แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 377

ถ. การเจริญสติปัฏฐานจะตั้งต้นอย่างไร ผมขอเปรียบเทียบอย่างนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงซึ่งเขาประจำอยู่ตามสถานีดับเพลิงต่างๆ นั้น เขาสามารถจะรู้ได้ไหมว่า ในกรุงเทพมหานครนี้ เพลิงจะเกิดไหม้ที่ไหน เมื่อไร เขาไม่รู้เลย แต่เขาก็ประจำหน้าที่เขาอยู่อย่างนั้น เมื่อเพลิงเกิดขึ้นแล้ว มีผู้แจ้งมาว่า เดี๋ยวนี้เพลิงเกิดที่นั่น เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะบอกว่า เดี๋ยวก่อน เวลานี้ไม่ใช่เวลาไปดับเพลิง เขาจะพูดอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าต้องไปสู่ที่โน่นเสียก่อน ต้องไปตั้งต้นที่โน่นเสียก่อน จึงจะมาดับเพลิงที่นี่ เขาจะทำอย่างนี้หรือเปล่า เขาคงไม่ทำอย่างนี้แน่ เขาก็พร้อมเพรียงกันไปสู่จุดหมายที่เพลิงเกิดขึ้นนั่นเอง

ผู้เจริญสตินี้ก็เช่นเดียวกัน กิเลส ไฟ คือ โลภะ โทสะ โมหะซ้ำเติมเราอยู่ตลอด ไม่บอกเวลา ไม่บอกสถานที่ นั่งอยู่ไม่ว่าที่ไหนๆ ผู้ที่เจริญสติมีความประสงค์จะกำจัดกิเลส ดับไฟนี้เสียหน่อย จะบอกว่า เวลาเวลานี้ยังไม่ควรดับไฟ จะดับไฟต้องไปตั้งต้นที่สถานที่โน้นก่อนจึงจะดับไฟได้ อย่างนี้จะเป็นการเหมาะสมหรือ เป็นความสมควรหรือ ขอให้ท่านพิจารณา

เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายนั่งอยู่ที่นี่ ไฟเกิดอยู่ตลอดเวลา แต่ท่านบอกว่า เวลานี้ยังดับไม่ได้หรอก ต้องไปโน่น ไปสำนักไหนก็แล้วแต่ ไปดับเอาที่โน่น แต่ไฟนี้จะทำอย่างไร มันเกิดแล้ว เหตุกับผลตรงกันหรือเปล่า ไฟเกิดเดี๋ยวนี้ แต่เราบอกว่ารอเวลาโน้นเถอะจึงค่อยดับ หรือรอไปสู่สถานที่โน้นก่อนจึงจะดับ อย่างนี้ไม่ถูกแน่เชียว

เดี๋ยวนี้ไฟอะไรเกิดขึ้นมา เราก็ดับอย่างนั้น เราพยายามเจริญสติให้รู้ว่าไฟเกิดขึ้นแล้วนะ เราก็พยายามดับไป จะดับสนิท หรือไม่สนิทแค่ไหน ก็เรื่องของเรา สุดแล้วแต่ ยิ่งเจริญมากเท่าไร ไฟก็มีโอกาสจะดับสนิทได้เมื่อนั้น ที่พูดว่า ยังไม่ใช่กาลที่จะดับ อย่างนี้ไม่ถูกแน่ หรือว่าไม่ใช่สถานที่ที่ควรจะดับไฟ อย่างนี้ก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน

สำหรับเรื่องของสำนัก สำนักคืออะไร สำนักคือที่อยู่อาศัย ตรงไหนก็ได้ อย่างเช่น ไปสู่สำนักพระพุทธองค์ บางทีพระพุทธองค์ท่านประทับอยู่ใต้ต้นไม้ ตรงนั้นก็เป็นสำนักของพระพุทธองค์ บางทีประทับอยู่ในวิหาร นั่นก็เป็นสำนักของพระพุทธองค์ ที่ไหนที่เป็นสำนักก็ที่นั่นแหละ ใช้ได้ทั้งนั้น เดี๋ยวนี้เรานั่งอยู่นี่ก็เป็นสำนัก แต่ละคนๆ นี่ก็คือสำนัก

