แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 317

สุ. สำหรับการที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ ขอตอบรวมกับจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเขียนมาเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ มีข้อความว่า

เรียน อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพ

ผมเป็นผู้หนึ่งที่ได้ฟังคำบรรยายของอาจารย์ทางวิทยุอยู่บ่อยครั้ง ได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นอีกมิใช่น้อย จึงขอขอบพระคุณเป็นอย่างมากไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

ข้อความที่อาจารย์บรรยายนั้น ผมเห็นด้วยเป็นส่วนมาก มีอยู่อย่างเดียวที่ไม่เห็นด้วย คือ การเข้าห้องปฏิบัติตามสำนักที่มีอาจารย์คอยแนะนำอย่างถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้รู้สึกว่าอาจารย์จะไม่เห็นชอบด้วย จริงไหมครับ สำหรับตัวผมเองนั้น ได้เคยเข้าห้องปฏิบัติมาแล้ว มีความรู้สึกว่าได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ถ้าผมไม่ได้เข้าห้องปฏิบัติแล้ว ก็คงไม่รู้เรื่องของวิปัสสนาเท่าที่ควรเลย จริงอยู่ การฟังและนำไปปฏิบัติโดยลำพังนั้น เป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แต่จะให้ได้ผลเท่ากับการปฏิบัติในสำนักที่มีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถคอยแนะนำพร่ำสอนอยู่เสมอนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่เว้นเสียแต่บางคนที่มีปัญญาเก่งกล้า วาสนาบารมีสูงส่งอยู่แล้วเท่านั้น

ในสมัยพุทธกาลนั้น แม้มิได้มีคำกล่าวว่าเข้าห้องปฏิบัติก็จริง แต่ก็มีคำกล่าวว่าได้เรียนกัมมัฏฐานจากพระศาสดาหรือพระสาวกแล้วไปสู่เสนาสนะอันสงบ สงัด เพื่อให้ได้กายวิเวก การไปสู่เสนาสนะอันสงบสงัดเช่นนั้น ก็คล้ายกับการเข้าห้องกัมมัฏฐานในสมัยปัจจุบันนี้นั่นเอง สำหรับบุคคลที่ได้เคยผ่านการปฏิบัติในห้องกัมมัฏฐานจนได้ความรู้พอสมควรแล้ว ออกมายังโลกภายนอกก็ไม่ควรจะละทิ้งเสียเลยควรจะได้ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตนต่อไป นั่นก็คือ การปฏิบัติโดยใช้สติสัมปชัญญะกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์อยู่เสมอเท่าที่สามารถจะทำได้ตลอดไป

ฉะนั้นจึงขอเรียนมาเพื่อให้อาจารย์ได้รับทราบ ในทัศนะของผู้ฟังคนหนึ่งว่ามีอยู่เช่นนี้ จะผิดถูกประการใด ก็ต้องขออภัย และกรุณาให้ความกระจ่างตามสมควรด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูง

ด้วยความนับถือ

ผู้ฟัง

สุ. เรื่องนี้ได้กล่าวถึงมากและบ่อย และความละเอียดปลีกย่อยก็ได้กล่าวถึงหลายครั้งทีเดียว แต่เพราะเหตุว่าท่านผู้ฟังท่านนี้ได้เขียนมาว่า กรุณาให้ความกระจ่างตามสมควรด้วย เพราะฉะนั้น ก็จะขอกล่าวถึงข้อปลีกย่อย ความละเอียดในการที่จะเข้าใจถึงการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะท่านใช้คำที่แสดงความมั่นใจทีเดียวว่า การปฏิบัติของท่านนั้นถูกต้องแล้ว

ท่านกล่าวว่า ข้อความที่บรรยายนั้น ผมเห็นด้วยเป็นส่วนมาก มีอยู่อย่างเดียวที่ไม่เห็นด้วย คือ การเข้าห้องปฏิบัติตามสำนักที่มีอาจารย์คอยแนะนำอย่างถูกต้อง

แต่เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ท่านควรที่จะชี้แจงความถูกต้องของการปฏิบัติ เพื่อผู้ฟังท่านอื่นๆ จะได้พิจารณา ใคร่ครวญ สอบสวนว่าการปฏิบัติอย่างนั้น จะทำให้เกิดปัญญาที่รู้ของจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงหรือไม่

