แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 339

ข้อความต่อไปมีว่า

มีสิกขาบทเป็นที่สุดนั้น อย่างไร

สำหรับอุบาสก อุบาสิกา มีสิกขาบท ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๘, ๑๐ ตามที่สมาทาน

สำหรับสิกขมานา คือ ผู้ศึกษาปฏิบัติเพื่อการเป็นภิกษุณี ถ้าสามารถศึกษาปฏิบัติสิกขาบทเหล่านั้นได้ครบถ้วนตามกำหนด ๒ ปี จึงสามารถอุปสมบทเป็นพระภิกษุณีได้ในครั้งพุทธกาล แต่ถ้าขาดตกบกพร่อง ก็ต้องตั้งต้นนับใหม่ รักษาใหม่จนกว่าจะครบ ๒ ปี โดยที่ไม่ขาดตกบกพร่องเลย จึงสามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้

สำหรับสิกขมานา สามเณร สามเณรี มีสิกขาบท ๑๐

นี่คือ มีสิกขาบทเป็นขอบเขต คือ เมื่อรักษาสิกขาบทเท่าใด ก็รักษาเท่านั้นเป็นขอบเขต ถ้าล่วงทุจริตกรรม ประพฤติล่วงศีลข้อที่รักษาไว้ สิกขาบทนั้น ก็มีที่สุด

ข้อความต่อไปมีว่า

มีกาลเป็นที่สุด อย่างไร

สำหรับอุบาสก อุบาสิกา เมื่อให้ทาน ชื่อว่าสมาทานศีล มีการอังคาส หรือมีการเลี้ยงดูเป็นที่สุด

สำหรับผู้ที่ไปวัด ชื่อว่าสมาทานศีล มีวิหารเป็นที่สุด ผู้สมาทานศีลโดยกำหนด ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน หรือกำหนดวันคืนยิ่งกว่านั้น ชื่อว่ามีกาลเป็นที่สุด คือ เมื่อพ้นกาลที่สมาทานรักษาแล้ว ก็ไม่ได้รักษาศีลนั้น เพราะฉะนั้น กาลที่กำหนดไว้ จึงเป็นที่สุดของการรักษาศีลนั้น

สำหรับศีล เป็นเรื่องที่สำคัญ และไม่ควรประมาทด้วย เพราะเหตุว่าถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ท่านจะเห็นคุณของการที่จะขัดเกลากิเลส ทั้งด้วยการให้ทาน คือ สละวัตถุ ซึ่งเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น และด้วยการขัดเกลากิเลสที่แรงกล้า ที่จะเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจาด้วย

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อากังขวรรค อากังขสูตร ใน อรรถกถา มโนรถปุรณี มีข้อความว่า

ก็ถ้าว่า สำหรับภิกษุผู้บวชยังไม่นาน หรือผู้มีปัญญาทราม พระผู้มีพระภาคจะตรัสอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงยังศีลให้บริบูรณ์

นี่เป็นข้อความที่ชี้ให้เห็นว่า สำหรับผู้ที่ยังบวชไม่นาน หรือว่าผู้ที่มีปัญญาทรามพระผู้มีพระภาคตรัสให้จงยังศีลให้บริบูรณ์ เพราะเหตุว่าถ้าศีลยังไม่บริบูรณ์ กิเลสยังมีกำลัง ผู้ที่มีปัญญาน้อย ย่อมไม่สามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมที่จะดับกิเลสได้

สำหรับความสำคัญของศีล ซึ่งเป็นการรักษากาย วาจา ใจ ให้สุจริต เกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานอย่างไร เป็นสิ่งที่เกื้อกูลในการที่จะดับกิเลสอย่างไรนั้น ใน สังยุตตนิกาย โพชฌงคสังยุต กุณฑลิยสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมฤคทายวัน ใกล้เมือง สาเกตุ ครั้งนั้นแล กุณฑลิยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นได้ผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเที่ยวไปในอาราม เข้าไปสู่บริษัท เมื่อข้าพเจ้าบริโภคอาหารเช้าแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต ข้าพเจ้าเดินไปเนืองๆ เที่ยวไปเนืองๆ สู่อาราม จากอาราม สู่อุทยาน จากอุทยาน ข้าพเจ้าเห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำลังกล่าวถ้อยคำมีวาทะและการเปลื้องวาทะว่า ดังนี้เป็นอานิสงส์ และมีความขุ่นเคืองเป็นอานิสงส์ ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่เล่า

