แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 323

ขออ่านจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นความคิดเห็นและเป็นชีวิตของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๕๙๐ ซอยตากสิน ๘ ถนนเจริญนคร บุคคโล กรุงเทพมหานคร

๑๓ มีนาคม ๒๕๑๖

กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพ

ความจริงดิฉันได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติกับท่านอาจารย์เป็นประจำ แต่ยังนับว่าเป็นนักเรียนใหม่อยู่ เพราะเพิ่งมาเรียนได้ ๓ – ๔ เดือนเท่านั้น แม้ว่าจะได้รับฟังการบรรยายมาก่อนหน้านี้ก็ตาม ดิฉันขอยอมรับว่า เพิ่งจะเริ่มเข้าใจแนวการสอนของท่านอาจารย์ ทั้งนี้ก็คงเป็นด้วยที่ไม่ได้อบรมสติปัญญาในอดีตมาเพียงพอ อีกประการหนึ่ง ในวัยเด็กจนเติบใหญ่ ดิฉันห่างไกลกับวัดและธรรมมาก ใช้เวลาร่วม ๑๓ ปีในโรงเรียนประจำของพวกมิชชันนารี และเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียน ก็ให้ความสนใจแต่การศึกษาทางโลก ดิฉันเริ่มสนใจและศึกษาพระพุทธศาสนาก็เมื่ออายุ ๒๕ ปีแล้ว และในขณะนั้นศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ จึงต้องอาศัยตำรับตำราที่ชาวพุทธตะวันตกเขียนขึ้น ซึ่งบางท่านก็นำเอาอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มาแทรกไว้ บางท่านก็เป็นชาวพุทธนิกายเซนของญี่ปุ่น และบางท่านก็แทรกเอาทัศนะของตนเองไว้ แต่ก็มีหลายท่านที่ได้จำกัดขอบเขตหัวข้อ ให้ตรงตามพุทธวจนะ

อย่างไรก็ตามกว่าดิฉันจะสามารถวิเคราะห์แยกได้ว่า ธรรมข้อใดเป็นพุทธวจนะ ธรรมใดเป็นเนื้องอก และธรรมใดที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในพุทธศาสนาเลย ก็ใช้เวลาอยู่หลายปี และก็ในประเทศไทยนี้เอง ธรรมที่สอนกันอยู่ก็แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในด้านปฏิบัติ อันเป็นเหตุให้ผู้ใคร่ในธรรม แต่ยังด้อยด้วยปัญญา พากันสับสนวุ่นวาย ดิฉันเองได้ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในสำนักต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน แต่ละสำนักก็มีข้อปฏิบัติแตกต่างกัน ดิฉันจึงไม่ทราบว่า การปฏิบัติสำนักใดถูกต้องตาม พุทธวจนะ แต่ทราบอยู่ข้อหนึ่งว่า การปฏิบัติบางแห่งนั้น แทนที่จะเป็นวิปัสสนา กลับเป็นสมาธิ จนกระทั่งได้มีโอกาสฟังการบรรยายทางวิทยุของท่านอาจารย์โดยบังเอิญ ในรายการตอนเช้าวันหนึ่ง เมื่อประมาณ ๖ – ๗ เดือนก่อน และในเวลาใกล้ๆ กันนั้น ดิฉันได้รับหนังสือ Buddhist Outlook on Daily Life โดย Nina Van Gorkom

จากคำนำในหนังสือ ดิฉันทราบว่า ผู้เขียนได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์ การที่ผู้เขียนได้อธิบายถึงวิธีนำธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันนั้น เป็นที่สนใจแก่ดิฉันและเพื่อนชาวต่างประเทศมาก

พระพุทธศาสนามีประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์ก็ตรงนี้เอง การที่ท่านอาจารย์เน้นหนักการบรรยายธรรมในข้อนี้ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์ที่สุด

ดิฉันใคร่ขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่า ดิฉันจับใจในข้อความที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้ในการบรรยายธรรมเมื่อ ๓ – ๔ สัปดาห์ก่อนนี้ว่า

