แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 361

ข้อความต่อไป แสดงโทษของการลาสิกขาบท คือ การสึกว่า ลาภ สักการะ และการสรรเสริญในความเป็นบรรพชิตนั้น เมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้สึกแล้ว ยศอันนั้น และเกียรติอันนั้น ก็ย่อมเสื่อมไป เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เห็นโทษนี้แล้ว พึงศึกษาไตรสิกขา ที่จะเป็นบรรพชิตอยู่ได้นั้น ต้องมีศรัทธา ประพฤติศึกษาในไตรสิกขา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

ข้อความต่อไป

ถามว่า เพราะเหตุไร

ตอบว่า เพื่อละเมถุนธรรมเสีย

อธิบายว่า เพื่อประโยชน์แห่งการละ จริงอยู่ ผู้ใดไม่ละเมถุนธรรม ผู้นั้นถูกความดำริครอบงำแล้ว ซบเซาอยู่ เหมือนคนกำพร้า

จะเห็นได้ว่า กิเลสที่สะสมมาทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูก ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างนั้น เป็นสิ่งที่ลึก และละเอียดซับซ้อนมาก

ข้อความต่อไป ในอรรถกถาได้แสดงความตรงต่อสภาพธรรมว่า ลาสิกขาบท คือ สึก เพราะเหตุไร ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่า เหตุจริงๆ คือ เพราะยังเป็นผู้ที่ติดข้องในกาม ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงสละจากเพศบรรพชิตกลับมาสู่เพศฆราวาส ซึ่งเป็นเพศที่ยังติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มากกว่าในเพศของบรรพชิต

ปรมัตถโชติกา อรรถกถา มีข้อความว่า

จริงอยู่ บุคคลผู้นี้กล่าวอยู่ว่า ข้าพเจ้าสึกอยู่เพราะเหตุนี้ คือ ข้ออ้างต่างๆ ชื่อว่าย่อมสร้างศัสตรา คือ คำมุสาขึ้นแต่ต้นนั้นเองก่อน โดยพิเศษในบรรดาทุจริต ๓เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ผู้นี้แหละ เป็นผู้มีเครื่องผูกใหญ่ ย่อมถือเอาโทษแห่งมุสาวาท ดังนี้

หากจะมีคำถามว่า เครื่องผูกอะไร

ตอบว่า คือ การหยั่งลงสู่มุสาวาท ที่บัณฑิตทราบว่าเป็นโทษใหญ่

ไม่จำเป็นต้องมุสาใช่ไหม ถ้าไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตต่อไปได้ ก็ลาสิกขาบทได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีข้ออ้างที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งเป็นการสร้างศัสตรา คือ มุสา ขึ้นแต่ต้นนั้นเอง

ปรมัตถโชติกา อรรถกถา มีต่อไปว่า

บุคคลนั้นทำอยู่ซึ่งกรรมทั้งหลาย มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น กระทำการแสวงหา และการรักษาโภคทรัพย์อยู่ ชื่อว่าย่อมมัวหมอง เหมือนคนงมงาย

บาทคาถา ความว่า การประพฤติวิเวกนี้ เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นต้น เพราะฉะนั้น มุนีจงศึกษาในวิเวกเท่านั้น

บาทคาถา ความว่า มุนีนั้นไม่ควรสำคัญตนด้วยวิเวกนั้นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุด

มีคำอธิบายว่า มุนีนั้นไม่พึงเป็นผู้แข็งกระด้าง เพราะวิเวกนั้น

ถ้ายังเป็นผู้ที่สำคัญตนด้วยวิเวกนั้นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ก็ยังเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยกิเลสอยู่นั่นเอง วิเวกก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะว่าไม่ได้ขัดเกลา ไม่ได้ละ ไม่ได้ดับกิเลส

บทว่า มุนีผู้สงัดแล้ว คือ ผู้เว้นแล้วจากกายทุจริต เป็นต้น

อยู่ที่นี่ เว้นกายทุจริต ถ้าเว้นได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย เป็นผู้สงัดแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ได้ทำความลำบาก กระวนกระวาย วุ่นวายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะว่าเป็นผู้ที่เว้นแล้วจากกายทุจริต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ทั้งกับตนเอง และบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขณะใด ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่สงัดแล้ว