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร กุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุตติเป็นผลานิสงส์อยู่

ถ้าท่านจะสังเกตชีวิตอย่างกุณฑลิยปริพาชก จะเห็นได้ว่า แม้ในสมัยนี้ก็ยังมีบุคคลที่เป็นอย่างนี้ คือ ผู้ที่เที่ยวไปในอาราม เข้าไปสู่บริษัทเมื่อบริโภคอาหารเช้าแล้วในเวลาปัจฉาภัตเดินไปเนืองๆ เที่ยวไปเนืองๆ สู่อาราม จากอาราม สู่อุทยาน จากอุทยาน มีไหมคนที่ชอบโต้ธรรม จากวัดนี้ก็ไปวัดโน้น จากวัดโน้นก็มาวัดนี้ ซึ่งกุณฑลิยปริพาชกก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพเจ้าเห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำลังกล่าวถ้อยคำมีวาทะ และการเปลื้องวาทะว่า ดังนี้เป็นอานิสงส์ และมีความขุ่นเคืองเป็นอานิสงส์

พูดธรรม กล่าวธรรม สนทนาธรรม แต่ผลที่ได้รับคืออะไร ถ้าไม่ใช่เป็นเหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เป็นเรื่องของวาทะต่อวาทะ ซึ่งมีความขุ่นเคือง ความโกรธแค้นกันเป็นอานิสงส์ ด้วยเหตุนี้กุณฑริยะปริพาชก จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่เล่า

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร กุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุตติเป็นผลานิสงส์อยู่

ถ้าเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้สภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงทรงแสดงธรรมแล้ว ย่อมมีวิชชา คือปัญญา ที่รู้ชัดในสภาพธรรมนั้น และมีวิมุตติ คือ ความพ้นจากกิเลสทั้งปวง เป็นผลานิสงส์อยู่

กุณฑลิยปริพาชกกราบทูลถามต่อไปว่า

ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหน ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลผู้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

โพชฌงค์ เป็นองค์ธรรมเพื่อตรัสรู้อริยสัจธรรม ซึ่งต้องเจริญ ไม่ใช่ไม่ต้องเจริญซึ่งโพชฌงค์นั้น มีสติสัมโพชฌงค์ที่จะต้องเกิดขึ้น และระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วย จึงจะสามารถกระทำให้มาก และยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

กุณฑลิยะปริพาชกกราบทูลถามว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหน ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

โพชฌงค์ ซึ่งเป็นองค์ธรรมเครื่องตรัสรู้อริยสัจธรรม ก็ต้องมีปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย โพชฌงค์ก็ย่อมจะเจริญและบริบูรณ์ไม่ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

ต้องเจริญสติ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ หรืออย่าคิดว่าเพียงขณะ สองขณะ จะไร้ประโยชน์ เพียงขณะ สองขณะ ขอให้เจริญไป อบรมไป จนกระทั่งเป็นอุปนิสัยปัจจัยจริงๆ เมื่อไรที่เหตุสมควรแก่ผล ผลย่อมเกิดเป็นลำดับขั้น แต่ถ้าปราศจากสติปัฏฐาน ๔ แล้ว โพชฌงค์ ๗ ก็มีไม่ได้ วิชชาและวิมุตติก็มีไม่ได้

กุณฑลิยปริพาชกกราบทูลถามว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหน ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

หลายท่านเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานที่จะต้องเป็นปกติ และก็รู้ลักษณะของสติว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ แต่กระนั้น ย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัยว่า มีธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ เป็นการหยั่งถึงปัจจัยของสภาพธรรมทั้งหลาย

แม้สติปัฏฐานที่จะเกิดขึ้นได้เนืองๆ บ่อยๆ ก็จะต้องมีธรรมที่ควรเจริญ ที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมด้วย อย่าปล่อยชีวิตไปตามแรงของกิเลส ซึ่งจะไม่เกื้อกูล ไม่อุปการะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าธรรมเหล่าไหน เมื่อเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ ให้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดได้บ่อยๆ เนืองๆ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กุณฑลิยะ สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