ความรู้สึกหวั่นไหวก็ดี ความโกรธ ความกลัว ความรักก็ดี ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย จะบังคับบัญชาให้เกิดหรือไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะสภาวธรรมเหล่านี้เป็นอนัตตา ทำไมเราถึงต้องทำจิตให้สงบ หรือแสวงหาสถานที่ที่ทำให้จิตสงบ การรู้ การเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำให้จิตสงบขึ้น ทีละน้อย ก็ขอให้ท่านผู้ฟังเลือกเองว่า จะรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงเสียก่อน แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น จิตมีความสงบขึ้นภายหลัง หรือท่านจะเลือกวิธีทำจิตให้สงบ แต่ปัญญาไม่เกิด ที่จะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง

ขอประทานอภัย ที่ดิฉันไม่สามารถจดจำถ้อยคำของท่านอาจารย์ได้ จึงต้องใช้สำนวนของตนเอง ซึ่งค่อนข้างจะเยิ่นเย้ออยู่สักหน่อย อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวเป็นความจริงแท้ ก็เมื่อโลกปรากฏแก่เราในปัจจุบัน เราก็จะต้องเผชิญกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

เหตุที่ดิฉันจดหมายมาครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะเรียนถามปัญหาแต่ประการใด แต่เพื่อกราบเรียนให้ทราบถึงความรู้สึกกตัญญู ที่ท่านอาจารย์ได้เสียสละเวลามาแสดงธรรมเป็นการเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ ซึ่งดิฉันแน่ใจว่า ผู้ฟังประจำ หรือทางวิทยุก็ดี ย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน และใคร่ถือโอกาสนี้กราบเรียนว่า ดิฉันจะปีติปราโมทย์อย่างยิ่ง หากดิฉันมีโอกาสรับใช้ท่านอาจารย์ในกิจการเผยแพร่ธรรม ทั้งนี้เพื่อร่วมกิจการอันเป็นบุญกุศล และเป็นการสนองคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาเผยแพร่ธรรมอันเป็นมรดกอันล้ำค่าแก่พวกเรา ดิฉันพอจะทำหน้าที่พนักงานพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษ แปลไทยอังกฤษ และตอบรับจดหมายได้ แต่งานประจำวันของดิฉัน คือ สอนหนังสือ

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

สุ. ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านเจ้าของจดหมายด้วย

สำหรับเรื่องของศีล เป็นเรื่องปกติประจำวัน แต่ต้องเป็นเรื่องละเอียดขึ้นกว่าเรื่องของทาน เพราะว่าเรื่องของทานเป็นเรื่องการสละวัตถุเป็นครั้งคราว ท่านไม่สามารถจะสละวัตถุได้หมดเป็นแน่ในเมื่อไม่ใช่เพศบรรพชิต แต่เรื่องของกาย วาจามีเป็นประจำทีเดียว ซึ่งถ้าท่านเป็นผู้ที่ใคร่ในการละกิเลส ท่านก็จะต้องเพิ่มการสำเหนียก สังเกต ระลึกรู้ว่า กายอย่างใดควร อย่างใดไม่ควร วาจาอย่างใดควร วาจาอย่างใดไม่ควร จึงสามารถอบรมขัดเกลา เพื่อให้สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมและนามธรรม และปัญญาสามารถแทงตลอดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นได้

สำหรับการฟังธรรม ไม่ว่าจะเป็นธรรมเรื่องใดทั้งสิ้น เป็นไปเพื่อความรู้ เพื่อความขัดเกลา เพื่อการละกิเลส ซึ่งท่านผู้ฟังจะต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่ง จะต้องอดทนในการที่รับฟังไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้เข้าใจในเหตุผลชัดขึ้น เพื่อให้ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เกื้อกูลในการปฏิบัติตามธรรมที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นด้วย

ถ้าท่านผู้ฟังจะสำรวจศีลของท่าน ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ว่าเริ่มที่จะสำรวจศีล คือ ความประพฤติทางกาย ทางวาจาของท่าน ยังมีบกพร่องอยู่บ้างไหม หรือว่าสมบูรณ์พร้อม แม้ศีล ๕ คงจะไม่มีท่านผู้ใดรับประกันได้ว่า ศีล ๕ ของท่านสมบูรณ์ไม่บกพร่องเลย เพราะว่าผู้ที่จะถึงความสมบูรณ์ในศีล ๕ ได้ คือ พระอริยเจ้าตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันบุคคลเป็นต้นไป