สองบาทคาถาว่า โอฆติณฺณสฺส ปิหยนฺติ กาเมสุ คธิตา ปชา ความว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ข้องแล้วในกามทั้งหลาย ย่อมกระหยิ่ม (ชื่นชม) ต่อท่านผู้ข้ามโอฆะทั้ง ๔ ได้แล้ว เปรียบดุจบุคคลผู้มีหนี้สินทั้งหลาย กระหยิ่มต่อบุคคลผู้ไม่มีหนี้ทั้งหลาย ฉะนั้น

พระศาสดาทรงกระทำพระเทศนาให้จบลงด้วยยอดแห่งพระอรหัต ในเวลาจบเทศนา ติสสะบรรลุพระโสดาบันแล้ว ภายหลังบวชอีก ได้ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้

ชีวิตตามความเป็นจริงเป็นไปได้ไหมอย่างนี้

สำหรับชีวิตของท่านพระติสสะ จะเห็นได้ว่า อุปนิสสยปัจจัยที่ท่านพระติสสะสะสมมาต่างกับอุปนิสสยปัจจัยของท่านพระเมตเตยยะ เพราะว่าในระหว่างที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ท่านไม่ได้ไปอยู่ป่า แต่ว่าท่านชอบใจการเฝ้าและการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ท่านพระติสสะท่านอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า แม้ว่าท่านจะไม่ไปสู่ป่า ในขณะที่ท่านฟังธรรม ติดตามพระผู้มีพระภาคเพื่อฟังธรรมนั้น ท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือไม่

เมื่อท่านลาสิกขาบทแล้ว มีชีวิตอย่างฆราวาส แม้ท่านพระเมตเตยยะก็ยังกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของการประกอบเนืองๆ ซึ่งเมถุนธรรม ซึ่งเป็นชีวิตของฆราวาส และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์โทษในเวลาจบเทศนา ท่าน ติสสะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ถ้าไม่เคยเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเลย จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคลได้ไหม

ถ้าท่านศึกษาข้อความในพระไตรปิฎกโดยตรง และเข้าใจเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เป็นการไปปฏิบัติที่สำนัก หรือที่ป่า

เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าวิปัสสนาเป็นปัญญาที่รู้แจ้งประจักษ์ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามปกติ เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็จะต้องอาศัยการเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเสียก่อนว่า ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ลักษณะอย่างไรเป็นนามธรรม ลักษณะอย่างไรเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะรู้ชัดประจักษ์แจ้งแทงตลอด ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ละคลายการที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมที่รวมกันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เข้าใจลักษณะขณะที่มีสติ ขณะที่หลงลืมสติ เจริญปัญญารู้ลักษณะนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติตามความเป็นจริงให้ชินขึ้น ให้ชัดขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้จริงๆ

ถ. ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ให้อบรมปัญญา ผมไม่เข้าใจในเรื่องอบรมปัญญา ถ้าท่านอาจารย์พูดว่า การอบรมปัญญานั้น คือ ให้เกิดปัญญารู้ว่าสิ่งนี้เป็นรูป สิ่งนี้เป็นนาม มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามที่อาจารย์ได้ว่ามานั้น ในขณะที่อาจารย์บรรยาย ทางหูผมก็ได้ยินเสียงอาจารย์ ขณะที่อาจารย์พูด ก็กำหนดรู้ตามไปด้วย ขณะที่ผมกำหนดรู้ตามไปด้วยนี้ บางครั้งผมก็แยกออกจากการไม่ฟัง มากำหนดรูปนาม โดยเข้าใจว่า เสียงที่ได้ยินนี่แล้วก็หายไป ไม่เที่ยง คือ สิ่งนั้นไม่ได้อยู่ให้เราดู ให้เราพิสูจน์ได้ จนกระทั่งว่า ทุกขณะเกิดขึ้นขณะเดียวแล้วก็หายไป ลักษณะความรู้ความเข้าใจชนิดนี้จะถือว่า เป็นการใช้ปัญญาพิจารณารูปนามไปในตัวถูกต้องหรือไม่ประการใด กรุณาชี้แจงด้วย