ทีนี้คำว่า ปฏิบัติ เข้ามาพัวพันอยู่ด้วย เช่น สำนักปฏิบัติ เพราะฉะนั้น กลายเป็นว่า ที่อื่นไม่สามารถจะกำจัดพวกไฟต่างๆ เหล่านี้ได้ ต้องไปสู่สำนักนั้น ใช้คำว่าปฏิบัติ เลยเข้าใจไขว้เขวว่า สถานที่นี้จะกำจัดกิเลสได้ ที่อื่นกำจัดไม่ได้ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ควรจะมีอยู่ในจิตใจของผู้ที่เจริญสติด้วย

อีกประการหนึ่ง เคยมีผู้ถามอาจารย์ว่า ไม่เห็นพระผู้มีพระภาคบัญญัติห้ามไว้ที่ไหนว่า ไม่ให้ไปที่สำนักปฏิบัติ ในพระไตรปิฎกก็ไม่มีพูดไว้ว่า ห้ามอย่างโน้นอย่างนี้ ผมเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นสัพพัญญู จะไปห้ามอย่างไร ใครจะอยู่ที่ไหนก็อยู่ ถ้าตรัสว่าอย่าไปที่นั่นที่นี่ ก็ไม่ใช่สัพพัญญู สัพพัญญูนี้ทรงรู้แจ้งหมด ทรงทราบชัดอยู่แล้วว่ากิเลสเกิดที่ไหนก็ควรดับที่นั่น ไม่ใช่ว่าเกิดตรงนี้แล้วรอเวลา เมื่อไปที่โน้นจึงจะดับ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติอย่างนี้แน่นอน

ผมเรียนมาให้ทราบแค่นี้

สุ. ท่านผู้ฟังคงจะชินหูกับคำว่า มีกิเลสที่ไหน หรือกิเลสอยู่ที่ไหน เกิดที่ไหน ก็ต้องรู้ ก็ต้องละที่นั่น เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทางตามีกิเลส คือ ความไม่รู้ในลักษณะของเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่หรือเปล่า ปัญญาสามารถที่จะสมบูรณ์ประจักษ์ในความเป็นนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม ไม่ปะปนกับรูปธรรม ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปไม่ใช่นามทางมโนทวาร ชัดเจน ถูกต้องแล้วหรือยัง

ถ้ายังไม่ประจักษ์ กิเลสอยู่ที่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติก็จะต้องเกิดเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้โผฏฐัพพะ กำลังคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ

สำหรับข้ออุปมาที่ว่า ควรดับกิเลสประดุจไฟไหม้บนศีรษะทีเดียว

ถ้าจะให้ซาบซึ้งในอรรถนั้น ต้องทราบว่า ความไม่รู้ที่กำลังมี คือ ไฟที่กำลังไหม้อยู่แล้วในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ต้องดับเดี๋ยวนี้ ถ้าจะคอยไปสู่ที่อื่น ก็ไม่ตรงกับที่ทรงอุปมาไว้ว่า การเจริญสติปัฏฐาน การอบรมเจริญปัญญานั้น ควรจะเปรียบเสมือนกับการดับไฟที่กำลังไหม้ศีรษะ

เดี๋ยวนี้กำลังไหม้ด้วยอวิชชา สติที่เกิดรู้ในขณะนี้จึงจะเป็นการละ เป็นการดับไฟที่กำลังไหม้อยู่ ไม่ใช่รอไว้ ไหม้ก็ไหม้ไป คอยไป จะไปดับที่อื่น

โดยมากที่ท่านผู้ฟังปั่นป่วน รวนเร เต็มไปด้วยความคลางแคลงใจ สงสัยในการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าท่านหวังที่จะบรรลุความเป็นพระโสดาบันในปัจจุบันชาตินี้ หรือมิฉะนั้น เมื่อไม่สามารถจะสมหวังได้ ท่านก็หวังญาณหนึ่งญาณใด ตั้งแต่ญาณสูงลงไป จนกระทั่งถึงญาณต้นๆ

นี่เป็นลักษณะของความหวัง แต่ไม่ใช่เหตุที่จะให้ปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านผู้ฟังจะทราบได้อย่างไรว่า ท่านจะเป็นพระโสดาบันในปัจจุบันชาตินี้หรือเปล่า ท่านที่ไม่เจริญสติปัฏฐานเลยก็หมดหวัง คือ รู้แน่ว่าอย่างไรๆ ก็ไม่เป็น แต่ท่านที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน หวังได้ไหม

ถ. รู้ทุกข์ ละสมุทัย บางทีรู้ สมมติว่า มีผัสสะมากระทบ ถ้าเราไม่เผลอ ก็รู้ว่า นี่ทุกขสัจมาแล้ว ถ้าเผลอก็ไปรับเสียก่อนรู้ ตอนนี้สติยังไม่สมบูรณ์ คือ พยายามจะทำให้สติสมบูรณ์อยู่เสมอ แต่ยังขัดข้อง อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติเข้ามรรคหรือยัง

