แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 304

ข้อความต่อไปมีว่า

เทวดาผู้มีศักดิ์ต่ำ รักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ต่ำ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

การคบหาสมาคม หรือว่าระดับของจิตก็เท่าเทียมกัน ระหว่างเทพกับมนุษย์ เมื่อเทพศักดิ์ชั้นต่ำมีความคิด มีความดำริ มีความประสงค์ มีความปรารถนาอย่างใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ต่ำ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นเทวดานั้น เป็นจำนวนพันๆ รักษาพื้นที่อยู่ใน ปาฏลิคามด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ คือ เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ ... เทวดาผู้มีศักดิ์ต่ำ รักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ต่ำ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

ครั้งนั้น เมื่อปัจจุสมัยแห่งราตรีนั้นตั้งขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า

ดูกร อานนท์ ใครหนอจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะ จะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันเจ้าวัชชีทั้งหลายพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ มหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะ จะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันเจ้าวัชชีทั้งหลาย ประหนึ่งว่าปรึกษากับเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้วสร้างเมืองฉะนั้น

ดูกร อานนท์ เราได้เห็นเทวดาเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นพวกละพัน รักษาพื้นที่อยู่ในปาฏลิคามด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ณ ตำบลนี้ คือ เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ ... เทวดาผู้มีศักดิ์ต่ำ รักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ต่ำ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

ดูกร อานนท์ เมืองนี้จักเป็นเมืองเลิศแห่งที่ประชุมของเหล่ามนุษย์ผู้เป็นอริยะ และเป็นทางค้าขาย เป็นที่แก้ห่อสินค้า อันตราย ๓ อย่างจักมีแก่เมืองปาฏลิคาม จากไฟ ๑ จากน้ำ ๑ จากความแตกแห่งกันและกัน ๑

ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของการอุทิศส่วนกุศล ซึ่งมีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล มหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตของข้าพระองค์ทั้งหลายเพื่อเสวยในวันนี้

พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว เข้าไปยังที่พักของตน ครั้นแล้วสั่งให้ตบแต่ง ขาทนียโภชนียาหารอันประณีตในที่พักของตน แล้วกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตเสร็จแล้ว

ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่พักของมหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดถวาย

ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะ อังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตให้อิ่มหนำสำราญด้วยมือของตน

ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ชักพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว มหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะ ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนากับมหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะผู้นั่งอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เวลาที่บุคคลใดกระทำกุศล เช่น ถวายภัตตาหาร เป็นต้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา แต่ว่าทรงอนุโมทนาด้วยพระธรรม เพื่อที่จะให้จิตใจของบุคคลผู้ถวายทานนั้นผ่องใส ปีติยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้ถวายทานแล้ว เพราะเหตุว่าเมื่อได้ฟังธรรมที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมชัดเจนขึ้น จิตของบุคคลนั้นก็ย่อมผ่องใส เพราะฉะนั้น เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา พระองค์ทรงอนุโมทนาด้วยการทรงแสดงธรรม

ซึ่งในครั้งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนากับมหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะผู้นั่งอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า

บุรุษชาติบัณฑิต ย่อมสำเร็จการอยู่ในประเทศใด พึงเชิญท่านผู้มีศีล สำรวมแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริโภคในประเทศนั้น ควรอุทิศทักษิณาทานเพื่อเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้นๆ เทวดาเหล่านั้นอันบุรุษชาติบัณฑิตนับถือบูชาแล้ว ย่อมนับถือบูชาบุรุษบัณฑิตนั้น แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์บุรุษชาติบัณฑิตนั้น ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตรแล้วก็ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ

เป็นสิ่งที่จะหวังกันอีกหรือเปล่า หวังให้เทวดาอนุเคราะห์อีกหรือเปล่า เทวดาจะอนุเคราะห์หรือไม่อนุเคราะห์ แล้วแต่เทวดา แล้วแต่กรรมของบุคคลนั้นเองด้วย เพราะฉะนั้น กรรมสำคัญที่สุด จะต้องหวังพึ่งกรรมของตนเอง ซึ่งจะต้องประกอบกรรมดี แม้ว่าผู้นั้นถวายทานอุทิศส่วนกุศลแก่เทวดาแล้ว และเทวดาก็อนุเคราะห์บุคคลนั้นผู้ถวายทาน มีความเคารพ มีความนับถือในบุคคลนั้น และอนุเคราะห์ คือการอารักขาคุ้มครองบุคคลนั้นก็จริง แต่ว่ามีใครบ้างไหมที่จะพ้นไปจากกรรมของตัวเอง