สุ. การอบรมเจริญปัญญา ต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทั้งปวงที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของเสียงเวลาที่เสียงปรากฏ ลักษณะของเสียงไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น เวลาที่กำลังรู้ที่เสียง เสียงก็เป็นเสียง ไม่ต้องใช้ชื่อ ไม่ต้องคิดอะไรเลย มีแต่ลักษณะสภาพของเสียงที่กำลังปรากฏขณะที่กำลังรู้เสียง ถูกไหม แต่เวลาที่คิดว่า เสียงไม่เที่ยง ขณะนั้นเป็นตัวตน หรือเป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่คิด

ถ. ตามข้อเท็จจริง ตามหลักทฤษฎีก็ว่า เสียงไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน แต่เป็นเสียง มีหูก็ต้องได้ยินเสียงทั้งนั้นไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นเสียงผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็ไม่มีรูปร่างลักษณะ สักแต่ว่าเป็นเสียง แต่ว่าบางครั้งก็มีตัวตนเหมือนกัน ที่สำคัญมั่นหมายว่าเสียงดี เสียงไม่ดี เสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย ทั้งนี้ก็เพราะสติปัญญายังไม่สมบูรณ์พอ การรู้เพียงเท่านี้ จะนำไปใช้ได้หรือยัง หรือจะต้องเรียนให้รู้มากไปกว่านี้

สุ. สภาพนามธรรมและรูปธรรมนี้ไม่เกิน ๖ ทาง คือ ไม่เกินทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีเพียง ๖ แต่การที่สติยังไม่ได้ระลึก บ่อยๆ จนชิน จนละคลาย จนเพิ่มความรู้ชัดขึ้น ความเป็นตัวตนก็ยังมีอยู่ในนามและรูป เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ต้องอบรมมาก เพื่อที่จะได้รู้ชัดว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ้าสติเกิดมาก ก็จะชินในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นความจริง และมีเพียง ๖ ทาง แต่ว่ามีลักษณะปรากฏต่างๆ กัน ปรากฏเป็นความรู้สึก อุเบกขา อทุกขมสุข หรือว่าปรากฏเป็นสัญญาความจำต่างๆ ปรากฏเป็นสังขารปรุงแต่งให้มีความพอใจ ให้มีความยินดี ให้มีความยินร้ายบ้าง

เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนเกิดการระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมเหล่านี้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ และความรู้ก็จะชัดขึ้นว่า ทางตาก็ไม่ใช่ทางหู ไม่ใช่ทางจมูก ไม่ใช่ทางลิ้น ไม่ใช่ทางกาย และไม่ใช่ทางใจด้วย

ถ. ขณะได้ยิน จะเอาตาไปฟังก็ไม่ได้ เป็นกิจของหู นี่ย่อมทราบชัดกันอยู่แล้ว ถ้ารู้อย่างนี้ จะชื่อว่าอบรมเจริญแล้วหรือยังครับ

สุ. ก็รู้อย่างนี้กันทุกคนรู้ แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน หมายความว่า ระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทันที บ่อยๆ เนืองๆ ที่จะแยกเป็นลักษณะของนามธรรมและ รูปธรรมแต่ละลักษณะ ขณะนี้ ที่กายจะมีลักษณะที่อ่อนปรากฏก็ได้ แข็งปรากฏก็ได้ ร้อนปรากฏก็ได้ ตึงปรากฏก็ได้ ไหวปรากฏก็ได้ ตรงที่หนึ่งที่ใด เวลานี้มีอยู่ใช่ไหม

ถ. ต้องมีครับ ก็เรายังมีตัวตน ยังมีร่างกาย ก็ต้องมี

สุ. รู้ตรงที่มี เฉพาะตรงที่ปรากฏ ถูกหรือผิด

ถ. ถูกครับ

สุ. และยังมีความรู้สึกว่า ทั้งๆ ที่ระลึกอย่างนั้นแล้ว ก็ยังเป็นตัวตนอยู่ ใช่ไหม

ถ. ถ้ามีปัญญาควบคุมทัน ความเป็นตัวเป็นตนรู้สึกว่าอาจจะมีน้อย หรืออาจจะไม่มี ผมยืนยันยังไม่ได้

