แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 380

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ พราหมณ์คณกะ โมคคัลลานะได้ทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลจำพวกที่ไม่มีศรัทธา ประสงค์จะเลี้ยงชีวิต ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้โอ้อวด มีมายา เจ้าเล่ห์ ฟุ้งซ่าน ยกตัว กลับกลอก ปากกล้า มีวาจาเหลวไหล ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่น ไม่มุ่งความเป็นสมณะ ไม่มีความเคารพกล้าในสิกขา มีความประพฤติมักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในทางเชือนแช ทอดธุระในความสงัดเงียบ เกียจคร้าน ละเลยความเพียร หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่มั่นคง มีจิตรวนเร มีปัญญาทราม เป็นดังคนหนวก คนใบ้พระโคดมผู้เจริญ ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลจำพวกนั้น

ส่วนพวกกุลบุตรที่มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ไม่เป็นคนเจ้าเล่ห์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ยกตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า ไม่มีวาจาเหลวไหล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่น มุ่งความเป็นสมณะ เคารพกล้าในสิกขา ไม่มีความประพฤติ มักมาก ไม่มีความประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในทางเชือนแช เป็นหัวหน้าในความสงัดเงียบ ปรารภความเพียร ส่งตนไปในธรรม ตั้งสติมั่น รู้สึกตัว มั่นคง มีจิตแน่วแน่ มีปัญญา ไม่เป็นดังคนหนวก คนใบ้ พระโคดมผู้เจริญ ย่อมอยู่ร่วมกับกุลบุตรพวกนั้น

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เปรียบเหมือนบรรดาไม้ที่มีรากหอม เขากล่าวกฤษณาว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีแก่นหอม เขากล่าวแก่นจันทน์แดงว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีดอกหอม เขากล่าวดอกมะลิว่าเป็นเลิศ ฉันใด โอวาทของพระโคดมผู้เจริญ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล บัณฑิตกล่าวได้ว่า เป็นเลิศในบรรดาธรรมของครูอย่างแพะที่นับว่าเยี่ยม แจ่มแจ้งแล้วพระเจ้าข้า แจ่มแจ้งแล้วพระเจ้าข้า

พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้ ฉะนั้น

ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จบคณกโมคคัลลานสูตรที่ ๗

จะเห็นได้ว่า หนทางที่จะให้ถึงนิพพานก็ยังมี พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ก็ยังสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของท่านผู้ฟังเองที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่เชือนแชที่จะไปรู้สิ่งอื่น เพราะว่าพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้วโดยละเอียดว่า ไม่มีสัตว์ บุคคลตัวตน มีแต่นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ต้องรู้อย่างนี้ และเจริญอบรมอย่างไรจึงรู้อย่างนี้ได้ ก็จะต้องศึกษา พิจารณา ไตร่ตรองโดยละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งประพฤติปฏิบัติ พิสูจน์ธรรมที่ท่านศึกษาด้วยว่า สามารถที่จะให้รู้จริงในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตามความเป็นจริงได้หรือไม่

ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้า เขียนที่วัดเกาะ ตำบลบางพลับ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีข้อความว่า

เจริญพร อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

หนังสือที่จัดส่งไปเป็นธรรมบรรณาการ อาตมาได้รับเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคมนี้ และอนุโมทนาด้วย ในรายการของอาจารย์นั้น พอจะสังเกตได้ว่า คนที่สนใจในทางธรรมมักจะเข้ามาถามปัญหาและพูดโต้แย้ง และคนเหล่านั้น ก็เป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เป็นอย่างดี อาตมาถึงแม้จะมีความรู้ไม่กว้างขวางเท่าใดนัก แต่เมื่อฟังแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ เพราะเป็นแนวทางที่ไม่เหมือนกับชาวบ้านเขา จึงขอถามปัญหาที่ข้องใจสักเล็กน้อย หวังว่าคงจะไม่ขัดข้องใช่ไหม และเมื่อจะตอบ ขอให้ตอบทางรายการ

ข้อ ๑ ปัญญานั้นก็เป็นธรรมที่มีเหตุใกล้ สิ่งใดก็ตามที่จะมาทำให้เกิดเป็นความเสื่อมหรือความเจริญแก่ปัญญานั้น ก็ย่อมเข้าถึงเหตุนั้นก่อน เพราะใกล้กว่า เมื่อเหตุไม่เจริญ ผลจะเจริญได้อย่างไร จึงใคร่จะขอถามอาจารย์ว่า วิปัสสนาปัญญาของอาจารย์นั้น มีความเจริญก้าวหน้าไปด้วยอาการอย่างไร และถ้าวิปัสสนานั้นจะเจริญก้าวหน้าไปได้เองตามลำพัง ก็ไม่สมกับคำว่าธรรมทั้งปวงนั้นเกิดแต่เหตุ ข้อนี้จึงทำให้เกิดเป็นความสงสัยขึ้นว่า จะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นวิปัสสนานอกลู่นอกทาง เพราะว่าวิปัสสนานั้นเป็นธรรมชั้นสูง ถ้าบิดเบือนแนวทางเพียงเล็กน้อย ผู้ปฏิบัติจะผิดพลาดไปไกล และพุทธบริษัทไม่ใช่คัมภีร์บริษัททุกคน คิดถึงคนอื่นให้ดีๆ

