แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 340

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อจะว่าโดยละเอียดโดยนัยนี้ จึงมีสุจริต ๑๘ ประการด้วยประการฉะนี้ แต่เมื่อจะว่าโดยสังเขปในทวารทั้ง ๖ แม้นี้ มีสุจริตอยู่เพียง ๓ อย่างเท่านั้น คือ กายสังวรเป็นกายสุจริต วจีสังวรเป็นวจีสุจริต มโนสังวรเป็นมโนสุจริต

อินทรียสังวร บัณฑิตพึงทราบว่า พึงทำสุจริตทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์ ดังพรรณนามาฉะนี้

ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอินทริยสังวรศีลที่ตามรักษาศีลเอาไว้ ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ละกายทุจริต เป็นต้น เป็นอันตรัสถึงกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ และมโนทุจริต ๓

บัณฑิตพึงทราบกายสุจริต เป็นต้น โดยนัยตรงกันข้ามกับกายทุจริต เป็นต้นนั้น ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคตรัสปาติโมกขศีล ด้วยกายสังวรและวจีสังวร ตรัสถึงศีล ๓ อย่าง ด้วยมโนสังวร ปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ เป็นอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว

ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเข้าใจไม่ละเอียดถึงมโนสุจริต ทางทวารทั้ง ๖ เพราะเหตุว่าสุจริต ๓ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นไปในทวาร ๖ ซึ่งอารมณ์ไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปารมณ์ คือ สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา หรือว่าเสียง สัททารมณ์ที่ปรากฏทางหู หรือว่ากลิ่นที่ปรากฏทางจมูก หรือว่ารสที่ปรากฏทางลิ้น หรือว่าโผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย แต่มีอารมณ์อื่นซึ่งเป็นอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ และเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ซึ่งขณะนั้นเป็นมโนสุจริตได้ เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ทางใจ ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม หรือรูปธรรมเท่านั้น

สำหรับเรื่องของทุจริต ได้แก่ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ซึ่งเป็นไปทางทวารทั้ง ๖ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกิเลส อกุศล และทุจริตโดยละเอียดนั้น เพื่อที่จะให้เห็นว่า กิเลสนั้นมาก ไม่ใช่น้อยเลย และการที่จะดับกิเลสจริง ๆ เป็นสมุจเฉท แม้จะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ผู้ที่เจริญหนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่จะดับกิเลสนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง และรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเอง เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน รู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ยิ่งรู้ละเอียด รู้ทั่ว รู้ชัดเจน ก็ยิ่งจะละคลาย สามารถที่จะแทงตลอด รู้ตรงตามความเป็นจริงว่า ท่านคลายความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลงไปมากน้อยเท่าไรแล้ว ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต กายสูตร มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา มีอยู่ ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย มีอยู่ ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ มีอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจาเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยกาย เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ได้กล่าวกับภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเป็นผู้ต้องแล้วซึ่งส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยกาย เป็นการดีหนอ ที่ท่านผู้มีอายุจงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ภิกษุนั้นอันเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ว่ากล่าวอยู่ ย่อมละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้เรียกว่า อันบุคคลพึงละด้วยกาย ไม่ใช่ด้วยวาจา

ถ้ากายทุจริต ซึ่งเป็นทุจริตทางกาย ก็จะต้องละด้วยการอบรมเจริญกายสุจริต แทนกายทุจริต ถ้าไม่มีกายทุจริตเป็นเครื่องวัด จะทราบได้ไหมว่ากิเลสแรงกล้าแค่ไหน

ทุกท่านมีกิเลสเป็นของแน่ ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า กิเลสก็หนาแน่นและมากเหลือเกิน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่มีกายทุจริตเป็น เครื่องวัด เช่น ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร ท่านจะไม่ทราบเลยว่ากิเลสของท่านแรงถึงขั้นไหนแล้ว

เวลาที่มีกายทุจริตปรากฏ ท่านทราบได้เลยว่า กิเลสแรงแล้ว ล่วงออกมาเป็นทุจริตทางกายแล้ว เป็นเครื่องวัดปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะกระทำ หรือกำลังกระทำอยู่ ทราบได้เลยว่า ในขณะนั้นกิเลสมีกำลังถึงกับเป็นกายทุจริตแล้ว ซึ่งควรที่จะระลึกได้และรู้ว่า กิเลสมีกำลังแรงถึงขั้นนี้แล้ว เพราะฉะนั้น ควรที่จะขัดเกลา ละคลายกิเลสที่เป็นกายทุจริตเสีย ซึ่งเป็นเรื่องของท่านเองที่จะพิจารณาได้ว่า วันหนึ่งๆ กิเลสแรงๆ ที่เป็นกายทุจริตมากไหม บ่อยไหม ควรหรือไม่ที่จะละคลาย ควรหรือไม่ที่จะอบรมเจริญกายสุจริตแทนกายทุจริตนั้น

