แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 379
ประการที่ ๓ คือ อวิกขัมภิตุปปันนะ ก็กิเลสที่ไม่ข่มไว้แล้วด้วยสมาบัติ ใครๆ ก็ไม่พึงกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายที่ไม่ข่มไว้แล้ว จักไม่เกิดขึ้นในที่ชื่อนี้
แสดงว่ามีโอกาสของกิเลสที่จะเกิดทั้งนั้น ไม่ว่าจะลืมตาเห็น หรือว่าหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น หรือแม้ว่าจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่นแล้ว แต่ก็ยังระลึกถึงฟุ้งซ่านไปด้วยกำลังของกิเลส และถ้าไม่ข่มด้วยกำลังของสมาธิหรือสมาบัติ ใครๆ ก็ไม่พึงกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายที่ไม่ข่มไว้แล้ว จักไม่เกิดขึ้นในที่ชื่อนี้ แสดงว่าเป็นโอกาสของกิเลสตลอดเวลาที่จะเกิด
ถามว่า เพราะเหตุไร
ตอบว่า เพราะความที่กิเลสเหล่านั้น อันตนมิได้ข่มไว้แล้ว
ถามว่า เหมือนอะไร
ตอบว่า ถ้าว่าบุคคลพึงทุบต้นน้ำนมด้วยขวานไซร้ ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า น้ำนมไม่พึงออกมาในที่ชื่อนี้ นี้ชื่อว่าอวิกขัมภิตุปปันนะ คือ เกิดขึ้นแล้วเพราะไม่ข่มไว้
ต่อไป คือ อสมุคฆาฏิตุปปันนะ มีข้อความว่า
พึงยังคำว่า กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่ได้เพิกถอนขึ้นด้วยมรรค ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า จักไม่เกิดขึ้น แม้แก่บุคคลผู้เกิดในภพอันเลิศ ดังนี้ ให้พิสดารโดยนัยก่อนนั่นเทียว นี้ชื่อว่าอสมุคฆาฏิตุปปันนะ
แสดงถึงความละเอียด เหนียวแน่น หนาแน่นของกิเลสว่า มากมายเพียงไร เพราะถึงแม้จะระงับกิเลสไว้ด้วยกำลังของสมาบัติ ทำให้ปฏิสนธิในภูมิของรูปพรหม หรืออรูปพรหมก็ตาม แต่ กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่ได้เพิกถอนขึ้นด้วยมรรค ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า จักไม่เกิดขึ้น แม้แก่บุคคลผู้เกิดในภพอันเลิศ
หนีไม่พ้นเลย เพราะฉะนั้น ทางเดียวก็คือ ไม่ใช่เพียงข่มกิเลสด้วยกำลังของสมาบัติ เพราะถ้าเพียงข่มไว้ ไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท จะเกิดในภพภูมิที่เลิศสักเท่าไรก็ตาม กิเลสก็ย่อมเกิดขึ้นกับบุคคลนั้นได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้เพิกถอนขึ้นด้วยโลกุตตรจิต
กิเลสมากไหม ยิ่งรู้ละเอียดอย่างนี้ จะเห็นว่ามากมายจริงๆ ซึ่งการที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ เป็นไปได้ไหมที่จะมีหนทางอื่นที่จะดับ เป็นไปไม่ได้เลย นอกจากจะเข้าใจผิด เพราะถ้าตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้จริงในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้
ในขณะที่กำลังเห็นนี้ มีสภาพธรรม ๒ อย่าง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ที่กำลังเห็น เป็นเพียงอาการรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุที่รู้สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตา ส่วนสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น
ทางตา ที่กำลังเห็นในขณะนี้ รู้จริงหรือยัง นี่เป็นเรื่องของทางตาที่จะต้องเป็นความรู้จริง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ปัญญาจะละคลายดับกิเลสได้ และทางหู ขณะนี้กำลังได้ยิน รู้จริงในธาตุรู้ที่กำลังรู้ คือ ได้ยินในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ อาการรู้ลักษณะรู้ ซึ่งต่างกับเห็น เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่รู้เสียง และสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้น รู้จริงหรือยัง หรือว่ายังมีความสงสัยอยู่มาก เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เรื่องคอยโดยไม่เจริญเหตุ แต่เป็นเรื่องที่ เมื่อเหตุสมควรเมื่อไรที่ผลจะเกิด ผลที่เป็นอนัตตาก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
ข้อความต่อไปใน คณกโมคคัลลานสูตร มีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกร ภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ คือ พึงบริโภคอาหาร พิจารณาโดยแยบคายว่า เราบริโภคมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อจะมัวเมา มิใช่เพื่อจะประดับ มิใช่เพื่อจะตบแต่งร่างกายเลย บริโภคเพียงเพื่อร่างกายดำรงอยู่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อบรรเทาความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์เท่านั้น ด้วยอุบายนี้ เราจักป้องกันเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และความเป็นไปแห่งชีวิต ความไม่มีโทษ ความอยู่สบายจักมีแก่เรา
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เป็นชีวิตปกติธรรมดา แม้ว่าทรงโอวาทให้เป็นผู้รักษาศีล สำรวมอินทรีย์ แต่ชีวิตปกติไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะให้สติเกิดขึ้นได้มาก บ่อยๆ เนืองๆ อย่างที่หวังหรือที่ต้องการ ฉะนั้น เมื่อมีสภาพธรรมที่ควรเจริญ ควรอบรม เกื้อกูลแก่การที่จะให้สำรวมอินทรีย์ได้ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้
จะเห็นได้ว่า เรื่องของอาหาร เป็นเรื่องที่มักจะติดกันทุกท่าน บางท่านอาจจะไม่ติดในรูปารมณ์ ทางตาละได้ แต่ว่าทางลิ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ วัยไหน เพศใดก็ตาม ยังมีการติดในรส ถ้าไม่สะสมการเจริญสติ ละคลายความยินดีในรส ให้เป็นผู้ที่รู้จักประมาณในโภชนะ ซึ่งการเป็นผู้ที่รู้จักประมาณในโภชนะจะป้องกันเวทนาเก่า และไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น เป็นความอยู่สบาย เพราะว่าบางท่านพอป่วยไข้ สติก็ไม่เกิดแล้ว ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่าทุกขเวทนานั้นจะมากน้อยเพียงใด แต่บางท่านพอมีทุกขเวทนากล้าทางกาย สติก็ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ได้
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกร ภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ คือ จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม ด้วยการเดินจงกรม และการนั่งตลอดวัน จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม ด้วยการเดินจงกรม และการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี พึงเอาเท้าซ้อนเท้า มีสติรู้สึกตัว ทำความสำคัญว่า จะลุกขึ้นไว้ในใจแล้ว สำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวาตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี จงลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม ด้วยการเดินจงกรม และการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีเถิด
ดูกร พราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกร ภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ คือ ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดูและเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอน หลับ ตื่น พูด และนิ่งเถิด
ไม่ใช่เพียงตื่น แต่ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ว่าจะตื่นกี่โมงกี่ยามก็ตาม เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ คือ ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดูและเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอน หลับ ตื่น พูด และนิ่งเถิด
เป็นชีวิตปกติประจำวันทั้งหมด จงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วแต่ว่า ท่านตื่นมา ท่านกระทำกิจอย่างไร จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด จะประกอบกิจการงานต่างๆ ก็เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกร ภิกษุ มาเถิด เธอจงพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟางเถิด
ภิกษุนั้น จึงพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
ละอภิชฌาในโลกแล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌาได้
ละความชั่ว คือ พยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่ว คือ พยาบาทได้
ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้
ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้
ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัย ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้
เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถอยกำลังนี้ได้แล้ว จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดจากสมาธิอยู่
เป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่าผู้วางเฉย มีสติอยู่ เป็นสุขอยู่
เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่
ดูกร พราหมณ์ ในพวกภิกษุที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุพระอรหัตตมรรค ยังปรารถนาธรรมที่เกษมจากโยคะอย่างหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้อยู่นั้น เรามีคำพร่ำสอนเห็นปานฉะนี้
ส่วนสำหรับภิกษุพวกที่เป็นอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบนั้น ธรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบายในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ
ท่านผู้ฟังจะเห็นข้อความเกี่ยวกับการเจริญธรรมของพระภิกษุ ทั้งศีล ทั้งสมาธิทั้งปัญญา เพราะว่าชีวิตของพระภิกษุซึ่งเป็นสมณเพศนั้น เป็นชีวิตที่สงบ ไม่เหมือนกับชีวิตของเพศฆราวาส ด้วยเหตุนี้ การที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ไม่ใช่เพียงการที่จะมีชีวิตอย่างฆราวาส และบรรลุเพียงโสดาบัน สกทาคามี และอนาคามีบุคคล แต่จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอนบรรดาพระภิกษุทั้งหลายนั้นด้วยประการต่างๆ ทั้งในศีล ในสมาธิ ในฌาน และในการบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ทีเดียว
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ พราหมณ์คณกะ โมคคัลลานะได้ทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
สาวกของพระโคดมผู้เจริญ อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ ย่อมยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน ทุกรูปทีเดียวหรือหนอ หรือว่าบางพวกก็ไม่ยินดี
แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงโอวาทพร่ำสอนด้วยพระองค์เอง แต่แม้กระนั้น พระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบว่า
ดูกร พราหมณ์ สาวกของเรา อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี
คณกโมคคัลลานพราหมณ์กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ในเมื่อนิพพานก็ยังดำรงอยู่ ทางให้ถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่ พระโคดมผู้เจริญผู้ชักชวนก็ยังดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย จึงยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจะย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านชอบใจอย่างไร พึงพยากรณ์อย่างนั้น ดูกร พราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านชำนาญทางไปเมืองราชคฤห์มิใช่หรือ
คณกโมคคัลลานพราหมณ์กราบทูลว่า
แน่นอนพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมาในสำนักของท่าน เข้ามาหาท่าน แล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ มาเถิด ทางนี้ไปเมือง ราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นบ้านชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์ บุรุษนั้น อันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ จำทางผิด กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม
ต่อมาบุรุษคนที่ ๒ ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมาในสำนักของท่าน เข้ามาหาท่าน แล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ มาเถิด ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นบ้านชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์ บุรุษนั้น อันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ พึงไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี
ดูกร พรหมณ์ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ในเมื่อเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ท่านผู้ชี้แจงก็ดำรงอยู่ แต่ก็บุรุษอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอย่างนี้ คนหนึ่งจำทางผิด กลับเดินไปทางตรงกันข้าม คนหนึ่งไปถึงเมือง ราชคฤห์ได้โดยสวัสดี
พราหมณ์คณกะ โมคคัลลานะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่ เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของเรา อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี
ดูกร พราหมณ์ ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้