แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 329

ผู้ที่เห็นคุณค่าของพระธรรม ไม่มีเลยที่จะคิดว่า ส่วนหนึ่งส่วนใดของพระธรรม เล็กน้อย พระธรรมเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่ ทำให้มีประโยชน์ ทำไว้ในใจ กำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตฟังธรรม เพราะรู้ว่าพระธรรมทั้งหมดมีคุณค่า ควรแก่การที่จะฟัง ไตร่ตรอง น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ

ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แต่ฟังเพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นๆ เมื่อประกอบด้วยคุณธรรมอย่างนั้นแล้ว จะเห็นคุณค่าของพระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นสิ่งที่เกื้อกูล เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น แม้ในพระสูตรนี้ เป็นคุณธรรมของพระอริยสาวก ที่ท่านประกอบด้วยพละอย่างไร ธรรมอันเป็นธรรมดาอย่างไร

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละอย่างใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พละนี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยสาวกนั้นเมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ อันประกอบด้วยธรรม อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น นี้ญาณที่ ๗ เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

พระอริยเจ้าท่านฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคประกาศแล้ว เข้าใจในอรรถ ในความหมายของพยัญชนะนั้นๆ อย่างคำว่า ขันธ์ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไป รู้ความหมาย อรรถของคำว่า ขันธ์ เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมขณะนี้ และประจักษ์ถึงความเกิดขั้นและดับไป จะเข้าใจซึ้งถึงอรรถ ถึงความหมายที่พระผู้มีพระภาคประกาศและทรงแสดงไหม ก็ต้องเข้าใจซึ้งถึงอรรถที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ความหมายของพยัญชนะนั้น ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องของสภาพธรรมเท่านั้น แต่ว่าสามารถที่จะประจักษ์จริง ด้วยการเจริญอบรม การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง และปัญญาก็สามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นได้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นอริยสาวก เมื่อฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคประกาศ แล้วเข้าใจในอรรถ เกิดความปีติปราโมทย์ ผ่องใส เพราะเหตุว่าได้รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดฟังแล้ว ไม่น้อมนำที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ก็ยังคงเป็นปุถุชนอยู่ ไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ความเป็นพระอริยะได้ ถ้าเห็นว่าเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องเล็กน้อย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาอันอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ อย่างนี้ ตรวจดูดีแล้ว ด้วยอันทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการอย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล ฉะนี้แล

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

จบโกสัมพิยสูตร ที่ ๘

ผู้ที่ไม่ไช่พระอริยะ ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคได้หรือไม่ได้ ชื่นชมยินดีได้ เพราะอะไร เพราะเห็นจริงว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคประกาศนั้นถูกต้องด้วยเหตุผลตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็ชื่นชมในพระภาษิตที่เป็นสัจจะ ที่เป็นความจริง

ซึ่งเรื่องของศีลเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะประพฤติปฏิบัติตามให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ยาก แต่แม้กระนั้นก็ตาม ถ้าฟัง และเห็นคุณค่าของศีล คือ การประพฤติที่สมควร ที่เป็นสุจริตทางกาย ทางวาจาแล้ว ท่านผู้ฟังก็จะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลส เพื่อให้ถึงซึ่งความดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

และถ้าสติของท่านผู้ฟังจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมสักนิดสักหน่อยในขณะนี้ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ให้ทราบว่า นั่นเป็นการอบรมเจริญสติและปัญญา เพื่อให้ถึงความคมกล้าที่สามารถจะแทงตลอด และรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกตินี่เอง

. ผมเป็นนักเรียนคริสเตียนรุ่นก่อนที่เขาจะย้ายมาอยู่พระนคร ยังอยู่ปากคลองสำเหร่ ผมเป็นลูกชายคนเดียวของตระกูล กลางวันไปเรียนหนังสือ กลับมาก็ท่องไบเบิลต่างๆ ที่เขาให้การบ้านมา อาผมเป็นคนที่เคร่งเครียดในพระศาสนามาก เป็นผู้ที่เคร่งครัด เคร่งเครียดที่สุด เป็นห่วง เพราะหลานชายคนเดียวเป็นผู้สืบสกุลเกือบจะเป็นคริสเตียนแล้ว กลางคืนก็แทรกให้เรียนพระพุทธศาสนา แต่เป็นการเรียนพุทธศาสนาอย่างโบราณ คือ พาไปหาครูบาอาจารย์ที่ทรงคุณต่างๆ นับตั้งแต่ท่านเจ้าคุณสังวราภรณ์สังวรานุวงศ์เถระ ที่วัดราชสิทธาราม และท่านเจ้าคุณเทพกวี แจ่มศาสนโสภณ ที่แปลธรรมบทไว้ทั้งหมด ที่เราอ่านเรียนกันทุกวันนี้ ผมเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่านที่เข้าไปเรียน ท่านก็รับ ท่านส่งธรรมบทที่ท่านแปลไว้แล้ว บอกให้ไปเรียนให้คล่องก่อน ท่านจึงจะต่อบทอื่น

