ไปตกนรกเลย

ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี บุรุษผู้ทำกรรมชั่วนี้จุติจากอัตภาพนี้แล้วจักเข้าถึงนรกอันยัดเยียดไปด้วยสัตว์ผู้ทำบาป เป็นสถานที่ร้ายกาจ มีความเร่าร้อนมาก เผ็ดร้อนให้เกิดความน่ากลัว หลาวนี้ประเสริฐกว่านรกนั้นตั้งหลายพันเท่า ขออย่าให้บุรุษนี้ไปตกนรก อันมีแต่ความทุกข์โดยส่วนเดียว เผ็ดร้อนน่ากลัว มีความทุกข์กล้าแข็งอย่างเดียว

ถ้าบุรุษนี้ฟังคำของข้าพระองค์อย่างนี้แล้ว ประหนึ่งว่า ข้าพระองค์น้อมเข้าไปสู่ทุกข์ในนรกนั้น จะพึงสละชีวิตของตนเสีย ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่พูดในที่ใกล้เขาด้วยหวังว่า ชีวิตของบุรุษนี้อย่าได้ดับไปเสียเพราะคำของข้าพระองค์เลย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงพูดว่า ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ

ถ้าพูดว่าตายแล้วจะไปตกนรก บุรุษนั้นก็คงเกิดความทุกข์ใจจนกระทั่งสิ้นชีวิตและตกนรกทันที ฉะนั้น เปรตนี้ไม่พูดในที่ใกล้บุรุษนั้น แต่เวลาไปใกล้บุรุษนั้นก็พูดว่าขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ เป็นการให้กำลังใจที่จะยังไม่ให้สิ้นชีวิตเสีย

เมื่อเปรตแสดงความประสงค์ของตนอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงขอโอกาสเพื่อจะตรัสถามความเป็นไปของเปรตนั้นอีก จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

เรื่องของบุรุษนี้เรารู้แล้ว แต่เราปรารถนาจะถามท่านถึงเรื่องอื่น ถ้าท่านให้โอกาสแก่เรา เราจะขอถามท่าน และท่านไม่ควรโกรธเรา

ถ้าจะถามเรื่องส่วนตัว ก็ขออนุญาต ขอโอกาสเสียก่อน

เปรตนั้นกราบทูลว่า

ข้าพระองค์ได้ให้ปฏิญาณไว้ในกาลนั้นแน่นอนแล้ว การไม่บอกย่อมมีแก่ผู้ไม่เลื่อมใส บัดนี้ข้าพระองค์มีวาจาที่ควรเชื่อถือได้ แม้โดยพระองค์จะไม่ทรงเลื่อมใสเพราะเหตุนั้น ขอเชิญพระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ตามพระประสงค์เถิด ข้าพระองค์จะกราบทูลตามที่สามารถจะกราบทูลได้

เปรตก็มีความรู้มาก คือ บอกว่าการไม่บอกย่อมมีแก่ผู้ไม่เลื่อมใส ถ้าใครไม่เลื่อมใส พูดเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์ แต่เปรตนั้นกล่าวว่า บัดนี้ข้าพระองค์มีวาจาที่ควรเชื่อถือได้ แม้โดยพระองค์จะไม่ทรงเลื่อมใส เพราะว่าโดยฐานะที่เป็นเปรต เป็นผู้ที่ประกอบอกุศลกรรม กษัตริย์ลิจฉวีอาจจะไม่ทรงเลื่อมใสก็ได้ แต่ข้อความที่เปรตจะกล่าวนั้นก็เป็นความจริง เพราะเปรตกล่าวว่า ข้าพระองค์ได้ให้ปฏิญาณไว้ในกาลนั้นแน่นอนแล้ว การไม่บอกย่อมมีแก่ผู้ไม่เลื่อมใส บัดนี้ข้าพระองค์มีวาจาที่ควรเชื่อถือได้แม้โดยพระองค์จะไม่ทรงเลื่อมใส เพราะเหตุนั้น ขอเชิญพระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ตามพระประสงค์เถิด ข้าพระองค์จะกราบทูลตามที่สามารถจะกราบทูลได้

เมื่อเปรตให้โอกาสเช่นนั้น พระเจ้าอัมพสักขระจึงตรัสถามว่า

เราเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยจักษุ เราควรเชื่อสิ่งนั้นทั้งสิ้น ถ้าเราเห็นสิ่งนั้นแล้วไม่

เชื่อ ก็ขอให้ลงโทษถอดยศเราเถิดท่าน

เปรตนั้นกราบทูลว่า

ขอสัจจะปฏิญาณนี้ของพระองค์ จงมีแก่ข้าพระองค์ พระองค์ได้ทรงฟังธรรมที่ข้าพระองค์กล่าวแล้ว จะทรงได้ความเลื่อมใส ข้าพระองค์ไม่มีความต้องการอย่างอื่นไม่ได้มีจิตประทุษร้าย ข้าพระองค์จะกราบทูลธรรมทั้งหมดที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้วบ้าง หรือไม่สดับแล้วบ้างแก่พระองค์ ตามที่ข้าพระองค์รู้

พระเจ้าอัมพสักขระตรัสว่า

ท่านขี่ม้าขาวอันประดับประดาแล้ว เข้าไปยังสำนักของบุรุษที่ถูกเสียบหลาว ม้าขาวตัวนี้ เป็นม้าอัศจรรย์น่าดูน่าชม นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร

เปรตนั้นกราบทูลว่า

ที่กลางเมืองเวสาลีนั้น มีหลุมที่หนทางลื่น ข้าพระองค์มีจิตเลื่อมใส เอาศีรษะโคศีรษะหนึ่งวางทอดที่หลุมให้เป็นสะพาน ข้าพระองค์และบุคคลอื่นเหยียบบนศีรษะโคนั้น เดินไปได้สะดวก ม้านี้เป็นม้าอัศจรรย์น่าดูน่าชม นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น

พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า

ท่านมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ และมีกลิ่นหอมฟุ้งไป ท่านได้สำเร็จฤทธิ์แห่งเทวดา เป็นผู้มีอานุภาพมาก แต่ท่านเปลือยกาย นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร

เปรตนั้นกราบทูลว่า

เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นคนมักโกรธ แต่มีใจเลื่อมใสเป็นนิจ พูดกับคนทั้งหลายด้วยวาจาอ่อนหวาน ข้าพระองค์มีรัศมีทิพย์สว่างไสวอยู่เนืองนิจ นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น ข้าพระองค์เห็นยศ และชื่อเสียงของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีจิตเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญ ข้าพระองค์มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไปเป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น

ถ้าเป็นผู้ริษยาก็ตรงกันข้าม ไม่มีจิตเลื่อมใสที่จะกล่าวสรรเสริญ แต่นี่เป็นเพราะว่าเห็นยศ และชื่อเสียงของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีจิตเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญ จึงมีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไปเป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น

เปิด  321
ปรับปรุง  22 พ.ย. 2566