แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 314

สุ. เรื่องของแต่ละบุคคลที่สะสมมา เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ พระเจ้า พิมพิสารเป็นพระอริยสาวก มหาอำมาตย์ของแคว้นราชคฤห์และแคว้นอื่นๆ ก็เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังเป็นผู้กระทำกิจของตน และเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสของตน โดยที่จะไปเปลี่ยนบุคคลนั้นให้กลายเป็นบุคคลอื่นก็ไม่ได้ แต่สำหรับท่านที่มีฉันทะ มีอุปนิสัยที่จะละอาคารบ้านเรือนเป็นบรรพชิต แม้ท่านจะเป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็มีอุปนิสัยที่จะละอาคารบ้านเรือน รู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศของบรรพชิต เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็มีเหตุมีปัจจัยสะสมมาที่จะเป็นบุคคลนั้น

การเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค การเป็นพุทธบริษัท หรือการเป็นพระอริยเจ้า ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงบุคคลนั้น ให้เลิกกิจการงานที่ได้สะสมมา แต่ว่าจะดับกิเลสให้หมดสิ้นไป เป็นประโยชน์แก่สังคมมากขึ้น อย่างพระเจ้าพิมพิสาร ท่านก็ไม่ได้สละสมบัติ ท่านก็เป็นพระอริยสาวก เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะเหตุว่าท่านไม่ได้สะสมมาที่จะละอาคารบ้านเรือนเป็นบรรพชิต แต่บุคคลใดที่สะสมมาที่จะละอาคารบ้านเรือนเป็นบรรพชิต ทำประโยชน์แก่พระศาสนาในทางธรรม นั่นก็เป็นสิ่งที่บุคคลอื่นบังคับบัญชาไม่ได้ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติจะทราบว่าทุกอย่างนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัยแม้ตัวท่านเอง และบุคคลอื่น และถ้ายิ่งดับกิเลสได้มากเท่าไร ก็เป็นประโยชน์แก่ธรรมและแก่โลกมากเท่านั้น เพราะเหตุว่าสามารถที่จะทำประโยชน์ให้แก่โลกได้มากขึ้น โดยที่ไม่มีกิเลส ไม่มีอกุศล ไม่มีความเห็นแก่ตัวเอง ที่จะไปทำประโยชน์แก่สังคมลดน้อยลง

ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเขียนมาจาก บ้านเลขที่ ๒/๑ ซอยอรรถวิมล ถนนราชปรารภ กรุงเทพมหานคร

วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖

เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ

ผมได้ติดตามฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์มาประมาณ ๔ ปีเศษแล้ว จะขาดไปบ้างในบางครั้งที่เดินทางไปต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ ซึ่งถึงแม้ว่าผมจะได้นำวิทยุติดตัวไปด้วย แต่ก็เปิดรับไม่ได้ ผมสนใจเรื่องพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กขณะนี้ผมอายุได้ ๕๗ ปีแล้ว เมื่อเด็กคุณแม่สอนให้สวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญตักบาตรเมื่อเติบใหญ่ก็ได้เรียนเรื่องพุทธศาสนาในโรงเรียนมัธยมชั้นสูง ผมได้เคยไปสังเกตการณ์การสังคายนาที่ประเทศพม่า เคยเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ณ ประเทศอินเดียถึง ๒ ครั้ง เคยสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ใหญ่แห่งมหาวิทยาลัย นาลันทา รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ไทยผู้คงแก่เรียนหลายรูป ปรากฏได้ผลสรุปเพียงว่าศาสนาพุทธมุ่งสอนให้มนุษย์ละกิเลส อันได้แก่ โกรธ โลภ หลง ผู้ใดละกิเลสดังกล่าวเป็นสมุจเฉทได้จึงจะได้เป็นพระอรหันต์ แต่ก็มาสงสัยอยู่ในปัญหาที่ว่า มนุษย์จะละกิเลสได้อย่างไรหนอ ผมเองก็ได้พยายามสกัดกั้นกิเลสอย่างแข็งขัน แต่ก็ไม่พบผลสำเร็จแต่ประการใด

