แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 381

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักขุนทรีย์อันบุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กอันร้อน ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า จักษุไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง จักษุวิญญาณไม่เที่ยง จักษุสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยไม่เที่ยง

จะเห็นได้ว่าไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่า ขณะนี้สติจะระลึกรู้ที่จักษุ หรือรูป หรือจักษุวิญญาณ หรือจักษุสัมผัส หรือแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยไม่เที่ยง

ข้อความต่อไป เป็นโสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ และเรื่องของมโนวิญญาณที่ไม่เที่ยง มโนสัมผัสไม่เที่ยง สุขเวทนาไม่เที่ยง ทุกเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ใดสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ แม้ในรูป แม้ในจักษุวิญญาณ แม้ในจักษุสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย

ข้อความซ้ำต่อไป จนถึงทางมโนทวาร

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เกิดอะไรขึ้น ถ้าท่านพิจารณาอย่างนี้เนืองๆ บ่อยๆ แต่ต้องเป็นความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้

ไม่พ้นจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในจักษุ แม้ในรูป แม้ในจักษุวิญญาณ แม้ในจักษุสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา

เป็นปกติธรรมดาจริงๆ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์อะไรในการที่จะระลึกรู้

สำหรับคำถามข้อ ๒ ในเรื่องของเวทนา จะขอกล่าวถึงข้อความทั้งในพระไตรปิฎกและในอรรถกถาให้เห็นว่า การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น จะต้องเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกตินี่เอง

ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ นิทานสูตร เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรรม ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา มีว่า

ก็ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ได้มีอุบาสกคนหนึ่ง ชื่อว่ามหาวาตกาละ เขาทำการสาธยายอาการ ๓๒ เพื่อประโยชน์แก่โสตาปัตติมรรค เป็นเวลาถึง ๓๐ ปี ถึงแล้วซึ่งความเห็นวิปลาสขึ้นว่า เขาไม่อาจแล้วเพื่อจักทำแม้สักว่าโอภาสให้บังเกิดขึ้น พระพุทธศาสนาคงจะเป็นศาสนาที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ ทำกาลกิริยาแล้ว จึงเกิดเป็นจระเข้ยาว ๙ อุสภะ ในแม่น้ำคงคา

ถ้าใครมีความเห็นอย่างนี้ว่า มีประโยชน์อะไรกับการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของโผฎฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏที่กาย หรือว่าสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง ดูเป็นของธรรมดาเสียเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ได้ปฏิบัติแล้วถึง ๓๐ ปี แต่เมื่ออินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ปัญญายังไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้เกิดความเห็นวิปลาสขึ้นว่า พระพุทธศาสนาคงจะเป็นศาสนาที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะไม่พ้นจากอบายภูมิ หลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว

เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟัง ถ้าท่านไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านจะให้รู้อะไรที่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินี้เอง กรุณาชี้แจงด้วย

สำหรับเวทนา ความรู้สึกที่เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ที่สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริง มีกล่าวไว้มากทีเดียวในพระไตรปิฎก

ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โรหิตัสสวรรคที่ ๕ สมาธิสูตร ข้อ ๔๑

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสมาธิภาวนา ๔ ประการ คือ

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ อยู่เป็นสุขในปัจจุบันมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ ได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ ความสิ้นอาสวะมีอยู่ ๑

สำหรับสมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันนั้น ได้แก่ การอบรมเจริญสมถภาวนา เป็นฌานจิต

สำหรับสมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ ได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ

ซึ่งคำว่า ญาณทัสสนะ ข้อความใน อรรถกถา มโนรถปูรณี อธิบายว่า

คำว่า ญาณทัสสนะปฏิลาภาย ได้แก่ ได้ทิพยจักษุ และปฐมญาณทัสสนะ

เพราะฉะนั้น คำว่า ญาณทัสสนะ ก็มีความหมายทั้งนัยของสมาธิ และนัยของวิปัสสนา ถ้าในของสมาธิ หมายความถึงการได้ทิพยจักษุ