บางคนคิดแต่ว่า เทวดาจะคุ้มครอง จะอารักขา จะอนุเคราะห์ เสมือนว่าตัวเองนั้นไม่ได้ทำอกุศลกรรมใดๆ ที่จะได้รับอกุศลวิบากเลย แต่ทั้งๆ ที่มีเทพ มีการบูชาเทพ มีการถวายทานอุทิศส่วนกุศลแก่เทพ ซึ่งเทพก็ย่อมอนุเคราะห์บุรุษชาติบัณฑิตนั้น ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร แต่จะอนุเคราะห์ได้ตามควรแก่กรรมของบุคคลนั้นเท่านั้น เพราะเหตุว่าจะพ้นจากกรรมไม่ได้

แม้เทพจะอนุเคราะห์ แต่บุคคลนั้นมีอกุศลกรรมในอดีตที่จะได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น เทพจะกั้นกรรมของบุคคลนั้นได้ไหม ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ดี หรือว่าบุคคลอื่นก็ดีที่จะต้องได้รับผลของกรรม ก็ย่อมได้รับตามควรแก่กรรมของตน

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของเทพจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา จะมาหรือไม่มา จะอนุเคราะห์หรือไม่อนุเคราะห์ เป็นเรื่องของเทพ แต่เรื่องของท่านเอง เป็นเรื่องที่จะต้องละกิเลสของตัวท่าน ด้วยการเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรม ต่อจิตใจของท่านว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร

ใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา มีข้อความอธิบายว่า

เทพที่อยู่ในปาฏลิคามก็มีทั้งเทพที่มีศรัทธา และเทพที่ไม่มีศรัทธา ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ความคิดจะต่างกันไหม ระหว่างเทพที่มีศรัทธากับเทพที่ไม่มีศรัทธา เพราะฉะนั้น พวกเทวดาที่มีศรัทธาทั้งหลายก็มีความคิดอย่างนี้ว่า

พวกมนุษย์สร้างที่อยู่ในที่นี้แล้ว จะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มานั่ง แล้วให้สวดมงคลก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จะได้เห็น จะได้ฟังธรรมกถา ฟังการแก้ปัญหา และฟังอนุโมทนาของพระคุณเจ้าผู้ทรงศีลทั้งหลาย ส่วนพวกมนุษย์ทั้งหลายให้ทานแล้ว ก็จะให้ส่วนบุญแก่พวกเรา

นี่คือเทพที่มีศรัทธา ก็คิดเหมือนกับมนุษย์ผู้มีศรัทธา

ฝ่ายเทวดาที่ไม่มีศรัทธาก็คิดว่า เราจักได้เห็นข้อปฏิบัติ และจะได้ฟังถ้อยคำของพระคุณเจ้าเหล่านั้น ตามปรารถนาของตน

ยังไม่มีศรัทธาแต่ก็จะได้ฟัง เพื่อว่าจะได้พิจารณาดู ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดศรัทธา หรือไม่เกิดศรัทธา

ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา มีต่อไปว่า

เมื่อภิกษุผู้มีศีลทั้งหลายฉันแล้วในที่นี้ คือ ในที่เป็นที่อยู่ของตน เป็นผู้สำรวมด้วยกาย วาจา และจิต

๒ บทว่า ตาสํ ทกฺขิณมาทิเส ได้แก่ พึงอุทิศ คือว่า พึงให้ซึ่งส่วนบุญในปัจจัย ๔ ที่ตนได้ถวายแล้วแก่พระสงฆ์ อุทิศแก่เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในเรือนเหล่านั้น

๒ บทว่า ปูชิตา ปูชยนฺติ ได้แก่ เทวดาทั้งหลายเหล่านั้นอันมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว พากันคิดว่า มนุษย์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้เป็นญาติของพวกเรา แม้จะไม่ได้เป็นญาติกันก็ยังให้ส่วนบุญแก่พวกเรา ดังนี้แล้ว จึงกระทำการอารักขาเป็นอย่างดี ได้แก่ ให้การอารักขาด้วยดี

๒ บทว่า มานิตา มานยนฺติ ได้แก่ เทวดาเหล่านั้นพากันคิดว่า มนุษย์เหล่านี้ แม้ไม่ได้เป็นญาติของพวกเรา แม้ถึงกระนั้นก็ยังพลีกรรมแก่พวกเราเป็นเวลา ๔ เดือน ๕ เดือน หรือ ๖ เดือน ดังนี้แล้ว จึงนับถือมนุษย์เหล่านั้น คือ ย่อมนำอันตรายที่บังเกิดขึ้นออกไปเสีย

ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินข้อความที่ว่า คนดีเทวดาก็คุ้มครองรักษา ซึ่งก็ต้องเป็นเพราะความดีของบุคคลนั้น หรือเพราะกรรมของบุคคลนั้นเองด้วย

๒ บทว่า ตโต นํ ได้แก่ แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์ซึ่งบุรุษผู้มีชาติเป็นบัณฑิตคนนั้น

บทว่า โอรสํ ได้แก่ วางไว้แล้วบนอก ให้เจริญแล้วดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรฉะนั้น อธิบายว่า มารดาย่อมพยายามเพื่อจะนำอันตรายที่บังเกิดขึ้นออกไปเสีย ฉันใด พวกเทวดาก็ย่อมอนุเคราะห์บุรุษนั้น ฉันนั้น

แต่ว่าอย่าลืม คือ อย่าหวังพึ่ง จะอนุเคราะห์หรือไม่อนุเคราะห์ เรื่องของเทพจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา ก็เรื่องของเทพ

๒ บทว่า ภทฺรานิ ปสฺสติ ได้แก่ ย่อมเห็นกรรมอันงามทั้งหลาย

ถ้าทำดี เทวดาเห็นแล้ว ก็อนุโมทนา เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะทำชั่ว เพราะเทวดาเห็น จึงควรจะมีหิริ ความละอายในการที่กระทำความชั่ว

บทว่า อนุโมทิตฺวา ได้แก่ กระทำแล้วซึ่งธรรมกถาของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยอำนาจการอนุโมทนาส่วนบุญที่ชนทั้งหลายเหล่านั้นประสบแล้ว ในกาลนั้น

ข้อความตอนสุดท้ายของอรรถกถา มีว่า

แม้มหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะ ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า เทวดาเหล่าใดอาศัยอยู่แล้วในที่นั้น บุคคลก็พึงอุทิศทักษิณาทานแก่เทวดาเหล่านั้นในที่นั้นๆ ดังนี้แล้ว จึงอุทิศส่วนกุศลแก่เทวดาทั้งหลาย

แม้มหาอำมาตย์สุนีธะและวัสสการะได้ฟัง ก็เจริญกุศลด้วยการอุทิศส่วนกุศลแก่เทวดาทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ควรบูชาเทพ เจริญกุศลด้วยการกระทำความดี กระทำบุญกุศล และอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดา

ถ. เวลาสวดมนต์ทุกๆ ครั้ง สมัยนี้จะมีอยู่ที่ไหนผมก็ไม่ทราบ เขาเรียกว่าชุมนุมเทวดา สคฺเค กาเม ... ผมก็ไม่ทราบว่ามีอยู่ที่ไหนเดี๋ยวนี้ มีอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่ครับ

สุ. เป็นบทขัดตำนานก่อนที่จะสวดพระธรรม เพราะว่าการสวด ก็คือ การแสดงธรรมด้วยเสียงที่เป็นทำนองของการสวด ไม่ว่าจะเป็นมงคลสูตร รัตนสูตร หรือสูตรอื่นๆ ก็ตาม ที่เรียกว่าสวด เป็นการแสดงธรรมเป็นภาษาบาลีด้วยทำนองของการสวด แต่ก่อนที่จะสวดสูตรใด ย่อมมีการกล่าวถึงตำนาน หรือว่าที่มาของพระสูตรนั้นก่อน ซึ่งการกล่าวถึงตำนาน หรือที่มาของพระสูตรนั้น เป็นคำภาษาบาลีที่แต่งขึ้นในภายหลัง และการชุมนุมเทวดา ก็เป็นธรรมเนียมก่อนๆ มาที่จะเชื้อเชิญเทวดามาเพื่ออุทิศส่วนกุศลในการฟังธรรม ให้เทวดาอนุโมทนาด้วย

ถ้าท่านเป็นผู้ที่สนใจในคำแปลของบทขัดตำนาน เช่น การชุมนุมเทวดาก่อนที่จะมีการสวด ก็จะทราบว่า เป็นการเชื้อเชิญเทวดาทั้งหลายมาฟังธรรม ซึ่งในตอนจบ ก็จะขอให้เทวดาอนุโมทนาในการฟังธรรม และขอให้เทพนั้นประพฤติปฏิบัติธรรม และเชิญเทวดากลับ

นี่เป็นธรรมเนียมประเพณีที่กระทำมาในครั้งนั้น แต่ว่าจุดประสงค์ที่จะให้สอดคล้องกับพระธรรม ไม่ใช่เพื่อการติด ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการตื่นเต้น ยึดมั่นว่า มีเทวดามาฟังธรรม แต่ว่าจุดประสงค์ของการอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทพนั้น เป็นการบูชาเทพ เคารพคุณธรรมของเทพ เพื่อให้ระลึกถึงคุณความดี ซึ่งการที่จะเกิดเป็นเทพ ก็จะต้องเป็นผลของกุศลกรรม เป็นผลของความดี