เด็ก ๗ - ๘ ขวบ ถูกบังคับทุกวันให้ท่องธรรมบท การท่องนี่ก็ชอบกล แต่ผมหวังอามิสมากกว่า ไม่ได้ท่องด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เพราะเหตุว่าถ้าท่อง เล่าธรรมบทได้ จะมีขนม มีสตางค์ให้ ทำมาอย่างนี้เรื่อยมาจนกระทั่งอายุผมได้ ๙ ขวบ ผมจำได้แม่นยำ ที่เป็นเหตุให้ผมนับถือศาสนาพุทธเพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ผมไม่ได้นับถือด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอะไรหรอก ไม่มีเลยจริงๆ เป็นความสัตย์ บันไดก้าวแรก ผมนับถือศาสนาพุทธ เพราะเฮี้ยน ขลังนี่ผมเชื่อ ผมได้พบอาจารย์ที่เก่งทางกัมมัฏฐาน เก่งทางสมถกัมมัฏฐาน เก่งทางอาคม ทำอะไรๆ ได้หลายอย่าง ที่มองเห็นว่าเป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์ น่าเลื่อมใส

จนกระทั่ง ๑๗ - ๑๘ ได้พบพระอาจารย์ที่ท่านแนะนำให้จำเริญสติปัฏฐาน แต่ การจำเริญของท่านไม่มีอะไรหรอก ให้ท่อง บอกว่า ให้ท่อง จำเริญไว้เถอะ ๗ ปีเต็มสำเร็จเป็นพระอรหันต์แน่ ทีแรกผมก็เชื่อ เพราะเหตุว่าไม่มีการยั้งคิดไตร่ตรองอะไร ท่องไปได้ปีหนึ่ง ตรองไปตรองมาไม่ถูกหลักที่พระพุทธองค์สอน พระพุทธองค์ท่านสอนให้ปฏิบัติ ไม่ใช่ให้ภาวนาแล้วสำเร็จ นี่เป็นการทำสมถกัมมัฏฐาน ผมก็เข้าใจดี เข้าใจเอง การจำเริญมหาสติปัฏฐานด้วยการท่องนี้ก็มีอานิสงส์ ยังเชื่อท่าน ความจริงมีอานิสงส์มาก อานิสงส์เห็นทันตาเลย พอผมหยุดท่องได้ ๒ ปี ผมหลบการเกณฑ์ทหารไปเป็นตำรวจ ผมสอบโรงเรียนตำรวจ เขาส่งมาประจำที่สันติบาล ที่นี่แหละ ที่ผมถือเรื่องกัมมัฏฐาน จำเริญโดยการใช้สติบ้าง อะไรบ้าง สติปัฏฐานนี้ ผมไม่ได้เรียนจากครูบาอาจารย์ ใช้เปิดตำรา เพ่ง พิจารณาธรรมภายใน พิจารณาธรรมภายนอก การพิจารณาธรรมภายนอก ผมถือว่าการงานทุกชิ้นที่ผ่านเข้ามา อยู่ในธรรมหรือไม่ ตรงไหนที่ไม่ถูกกับธรรม ผมก็หมายไว้ อย่างนี้เรื่อยไป

สุ. ท่านผู้ฟังก็คงจะทราบแล้วว่า การปฏิบัติของท่านผู้นี้พิจารณาเหตุผลต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เป็นต้นว่า ธรรมภายนอก สิ่งที่ท่านได้ยินได้ฟัง หรือการงานในหน้าที่ที่ท่านปฏิบัติ ท่านก็เอามาสอบสวนดูว่าเป็นธรรมหรือเปล่า ท่านถือว่าเป็นธรรมภายนอก ซึ่งความจริงแล้ว เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเพียงแต่วันหนึ่งๆ พิจารณาดูเหตุการณ์ตามหนังสือพิมพ์ ตามคำสั่งต่างๆ นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

การเจริญสติปัฏฐานต้องรู้ลักษณะของสติที่ระลึกได้ ในขณะที่เห็นทางตา ในขณะที่ได้ยินเสียงทางหู ในขณะที่กลิ่นปรากฏทางจมูก ในขณะที่รสปรากฏทางลิ้น ในขณะที่โผฏฐัพพะปรากฏที่กาย ในขณะที่เป็นสุข เป็นทุกข์ คิดนึกต่างๆ นั่นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ว่าพิจารณาว่า สิ่งนั้นควรหรือไม่ควร โดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดนี้ ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

. ผมมาทราบทีหลัง ตั้ง ๒๐ กว่าปีที่ทำ คือ ทำอย่างนี้ผิด ลงเหวไปเลย พูดตามตรง เพิ่งมาสว่างกระจ่างแจ้งดี ก็เมื่อได้รับฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ทางวิทยุ

สุ. คงจะมีท่านผู้ฟังอีกหลายท่าน ซึ่งอาจจะคิดว่า ท่านได้เจริญสติปัฏฐานแล้ว โดยการตรึก คิดนึก ไตร่ตรองสภาพธรรมต่างๆ แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของ สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติปัฏฐาน จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละทาง แต่ละลักษณะ

สติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เรื่องของศีลก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยมากท่านผู้ฟังที่อยากจะรักษาศีล ถือศีล จะเป็นเพราะท่านต้องการอานิสงส์ที่ดี หรือท่านคิดว่าในขณะที่เจริญวิปัสสนา ทำวิปัสสนา ก็จะต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัดทีเดียว ท่านไม่ทราบว่า แท้ที่จริง ศีลเป็นเรื่องปกติจริงๆ ไม่พ้นไปจากกาย วาจา ใจของท่าน

แต่ละวันจิตใจของท่านเป็นอกุศล หรือเป็นกุศลมากน้อยเท่าไร ถ้าท่านล่วงศีล กระทำทุจริตกรรม ก็เป็นเครื่องแสดงว่า กิเลสหนาแน่นมากทีเดียว ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะได้ทราบว่า ศีลเป็นปกติ เพราะฉะนั้น ศีล ๕ เป็นปกติด้วย

ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ข้อ ๒๘๖ มีข้อความว่า

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์

๒. อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาทรัพย์ ที่เจ้าของไม่ได้ให้

๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

นี่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเครื่องวัดกิเลสว่า มีมากน้อยประการใด และได้ล่วงศีลข้อไหนบ้าง

เช่น ข้อที่ ๑ สิกขาบทข้อที่ ๑ ศีลข้อที่ ๑ คือ ปาณาติปาตา เวรมณี ท่านมีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์หรือไม่ หรือมีแต่เพียงเจตนา เวลาที่มีวัตถุ คือ สัตว์ที่เป็นอันตราย หรือสัตว์ที่ทำร้ายท่าน รบกวนท่าน ปรากฏเฉพาะหน้า กิเลสอกุศลกรรมก็มีกำลัง กล้าทำให้ล่วงศีลนั้น โดยการฆ่าสัตว์นั้นเสีย

นี่เป็นเครื่องตรวจสอบปกติในชีวิตประจำวัน เพราะว่าผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น ต้องเป็นผู้ที่อบรมขัดเกลา เจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถจะรักษาศีลได้โดยสมบูรณ์ ไม่ล่วงศีล ๕ เลย เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการที่จะเป็นพระอริยเจ้า แต่ไม่รู้จักสภาพจิตใจของท่านตามความเป็นจริง ก็ย่อมไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้

ด้วยเหตุนี้ การเจริญกุศลขั้นศีล ซึ่งเป็นการขัดเกลาจิตใจของท่านให้เบาบางจากกิเลส แม้ว่ายังไม่ได้ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉทก็จริง แต่ก็เป็นการอบรมจิตใจให้เบาบางจากกิเลสอกุศล เพราะถ้าท่านไม่ทราบว่า การฆ่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ อาจจะเป็นความสนุกของท่าน ในการล่าสัตว์ ตกปลา หรือว่าทำปาณาติบาต ทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นสิ่งที่ท่านอาจจะไม่ทราบว่าเป็นโทษ เป็นภัย ซึ่งเมื่อเป็นกิเลส เป็นอกุศลธรรม เป็นอกุศลกรรม ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากข้างหน้าสำหรับท่าน

เมื่อไม่ทราบอย่างนี้ เจตนาที่จะวิรัติก็ไม่มี แต่ถ้าทราบ สามารถที่จะละคลายให้เบาบาง หรือว่าวิรัติเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ก็ย่อมจะเป็นการชำระจิตใจให้เบาบาง ให้บรรเทาจากกิเลสและอกุศล

สำหรับศีล ๕ นี้ เกี่ยวข้องกับอกุศลกรรมบถ ๑๐ เพราะเหตุว่า ถ้าจิตใจของท่านมีกิเลสแรงกล้า ท่านก็จะกระทำทุจริตกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐

สำหรับอกุศลจิตมี ๑๒ ดวง หรือ ๑๒ ประเภท ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒

ธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลส อกุศลจิตย่อมเกิดเป็นปกติ นานๆ กุศลจิตจึงจะเกิด ซึ่งถ้าท่านเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะทราบได้ว่า ทางตา อกุศลจิตเกิดบ่อย หรือว่ากุศลจิตเกิดบ่อย ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในวันหนึ่งๆ ไม่มีการรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นอกุศล เป็นโมหะ เป็นอวิชชา ในขณะที่ไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และมีความต้องการเป็นประจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นก็เป็นอกุศลจิต ซึ่งถ้ามีกำลังแรงกล้า ก็จะทำให้เกิดอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ

ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ข้อ ๓๕๙ แสดงอกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ

๑. ปาณาติบาต การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป

ซึ่งถ้าแปลโดยตรง ปาณ หมายความถึงลมหายใจ ซึ่งสัตว์ที่จะมีลมหายใจ ต้องเป็นสัตว์ที่มีจิต เพราะเหตุว่าลมหายใจเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ความหมายก็โดยนัยเดียวกัน คือ การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป หมายความถึงการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตนั่นเอง

๒. อทินนาทาน การถือเอสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้

๓. กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม

อกุศลกรรมบถ ๓ เป็นอกุศลกรรมบถที่สำเร็จเป็นไปได้ทางกาย

เปิด  273
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566