ในการสังคมกับพระภิกษุบางท่าน ก็ยังไม่พบว่าท่านผู้ใดได้ละกิเลสแล้วโดยเด็ดขาด มีมิตรสหายหลายท่านเคยเข้าสำนักปฏิบัติ นั่งหลับตาภาวนากระทั่งตัวแข็งทื่อ เมื่อท่านผู้นั้นกลับออกมาจากห้องปฏิบัติ ก็คงปรากฏกิเลสเช่นเดิม ยิ่งทำให้ผมสงสัยลังเลใจมาก ชวนให้คิดไปว่า ศาสนาพุทธนี้คงจะเป็นไปได้เฉพาะพระพุทธองค์และพระอรหันต์ในยุคของพระพุทธองค์เท่านั้น คงจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติสำหรับคนยุคปัจจุบันนี้แน่นอน

อย่างไรก็ดี ผมก็มิได้ละความเพียร ผมได้ซื้อตำรับตำราทั้งภาษาไทยและต่างประเทศมาอ่าน มีตำราภาษาไทยบางเล่มสอนให้นั่งกายตรง ขาขวาทับขาซ้ายหลับตา ให้จิตกำหนดอยู่ที่ท้อง ยุบหนอ พองหนอ ผมก็ได้ปฏิบัติดู รู้สึกว่าไม่ยากเย็นอะไร แต่บางทีก็นึกขำอยู่คนเดียวโดยนึกว่า ปรัชญาของพุทธะทำไมถึงได้ง่ายอย่างนี้ไม่เห็นลึกซึ้งอะไรเลย ตำราได้อธิบายว่า ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็จะผ่านฌานขั้นสูงไปตามลำดับ จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งนิพพาน ฟังดูแล้วก็ยิ่งสงสัย เพียงแต่หลับตา ยุบหนอ พองหนอ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือว่าตนเองยังโง่และเต็มไปด้วยอวิชชาอยู่ หนังสือยังได้อธิบายว่า การทำใจให้เป็นสมาธิ จะทำให้จิตในขณะนั้นเป็นสมาธิ ข้อนี้ผมพอจะเข้าใจ เพราะเป็นความจริงแบบกำปั้นทุบดินไม่ว่า คราวใดถ้าจิตมีสมาธิแน่วแน่อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตในขณะนั้นก็ไม่ได้มีเวลาคิดในทางกิเลสอกุศล แต่ครั้นจิตเลิกเป็นสมาธิ มันก็เริ่มพอกพูนด้วยกิเลสตามเดิมอีก ครั้นจะนั่งทำสมาธิติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งชีวิตดับลง มันก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

ในเช้าวันหนึ่งซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๕ ปีมาแล้ว ผมเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศก็ได้เปิดวิทยุเพื่อหารายการต่างๆ ฟัง เผอิญพบคลื่นของสถานีที่ท่านอาจารย์กำลังบรรยายธรรมอยู่ เนื่องจากเป็นอัธยาศัยอยู่แล้ว จึงฟังไปเรื่อยๆ พอจบลงก็เกิดความโสมนัส อาจารย์ได้บรรยายถึงเรื่องสติปัฏฐานว่า เป็นทางสายเดียวเพื่อเป็นการละกิเลส โดยได้กล่าวถึงโลกอันเต็มไปด้วยนามและรูป ซึ่งปรากฏขึ้นแล้วดับไป ณ ทวารต่างๆ ลักษณะอันเป็นไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ผมรู้สึกตื่นเต้นที่สุดรำพึงในใจว่า ความเป็นอัจฉริยะของพระพุทธองค์อยู่ตรงนี้เอง นักปราชญ์ซึ่งมีชื่อเสียงเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีมานี้ ก็เพิ่งจะค้นพบทฤษฎีแห่งความเคลื่อนไหวของวัตถุ หรือที่เรียกว่า อนิจจังของวัตถุ ตลอดจนทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้ง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ พระพุทธองค์ทรงค้นพบกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว พระพุทธองค์ยังได้ทรงค้นพบคุณประโยชน์ของทฤษฎีนี้เมื่อนำไปประยุกต์เข้ากับเรื่องของชีวิต ทำให้บังเกิดผล คือ นิพพานขึ้น อันเป็นเรื่องสุดยอดของวิทยาการทั้งหลาย ทฤษฎีของพระองค์เป็นทางปฏิบัติเพื่อคลายกิเลสได้แน่นอน มีเหตุและผลรับกันและเป็นวิทยาศาสตร์ นับได้ว่า ผมได้พบคำอธิบายที่ผมได้ไขว่คว้ามาช้านาน ตั้งแต่เช้าวันนั้นเป็นต้นมา