ในพระสูตรนี้ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระภิกษุทั้งหลาย แต่ย่อมหมายความรวมถึงกายทุจริตของฆราวาสด้วย ซึ่งสำหรับเพศของบรรพชิตที่เป็นภิกษุนั้น ย่อมขัดเกลามากกว่าโดยเพศ และโดยเจตนาของท่านที่ประสงค์จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นในเพศของภิกษุ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุ แต่ก็รวมถึงฆราวาสด้วย

หากท่านเป็นผู้ที่ศึกษาพระวินัยจะทราบว่า ภิกษุรูปใดต้องอาบัติทางกายในข้อใด ซึ่งเรื่องใดที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้าม ย่อมทำให้ความประพฤติทางกายของภิกษุงดงามยิ่งขึ้น และถ้าฆราวาสจะศึกษา และเห็นว่าแม้ฆราวาสเองก็ควรที่จะละกายทุจริตนั้น ฆราวาสก็ย่อมสามารถที่จะละเว้นกายทุจริตได้มากขึ้น

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกายเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยวาจา เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ได้กล่าวกับภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเป็นผู้ต้องแล้วซึ่งส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยวาจา เป็นการดีหนอ ที่ท่านผู้มีอายุจงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ภิกษุนั้นอันเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ว่ากล่าวอยู่ ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ดูกร ภิกษุทั้งหลายธรรม เหล่านี้เรียกว่า บุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย

มีใครบ้างไหมที่ไม่ได้พูด พูดเสมอ เป็นปกติ เป็นธรรมดา แต่ว่าคำพูดหรือวาจาที่เป็นทุจริตก็มี สุจริตก็มี ถ้าท่านเป็นฆราวาส คงจะไม่มีสหายพรหมจารีมาตักเตือนว่า ท่านได้ล่วงอาบัติที่เป็นวจีทุจริตในส่วนนั้นๆ แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านควรจะเป็นผู้ที่สติเกิด ระลึกรู้สภาพของกิเลสของท่านเองตามความเป็นจริงว่า มีกำลังแรงถึงกับเป็นวจีทุจริตในข้อใดบ้าง เช่น ในข้อของการพูดเท็จมีหรือไม่ ถ้ามี ก็หมายความว่ากิเลสมีกำลัง จึงทำให้เกิดวจีทุจริตได้ เป็นชีวิตจริงตามปกติ เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้ การศึกษาเรื่องของศีลจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

เพราะฉะนั้น สำหรับคำพูด ซึ่งทุกท่านก็ต้องพูด ก็ควรจะละวจีทุจริต ด้วยการอบรมเจริญวจีสุจริต คือ พูดคำจริง ๑ พูดคำไม่ส่อเสียด ๑ พูดคำอ่อนหวาน ๑ พูดคำพอประมาณ ๑

วิรตีเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่ทำกิจวิรัติทุจริต สัมมาวาจา วิรัติ งดเว้นวจีทุจริตธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสมบูรณ์ทั้งอรรถและพยัญชนะ ไม่ได้กล่าวว่า สัมมาวาจา คือ วิรัติหรืองดเว้น วจีหรือการพูด คือ ไม่ใช่งดเว้นการพูด แต่สัมมาวาจา คือ วิรัติวจีทุจริต มิฉะนั้นแล้วในพระธรรมก็ต้องมีว่า สัมมาวาจา วิรัติการพูด ท่านตรวจสอบได้ในพระไตรปิฎกว่า สัมมาวาจา ไม่ใช่วิรัติการพูด แต่ว่าวิรัติคำพูดที่เป็นทุจริต

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ละด้วยวาจาไม่ได้พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โลภะ อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความริษยาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงจะละได้

ท่านมีโลภะ โทสะ โมหะ โกธะ คือ ความโกรธเคือง อุปนาหะ คือ ความผูกเวร มักขะ คือ ความลบหลู่ ปฬาสะ คือ ความยกตนเทียมบุคคลอื่น มัจฉริยะ คือความตระหนี่ ความริษยา ความปรารถนาอันชั่วช้าบ้างไหมในใจ แต่ยังไม่ล่วงมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต แต่โลภะทางใจมี โทสะก็มี โมหะก็มี โกธะ คือ ความโกรธมีไหม

วันหนึ่งๆ มีความโกรธใครบ้างหรือเปล่า หรือว่าไม่โกรธใครเลย ถ้ามี ยังไม่ล่วงออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริตก็ได้ แต่ว่าธรรมเหล่านี้เมื่อไม่ได้เป็นทางกาย ไม่ได้เป็นทางวาจา ก็จะละทางกาย ทางวาจาไม่ได้ แต่ที่จะละได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงจะละได้