ท่านกล่าวว่า สำหรับตัวผมเองนั้น ได้เคยเข้าห้องปฏิบัติ มีความรู้สึกว่า ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล

นี่ก็เช่นเดียวกัน เรื่องประโยชน์เป็นเรื่องที่เพียงได้ฟัง อย่าเพิ่งชื่นชมอนุโมทนาหรือว่าอย่าเพิ่งคัดค้าน เพราะถ้าเพียงแต่บอกคนอื่นว่าได้ประโยชน์มหาศาล คนที่ขาดการพิจารณาก็จะชื่นชมทันทีว่าได้ประโยชน์มาก แต่ประโยชน์มหาศาลนั้น คือ อย่างไร เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังในขณะนี้ ท่านได้ทราบว่า มีผู้หนึ่งที่ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการเข้าห้องปฏิบัติ ท่านสนใจไหมที่จะทราบว่าประโยชน์มหาศาลนั้นคืออะไร หรืออะไรจะเป็นประโยชน์มหาศาลในขณะนี้ เมื่อได้ยินได้ฟังอะไร ต้องใคร่ครวญทันที สำหรับท่านผู้ฟังที่ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานประโยชน์มหาศาลคืออะไร เพราะเหตุว่าประโยชน์ที่จะมหาศาลจริงๆ ต้องเป็นการรู้ตรงของจริง เพราะฉะนั้น ถ้าการไปปฏิบัติ ไม่ทำให้ปัญญารู้ตรงของจริงที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จะยึดถือเชื่อว่าเป็นประโยชน์มหาศาลไม่ได้

การอบรมปัญญา ท่านจะต้องสังเกต สำเหนียกในขณะที่อบรมว่า ปัญญารู้ตรงของจริงหรือเปล่า นี่เป็นเบื้องต้นทีเดียวที่จะทำให้ปัญญาสมบูรณ์ คมกล้า สามารถที่จะแทงตลอดสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นของจริงตรงตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ท่านผู้ฟังจะต้องสังเกต สำเหนียกในการอบรมเจริญปัญญาว่า การอบรมเจริญสตินั้น ปัญญารู้ตรงของจริงหรือเปล่า ท่านจะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ถ้าปัญญารู้ตรงของจริง นี่จึงจะชื่อว่าประโยชน์มหาศาล ผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะไม่หวั่นไหวเลย เพราะเหตุว่าของจริงกำลังปรากฏ สติระลึกรู้ลักษณะของจริงที่กำลังปรากฏเป็นปกติ

เคยมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้ถามดิฉันว่า ได้ไปเยี่ยมเยียนสำนักปฏิบัติแห่งหนึ่งหรือยัง เขาทำกันจริงๆ และผู้ที่เป็นอาจารย์ที่แนะนำนั้น ก็แนะนำให้ทำจริงๆ ไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ แต่ท่านก็บอกว่าคอยแนะนำอย่างถูกต้อง

ท่านกล่าวว่า จริงอยู่ การฟังแล้วนำไปปฏิบัติโดยลำพังนั้น เป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แต่จะให้ได้ผลเท่ากับการปฏิบัติในสำนักที่มีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถคอยแนะนำพร่ำสอนอยู่เสมอนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่

การฟังธรรมนี้ ฟังที่ไหนก็ได้ เป็นเรื่องจริง ตรงกับสภาพธรรมที่ปรากฏตาม พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ท่านจะฟังธรรมจากใครที่ไหนได้ทั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรฟังจากท่านพระอัสสชิ ซึ่งท่านอัสสชิฟังจากพระผู้มีพระภาค และท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ฟังจากท่านพระสารีบุตร ต้องเลือกที่ฟังหรือเปล่าว่า การฟังธรรมนั้น จะต้องไปฟังที่สำนักปฏิบัติจึงจะได้ผล