ข้อความใน อรรถถา มโนรถปูรณี อธิบายสูตรนี้ไว้ว่า

จริงอยู่ อาโลกแห่งทิพยจักษุญาน ท่านประสงค์ในที่นี้

เพราะฉะนั้น ในสมาธิภาวนา ๔ ประการ เป็นเรื่องของสมถะ ๒ ประการ และเป็นเรื่องของวิปัสสนา ๒ ประการ

สำหรับสมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ และ สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะมีอยู่ นั่นเป็นเรื่องของการเจริญวิปัสสนา

สำหรับในพระสูตรนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะสมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะและเพื่อความสิ้นอาสวะ

ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่ดับไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ

จริงหรือไม่ที่ว่า ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ เพราะไม่ว่าจะเป็นเวทนาใดเกิดขึ้น ก็รู้เวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้นว่า กำลังเป็นเวทนาอย่างนั้นที่กำลังปรากฏ รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป

ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ แล้วเมื่อไรจะรู้แจ้งในเวทนาที่เกิดขึ้น

เวทนามีปรากฏจริง แต่เกิดแล้วดับๆ อย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เจริญสติที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นความรู้สึก ที่เป็นเวทนาแต่ละชนิด จะไม่สามารถประจักษ์แจ้งที่จะใช้คำว่า รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะที่เกิด รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ในขณะที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไปในขณะที่เวทนาดับไป

เวลานี้เวทนากำลังมี รู้แจ้งตอนไหน ตอนที่มีอยู่ แต่ยังไม่ประจักษ์ขณะที่เกิด และขณะที่ดับ ถ้าเกิดโทมนัสเวทนาขึ้น ถ้าไม่รู้ลักษณะของโทมนัสเวทนาที่เกิด ก็ไม่ชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะ

ถ. คำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มีคนเป็นอันมากกล่าวว่า ต้องเจริญสมาธิให้มากเสียก่อน จึงจะเกิดสติปัญญาได้ ซึ่งตอนนี้ใช้คำๆ เดียวกัน คือ การเจริญสมาธิเพื่อให้เกิดสติสัมปชัญญะ แต่ในที่นี้ อาจารย์หมายถึงเจริญสติ เมื่อเป็นเช่นนี้เขาอาจจะอ้างว่า อาจารย์อธิบายเอาเอง พยัญชนะเขาบอกว่าเจริญสมาธิ ทำไมอาจารย์บอกว่า เทียบได้กับการเจริญสติ แต่เขาว่ากันว่า เจริญสมาธิเพื่อให้เกิดสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เจริญสติเพื่อให้เกิดสติสัมปชัญญะ ก็อาจจะทำให้เกิดไขว้เขวได้

สุ. โดยมากทุกท่านต้องการสมาธิ ความมั่นคงของจิต เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปทางหนึ่งทางใด เช่น กำลังรู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏทางตา จิตสงบไหม ก็สงบ และเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะด้วย ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความสงบ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ท่านที่เข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐาน คงจะไม่มีสมาธิ หรือว่าต้องไปเจริญสมาธิอื่น ซึ่งข้อนี้ก็ได้จำแนกลักษณะของสมาธิไว้แล้ว ๔ ประการ

ถ้าเป็นสมาธิเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นเรื่องของสมถภาวนา อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เพราะขณะนั้น โลภะไม่เกิด โทสะไม่เกิด เกิดไม่ได้ด้วยการข่มไว้ ระงับไว้ ด้วยการอบรมเจริญสมถภาวนา นั่นก็แยกไว้แล้วตอนหนึ่ง การอบรมเจริญสมาธิเพื่อญาณทัสสนะ นั่นก็แยกไว้แล้วว่า สำหรับทิพยจักขุ เป็นสมาธิตรงๆ เลยทีเดียว สำหรับผู้ที่ต้องการความสงบอย่างสมาธิ

