แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 299
อีกสูตรหนึ่งที่เป็นเรื่องของขันธมาร
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ราธสังยุต ทุติยวรรคที่ ๒ มารสูตร มีข้อความว่า
พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้ มารเป็นไฉนหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ราธะ รูปเป็นมาร เวทนาเป็นมาร สัญญาเป็นมาร สังขารเป็นมาร วิญญาณเป็นมาร
ดูกร ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูปย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสังขารย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น ครั้นหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ตอนนี้มารอยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวเองหรือเปล่า ใครไม่มีรูป คนนั้นก็ไม่มีมาร ไม่มีเวทนา ก็ไม่มีมาร ไม่มีสัญญา ก็ไม่มีมาร ไม่มีสังขาร ก็ไม่มีมาร ไม่มีวิญญาณ ก็ไม่มีมาร แต่ถ้าผู้ใดมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ก็มีมาร
แต่ก่อนเคยเข้าใจว่า มารมีอยู่ข้างนอก เป็นบุคคลอื่น เป็นภายนอก แต่ถ้าท่านเองไม่มีการเห็น จะมีบุคคลอื่นซึ่งเป็นเทพบุตรมารมาขัดขวางได้ไหม ไม่ได้ ถ้าไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการรู้รส ไม่มีการรู้โผฏฐัพพะ ไม่มีการรู้ธัมมารมณ์ ก็ไม่มีมารที่จะมาขัดขวางได้เลย
ท่านที่ไม่ชอบมาร เห็นว่ามารเป็นบุคคลที่ขัดขวางท่าน แต่เพราะว่าท่านเห็น ใช่ไหมมารจึงปรากฏได้ มีการได้ยินใช่ไหมมารจึงปรากฏได้ มีการรู้กลิ่น มีการรู้รส มีการรู้โผฏฐัพพะ มีการรู้ธัมมารมณ์ มารจึงปรากฏได้ สัตว์บุคคลทั้งหลายจึงปรากฏได้ ซึ่งถ้าท่านไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย ก็ไม่มีมาร และถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดยังไม่เห็นรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณของตนเองว่าเป็นมาร ผู้นั้นก็ยังมีมารอยู่ เพราะเหตุว่าเมื่อมีการเห็น ก็ต้องมีการเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ขัดขวางด้วยประการใดๆ ก็เพราะมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการรู้รส มีการรู้โผฏฐัพพะ มีการรู้ธัมมารมณ์
ที่ว่าเป็นมารในที่นี้ ก็เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งของความยึดถือ ไม่สามารถที่จะทำให้บุคคลนั้นพ้นไปจากความทุกข์ของสังสารวัฏฏ์ได้
สำหรับเรื่องของมารที่เป็นกิเลส มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปธานสูตรที่ ๒ ว่า
มารได้เข้ามาหาเรา ผู้มีตนส่งไปแล้วเพื่อความเพียร บากบั่นอย่างยิ่ง เพ่งอยู่ ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อบรรลุนิพพานอันเกษมจากโยคะ มารกล่าววาจาน่าเอ็นดูว่า ท่านผู้ซูบผอม มีผิวพรรณเศร้าหมอง ความตายของท่านอยู่ในที่ใกล้ เหตุแห่งความตายของท่านมีตั้งพันส่วน ความเป็นอยู่ของท่านมีส่วนเดียว ชีวิตของท่านผู้ยังเป็นอยู่ประเสริฐกว่า เพราะว่าท่านเป็นอยู่ จักกระทำบุญได้ ท่านประพฤติพรหมจรรย์และบูชาไฟอยู่ ย่อมสั่งสมบุญได้มาก ท่านจะทำประโยชน์อะไรด้วยความเพียร ทางเพื่อความเพียรดำเนินไปได้ยาก กระทำได้ยาก ให้เกิดความยินดีได้ยาก มารได้ยืนกล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระพุทธเจ้า
พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์นี้กับมารผู้กล่าวอย่างนั้นว่า
แน่ะมารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของคนประมาท ท่านมาในที่นี้ด้วยความต้องการอันใด ความต้องการอันนั้นด้วยบุญแม้มีประมาณน้อย ก็ไม่มีแก่เรา ส่วนผู้ใดมีความต้องการบุญ มารควรจะกล่าวกะผู้นั้น เรามีศรัทธา ตบะ วิริยะ และปัญญาท่านถามเราแม้ผู้มีตนส่งไปแล้ว ผู้เป็นอยู่อย่างนี้เพราะเหตุไร ลมนี้พึงพัดกระแสแม่น้ำทั้งหลายให้เหือดแห้งไปได้ เลือดน้อยหนึ่งของเราผู้มีใจเด็ดเดี่ยวไม่พึงเหือดแห้ง เมื่อโลหิตเหือดแห้งไปอยู่ ดีและเสลดย่อมเหือดแห้งไป เมื่อเนื้อสิ้นไปอยู่ จิตย่อมเลื่อมใสโดยยิ่ง สติปัญญาและสมาธิของเราย่อมตั้งมั่นโดยยิ่ง เรานั้นถึงจะได้รับเวทนาอันแรงกล้าอยู่อย่างนี้ จิตย่อมไม่เพ่งเล็งกามทั้งหลาย ท่านจงดูความที่สัตว์เป็นผู้บริสุทธิ์