พระนางสามาวดีฟังธรรมจากขุชชุตตราอุบาสิกา ต้องเลือกที่ฟังอีกหรือเปล่า หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นเอตทัคคะฝ่ายอุบาสิกา ผู้เลิศกว่าอุบาสิกาสาวิกาผู้เลื่อมใสโดยได้ยินได้ฟังตามก็มี คือ นางกาฬีอุบาสิกา ชาวกุรรฆริกา พระผู้มีพระภาคทรงตั้งไว้ว่า เป็นผู้เลิศกว่าพวกอุบาสิกาสาวิกาผู้เลื่อมใสโดยได้ยินได้ฟังตาม นางกาฬีไม่เคยฟัง พระธรรมจากพระผู้มีพระภาค แต่ว่าได้ฟังตามจากผู้ที่ได้ฟังแล้ว

ธรรม ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นของอาจารย์หนึ่งอาจารย์ใด ที่สำนักหนึ่งสำนักใด ถ้าเป็นธรรมที่ตรงตามความเป็นจริง ท่านจะฟังจากใคร ที่ไหนก็ได้ ท่านจะฟังจากวิทยุก็ได้ หรือว่าท่านผู้ฟังที่สนทนากันนี้ ท่านจะสนทนาธรรมกันที่ไหน ก็เป็นเรื่องเกื้อกูลสหายธรรมของท่านในธรรมที่ปรากฏ ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้ได้ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่จำกัดว่าการฟังนั้น จะต้องไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใด ท่านจะฟังธรรมที่ไหนก็ได้ และท่านก็มีความเข้าใจ มีความแยบคายในการพิจารณาธรรมนั้นให้ถูกต้อง เมื่อถูกต้องแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นของจริงที่กำลังปรากฏ นี่จึงเป็นประโยชน์มหาศาล

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องไตร่ตรอง เทียบเคียงว่า ประโยชน์มหาศาลนั้นคืออย่างไรกันแน่ อย่าเพิ่งชื่นชมอนุโมทนา หรือว่าอย่าเพิ่งคัดค้าน แต่จะต้องฟังเสียก่อนว่า ประโยชน์มหาศาลที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดเข้าใจนั้น ตรงกับประโยชน์มหาศาลตามความเป็นจริงหรือไม่ เพราะถ้าสติปัญญาไม่ระลึกรู้ของจริงที่กำลังปรากฏจนรู้ชัดตามปกติตามความเป็นจริงแล้ว จะชื่อว่าประโยชน์มหาศาลไม่ได้ เนื่องจากบุคคลนั้น ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้

ขอเล่าถึงการสนทนาของภิกษุชาวต่างประเทศ ๒ รูป ภิกษุท่านหนึ่งเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และท่านเองก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งท่านก็ได้ไปสู่สำนักหนึ่ง ไม่ใช่สำนักปฏิบัติ ได้ไปสู่สำนัก คือ พระอารามแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด ท่านบอกว่า เป็นสำนักที่ดีมาก เป็นสัปปายะมากทีเดียว

พระภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นผู้ที่เข้าใจว่า ประโยชน์จะเกิดจริงๆ ก็ต่อเมื่อไปสู่สำนักปฏิบัติ เมื่อได้ฟังอย่างนี้ก็ตื่นเต้นดีใจว่า มีสำนักที่เป็นสัปปายะอย่างมาก ท่านก็ถามว่า ที่ว่าสำนักนั้นเป็นสัปปายะดีมากนั้น คืออย่างไร ภิกษุท่านนั้น ก็กล่าวตอบว่าที่อารามสำนักแห่งนั้นเป็นสัปปายะ เพราะเหตุว่าเป็นสำนักที่ร่มรื่น เป็นธรรมชาติห่างไกลผู้คนอึกทึกวุ่นวายพอสมควร และพระภิกษุทุกรูปในพระอารามนั้น ก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ทำกิจการงานใหญ่น้อยของสงฆ์ตามพระวินัย

สำหรับเรื่องนี้ ขอกล่าวถึงข้อความใน ตติยสมันตปาสาทิกาแปล มหาวรรควรรณาตอน ๑ ซึ่งเป็นการให้อุปสมบทแก่พวกอัญญเดียรถีย์ที่อยู่ปริวาส ๔ เดือน ซึ่งเป็นระยะที่จะทดสอบดูศรัทธาและความประพฤติว่า ควรจะให้อุปสมบทในพระศาสนาหรือไม่ มีข้อความที่เกี่ยวกับเรื่องการงานว่า