เพราะฉะนั้น การฟังธรรม แม้ในเรื่องของศีล ก็ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ว่าเมื่อเริ่มฟังเรื่องของศีล สำรวจ ศึกษาศีลของท่านเอง เพื่อการปฏิบัติตามพระธรรม เพราะเหตุว่าในขณะที่ท่านต้องการจะดับกิเลส แต่การกระทำทางกาย ทางวาจา ยังเป็นทุจริตอยู่ แล้ววันไหนจะถึงความสมบูรณ์ ที่จะเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบัน

สำหรับศีลแต่ละข้อที่ท่านจะศึกษาต่อไป เป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวันของท่าน

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มาติกา มีข้อความว่า

ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นสุตมยญาณ ๑

คือ ญาณอันสำเร็จมาแต่การฟัง หมายความถึงปัญญาที่รู้ขั้นการฟัง

ปัญญาในการฟังธรรมแล้ว สังวรไว้ เป็นสีลมยญาณ ๑

คือ ญาณอันสำเร็จมาแต่ศีล หมายความถึงปัญญาที่รู้ขั้นประพฤติปฏิบัติ รักษา สำรวม ตามธรรมที่ได้ยินได้ฟัง

ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี เป็นภาวนามยญาณ ๑

คือ ญาณอันสำเร็จมาแต่การอบรม ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากการอบรมความรู้ให้เพิ่มขึ้น

นี่เป็นมาติกา คือ เป็นหัวข้อ ข้อใหญ่ในเรื่องของปัญญา ซึ่งในทีนี้จำแนกปัญญาเป็น ๓ คือ สุตมยญาณ ๑ สีลมยญาณ ๑ ภาวนามยญาณ ๑

สำหรับขั้นของการฟัง คือ สุตมยญาณ ปัญญาที่เกิดจากการได้ฟัง และพิจารณาเหตุผลของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เป็นความรู้ เป็นปัญญาที่เห็นถูกตามขั้นของการฟัง ก็เป็นความรู้ขั้นหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ขั้นที่ประจักษ์ ยังไม่ใช่ขั้นที่น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๗๙ มีข้อความว่า

ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาชื่อว่า สุตมยญาณอย่างไร

ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า รูปไม่เที่ยงเพราะความว่าสิ้นไป เป็นทุกข์เพราะความว่าน่ากลัว เป็นอนัตตาเพราะความว่าหาแก่นสารมิได้ ชื่อว่าสุตมยญาณ

ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชราและมรณะ ไม่เที่ยง เพราะความว่าสิ้นไป เป็นทุกข์เพราะความว่าน่ากลัว เป็นอนัตตาเพราะความว่า หาแก่นสารมิได้ ชื่อว่าสุตมยญาณ

ชื่อว่าญาณด้วยอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญาด้วยอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ชื่อว่าสุตมยญาณ ฯ

ข้อ ๘๐ มีข้อความว่า

ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วว่า นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ชื่อว่าสุตมยญาณอย่างไร ฯ

ในอริยสัจ ๔ ประการนั้น ทุกขอริยสัจเป็นไฉน ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นทุกข์ ความประจวบกับสังขารหรือสัตว์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสังขารหรือสัตว์อันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความไม่ได้สมปรารถนาก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ฯ

นี่เป็นสุตมยญาณ

ต่อไปเป็นถึงเรื่องของศีล ซึ่งเมื่อปัญญาในขั้นการฟังธรรมมีแล้ว ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสังวรไว้ เป็นสีลมยญาณ เพราะเหตุว่าเพียงฟัง ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ไม่สังวรกาย วาจา ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้

ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา มีเรื่องของศีลมาก ซึ่งในครั้งก่อนๆ ก็เคยกล่าวถึงเรื่องของศีล ที่เป็นความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นอกุศลศีลกับกุศลศีล ๒ อย่าง

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๘๙ มีข้อความว่า

อะไรเป็นศีล ศีลมีเท่าไร ศีลมีอะไรเป็นสมุฏฐาน ศีลเป็นที่ประชุมแห่งธรรมอะไร ฯ

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียด ไม่ใช่เรื่องลอยๆ แม้แต่ศีล ก็ต้องมีพยัญชนะที่แสดงบ่งถึงอรรถที่ละเอียดว่า หมายความถึงอะไร

ข้อความต่อไปมีว่า

อะไรเป็นศีล คือ เจตนาเป็นศีล เจตสิกเป็นศีล ความสำรวมเป็นศีล ความไม่ล่วงเป็นศีล ฯ

ศีลมีเท่าไร คือ ศีล ๓ คือ กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล ฯ