สุ. ที่กล่าวว่า เวลาสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ้าง จะทำให้ละคลายกิเลสลงไป แต่เป็นไปอย่างละเอียดและน้อยมาก เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าความไม่รู้นี้มีเป็นประจำ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น เพียงขั้นเริ่มระลึกรู้ลักษณะของรูป อาจจะรู้ในลักษณะที่ปรากฏที่กาย ที่เย็น เป็นลักษณะของรูป แต่ที่กำลังรู้นั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีลักษณะอาการอย่างไร ที่ว่ากำลังรู้อ่อน รู้แข็ง รู้เย็น รู้ร้อนนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นี่ละเอียดขึ้นแล้ว

เพราะฉะนั้น เรื่องการอบรมเจริญปัญญาจะไม่พ้นไปจากการระลึกรู้ที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นสภาพรู้ทางตา รู้ว่าเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง และไม่ละเลยการที่จะระลึกรู้ว่า ที่กำลังปรากฏทางตานี้ ก็เป็นแต่เพียงสภาพที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่เป็นทางที่จะไม่ให้มีตัวตน เพราะว่าความจริงแล้ว เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

ถ. ความมุ่งหมายสำคัญๆ ก็ให้รู้เท่าทันที่เราสำคัญมั่นหมายว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล อะไรทำนองนั้น ถ้าหากว่าจะไม่รู้ลักษณะอย่างที่ว่า ตาเห็นรูป หูได้ฟังเสียง แต่ถ้าไม่ต้องรู้ลักษณะอะไร รวบไปเลย รวบรู้เลยว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายหาใช่ตัวใช่ตนไม่ หมายความว่า ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะอาศัยปัจจัยประชุมกันเข้า ปรุงกันเข้า จึงมีรูป มีนาม ทำนองนี้ เพื่อให้ปัญญารู้ทัน เป็นเป้าหมายอย่างนี้ ถูกหรือผิดไม่ทราบครับ

สุ. จะรวบรู้ จะทำอะไรต่างๆ ก็รู้ไม่ได้ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาที่เป็นความรู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ต่างกันด้วย อย่างทางตา ระลึกจนกระทั่งรู้ว่า กำลังเห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขณะใด สติที่อบรมแล้ว สามารถจะระลึกรู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นนามธรรมได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงในขณะนั้น

นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ทำอย่างอื่นเลย แต่จะต้องระลึกรู้ และรู้ด้วยว่า ปัญญาเริ่มรู้แล้วหรือยังทางตา ในลักษณะรู้ ในลักษณะที่ปรากฏทางตา ทางหูเริ่มรู้หรือยังว่า เป็นสภาพรู้ขณะที่ได้ยิน และเสียงเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู ทีละเล็กทีละน้อย อบรมไป จนแยกรู้ว่า นามธรรมทางตาไม่ใช่รูปธรรมทางตา นามธรรมทางหูไม่ใช่รูปธรรมทางหู นามธรรมทางจมูกไม่ใช่รูปธรรมทางจมูกนามธรรมทางลิ้นไม่ใช่รูปธรรมที่ปรากฏที่ลิ้น นามธรรมที่รู้ที่กายไม่ใช่รูปธรรมที่ปรากฏที่กาย ปัญญาที่รู้ชัดนี้ ในอรรถกถาอุปมาว่า เหมือนการผ่าลูกตาลแฝด

เวลานี้นามกับรูปปรากฏพร้อมกัน แต่ปัญญาที่แยกรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม รู้ชัดในลักษณะของรูปธรรมที่ไม่ใช่นามธรรม จึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ แต่ถ้ายังระลึกรู้ไม่ทั่ว ตัวตนก็ยังมีอีกมาก ที่จะต้องระลึกรู้จนกว่าจะประจักษ์ชัดในความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ไม่ใช่ทำอย่างอื่น ปกติธรรมดานี่เอง

ถ. ผมพอจะเข้าใจแล้วว่า การศึกษานี้ เพื่อให้เกิดความรู้ เมื่อเกิดความรู้จะได้เกิดความฉลาด และจะได้เข้าใจรู้ซึ้งถึงสภาวะแห่งความจริงนั้นๆ เมื่อรู้จริง เห็นจริงแล้ว การยึดมั่นถือมั่นจะได้คลายลงบ้าง ตามสติและกำลัง

เปิด  256
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565