สุ. รู้ขั้นไหนจึงจะละสมุทัย ต้องขั้นวิปัสสนาญาณที่ประจักษ์ในภังคญาณแล้ว จึงจะเริ่มปหานปริญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดความรู้สึกแทรกขึ้นมาว่า เป็นทุกขสัจ นั่นไม่ใช่การรู้ลักษณะของรูปที่ไม่ใช่นามธรรม และไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม ต้องสังเกต สำเหนียก จนเป็นความเริ่มรู้ในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ตามปกติ และในลักษณะที่ไม่ใช่สภาพรู้ตามปกติ ทีละเล็กทีละน้อย

แม้แต่การนึกแทรกขึ้นมาว่าเป็นทุกขสัจ ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของรูป ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนาม แต่เป็นการคิดนึกที่เกิดแทรกขึ้น และสติก็ไม่ได้รู้ว่า แม้ความคิดนึกนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นลักษณะที่คิดเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงต้องละเอียด และเข้าใจด้วยว่า ปัญญา รู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมหรือเปล่า รู้จริงๆ ในลักษณะของรูปธรรมหรือเปล่าอย่าเพียงแต่นึกว่า ลักษณะนั้นเป็นนาม ลักษณะนี้เป็นรูป นั่นเป็นความนึก ไม่ใช่เป็นการสำเหนียกจนรู้ในธาตุรู้ ในสภาพรู้ ในธรรมที่กำลังรู้ว่าไม่ใช่รูปธรรม แต่เป็นสภาพรู้ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ต้องละเอียดมากจริงๆ

ไม่ต้องห่วงเรื่องละ เพราะเหตุว่าขณะใดที่ปัญญาเริ่มสำเหนียก รู้ในลักษณะของนาม ในลักษณะของรูป ก็ละความไม่รู้ในลักษณะของนามรูปที่เคยรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ทีละเล็กทีละน้อย แต่ความรู้ที่จะถึงขั้นปหานจริงๆ ที่จะละจริงๆ ปัญญาต้องเป็นวิปัสสนาขั้นสูงทีเดียว จึงจะสามารถเป็นปหานปริญญาได้จริงๆ

ถ. ขณะที่กำลังฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา สติเกิดบ่อย แต่เวลาที่ดูโทรทัศน์สติเกิดน้อย อยากทราบว่า เป็นการจงใจที่จะให้สติเกิดหรือเปล่า ในขณะที่กำลังฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา

สุ. ถ้าไม่ฟัง มักจะหลงลืมสติ บังคับไม่ได้ ถ้าจงใจก็บังคับได้ว่า กำลังดูโทรทัศน์ให้สติเกิด นั่นจึงเรียกว่าจงใจ แต่นี่รู้ว่า ถ้าได้ฟังธรรมเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐานจะเป็นปัจจัยให้สติเกิด เพราะฉะนั้น ได้ฟังบ้าง ได้อ่านบ้าง ได้สนทนาธรรมบ้าง เป็นปัจจัยให้สติเกิด

สำหรับอาหาร หรือปัจจัยของธรรมทั้งหลายนี้มีทั่วไปในพระไตรปิฎก ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อิฏฐสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ โภคสมบัติ ๑ วรรณะ ๑ ความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ พรหมจรรย์ ๑ มิตร ๑ ความเป็นพหูสูตร ๑ ปัญญา ๑ ธรรม ๑ สัตว์ทั้งหลาย ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก

ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เป็นอันตรายแก่ธรรม ๑๐ ประการนี้ และได้ทรงแสดงธรรม ๑๐ ประการที่เป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการนี้ ซึ่งมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการ เป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก คือ

ความไม่เกียจคร้าน ความขยันหมั่นเพียร เป็นอาหารของโภคสมบัติ

การประดับ การตกแต่งร่างกาย เป็นอาหารของวรรณะ

การทำสิ่งที่สบาย เป็นอาหารของความไม่มีโรค

ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นอาหารของศีลทั้งหลาย

การสำรวมอินทรีย์ เป็นอาหารของพรหมจรรย์

การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง เป็นอาหารของมิตรทั้งหลาย