ผมเขียนจดหมายนี้มา เพื่อเป็นการบูชาพระคุณของท่านอาจารย์นั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ก็ใคร่ที่จะสมทบข้อคิดเห็นในปัญหาบางเรื่องซึ่งท่านผู้ฟังบรรยาย บางท่านได้ทำการซักถามครั้งแล้วครั้งเล่า อันได้แก่ ปัญหาเรื่องห้องปฏิบัติและเรื่องรูปนั่ง

สำหรับปัญหาเรื่องห้องปฏิบัตินั้น ถ้ามุ่งใช้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติสมาธิในทางสมถกัมมัฏฐานก็คงจะไม่มีปัญหา เพราะเป็นที่ไม่พลุกพล่าน ตัดไปจากการสังคมญาติมิตร แต่ถ้าจะใช้สำหรับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว ก็เป็นการเข้าใจผิด การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น คือ การที่สติพิจารณาการเกิดดับของรูปนาม ถ้าตั้งคำถามขึ้นว่า รูปนามเกิดดับอยู่ที่ไหนเล่า คำตอบก็คือ รูปนามเกิดดับทางทวารต่างๆ นั่นเอง และโดยไม่จำกัดว่า เราจะอยู่ที่บ้าน ที่ตลาด ห้องรับแขก ห้องนอนห้องครัว ห้องปฏิบัติ หรือยานอวกาศ ในเมื่อเราทราบว่า รูปนามเกิดดับที่ทวาร โดยไม่จำกัดสถานที่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใด เราจะเจริญสติปัฏฐานในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อจะได้ไหม ก็ต้องตอบว่าได้

บางท่านได้กล่าวว่า การเรียนหนังสือยังต้องมีโรงเรียนและครูผู้สอน การไปห้องปฏิบัติก็คือการไปเรียนหนังสือกับครูที่โรงเรียน ข้อนี้เป็นการเปรียบเทียบที่ดีมากแต่ท่านลืมไปว่า สถานที่มีการบรรยายธรรมนั่นแหละคือโรงเรียน ส่วนผู้บรรยายแต่ละท่านก็คือครู การเจริญสติก็อาศัยปัจจัยเดียวกัน ฟังคำอธิบายจนเข้าใจแล้ว จึงจะเจริญได้ เมื่อยังไม่เข้าใจ ก็ทำการไต่ถามจนเข้าใจ ถ้าจะเจริญสติแต่ละครั้งจำเป็นต้องอาศัยห้องปฏิบัติพิเศษแล้ว พระอรหันต์ผู้ซึ่งมีปกติมีสติอยู่เป็นนิจจะทำอย่างไร การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเผชิญหน้าไม่ใช่การหลีกเร้น กิเลสที่บุกรุกเข้ามาเกาะใจเรานั้นมันผ่านเข้ามาทางทุกทวาร ฉะนั้น การป้องกัน หรือขับมันออกไป ก็ต้องเป็นหน้าที่ของสติปัญญาแต่ละทวารครบถ้วนทุกทวารเช่นเดียวกัน สติจะต้องติดตาม รู้นาม รู้รูปที่เกิดดับ เมื่อเราเผชิญหน้ากับของหอมหรือของเหม็น ของอร่อยหรือไม่อร่อย บุรุษหรือสตรีร่างงาม กับศพที่ขึ้นอืด คำสรรเสริญหรือผรุสวาท อารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจอารมณ์ที่เป็นกุศลหรืออกุศล เพื่อปัญญาจะได้แทงตลอดว่า นามและรูปไม่ว่าจะเกิดขึ้นทางทวารใด ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป หาสาระอันใดไม่ได้เลย

เมื่อปัญญารู้ชัดดังนี้แล้ว การปล่อยวางก็มีขึ้น การยึดถือก็ไม่มี ความเร่าร้อนอันเกิดจากการเผาผลาญของกิเลสก็หายไป ปรากฏแต่ความชุ่มฉ่ำ อิ่มเอิบเข้ามาแทนที่

ส่วนรูปนั่งนั้น ผมเคยได้ยินคำชี้แนะจากอาจารย์บางท่านว่า ให้นั่งขัดสมาธิหลับตาแล้วส่งใจออกไปดูรูปนั่งของตัวเราเอง อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้มีผู้ฟังท่านหนึ่งถามท่านอาจารย์เป็นทำนองว่า ขณะที่ท่านอาจารย์บรรยายอยู่นั้น ตาของท่านอาจารย์ได้เห็นหรือเปล่าว่า ท่านผู้ฟังต่างก็นั่งอยู่ เมื่อรูปนั่งมีจริงแล้วจะปฏิเสธได้อย่างไร ผมรู้สึกว่าคำถามนี้ ผู้ถามอาจเข้าใจงานของจิตที่ปฏิบัติต่อนามและรูปในการเจริญสติไม่แจ่มแจ้งพอ

