แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 300

ข้อ ๔๓๐ มีข้อความว่า

ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชนก็ดี ภิกษุผู้เป็นพระเสขะก็ดี ชื่อว่าภิกษุ ในอุเทศว่าภิกฺขุ สโต กิญฺจนํ สพฺโลเก ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ

คำว่า เป็นผู้มีสติ ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญสติปัฏฐาน เครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้นตรัสว่ามีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภัทราวุธมาณวก ปัญหานิทเทส ข้อ ๔๒๗ เริ่มด้วยคำอธิบายว่ามารคืออะไร แต่ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของการรู้ รู้ชัด รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด และเป็นเรื่องของการเป็นผู้ที่มีสติ คือ มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือเจริญสติปัฏฐาน

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า อะไรๆ ที่ว่าไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลก ก็มีคำอธิบายชัดเจนว่า

คำว่า อะไรๆ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรๆ

คำว่า ในโลกทั้งปวง คือ ในอบายโลกทั้งปวง ในเทวโลกทั้งปวง ในมนุษยโลกทั้งปวง ในขันธโลกทั้งปวง ในอายตนโลกทั้งปวง ในธาตุโลกทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ ไม่เข้าไปยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง

ในอายตนะ กำลังยึดถืออยู่หรือไม่ ยึด เพราะฉะนั้น การที่จะละได้ ก็เป็นการรู้จริง รู้ในขันธ์ รู้ในอายตนะ รู้ในธาตุ รู้ในสภาพธรรมทั้งปวง จึงชื่อว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ ไม่เข้าไปยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง

อะไรๆ ในที่นี้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่สติกำลังระลึกรู้นั่นเอง

ข้อ ๔๓๑ มีข้อความว่า

คำว่า…เมื่อเห็น ... ว่าติดอยู่ในรูปาทิขันธ์เครื่องยึดถือ ความว่า สัตว์เหล่าใดย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือไว้ จับต้อง ถือมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สังสาระ วัฏฏะ สัตว์เหล่านั้นตรัสว่า ติดอยู่ในรูปาทิขันธ์เครื่องยึดถือ

คำว่า อิติ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า อิติ นี้ เป็นไปตามลำดับบท

คำว่า เมื่อเห็น คือ เมื่อพบ เมื่อแลดู เมื่อแลเห็น เมื่อตรวจดู เมื่อเพ่งดู เมื่อพิจารณาอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ... เมื่อเห็น ... ว่าติดอยู่ในรูปาทิขันธ์เครื่องยึดถือ

ข้อ ๔๓๒ มีข้อความว่า

คำว่า ปชํ เป็นชื่อของสัตว์ ในอุเทสว่า ปชํ อิมํ มจฺจุเธยฺย วิสตฺตํ ดังนี้กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ตรัสว่า บ่วงแห่งมัจจุ ในคำว่า มจฺจุเธยฺย คือ ข้องอยู่ในบ่วงแห่งมรณะ

หมู่สัตว์ข้อง เกี่ยวข้อง เกาะเกี่ยว พัวพันในบ่วงแห่งมัจจุ คือ ในบ่วงแห่งมาร ในบ่วงแห่งมรณะ สิ่งของข้องเกี่ยวอยู่ เกี่ยวเกาะ พันอยู่ที่ตะปูติดฝา หรือที่ไม้นาคพันธ์ (ท่อนไม้โค้งหรือโอนเหมือนงาช้าง) ฉันใด หมู่สัตว์ข้อง เกี่ยวข้อง เกาะเกี่ยว พัวพันในบ่วงแห่งมัจจุ คือ ในบ่วงแห่งมาร ในบ่วงแห่งมรณะ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า หมู่สัตว์นี้ข้องอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เพราะเหตุนั้น ภิกษุรู้อยู่ เมื่อเห็นซึ่งหมู่สัตว์นี้ ผู้ข้องอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุว่า เป็นผู้ติดอยู่ในรูปาทิขันธ์เครื่องยึดถือ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่เข้าไปยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง

ตอนท้ายข้อความมีว่า

พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ท่านภัทราวุธพ้นแล้วจากอาสวะ นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล

จบภัทราวุธมาณวก ปัญหานิทเทสที่ ๑๒

สำหรับพราหมณ์ที่เป็นศิษย์ของท่านพราหมณ์พาวรี ๑๖ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่ไปทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวถึงท่านเหล่านี้ว่า ทุกคนเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นผู้เจริญฌาน ยินดีในฌาน เป็นธีรชนผู้มีจิตอบรมด้วยวาสนาในกาลก่อน ในกาลก่อนต้องเป็นผู้ที่เคยเจริญอบรมสติปัฏฐาน เจริญอบรมปัญญา ถ้ากิเลสยังไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท ปัญญาที่อบรมก็ส่วนหนึ่ง กิเลสที่สะสมมาก็ส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวลาที่ยังไม่ได้ฟังเรื่องของการเป็นผู้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ยินดีในฌาน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมมา ทันทีที่ฟัง สติเกิดรู้ในความเป็นอนัตตา เพราะว่าอบรมมามากพอที่จะละ