แต่ความสงบ หรือสมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ อารมณ์ที่จะให้เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ ก็ต้องเป็นอารมณ์ของสติสัมปชัญญะด้วย ไม่ใช่อารมณ์อื่น และไม่ใช่ว่าในขณะนั้นจะไม่มีสมาธิ แต่ไม่ใช่สมาธิของฌาน เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความมุ่งหมายในการที่ทรงแสดงไว้ด้วยว่า เพื่อให้เห็นความต่างกัน

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมนี้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ต้องการประโยชน์จริงๆ ฟังเพื่อเข้าใจจริงๆ ฟังเพื่อการประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เพื่อการขัดเกลา เพื่อการละกิเลส จริงๆ ท่านย่อมได้ประโยชน์มากทีเดียว แต่ถ้าท่านฟัง เพื่อที่จะให้เห็นว่า ขัดแย้งกันหรือเปล่า หรือว่าท่านไม่เข้าใจ ก็จะไม่ได้ประโยชน์เลย นี่เป็นโยนิโสมนสิการในการฟังธรรม ในการพิจารณาธรรม

ท่านที่อ้างว่า ต้องทำสมาธิเสียก่อน เพื่อสติสัมปชัญญะ ท่านจะทำแบบไหน ท่านจะทำอย่างไร ถ้าทำอย่างสมถภาวนา ก็เป็นสมาธิประการที่ ๑ ไม่ใช่สมาธิประการที่ ๓ ซึ่งเมื่อเจริญไปๆ ผลก็คือ ปฐมฌาน ทุติยณาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และฌานต่อๆ ไป ที่เป็นไปเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่เพื่อสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าจะอ้างว่า จะต้องทำสมาธิเสียก่อน ก็เป็นข้อที่ ๑ เท่านั้น คือ สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ที่จะทำให้จิตถึงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แต่ถ้าเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะแล้ว ในอรรถกถาก็กล่าวไว้ว่า ทราบชัดในเวทนา ในรูป ในนามนั่นเอง

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ เป็นไฉน

ถึงคราวที่จะดับกิเลส สิ้นอาสวะจริงๆ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้สัญญาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นดังนี้ ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้สังขารเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นดังนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่งคำต่อไปนี้ เรากล่าวแล้วในปุณณกปัญหา ในปารายนวรรค หมายเอาข้อความนี้ว่า ความหวั่นไหวไม่มีแก่บุคคลใดในโลกไหนๆ เพราะรู้ความสูงต่ำในโลก บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน คือ ความโกรธ เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้หมดหวัง เรากล่าวว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว

จบสูตรที่ ๑

ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาข้อความที่ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้

เพียงเท่านี้จะเห็นได้แล้วว่า เป็นการพิจารณารู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของรูปธรรมและนามธรรม คือ รู้จริงๆ ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้

แยกรู้ชัดแต่ละลักษณะจริงๆ ในรูปแต่ละรูป ในลักษณะของเวทนาแต่ละชนิด ในลักษณะของสัญญา ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในลักษณะของสังขาร และในลักษณะของวิญญาณ และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความหวั่นไหวไม่มีแก่บุคคลใดในโลกไหนๆ เพราะรู้ความสูงต่ำในโลก

ต้องเป็นผู้ที่รู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมต่างๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ไม่ว่าจะเป็นรูปทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่ประณีต หรือไม่ประณีต ที่น่ารื่นรมย์ หรือที่ไม่น่ารื่นรมย์ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว เพราะมีความรู้ในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรม บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน คือ ความโกรธ

จะไม่ปฏิเสธว่า รูปนี้ไม่ได้ นามนั้นไม่ได้ ไม่พอใจ เดือดร้อน สติระลึกรู้ไม่ได้ สำหรับผู้ที่รู้จริงในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะไม่หวั่นไหว และจะปราศจากควัน คือ ความโกรธ หรือความไม่แช่มชื่นที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น ไม่ว่าอารมณ์ใด สูงต่ำอย่างไร จะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ย่อมปรากฏขึ้นได้ เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นปรากฏ เพราะฉะนั้น สติก็ระลึกรู้ตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่ไม่มีความคับแค้น

เปิด  283
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566