ในการเจริญสตินั้น รูปที่ปรากฏทางตา เราถือเอาเฉพาะสีสันวัณณะ ทันทีที่มากระทบสัมผัสกับจักขุปสาท ส่วนการที่จะรู้ว่าเป็นคน ผู้หญิง ผู้ชายกำลังนั่ง กำลังยืนหันซ้าย แลขวา นั่นเป็นงานต่อมาของนามประเภทอื่น แม้ทางทวารอื่นก็โดยนัยเดียวกัน

ในขณะที่ท่านอาจารย์บรรยายอยู่นั้น สมมติว่าท่านอาจารย์จะได้ใช้เวลาช่วงว่างเพียงแวบเดียวเจริญสติทางตา สติของท่านอาจารย์ก็จะระลึกรู้สีที่ปรากฏทันทีที่กระทบสัมผัส

ข้อความต่อไปเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องส่วนตัวของดิฉันเอง ซึ่งจะขอข้ามไป

การเจริญสติเป็นเรื่องปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต หรืออนาคต ส่วนรูปนั่งนั้น เป็นท่าทางของสิ่งประชุมรวมกัน อนึ่ง ถ้าจะถือว่าท่านั่งจัดเข้าอยู่ในหมวดอิริยาบถก็ผิดอีก เพราะเรื่องอิริยาบถเป็นเรื่องที่จิตพิจารณากิริยาหรืออาการที่ไหวไปของกาย เพื่อปัญญารู้ชัดว่า กิริยาที่ไหวไปนั้นเป็นขึ้นเพราะลม และจิตที่คิดเป็นปัจจัยร่วมกัน พึงเข้าใจด้วยว่า จิตที่คิด และจิตที่สั่งนั้น อันแรกถูก อันหลังผิด

เมื่อจิตเป็นอนัตตาแล้ว จิตจะสั่งอะไรไม่ได้เลย ถ้าจิตสั่งได้จริงแล้ว การบำเพ็ญเพียรเพื่อมรรคผลนิพพานก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไร เพียงแต่ให้จิตสั่ง ก็สำเร็จ ถ้าตราบใดยังถือว่าจิตเป็นตัวตน ก็ไม่มีทางเข้าถึงวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ แม้ขณะที่ท่านอาจารย์บรรยายธรรมอยู่ ก็ไม่ใช่ว่า จิตของท่านอาจารย์สั่งให้ท่านอาจารย์ต้องพูดอย่างที่พูด คำบรรยายทั้งหลาย ย่อมเป็นงานของจิตที่เป็นอนัตตา ได้ปฏิบัติไปตามปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่เป็นปัจจัยมี อาทิเช่น ปัญญาของท่านอาจารย์ที่เกิดจากการศึกษาใคร่ครวญจากคำสอนของพระพุทธองค์ ประกอบกับกุศลเจตนาอันเป็นคุณสมบัติของจิตที่ไม่คิดจะหลีกเร้นเฉพาะตัว แต่คิดไปในทางที่จะปฏิบัติวิทยาทานนั้นด้วย

ก่อนจบจดหมายนี้ ผมขอฝากข้อคิดข้อหนึ่งมายังท่านผู้ฟังที่เพิ่งเริ่มฟังว่า จำเป็นมากที่จะต้องทำความเข้าใจในความรู้ขั้นพื้นฐาน อันเกี่ยวกับรูปนามของแต่ละทวารให้ถ่องแท้ เรื่องอื่นๆ ก็จะเข้าใจง่ายขึ้น ข้อคิดเห็นที่ผมเสนอมาในจดหมายนี้ อันที่จริงก็ประมวลมาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์ ถ้าได้ล่วงเกินท่านผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิได้มีเจตนา ก็ขอได้โปรดอโหสิกรรมด้วย

สุดท้ายนี้ ผมขอส่งกุศลจิตมาบูชาคุณของท่านอาจารย์ และความปรารถนาดีมายังท่านผู้ฟังทุกท่าน ความสำเร็จมรรคผลนิพพาน จงบังเกิดมีแด่ทุกท่านเทอญ

ด้วยความเคารพ

สุ. ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านเจ้าของจดหมาย ท่านผู้ฟังมีอะไรที่สงสัย หรือที่เป็นความคิดเห็นของท่านประการอื่นอีกบ้างไหม