ศีลมีอะไรเป็นสมุฏฐาน คือ กุศลศีล มีกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน อกุศลศีล มีอกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน อัพยากตศีลมีอัพยากตจิตเป็นสมุฏฐาน ฯ

ท่านผู้ฟังถามว่า ศีลนั้นเป็นอะไร ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า อะไรเป็นศีล คือ เจตนาเป็นศีล เจตสิกเป็นศีล ความสำรวมเป็นศีล ความไม่ล่วงเป็นศีล

มี ๔ ประการ

เจตนาที่ต้องการจะให้กาย วาจา ประพฤติเป็นไปในสุจริตนั้น เป็นศีล เพราะฉะนั้น เจตนาเป็นศีล

เจตสิกเป็นศีล เจตนาเจตสิกเกิดลำพังได้ไหม ท่านที่ได้ศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมอื่น คือ เจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกับเจตนาเจตสิก ที่สมาทานที่จะเว้นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา ก็เจริญอบรมสุจริตทางกาย วาจา เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นก็เป็นศีล ร่วมกันในเรื่องของศีล ไม่ใช่ในเรื่องของทาน ไม่ใช่กุศลที่เป็นไปในทาน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้หมายเฉพาะเจตนาเพียงองค์เดียวที่เป็นเจตสิกที่จะเป็นศีล แม้เจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกับเจตนานั้น ก็เป็นศีลด้วย

ความสำรวมเป็นศีล ถ้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติเป็นเครื่องวัด ก็จะไม่รู้ว่า ศีลนั้นคือประพฤติอย่างไร ด้วยเหตุนี้ความสำรวมเป็นศีล จึงหมายความถึงความสำรวมปาติโมกข์สังวร ๑ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วิริยะสังวร ๑ ความสำรวมเหล่านี้เป็นศีล

ปาติโมกขสังวร สำรวม สังวร ประพฤติตามพระวินัยบัญญัติที่เป็นปาติโมกข์ ๑

สติสังวร หมายความถึง การระลึกรู้อินทรีย์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งในขณะนั้นจะกล่าวว่า เป็นกายทุจริต วจีทุจริตได้ไหม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นความสำรวม เป็นศีล

ญาณสังวร ปัญญาที่กำลังรู้ ในขณะนั้นที่เกิดร่วมกันกับสติสังวร ก็ต้องเป็นศีลในขณะนั้นด้วย

ขันติสังวร ความอดทนในสภาพธรรมที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ เช่น อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ความปวด ความเมื่อย ความทุกข์ ความทรมาน ความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ในขณะที่ผู้หนึ่งผู้ใดสังวร อดทนด้วยขันติ ไม่ได้มีกายทุจริต วจีทุจริต ในขณะนั้นก็เป็นการสำรวมที่เป็นศีลประการหนึ่ง

วิริยะสังวร หมายความถึง ไม่ยังกิเลสที่เกิดแล้วให้ติดค้างอยู่ เคยเป็นอย่างนี้ไหม วิริยะสังวร รู้ว่าเป็นอกุศล เป็นกิเลสที่เกิดแล้ว มีความเพียรที่จะให้ระงับหรือว่าไม่ให้ติดค้างอยู่ ไม่ให้ยืดยาวต่อไปเป็นอกุศล จะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ นั่นเป็นวิริยะสังวร

การระงับ ไม่ให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา เป็นศีลทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ความสำรวมในปาติโมกขสังวร ๑ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วิริยะสังวร ๑ ความสำรวมเหล่านี้เป็นศีล

อะไรเป็นศีลข้อต่อไป คือ ความไม่ล่วงเป็นศีล ได้แก่ วิรตีเจตสิก สัมปัตตวิรัติ เมื่อประสบกับวัตถุที่ควรจะล่วง แต่ในขณะนั้นวิรตีเจตสิก คือ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ เกิดขึ้น ทำให้วิรัติการกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจาได้ ก็เป็นศีล

ความไม่ล่วงวจีทุจริต กายทุจริต เป็นศีล

ต่อไปข้อที่ว่า

ศีลมีเท่าไร คือ ศีล ๓ คือ กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล

สำหรับคำว่า กุศล หมายความถึงธรรมที่ดีงาม ที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ วิบากในอนาคต

ธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ กุศลเหตุ ๑ อกุศลเหตุ ๑ เป็นธรรมที่เป็นเหตุ ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

เปิด  298
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566