ทำอย่างไรปัญญาจึงจะรู้ชัดได้ ถ้าสติไม่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น มีทางอื่นไหมที่ปัญญาจะรู้ชัด ก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน ปัญญาจึงสามารถจะรู้ชัดในสภาพธรรมนั้น เพราะเหตุว่าพึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงจะละได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความริษยาอันชั่วช้าเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดี หรือบุตรแห่งคฤหบดีในโลกนี้ ย่อมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง ทาส หรือคนเข้าไปอาศัยของคฤหบดี หรือบุตรแห่งคฤหบดีผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ คฤหบดี หรือบุตรแห่งคฤหบดีนี้ ไม่พึงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง

อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ ท่านผู้มีอายุนี้ ไม่พึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัยแก่คนไข้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าความริษยาอันชั่วช้า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความริษยาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้

ความริษยานี่ ไม่เว้นแม้แต่บรรพชิต ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอริยเจ้า ไม่ใช่พระอริยบุคคลแล้ว ดับความริษยาเป็นสมุจเฉทไม่ได้ แต่ว่าตามการสะสม บางท่านอาจจะมีน้อย บางท่านอาจจะมีมาก ลองคิดจริงๆ ความริษยานี้มีบ้างไหม สักนิด สักหน่อย แม้ว่าไม่มาก บางท่านอาจจะไม่ริษยาในวัตถุสิ่งของ แต่ยังคงมีความริษยาในยศ ในสรรเสริญของบุคคลอื่น ในสักการะ ในความเคารพ ในความนับถือ ในการกราบไหว้ของบุคคลอื่น

เรื่องของกิเลสที่สะสมมา ไม่เป็นทางโน้น ก็เป็นทางนี้ ไม่เป็นไปในเรื่องนี้ ก็เป็นไปในเรื่องนั้น ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ริษยาในฐานะ ในความเป็นอยู่ ในทรัพย์สินเงินทอง แต่บางท่านอาจจะมีความริษยา มีความรู้สึกในใจ เกรงว่าบุคคลอื่นจะเก่งกว่า จะได้รับคำสรรเสริญ ยกย่อง เคารพสักการะมากว่า มีไหมในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ชีวิตของท่านเอง แต่ให้ดูฤทธิ์ของความริษยาว่า ถึงจะไม่เป็นไปในทรัพย์สินเงินทอง ฐานะความเป็นอยู่ แต่แม้เพียงคำสรรเสริญ ความเคารพสักการะของบุคคลอื่น บางคนก็ยังกลัว เกรงว่าคนอื่นจะเลื่อมใสในคนอื่นมากกว่า จะสรรเสริญ ยกย่อง เคารพบุคคลอื่นมากกว่า หรือเกรงแม้แต่ว่า บุคคลอื่นจะเก่งกว่า

ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ไม่มีความริษยา ดับเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่ควรที่จะไปริษยาบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย เพราะถึงแม้ว่าจิตจะเร่าร้อนริษยาสักเท่าไร บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุขเพราะกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ก็มีเหตุที่จะให้ลาภ ยศ สรรเสริญสุขนั้น อุดมสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ไม่สมควรที่จะให้จิตเป็นอกุศล ริษยาในบุคคลอื่น แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ก็ควรที่จะทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ควรจะละให้หมดสิ้นไป

ต่อไปเป็นเรื่องละเอียดที่แฝงอยู่ในใจ ที่เป็นอกุศล ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงที่จะดับให้หมดสิ้นไปได้ ก็เพราะสติระลึกรู้ ปัญญาแทงตลอดในสภาพนั้นตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความปรารถนาอันชั่วช้าเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีศรัทธา

เป็นผู้ทุศีล ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีศีล

เป็นผู้ได้สดับน้อย ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ได้สดับมาก

เป็นผู้มีความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ชอบสงัด

เป็นผู้เกียจคร้าน ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ปรารภความเพียร

เป็นผู้มีสติหลงลืม ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีสติตั้งมั่น

เป็นผู้มีใจไม่ตั้งมั่น ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีใจตั้งมั่น

เป็นผู้มีปัญญาทราม ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีปัญญา

เป็นผู้ยังไม่สิ้นอาสวะ ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้สิ้น อาสวะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ความปรารถนาอันชั่วช้า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หากว่าโลภะครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป หากว่าโทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้าครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป ภิกษุนั้น อันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โลภะจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้

โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้าความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ หารู้ฉันนั้นไม่เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้

เปิด  292
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565