สองบทว่า อุจฺจาวจานิ กึกรณียานิ ได้แก่ การงานใหญ่น้อยทั้งหลาย บรรดาการงานสองอย่างนั้น การงานมีปฏิสังขรณ์เจดีย์และมหาปราสาท เป็นต้น ที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันพึงตีระฆังประชุมกันทำ จัดเป็นการงานใหญ่ การงานที่นับเนื่องในขันธกะ มีชุนและย้อมจีวร เป็นต้น และอภิสมาจาริกวัตร มีวัตรที่ภิกษุควรทำในโรงเพลิง เป็นต้น จัดเป็นการงานน้อย

นี่เป็นกิจของสงฆ์ ซึ่งมีทั้งการงานใหญ่และการงานน้อย ถ้าอัญญเดียรถีย์ที่ต้องการจะอุปสมบทในพระธรรมวินัย เป็นผู้ที่เกียจคร้าน หลีกเลี่ยงไม่ช่วยสงฆ์ทำกิจการงานใหญ่น้อยนี้ ก็จะเป็นผู้ที่สงฆ์ไม่ยินดีให้อุปสมบท นี่จะเห็นได้ว่าพระภิกษุทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในเพศของบรรพชิต

ข้อความต่อไปมีว่า

ถ้ากำลังอยู่ปริวาส ยังสมาบัติให้เกิดได้ในระหว่างอยู่ปริวาส ธรรมดาผู้ได้ โลกียธรรม ยังกำเริบได้เป็นแน่ จึงยังไม่ควรให้อุปสมบท ต่อบำเพ็ญวัตรครบ ๔ เดือนแล้ว จึงควรให้อุปสมบท

ข้อความต่อไปมีว่า

และถ้ากำลังอยู่ปริวาส กำหนดมหาภูตรูปได้ กำหนดอุปาทายรูปได้ กำหนดนามรูปได้ เริ่มวิปัสสนา ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ธรรมดาผู้ได้โลกียธรรม ยังกำเริบได้เป็นปกติ จึงยังไม่ควรให้อุปสมบทอยู่นั่นเอง

ข้อความต่อไปมีว่า

แต่ถ้าเจริญวิปัสสนาแล้ว ได้โสดาปัตติมรรค วัตรเป็นอันบริบูรณ์แท้ ทิฏฐิทั้งปวงเป็นอันเธอรื้อแล้ว ลูกศร คือ วิจิกิจฉาเป็นอันเธอถอนขึ้นแล้ว ควรให้อุปสมบทในวันนั้นทีเดียว

ข้อความต่อไปมีว่า

ถ้าแม้เธอคงอยู่ในเพศเดียรถีย์ แต่เป็นโสดาบัน กิจที่จะต้องให้ปริวาสย่อมไม่มีควรให้บรรพชาอุปสมบทในวันนั้นแท้

ข้อนี้สำหรับใคร สำหรับพวกอัญญเดียรถีย์ที่มาเฝ้าฟังธรรม และรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน กิจที่จะต้องให้ปริวาสย่อมไม่มี ควรให้บรรพชาอุปสมบทในวันนั้นแท้

พระภิกษุที่ท่านเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านไปสู่สำนัก อารามของสงฆ์ต่างจังหวัด และเห็นว่าสำนักนั้นร่มรื่น เป็นสัปปายะ และภิกษุทั้งหลายก็กระทำกิจใหญ่น้อยตามพระวินัย ซึ่งดิฉันก็ได้กราบเรียนนมัสการถามว่า การปฏิบัติธรรมที่สำนักนั้น ที่เป็นสัปปายะนั้น ช่วยให้พระคุณเจ้าเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเป็นของจริงตามปกติในขณะนี้ได้หรือไม่ ซึ่งท่านตอบว่า ไม่ต่างกันเลย

นี่เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นผู้ที่ไม่ติดในสำนัก ไม่ติดในสถานที่ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้จากคำพูด ในแง่ที่ละเอียด ถ้าเป็นผู้ที่กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันได้ผลไม่เท่ากับการไปสู่สำนักปฏิบัติ นั่นเป็นผู้ที่ติดในสำนักปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานที่รู้ว่า นามธรรมหรือรูปธรรมเป็นของจริง ตามปกติ ในชีวิตของแต่ละคน ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอด ทำให้บุคคลนั้นบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า