การกระทำการสาธยาย เป็นอาหารของความเป็นพหูสูตร

การฟังด้วยดี การสอบถาม เป็นอาหารของปัญญา

การประกอบความเพียร การพิจารณา เป็นอาหารของธรรมทั้งหลาย

การปฏิบัติชอบ เป็นอาหารของสัตว์ทั้งหลาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก

เป็นพระสูตรสั้น มีประโยชน์ไหม เช่นข้อความที่ว่า ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นอาหารของศีลทั้งหลาย

ถ้าท่านคบหาสมาคมกับคนดี ย่อมมีผู้ที่ชักนำ ชักจูงให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดี แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่คบหาสมาคมกับผู้ที่มีความประพฤติชั่ว ท่านก็ย่อมจะถูกชักจูงโน้มเอียงไปในทางชั่ว ทีละเล็กทีละน้อย ฉันใด แม้ความเห็นที่จะถูกหรือจะผิด ก็ขึ้นอยู่กับการคบหาสมาคมเช่นเดียวกัน ถ้าท่านคบหาสมาคมกับคนที่มีความเห็นผิดโน้มเอียงไปในทางความเห็นผิด ขาดการพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย ท่านก็ย่อมจะคล้อยตาม โน้มเอียงไปในความเห็นผิดนั้น แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่คบหาสมาคมกับผู้ที่มีความเห็นถูก ท่านก็จะได้รับการชักจูง โน้มเอียงไปในการที่จะเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่พิจารณาคล้อยตามคลองของธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นความเห็นถูกด้วย

ข้อความที่ว่า การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง เป็นอาหารของมิตรทั้งหลาย นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับมิตร คือ กัลยาณมิตร ซึ่งท่านจะขาดไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะต้องมีมิตร และควรที่จะทราบด้วยว่า ผู้ที่เป็นมิตรนั้นควรจะกระทำประการใด แม้แต่ในความเป็นกัลยาณมิตรในธรรม คือ การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง

นี่เป็นสิ่งที่ท่านจะได้ทราบว่า ใครเป็นมิตรจริง หรือว่าไม่ใช่มิตรจริง ธรรมเป็นอย่างไร มีเหตุมีผลอย่างไร ที่ว่า ไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริงนั้น ท่านพิจารณาได้ ตรวจสอบได้กับพระธรรมวินัย และสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย ท่านจะได้ทราบว่า ท่านฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านฟังธรรมของสัปบุรุษ หรือว่าธรรมที่ท่านได้ฟังนั้น ไม่ใช่ธรรมของสัปบุรุษ ไม่ใช่ธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

สำหรับในสูตรอื่น ก็มีข้อความที่กล่าวถึงปัจจัยของความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาเวทัลลสูตร มีข้อความว่า

ณ พระวิหารเชตวัน ท่านพระมหาโกฏฐิกะได้ถามธรรมกับท่านพระสารีบุตรว่าธรรมประการนั้นๆ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไร

เพราะฉะนั้น แม้แต่พระสาวกที่ท่านสนทนากัน ท่านก็สนทนาว่า ธรรมข้อนั้น ประการนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร

ข้อ ๔๙๗ มีข้อความว่า

ท่านพระโกฏฐิกะถามว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ก็ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิมีเท่าไร

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

ธรรม ๒ ประการ คือ ความได้สดับแต่บุคคลอื่น ๑ ความทำในใจโดยแยบคาย ๑ (คือ การพิจารณาโดยแยบคาย) เป็นปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ

ธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นปัจจัยแห่งความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นความเห็นถูกนั้น ย่อมต้องอาศัยปัจจัย คือ ความได้สดับแต่บุคคลอื่นด้วย และการพิจารณาโดยแยบคายของตนเองด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

ท่านพระมหาโกฏฐิกะถามว่า

สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีผลคือเจโตวิมุตติเป็นอานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุติเป็นผล และมีผลคือปัญญาวิมุตติเป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรมเท่าไรอนุเคราะห์แล้ว

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีผลคือเจโตวิมุตติเป็นอานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีผลคือปัญญาวิมุตติเป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรม ๕ ประการอนุเคราะห์แล้ว คือ สัมมาทิฏฐิอันศีลอนุเคราะห์แล้ว ๑ อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว ๑ อันสากัจฉาอนุเคราะห์แล้ว ๑ อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว ๑ อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว ๑

สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีผลคือเจโตวิมุตติเป็นอานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีผลคือปัญญาวิมุตติเป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรม ๕ ประการนี้แล อนุเคราะห์แล้ว

เปิด  261
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565