ถ. ในสมัยโน้น ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ ก็เจริญทางสมถะมามาก เจริญกันมาเรื่อย เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ท่านก็สอนให้เจริญวิปัสสนาต่อ คือเจริญปัญญาต่อ เพราะบุคคลเหล่านั้นอบรมบ่มนิสัยมาอย่างนี้แล้ว เมื่อได้มาฟังหลักธรรมที่จะหลุดพ้นได้เช่นนี้ ท่านก็สามารถจะบรรลุได้ง่ายๆ เห็นจะเป็นอย่างนี้กระมังครับ

สุ. ถ้าเป็นผู้ที่อบรมการเจริญสติปัฏฐานมาแล้วในอดีต ไม่มีข้อสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมฌานสมาบัติเท่านั้น ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เคยสั่งสมอบรมสติปัฏฐานมา ท่านจะต้องฟัง และศึกษาโดยการสำเหนียกสังเกต ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการอบรมปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง จึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

เพราะฉะนั้น มีผู้ที่เจริญสมถภาวนามากที่ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าไม่ได้อบรมเรื่องของการเจริญปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานมาในอดีต

ถ. ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว กุศลทำไมจึงแรงนัก บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว กุศลอะไรที่ทำให้ท่านไปปฏิสนธิในเทวโลก

สุ. รู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่เห็นผิด ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ทำให้ไม่มีเจตนาที่จะกระทำทุจริตกรรมซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ไปสู่ทุคติอบายภูมิได้

ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะเห็นว่า การที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องหยาบๆ แต่เป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องการรู้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงความคิดที่ว่ารู้ แต่ต้องเป็นการประจักษ์ในสภาพความเป็นอนัตตาที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรม เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามลำดับขั้น

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภัทราวุธมาณวก ปัญหานิทเทส มีข้อความว่า

กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ตรัสว่า บ่วงแห่งมัจจุ คือ ในบ่วงของมาร ในบ่วงของมรณะ เพราะเหตุนั้น ภิกษุรู้อยู่ เมื่อเห็นซึ่งหมู่สัตว์นี้ ผู้ข้องอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุว่า เป็นผู้ติดอยู่ในรูปาทิขันธ์เครื่องยึดถือ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่เข้าไปยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง

การที่จะไม่เข้าไปยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง ต้องพึงเป็นผู้มีสติ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไม่ยึดเอาง่ายๆ ว่า ไม่ยึดถือ แต่ไม่ยึดไม่ถือจริงหรือไม่ เพราะเหตุว่าถ้าสติไม่ระลึกรู้ปัญญาไม่รู้ชัดในสภาพนั้นตามความเป็นจริงในความไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ในความเป็นอนัตตาที่ปรากฏแล้วหมดไป ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะนั้นจริงๆ ความยึดถือก็ยังมีอยู่ แม้ว่าท่านจะคิดว่าท่านไม่ยึดถือ แต่ก็เป็นตัวตนที่คิดว่าไม่ยึดถือ ก็ยังคงยึดถืออยู่

ต่อไปเป็นเรื่องของ มัจจุมาร ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โมฆราชมาณวก ปัญหานิทเทส มีข้อความว่า

แม้มาร ก็ชื่อว่ามัจจุราช แม้ความตาย ก็ชื่อว่ามัจจุราช ในอุทเทสว่า มจฺราชา น ปสฺสติ ดังนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เนื้อที่อยู่ในป่า เมื่อเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ เดินไปก็ไม่ระแวง ยืนอยู่ก็ไม่ระแวง นั่งพักอยู่ก็ไม่ระแวง นอนอยู่ก็ไม่ระแวง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเนื้อนั้นไม่ไปในทางของพราน แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็เหมือนฉันนั้นแล สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานอันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ทำมารให้มืด กำจัดมารไม่ให้มีทาง ไปแล้วสู่สถานเป็นที่ไม่เห็นด้วยจักษุแห่งมารผู้ลามก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเข้าทุติยฌาน (ข้อความโดยนัยเดียวกัน) แล้วก็ต่อไปเข้าตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ และอาสวะของภิกษุนั้นก็หมดสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ทำมารให้มืด กำจัดมารไม่ให้มีทาง ไปแล้วสู่สถานเป็นที่ไม่เห็นด้วยจักษุของมารผู้ลามก ข้ามแล้วซึ่งตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ภิกษุนั้นเดินอยู่ก็ไม่ระแวง ยืนอยู่ก็ไม่ระแวง นั่งอยู่ก็ไม่ระแวง นอนอยู่ก็ไม่ระแวง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นไม่ไปในทางแห่งมารผู้ลามก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มัจจุราชย่อมไม่เห็น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ดูกร โมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว พึงข้ามพ้นมัจจุได้ด้วยอุบายอย่างนี้ เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น

พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ท่านโมฆราชพ้นแล้วจากอาสวะ นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล

จบมารทั้ง ๕ คือ เทพบุตรมาร กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร และ มัจจุมาร มัจจุมารขัดขวางความเจริญในทางธรรม ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกับผู้ที่กำลังเจริญกุศลอาจจะทำให้บุคคลนั้นหมดโอกาสที่จะได้เจริญกุศลต่อไป ถ้าเกิดในอบายภูมิ

เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าหลังจากจุติในโลกนี้แล้ว จะปฏิสนธิในภูมิใด ถ้าเป็นในภูมิที่ไม่สามารถจะเจริญกุศลต่อไป ความตายนั้นก็ตัดธรรมที่เคยได้ยินได้ฟัง เคยอบรม เคยเจริญให้ขาดตอน และในระหว่างที่ปฏิสนธิในกำเนิดอบายภูมินั้น ก็ไม่สามารถที่จะเจริญกุศลต่อไปจนถึงกับได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

แต่สำหรับผู้ที่อบรมธรรม พิจารณาธรรม ศึกษาธรรมอยู่เสมอ ธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้ไม่สูญหาย ท่านยังสามารถที่จะอบรมเจริญต่อไปได้ในกาลข้างหน้าตามควรแก่กำเนิดนั้นๆ

อดีตพระชาติของพระผู้มีพระภาค จะเห็นได้ว่า เมื่อครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ถึงแม้ว่าจะทรงกำเนิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่ก็สะสมอบรมคุณธรรมตามควรแก่ภพนั้นๆ ภูมินั้นๆ ที่จะสะสมได้ มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการเสียสละเพื่อหมู่คณะ มีการบำเพ็ญประโยชน์เท่าที่สามารถจะกระทำได้ในภพนั้นภูมินั้น

เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ต้องอาศัยการเจริญกุศลจริงๆ ในภูมิของมนุษย์สามารถที่จะเจริญกุศลประการใดบ้าง ก็ไม่ควรที่จะละเว้นไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ความสงบของจิต สติปัฏฐานเป็นสิ่งที่จะต้องประพฤติอบรมเจริญอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ผู้ที่เคยอบรมทางกุศลมาแล้ว ก็ย่อมสามารถที่จะเกิดกุศลจิตตามสมควรแก่ภพภูมินั้นๆ เมื่อใดที่พ้นจากกำเนิดอบายภูมิแล้วเกิดในสุคติภูมิ ธรรมที่ได้ฟัง ได้ศึกษา ที่สะสมอบรมไปแล้วนั้น ก็มีโอกาสที่จะเกื้อกูลได้เต็มที่

เพราะฉะนั้น การฟังธรรม การศึกษาธรรม ทุกครั้งไม่เสียประโยชน์ โดยเฉพาะท่านที่ฟังด้วยดี มนสิการในเหตุผล และศึกษาเพื่อประโยชน์ของการที่จะดับกิเลส จริงๆ ท่านก็จะได้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นแนวทางให้อบรมในทางที่ถูกต่อไป

อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มหาวรรคที่ ๕ ข้อ ๑๙๑ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ อานิสงส์ ๔ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ …เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นๆ ฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

ข้อสำคัญ คือ ที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ ถ้าเพียงฟัง แต่ว่าไม่แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเกื้อกูลอุปการะได้ ถ้าเป็นผู้ที่ฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ มีความเข้าใจจริงๆ ในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่ามีสติหลงลืมกระทำกาละ ก็เข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งบทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน เพราะการอบรมที่ได้อบรมแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าอยู่ในภพภูมิที่สามารถจะอบรมได้ ก็อบรมไป และทั้งหมดที่อบรมไป ก็จะเกื้อกูลให้สามารถบรรลุธรรมได้เร็วพลัน ถึงแม้ว่าสติจะเกิดช้าในชาตินี้ก่อนที่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน สติก็ไม่ได้เกิด เวลาผ่านพ้นไปนานทีเดียว แต่เวลาที่ได้ฟังแล้ว มีการแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ด้วยความเห็นถูก และก็อบรมไป ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่ว่า ถึงแม้ว่าจะเกิดในกำเนิดเทพ มีความสุขในภูมินั้น และสติก็เกิดช้า เพราะเหตุว่าคงจะเพลิดเพลินอยู่เป็นเวลาสมควรทีเดียวเมื่อได้เกิดในที่นั้นแล้ว แต่เพราะการที่เคยอบรม เมื่อสติเกิด จึงสามารถที่จะบรรลุคุณวิเศษได้เร็วพลัน

นี่เป็นผลของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผลของการฟังธรรมเนืองๆ และเป็นผลของการที่แทงตลอดธรรมด้วยดีด้วยทิฏฐิ

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ … เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า

ในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลอง เขาเดินทางไกล พึงได้ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า เสียงกลองหรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงกลองทีเดียว ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

เปิด  287
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566