ข้อ ๒ การกระทบเย็นร้อน อ่อนแข็ง ก็เกิดเป็นเวทนาอย่างธรรมดา สุขบ้าง ทุกข์บ้าง อาจารย์เห็นเป็นการเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร ในเมื่อเวทนาไม่ตั้งอยู่แน่นอนเช่นนั้น แล้วจะมีอะไรที่ดีขึ้น อาจารย์กระทบถูกต้องมาตั้งแต่เกิด จนบัดนี้ กิเลสหมดแล้วหรือยัง เจริญสัญญาปัฏฐาน หรือสติปัฏฐาน คนมีสติสัมปชัญญะนั้นมีลักษณะอย่างไร

ข้อ ๓ พูดถึงเรื่องในหนังสือ อาจารย์พูดว่า การฟังธรรมไปกำหนดที่บุคคลจึงมีเรื่องสะเทือนใจ ควรพิสูจน์แต่เฉพาะสัจธรรมในลักษณะตามความเป็นจริง ข้อนี้ในขั้นความเห็น ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ในขั้นปฏิบัติ ไม่ได้ผล ถ้าบุคคลผู้แสดงธรรมไม่มีความสำคัญแล้ว พระพุทธเจ้าจะแสดงองค์แห่งพระธรรมกถึก (นักแสดงธรรม) ๕ อย่างไว้ทำไม ก็เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี ใครเห็นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไม่สำคัญ ถ้าไม่สำคัญจริงแล้ว เราจะต้องมาพึ่งธรรมของพระพุทธเจ้าทำไม ถ้าเราไม่พึ่งสิ่งแวดล้อมจริง เราก็ต้องรู้เอาด้วยตนเอง กว่าธรรมจะตกมาถึงเรา และให้เกิดเป็นความรู้แก่ตัวเรานี้ ก็ต้องพึ่งสิ่งแวดล้อมเป็นอันมาก มีพระพุทธพจน์ข้อหนึ่งที่อาจารย์เคยนำมากล่าว ซึ่งพระศาสดาตรัสแก่พระอานนท์ว่า ความได้มิตรดีความได้สหายดีความน้อมใจไปในคนดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว พระพุทธพจน์ข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่อาจารย์ก็ไม่เห็นความสำคัญในพระพุทธพจน์ข้อนี้

สุ. ขอกราบเรียนพระคุณเจ้าว่า การฟัง หรือว่าการศึกษาพระไตรปิฎกก็ดีถ้าศึกษาไม่ตลอด หรือว่าถ้าฟังไม่ตลอด อาจจะเห็นว่าขัดแย้งกันเสมอ แต่ถ้าฟังโดยตลอด และศึกษาโดยตลอดจริงๆ เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จะไม่มีความขัดแย้งเลยเพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

สำหรับข้อ ๑

ขอกราบเรียนพระคุณเจ้าว่า ที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ต้องอาศัยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาย่อมจะไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมว่าเป็นสภาพรู้ และลักษณะของรูปธรรมว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ทางตา ทางหู ทางจมูกทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น เท่าที่ได้บรรยายมาแล้วทั้งหมด ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้เอง แต่จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเหตุที่จะให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วว่า สติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

สำหรับข้อ ๒

เท่าที่ได้บรรยายไป เข้าใจว่า ได้ตอบข้อสงสัยในข้อ ๒ นี้แล้ว แต่เพื่อที่จะให้พระคุณเจ้าได้ตรวจสอบกับข้อความในพระไตรปิฎกว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้อะไร เพราะเหตุว่าต้องมีสภาวธรรมซึ่งเป็นของจริง ที่ปัญญาจะรู้ชัด จึงจะละความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ แต่ที่น่าเสียดาย คือ พระคุณเจ้าไม่ได้ชี้แจงให้ทราบว่า ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาวธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ เพราะเหตุว่า ในขณะนี้ ก็มีโผฏฐัพพะ มีเย็น มีร้อน มีอ่อน มีแข็ง มีสุข มีทุกข์ ซึ่งเป็นสภาวธรรมจริงๆ กำลังปรากฏ ซึ่งถ้าไม่รู้สภาวธรรมเหล่านี้ พระคุณเจ้าไม่ได้ชี้แจงมาด้วยว่า จะให้รู้อะไร

ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อาทิตตปริยายสูตร มีว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาทิตตปริยายและธัมมปริยายแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาทิตตปริยายและธัมมปริยายเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงจักขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กอันร้อน ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูป อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงกล่าวอย่างนี้

กำลังเห็น ถือนิมิตอนุพยัญชนะในสิ่งที่กำลังปรากฏโดยไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และไม่รู้ว่า สภาพที่เห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตาเท่านั้น ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิด และ ถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูป อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีใน อนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ นี่เป็นของที่แน่นอนที่สุด ที่จะเห็นนิมิต รูปร่าง อนุพยัญชนะส่วนละเอียดในวัตถุที่เป็นอารมณ์ และยึดถือในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยา (คือ ตาย สิ้นชีวิตลง) ในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงกล่าวอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคทรงเตือน ในขณะที่กำลังเห็นนี้ ระลึกเลยทันทีว่า ที่กำลังปรากฏนี้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และที่กำลังรู้ คือ ที่กำลังเห็นนี้ ก็เป็นสภาพรู้ทางตาชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง นี่แหละที่จะต้องระลึกบ่อยๆ เนืองๆ จนเป็นความชำนาญ จนเป็นความรู้ชัด จนเป็นความรู้จริงในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา

สำหรับทางหู ก็โดยนัยเดียวกัน เพราะเหตุว่าจะต้องมีการได้ยินอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ควรขาดสติเลย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเกี่ยวโสตินทรีย์ด้วยขอเหล็กอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในเสียง อันจะพึงรู้แจ้งด้วยหู จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้

ผู้ที่เห็นโทษนั้น เห็นโทษจริงๆ ของการเป็นผู้ที่หลงลืมสติ การที่จะไม่รู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ผู้ที่ยังไม่เห็นว่าเป็นโทษ ก็ยังหลงลืมไปเรื่อยๆ

ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของทางจมูก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคว้านฆานินทรีย์ด้วยมีดตัดเล็บอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในกลิ่น อันพึงรู้แจ้งด้วยจมูก จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีใน อนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้

ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

ทางลิ้น อาจจะกำลังมีสำหรับบางท่านที่ปรากฏ ทางกายก็อาจจะกำลังมีสำหรับบางท่านที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงโดยตลอด ไม่เว้นทางหนึ่งทางใด เพื่อเกื้อกูลให้สภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏแก่บุคคลใด สติจะได้เกิดขึ้น ระลึกรู้รูป หรือนามทางนั้น ในขณะนั้นทันที

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเฉือนชิวหินทรีย์ด้วยมีดโกนอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรส อันจะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้

ข้อความต่อไป จะเป็นการตอบจดหมายของพระคุณเจ้าจากวัดเกาะ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงกายินทรีย์ด้วยหอกอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในโผฏฐัพพะ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีใน อนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดยังไม่เห็นประโยชน์ของการที่สติจะระลึกรู้ที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ที่ตึง หรือที่ไหว ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ย่อมแสดงว่า ความเข้าใจของท่านผู้นั้น ไม่ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ เพราะเหตุว่าจะข้ามไม่ได้เลย แม้แต่อ่อนแข็ง เย็นร้อนที่กำลังปรากฏทางกาย สติก็จะต้องระลึกรู้ มิฉะนั้นแล้ว จะยินดีในนิมิตในอนุพยัญชนะ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ความหลับยังดีกว่า แต่เรากล่าวความหลับว่าเป็นโทษ ไร้ผล เป็นความโง่เขลาของบุคคลผู้เป็นอยู่ ตนลุอำนาจของวิตกเช่นใดแล้ว พึงทำลายสงฆ์ให้แตกกันได้ บุคคลไม่ควรตรึกถึงวิตกเช่นนั้นเลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้แลว่า เป็นอาทีนพของบุคคลผู้เป็นอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้

บางท่านเป็นห่วงเหลือเกินเรื่องการหลับนอน แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความหลับยังดีกว่า แต่เรากล่าวความหลับว่าเป็นโทษ ไร้ผล เป็นความโง่เขลาของบุคคลผู้เป็นอยู่

ขณะที่กำลังหลับ ไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ ไม่เป็นโมหะ แต่ไม่เป็นประโยชน์เท่ากับการตื่นขึ้น สติเกิด รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ขอให้เทียบดู ถ้าหลับแล้วไม่เกิดอกุศล กับถ้ามีการตื่นขึ้น และไม่เจริญสติ ก็เป็นการพอกพูนโลภะ โทสะ โมหะเพิ่มขึ้น มากขึ้น แต่ประโยชน์ที่ได้จากการตื่นจริงๆ คือ เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่กำลังปรากฏแต่ละทาง

เปิด  256
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565