เพราะฉะนั้น ผู้ฟังธรรมต้องพยายามที่จะเข้าใจประโยชน์ของพิธี หรือธรรมเนียมว่า เพื่อประโยชน์อะไร อีกประการหนึ่ง ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังมีจิตเลื่อมใสในการฟังธรรม เพราะแม้เทพหรือพรหมก็ยังฟังธรรมด้วย ให้เห็นคุณค่า ความประเสริฐของ พระธรรมที่สมบูรณ์พร้อมในพยัญชนะและอรรถ ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ฟัง เมื่อน้อมนำประพฤติปฏิบัติตาม

เพราะฉะนั้น ผู้ฟังธรรมควรที่จะได้ฟังธรรมด้วยความเคารพ ด้วยการพิจารณาความถูกต้องสมบูรณ์ในเหตุผล เพื่อจะประพฤติปฏิบัติตาม แต่ท่านผู้ฟังก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า การที่จะเชื้อเชิญเทพมานั้น ก็เพื่อที่จะอุทิศส่วนกุศล เป็นการเคารพในคุณธรรมของผู้ที่เกิดเป็นเทพเพราะกุศลกรรม แต่ว่าเทพจะมาหรือไม่มา ใครจะรู้ และถ้าปรากฏว่า มีบางท่านบอกว่า ขณะนั้นหรือขณะนี้ หรือขณะไหนก็ตาม มีเทพมาฟังธรรมมาก ท่านจะรู้สึกอย่างไร หรือว่าเฉยๆ หรือว่าไม่ใคร่ครวญในบุคคลผู้กล่าว ไม่ใคร่ครวญในถ้อยคำ

ท่านผู้ฟังกล่าวว่า มีความโน้มเอียงไปในทางที่ไม่ค่อยจะเชื่อ โน้มเอียงเท่านั้น แต่การที่จะพิจารณาเหตุผล ควรจะพิจารณาสอบสวนจริงๆ ว่า ที่กล่าวอย่างนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ในการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะกล่าวว่า เทพมาฟังธรรมกันมากทีเดียววันนี้ เทพชั้นต่างๆ มาฟังธรรมกันมาก ผู้กล่าวมีจุดประสงค์อะไรจึงกล่าวอย่างนั้น ต้องการจะให้บุคคลอื่นเห็นว่า เป็นบุคคลพิเศษที่สามารถจะเห็นเทพได้ ในเมื่อคนอื่นไม่เห็นหรือเปล่า และคนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่า คนนั้นเห็นจริงๆ หรือเปล่า ต้องเป็นคนพิเศษแน่ๆ ในเมื่อคนอื่นไม่เห็น และไม่ใช่เห็นเฉยๆ ยังกล่าวให้คนอื่นรู้ด้วยว่า มีเทพมามากมายทีเดียว ชั้นนั้น ชั้นนี้ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะใคร่ครวญ คิดดูถึงจุดประสงค์ของผู้กล่าวว่า เพื่อประโยชน์อะไร และผู้ที่กล่าวอย่างนั้น เห็นเทพจริงๆ หรือเปล่า ก็น่าที่จะคิด เพราะเหตุว่าการที่จะเห็นเทพได้จริง ต้องมีเหตุ ไม่ใช่ว่าไม่มีเหตุ บางท่านเจริญเหตุไม่สมควร คือ ไม่เพียงพอแก่การที่จะเห็นเทพ เกิดนิมิตและเข้าใจว่าเห็นเทพจริงๆ ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการหลอกตัวเองด้วย หลอกบุคคลอื่นด้วย

เพราะฉะนั้น เรื่องของเทพ เป็นเรื่องที่ถึงแม้มีจริง แต่ไม่ใช่ว่าทุกท่านจะได้เห็น ถึงแม้ว่าเทพมีจริง ก็เป็นเรื่องของกำเนิดหนึ่งที่เป็นผลของกรรม

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนนี้ท่านเป็นผู้ที่ติดเทพมากทีเดียว และท่านก็เป็นผู้ที่สนใจในธรรม ภายหลังท่านได้ศึกษาธรรม และท่านเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งก่อนนั้น ท่านทำวิปัสสนาแบบต่างๆ ตามที่ได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ได้ละความติดในเทพเลย ต่อเมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านที่เคยเป็นผู้ที่ติดเทพก็กล่าวว่า เทพนั้นถึงมีจริง ก็เหมือนไม่จริง เพราะไม่เห็น

เปิด  306
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565