เป็นสิ่งที่เปรียบเทียบให้เห็นว่า ถ้าชีวิตของท่านผู้ใดยังเป็นผู้ที่ทุศีล ยังเป็นผู้ที่มีทุจริตทางกาย ทางวาจา เนืองๆ บ่อยๆ เป็นนิจ หรือว่าเมื่อกระทำให้มาก ย่อมไม่เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้

สุจริต ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต จึงเป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณา เพื่อเกื้อกูลแก่การที่จะประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตให้มากขึ้นและให้ละเอียดขึ้นด้วย

กุณฑลิยปริพาชกกราบทูลถามว่า

ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหน ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

แม้แต่สุจริต ๓ ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ไม่มีใครอยากจะมีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แต่มี เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะทำให้กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เกิดขึ้นเป็นไป ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไป

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร กุณฑลิยะ อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

ดูกร กุณฑลิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปที่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว

อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ก็ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว

สำหรับในขณะที่ได้ยินเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร กุณฑลิยะ ก็สุจริตเหล่านั้น อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญกายสุจริตเพื่อละกายทุจริต เจริญวจีสุจริตเพื่อละวจีทุจริต เจริญมโนสุจริตเพื่อละมโนทุจริต

สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

สุจริตไม่ได้มีแต่เฉพาะกายกับวาจา ถ้าละเอียดขึ้น สุจริตถึงใจ คือ ถึงมโน ต้องมีทั้งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต และทางทุจริตก็เหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแต่กายทุจริต หรือวจีทุจริตเท่านั้น โดยความละเอียด ควรจะละแม้มโนทุจริตด้วย

สารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายว่า

บัณฑิตพึงทราบการบำเพ็ญสุจริตอย่างนี้ ในพระพุทธดำรัสนี้ว่า ดูกร กุณฑลิยะ อินทรีย์สังวรที่บุคคลอบรมแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมทำสุจริตทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์ได้ ดังนี้

ต่อไปเป็นความละเอียดของทวารทั้ง ๖ ซึ่งมีข้อความว่า

ก็ในทวารทั้ง ๖ เหล่านี้ มีทุจริต ๑๘ อย่าง คืออย่างไร

กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นไปทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นทุจริต ๑๘ อย่าง ซึ่งมีอยู่เป็นปกติประจำ เพียงแต่ว่าท่านเจริญสติ มีอินทรีย์สังวรหรือไม่ ถ้าไม่เจริญสติ ไม่มีอินทรีย์สังวร ก็มีแต่กิเลสสะสมมากขึ้น เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติแล้ว จะรู้ว่ากิเลสมาก แต่ปัญญาและสติก็อบรมไป เพื่อวันหนึ่งจะได้มีกำลังคมกล้า สามารถที่จะดับกิเลสเหล่านั้นได้ เป็นลำดับขั้น

แต่ถ้ายังคงเป็นความไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า กิเลสมาก กายทุจริตก็มากทั้ง ๖ ทวาร วจีทุจริตก็มากทั้ง ๖ ทวาร มโนทุจริตก็มากทั้ง ๖ ทวาร ถ้าไม่รู้ละเอียดอย่างนี้จะไม่เห็นกิเลสของตัวเองตามความเป็นจริงว่า สมกับคำว่า ปุถุชน คือ กิเลสหนาแน่นจริงๆ และก็เหนียวแน่น ยากแก่การที่จะละคลายจริงๆ

ข้อความต่อไป กล่าวถึงทุจริต ๑๘ อย่าง คือ

เมื่ออิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดีมาสู่คลองในจักขุทวาร เมื่อภิกษุไม่เคลื่อนไหวอวัยวะทางกายและทางวาจา เพียงแต่ให้ความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์นั้นเท่านั้น ก็เป็นมโนทุจริต เมื่อภิกษุกล่าวอยู่ด้วยจิตที่ประกอบด้วยโลภะว่า โอหนอ สิ่งนี้น่าชอบใจ น่าพอใจ น่ารื่นรมย์ ก็เป็นวจีทุจริต เมื่อภิกษุใช้มือจับต้องสิ่งนั้นนั่นเอง ก็เป็นกายทุจริต