กามทั้งหลาย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดี เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๒ ของท่าน
ความหิวและความระหาย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๓ ของท่าน
ตัณหา เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๔ ของท่าน
ถีนมิทธะ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๕ ของท่าน
ความขลาดกลัว เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๖ ของท่าน
ความสงสัย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๗ ของท่าน
ความลบหลู่ ความหัวดื้อ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๘ ของท่าน
ลาภ สรรเสริญ สักการะ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๙ ของท่าน
และยศที่ได้มาผิด ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลยกตนและดูหมิ่นผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๑๐ ของท่าน
แน่ะมาร เสนาของท่านนี้มีปกติกำจัดซึ่งคนผู้มีธรรมดำ คนผู้ไม่กล้าย่อมไม่ชนะซึ่งเสนาของท่านนั้น ส่วนคนผู้กล้าย่อมชนะได้ ครั้นชนะแล้วย่อมได้ความสุข ก็เพราะเหตุที่ได้ความสุขนั้น แม้เรานี้ก็พึงรักษาหญ้ามุงกระต่ายไว้ น่าติเตียนชีวิตของเรา เราตายเสียในสงครามประเสริฐกว่า แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร สมณะพราหมณ์บางพวกหยั่งลงแล้วในเสนาของท่านนี้ ย่อมไม่ปรากฏ ส่วนผู้ที่มีวัตรงามย่อมไปโดยหนทางที่ชนทั้งหลายไม่รู้ เราเห็นมารพร้อมด้วยพาหนะ ยกออกแล้วโดยรอบ จึงมุ่งหน้าไปเพื่อรบ มารอย่าได้ยังเราให้เคลื่อนจากที่ โลกพร้อมด้วยเทวโลกย่อมครอบงำเสนาของท่านไม่ได้ เราจะทำลายเสนาของท่านเสียด้วยปัญญา เหมือนบุคคลทำลายภาชนะดินทั้งดิบทั้งสุก ด้วยก้อนหิน ฉะนั้น
เราจักกระทำสัมมาสังกัปปะให้ชำนาญ และดำรงสติให้ตั้งมั่นเป็นอันดี แล้วจักเที่ยวจากแคว้นนี้ไปยังแคว้นโน้น แนะนำสาวกเป็นอันมาก สาวกผู้ไม่ประมาทเหล่านั้นมีใจเด็ดเดี่ยว กระทำตามคำสั่งสอนของเรา จักถึงที่ซึ่งไม่มีความใคร่ที่ชนทั้งหลายไปถึงแล้วย่อมไม่เศร้าโศก
มารกล่าวคาถาว่า
เราได้ติดตามรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคสิ้น ๗ ปี ไม่ได้ประสบช่องของพระสัมพุทธเจ้าผู้มีสิริ มารได้ไปตามลม รอบๆ ก้อนหินซึ่งมีสีคล้ายก้อนมันข้น ด้วยคิดว่า เราจะประสบความอ่อนโยนในพระโคดมนี้บ้าง ความสำเร็จประโยชน์พึงมีบ้าง มารไม่ได้ความพอใจในพระสัมพุทธเจ้า ได้กลายเป็นลม หลีกไป ด้วยคิดว่า เราถึงพระโคดมแล้วจะทำให้ทรงเบื่อพระทัย หลีกไป เหมือนกาถือไสลบรรพตแล้วบินหลีกไป ฉะนั้น พิณของมารผู้ถูกความโศกครอบงำแล้ว ได้ตกจากรักแร้ ลำดับนั้น มารนั้นเสียใจ ได้หายไปในที่นั้น นั่นแล
จบปธานสูตรที่ ๒
ในสูตรนี้จะมีทั้งมารที่เป็นบุคคล และมารที่เป็นกิเลส เพราะกิเลสยังมีมารจึงสามารถที่จะขัดขวางได้ แต่ถ้ากิเลสไม่มี แม้ว่ามารจะพากเพียรพยายามขัดขวางสักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะขัดขวางได้ สาวกผู้ไม่ประมาทเหล่านั้นมีใจเด็ดเดี่ยวหมายความว่าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงชื่อว่ามีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้นจะเป็นโลภะ จะเป็นโทสะ จะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม จะเป็นวิบากกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างไรก็ตาม แต่ผู้ที่มีใจเด็ดเดี่ยวไม่หวาดหวั่น ที่สติจะระลึกรู้สภาพธรรมนั้นตรงตามความเป็นจริง ตามธรรมดาของสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย
ถ. อยากจะเป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยว แต่ไม่เป็นเช่นนั้นทุกครั้ง บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้
สุ ความสำคัญอยู่ที่ว่า หวั่นไหวหรือไม่ในการที่จะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แต่โดยมากตอนแรกๆ ยิ่งหวั่นไหวมาก พอสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏ ดีใจ บางท่านก็ถามว่า เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ประมาณสัก ๑๐ นาทีนี่ดีไหม หวั่นไหวหรือไม่อย่างนี้ ต้องการบุญอะไรหรือไม่ ต้องการดีอะไรหรือไม่ หรือเป็นผู้ที่รู้เพื่อละ เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ มีความเป็นตัวตน มีความยินดี มีความโสมนัส มีความกระหยิ่มว่าเป็นเรา
การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน หมายความว่า เมื่อสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมแล้ว ก็รู้เท่านั้นเอง ข้อสำคัญที่สุด ให้เป็นธรรมดา ให้เป็นปกติ สติเกิดขณะใดก็รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อหลงลืมสติ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หลงลืมแล้วก็เป็นอดีต สติระลึก จึงรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
สุตตนิบาต ขุททกนิกาย ปธานสูตรที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับมารถึงเรื่องเสนาของมาร คือ กิเลส ได้แก่
กาม ความยินดีทั้งหลาย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๑ ของท่าน ซึ่งทุกท่านก็มีเสนามาร
ความไม่ยินดี เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๒ ของท่าน มีกิเลสซึ่งเป็นเสนามารคอยที่จะหวั่นไหวไปในขันธ์ที่ปรากฏ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เรื่องของมารนั้น ที่จริงแล้วก็มีอยู่รอบทีเดียว ทั้งทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ
ความหิวและความระหาย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๓ ของท่าน
ตัณหา เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๔ ของท่าน
ถีนมิทธะ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๕ ของท่าน
ความขลาดกลัว เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๖ ของท่าน
ความสงสัย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๗ ของท่าน
ความลบหลู่ ความหัวดื้อ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๘ ของท่าน
ลาภ สรรเสริญ สักการะ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๙ ของท่าน
ยศที่ได้มาผิด ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลยกตนและดูหมิ่นผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๑๐ ของท่าน
เสนามาร คือ กิเลส ก็มีอยู่มาก ซึ่งการที่จะละ ก็ต้องละกิเลสมาร พวกเสนามารทั้งหลายถ้ายังมีอยู่ก็ทำให้สิ่งอื่น เช่น ขันธ์ ยังคงเป็นมารอยู่
สำหรับอภิสังขารมาร ข้อความในพระไตรปิฎก ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทสภัทราวุธมาณวก ปัญหานิทเทส มีข้อความว่า
คำว่า มาร ย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล ความว่า ขันธมาร ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปบัติมาร ปฏิสนธิมาร ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร อันมีในปฏิสนธิ ย่อมไปตาม คือ ตามไป เป็นผู้ติดตามไปด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล
ข้อความต่อไปมีว่า
คำว่า ชนฺตุ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ชีวชน ชาตุชน ชันตุชนอินทคูชน ผู้เกิดจากมนู เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มาร ย่อมเป็นไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
หมู่สัตว์พึงนำเสียซึ่งตัณหาเครื่องยึดถือทั้งหมด ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ หรือแม้ชั้นกลางส่วนกว้าง เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าไปถือรูปาธิขันธ์ใดๆ ในโลก มารย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล
มารที่เป็นอภิสังขาร คือ กรรม ถ้าไม่มีกรรม ก็ไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีคติ ไม่มีขันธ์ ไม่มีธาตุ ไม่มีอายตนะ ไม่มีอุปบัติ ไม่มีปฏิสนธิ ไม่มีภวะ ไม่มีสังสารมาร ไม่มีวัฏฏมาร แต่เพราะเหตุว่ามีอภิสังขารมาร เพราะฉะนั้น อภิสังขารมาร คือ กรรม ย่อมไปตาม คือ ตามไป เป็นผู้ติดตามไปด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล
ทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้เกิดแล้วเพราะกรรม และกรรม คือ อภิสังขาร ก็ยังติดตามทำให้มีการเกิดขึ้นของวิบาก ของรูป ของขันธ์ ของอายตนะ ของธาตุ ของคติ ของอุปบัติ ของปฏิสนธิ ของสังสาระ ของวัฏฏะอยู่เสมอ เพราะเหตุว่าอภิสังขารซึ่งเป็นมารจะติดตามอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะไม่มีอภิสังขาร คือ กรรม
มีใครสร้างวิบากได้ไหม ต้องการอย่างนั้น อย่างนี้ ก็ให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นตามใจชอบได้ไหม ไม่ได้ ต้องเป็นผลของกรรม คือ อภิสังขาร เพราะฉะนั้น อภิสังขาร คือ กรรมนั้นก็ย่อมเป็นผู้ที่ตามสัตว์ที่เกิดแล้ว ทำให้เกิดได้ รับผลของกรรมต่างๆ ทำให้เกิดขันธ์ เกิดธาตุ เกิดอายตนะ วนเวียนไปเรื่อยๆ
ข้อ ๔๒๘ มีข้อความว่า
เพราะเหตุนั้น ภิกษุรู้อยู่ เมื่อเห็นซึ่งหมู่สัตว์นี้ผู้ข้องอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุว่า เป็นผู้ติดอยู่ในรูปาธิขันธ์เครื่องยึดถือ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่เข้าไปยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง
ทั้งปวงทีเดียว ยึดถืออกุศลว่าเป็นเรา เป็นตัวตนได้ไหม ถูกหรือผิด ไม่ถูกยึดถือกุศลว่าเป็นเรา เป็นตัวตนได้ไหม ไม่ได้ ผิด
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง เมื่อไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง ก็จะต้องเจริญสติ เพื่อรู้อะไรๆ ในโลกทั้งปวงเสียก่อน จึงจะละการยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวงได้
ถ้าไม่รู้ แต่จะให้ละ ไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวงได้ไหม หรือว่าเห็นก็สักแต่ว่าเห็น แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร สักแต่ว่าจริงๆ หรือไม่ หรือว่าเป็นตัวตนที่สักแต่ว่า แต่ไม่ใช่สติ ไม่ใช่ปัญญาที่เจริญอบรมจนกระทั่งรู้ความหมายอรรถว่า สักแต่ว่า เพราะรู้แล้วละว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ข้อ ๔๒๘ มีข้อความว่า
คำว่า เพราะเหตุนั้น...เมื่อรู้อยู่...ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ความว่า เพราะเหตุนั้น คือ เพราะการณะนั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น ภิกษุเมื่อเห็นโทษนี้ในตัณหาเครื่องยึดถือ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น
คำว่า รู้อยู่ คือ รู้ รู้ชัด รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด เมื่อรู้ รู้ชัด รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอดว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
คำว่า ไม่พึงเข้าไปยึดถือ คือ ไม่พึงยึดถือ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ไม่พึงถือไว้ ไม่พึงจับต้อง ไม่พึงถือมั่นซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สังสาระ วัฏฏะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น.. เมื่อรู้อยู่ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ
พยัญชนะดูเหมือนกับไม่ยาก คือ ไม่พึงยึดถือ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ แต่เพราะรู้อยู่ ไม่ใช่ว่าโดยไม่รู้ ก็จะไม่ยึดถือได้
และคำว่า รู้ คำว่า รู้อยู่ คือ รู้ รู้ชัด รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด น้อยหรือมาก รู้นิดรู้หน่อยได้หรือไม่อย่างนี้