เพราะฉะนั้น การฟังธรรม แม้ว่าเรื่องของประโยชน์มหาศาล ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ว่า เป็นเรื่องของการติดในสถานที่ ในสำนัก หรือเป็นการรู้แล้วละ

สำหรับพระภิกษุท่านนั้น ที่ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานและเห็นว่า สำนัก อารามสงฆ์แห่งนั้น ร่มรื่นเป็นสัปปายะ เวลาที่ท่านมีกิจอื่นที่ท่านจะต้องมากรุงเทพ หรือว่าไป ณ สถานที่อื่น ท่านก็ไปด้วยการที่ไม่อาลัย ไม่ติดไม่ข้องในสถานที่เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าท่านจะมาสู่กรุงเทพมหานครเพื่อการศึกษา หรือว่าจะไปสู่สถานที่อื่นด้วยกิจธุระ สติของท่านก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

ชีวิตของคฤหัสถ์ทั้งหลาย จริงๆ เต็มไปด้วยอะไรบ้าง โลกธรรม การได้ลาภการเสื่อมลาภ การได้ยศ การเสื่อมยศ การได้สรรเสริญ การถูกนินทา บางครั้งท่านได้สุข บางครั้งท่านได้ประสบกับความทุกข์ ชีวิตของบรรพชิตต่างกันหรือเปล่า ไม่ได้ต่างกันเลยใช่ไหม

ชีวิตของบรรพชิต ละอาคารบ้านเรือน ละมารดาบิดา ญาติพี่น้อง มิตรสหายโดยเพศ แต่โดยความจริง ในใจซึ่งยังมีกิเลสอยู่ ท่านยังมีเยื่อใยอยู่ในผู้ที่เป็นมารดาบิดา วงศาคณาญาติ มิตรสหายเพื่อนฝูงไหม หรือว่าพอท่านเป็นบรรพชิตแล้ว ท่านก็หมด ปลดปล่อยไปได้ แต่ความจริง ถึงแม้ว่าท่านจะละอาคารบ้านเรือนโดยเพศบรรพชิต แต่ใจที่ยังมีเยื่อใย ยังมีกิเลส ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ท่านจะพ้นจากโลกธรรม หรือจะพ้นจากความวิบัติไม่ได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ นำความทุกข์โทมนัสมาให้ทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ จะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของสถานที่เลย เพราะรู้ว่าปัญญาจริงๆ ต้องรู้ของจริงในชีวิตประจำวัน ถ้าปัญญาไม่มีกำลัง ไม่สามารถที่จะรู้ของจริงในชีวิตประจำวันได้ อย่าหวังที่จะรู้แจ้งแทงตลอด โดยการไม่อบรมปัญญาให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายเสมอกันหมด ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ ณ สถานที่ใดก็ตาม

การที่จะให้ปัญญารู้ถูกต้องตามความเป็นจริง เห็นความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงได้ ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงสถานที่ มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นการหวังโดยที่ไม่เจริญเหตุให้สมควรแก่ผล เพราะเหตุว่าไม่ระลึกรู้ลักษณะของจริงที่กำลังปรากฏ

ท่านผู้ฟังเขียนมาว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น แม้มิได้มีคำกล่าวว่า เข้าห้องปฏิบัติก็จริง อันนี้ท่านยอมรับว่าในครั้งพุทธกาลไม่มีคำกล่าวว่าเข้าห้องปฏิบัติ แต่ก็มีคำกล่าวว่า ได้เรียนกัมมัฏฐานจากพระศาสดาหรือพระสาวก แล้วไปสู่เสนาสนะอันสงบสงัดเพื่อให้ได้กายวิเวก การไปสู่เสนาสนะอันสงบสงัดเช่นนั้น ก็คล้ายกับการเข้าห้องกัมมัฏฐานในสมัยปัจจุบันนี้นั่นเอง

นี่เป็นการสรุปเองว่าคล้ายกัน คล้าย กับของจริง เหมือนกันหรือเปล่า ก็ไม่เหมือน

เปิด  267
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566