เป็นจริงอย่างนี้หรือเปล่า ท่านที่เคยประสบพบเห็นอะไรและเกิดความพอใจ กล่าวชม ชื่นชอบในสิ่งนั้น ต้องเกิดความยินดีพอใจในวัตถุนั้นทางใจเสียก่อน จึงจะกล่าวออกไปเป็นวาจา หรือถึงกับมือนี้จะเอื้อมไปจับต้องลูบคลำสิ่งนั้นด้วยความยินดีพอใจ

เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งมโนทุจริต คือ มีความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์นั้น แต่เวลาที่มีวจีทุจริตถึงกับกล่าวว่า สิ่งนี้น่าชอบใจ สิ่งนี้น่าพอใจ น่ารื่นรมย์ ขณะนั้นเป็นวจีทุจริต และถึงกับจับต้องลูบคลำด้วยความยินดีพอใจ ก็เป็นกายทุจริต

เคยสังเกตไหม ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้ถึงมโนทุจริต แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว จะทราบได้ว่า ขณะใดเป็นเพียงมโนทุจริต ขณะใดเป็นวจีทุจริต และขณะใดเป็นกายทุจริต

ข้อความต่อไปมีว่า

แม้ในทวารที่เหลือ คือ ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็นัยนี้เหมือนกัน ส่วนความแปลกกัน คือ ความต่างกันนั้น มีดังนี้ ก็เมื่อภิกษุจับต้องวัตถุอนามาส คือ สิ่งที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง เช่น เครื่องดนตรี มีสังข์และบัณเฑาะว์ เป็นต้น อันเป็นวัตถุแห่งสัททารมณ์ ในโสตทวาร จับต้องของหอมและดอกไม้ เป็นต้น อันเป็นวัตถุแห่งคันธารมณ์ ในฆานทวาร จับต้องปลาและเนื้อ เป็นต้นอัน เป็นวัตถุแห่งรสารมณ์ในชิวหาทวาร จับต้องจีวร เป็นต้น อันเป็นวัตถุแห่งโผฏฐัพพารมณ์ ในกายทวาร จับต้องเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น อันเป็นธรรมารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งบัญญัติในมโนทวาร พึงทราบว่า เป็นกายทุจริต แต่โดยสังเขปในทวารทั้ง ๖ นี้ มีทุจริต ๓ อย่างเท่านั้น คือ การก้าวล่วงทางกาย เป็นกายทุจริต การก้าวล่วงทางวาจา เป็นวจีทุจริต การก้าวล่วงทางใจ เป็นมโนทุจริต

แต่ภิกษุนี้ ดำรงอยู่ในการอบรมภาวนาของตน กระทำสุจริตทั้ง ๓ เหล่านี้ ให้เป็นธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว ประพฤติอยู่ คืออย่างไร

คือ เมื่ออิฏฐารมณ์มาสู่คลองในจักขุทวาร เมื่อภิกษุไม่ทำให้กายและวาจาเคลื่อนไหว เริ่มตั้งวิปัสสนาอันมีรูปเป็นอารมณ์อยู่ ก็เป็นมโนสุจริต เมื่อภิกษุกล่าวอยู่ด้วยจิตที่ประกอบ คือ อบรมด้วยวิปัสสนาว่า มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นวจีสุจริต เมื่อภิกษุไม่จับต้องสิ่งที่ไม่ควรจับต้อง เป็นกายสุจริต

แม้ในทวารที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน

เป็นชีวิตปกติประจำวันหรือเปล่า ในการเจริญสติปัฏฐาน คือ การกระทำสุจริตทั้ง ๓ ให้เป็นธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว ประพฤติอยู่ คือ เมื่ออิฏฐารมณ์มาสู่คลองในจักขุทวาร คือ เวลาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ไม่ทำให้กาย และวาจาเคลื่อนไหว เริ่มตั้งวิปัสสนาอันมีรูปเป็นอารมณ์อยู่ ก็เป็นมโนสุจริต ไม่ยังกาย วาจาให้ไหว เวลาเห็น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ในขณะนั้นที่กำลังรู้ลักษณะของรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นมโนสุจริต เมื่อภิกษุกล่าวอยู่ด้วยจิตประกอบด้วยวิปัสสนาว่า มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นวจีสุจริต เมื่อภิกษุไม่จับต้องสิ่งที่ไม่ควรจับต้อง เป็นกายสุจริต

เปิด  267
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565