ถ. ตามจดหมายของท่านผู้ที่เขียนมานี้ รู้สึกว่ามีความเรียบร้อยดีมาก และรู้สึกว่าท่านเข้าใจอะไรๆ อยู่มากทีเดียว แต่ยังมีสะกิดอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปัญหาเรื่องรูปนั่ง ซึ่งปัญหานี้ความจริงท่านอาจารย์ก็ได้อธิบาย หรือว่าแยกแยะออกไปมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจให้ถ่องแท้แก่บางท่านได้ ผมใคร่จะขอทบทวนอีกสักหน่อย ขออภัยท่านอาจารย์ และท่านผู้ฟังด้วย ถ้าจะผิดพลาดไปประการใด

เรื่องรูปนั่ง ความจริงตาเห็นสีเท่านั้นเอง และสีที่เห็นกับสีที่เพดานนี้ หรือสีที่พื้นนี้ หรือสีที่ไหนๆ ก็สีทั้งนั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แม้กระทั่งภาพที่ปรากฏเป็นรูปร่างท่าทางอะไรต่างๆ นั้น ก็แค่สี แต่ถ้าถามใครว่าเห็นอะไร เขาก็ต้องบอกว่า เห็นคนนั่ง นี่แหละที่ยังสับสนกันอยู่ว่า ทำไมสีจึงกลายเป็นคนนั่งไปได้

สีก็เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ทีนี้คนนี่มาจากไหน คนนี่ก็บัญญัติมาจากสีหรือตั้งชื่อให้แก่สีนั้นเอง ที่เป็นเว้าๆ แหว่งๆ โหว่ๆ ก็มาตั้งชื่อว่าอย่างนี้ เป็นคนอย่างนี้เป็นแมวอย่างนี้ เป็นช้างอย่างนี้ เป็นนกอย่างนี้ เป็นงูอย่างนี้ ก็ตั้งชื่อให้แก่สีนั้น เมื่อตั้งชื่อให้แก่สีแล้วเช่นนั้น อาการต่างๆ ก็ปรากฏออกมา เช่นว่า มีท่าทางนั่งบ้าง ยืนบ้าง นอนบ้าง บินบ้าง เลื้อยบ้าง ว่ายน้ำบ้าง สารพัดที่จะตั้งชื่อขึ้นมา ตั้งขึ้นมาทำไม ก็ตั้งขึ้นมาเพื่อจะได้รู้กันว่า สิ่งนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่จะไปนึกว่าสีอย่างเดียวแล้วไม่สามารถจะพูดอะไรกันได้ ไม่รู้เรื่องกัน การตั้งชื่อนี้ ชื่อต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา พอตั้งชื่อเสร็จแล้ว ก็มาติดอยู่ที่ชื่อนี้เอง พอติดที่ชื่อนี้ ก็เอาชื่อเหล่านี้มาไว้ในใจ มีอะไรปรากฏขึ้นก็บอกว่านี่คน นี่สัตว์ แต่เราลืมไปอีกจุดหนึ่งว่า การปฏิบัติวิปัสสนา หรือการเจริญสตินี้ มีหลักเกณฑ์อยู่ประการหนึ่งซึ่งสำคัญมากว่า จำเป็นที่จะต้องถอนความเป็นตัวตน ถอนความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลออก เมื่อถอนออกแล้ว รูปนั้นจะอยู่กับอะไร คนสัตว์ไม่มีแล้ว ท่าทางเหล่านั้นจะมีอะไรอยู่ ท่าทางเหล่านั้นก็ดี เดินก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ก็ตั้งชื่อมาจากสิ่งที่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอัตตานั่นเอง เมื่อถอนสิ่งเหล่านั้นออกเสียแล้ว ก็มีแต่สี ธรรมชาติของสีนั้นเอง และสีนี้โดยปรมัตถ์แล้ว นั่งได้หรือ ยืนได้หรือ นอนได้หรือ ทุกคนก็พอจะตอบได้ว่า สีนี้นั่งนอน ยืน เดินอะไรไม่ได้เลย

ทีนี้เราเข้าใจกันอย่างไรจึงบอกว่า รูปนี้เป็นนั่ง นั่งนี้เป็นบัญญัติ จริงๆ ใน สติปัฏฐานเขาก็มีบัญญัติไว้เหมือนกัน บอกไว้ว่า เป็นเรื่องอิริยาบถ

เปิด  290
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566