แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 391
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ต้องอาบัติข้อใดข้อหนึ่ง หรือกระทำการขอกับข้าวหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน ก็หรือว่า กระทำการล่วงบัญญัติข้อใดข้อหนึ่งเป็นอยู่ พวกเพื่อนพรหมจารีก็รู้จักภิกษุนั้นอยู่อย่างนี้ว่า ภิกษุรูปใดบวชในพระศาสนาแล้ว เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ทำการฝ่าฝืนพระบัญญัติ จะประโยชน์อะไรด้วยลาภที่ภิกษุนี้ได้แล้ว ดังนี้ ความคิดอย่างนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุนั้น แม้ตามธรรมดาของตน แก่ภิกษุใด กำหนดว่า เราได้บวชแล้ว ในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วอย่างนี้ สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาทิฏฐิ กระทำการล่วงบัญญัติ จะประโยชน์อะไรของเรานั้นด้วยลาภนี้ ดังนี้แล้ว จึงงดจากการกระทำเช่นนั้นเสีย
ภิกษุกำหนดได้แล้ว ด้วยถ้อยคำของบุคคลอื่นก็ดี ตามธรรมดาของตนก็ดี เป็นผู้ละเสียได้โดยง่าย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกภิกษุเช่นนั้นว่า อปฺปมตฺตโก คือ มีประมาณน้อย
ข้อความต่อไป เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการวิวาทเพราะมรรค ในเรื่องของข้อปฏิบัติ ใน อรรถกถา ปปัญจสูทนี มีข้อความว่า
ส่วนข้อว่า มคฺเค วา หิ อานนฺท ปฏิปทาย วา ความว่า ชื่อว่าความวิวาท ที่ถึงโลกุตตรมรรคแล้ว ย่อมสงบระงับได้ โดยประการทั้งปวง
หมายความว่า การทะเลาะกันของผู้ที่ได้บรรลุมรรคแล้วย่อมไม่มี เพราะถ้าปฏิบัติถูกต้องเหมือนกันแล้ว จะเห็นผิดว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างอื่น ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะต่างก็อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งสามารถประจักษ์ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมรู้ว่า การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น จะต้องอบรมอย่างละเอียดรอบคอบเพียงไร เพราะฉะนั้น เมื่อต่างก็ปฏิบัติถูก เห็นว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ทั่ว ก็ไม่วิวาทกันในข้อปฏิบัติ
ข้อความต่อไปมีว่า
แต่ข้อนั้น คือข้อที่ว่า ความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ที่เกิดเพราะมรรค หรือปฏิปทา ความวิวาทนั้น มีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
ข้อนั้น ท่านกล่าวหมายเอามรรคที่เป็นส่วนเบื้องต้น และปฏิปทาที่เป็นส่วนเบื้องต้น ซึ่งในข้อนั้นมีนัยดังต่อไปนี้
ที่ท่านผู้ฟังกำลังอบรมเจริญอยู่ ยังไม่ใช่โลกุตตรมรรคจิต ผลจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นการอบรมเจริญมรรคเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่โลกุตตรมรรคจิต ผลจิตนั่นเอง แต่ว่าในขณะที่กำลังอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ท่านย่อมได้ยินได้ฟังว่า บางท่านก็มีการอบรมเจริญลักษณะต่างๆ กันไป ตามความเห็น ตามความเข้าใจของแต่ละบุคคล ซึ่งการวิวาทในเรื่องของมรรคในเบื้องต้นนั้น ก็ย่อมมีสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม และตัวอย่างในอรรถกถา ก็เป็นเรื่องธรรมดา แม้ในครั้งนั้น และในครั้งนี้ ก็ไม่ต่างกัน
ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถาสามคามสูตร มีว่า
พวกมนุษย์ทั้งหลาย ยกย่องภิกษุรูปหนึ่งในโลกุตตรธรรม
คือ ยกย่องว่าท่านได้บรรลุโลกุตตรธรรมแล้ว สมัยนี้มีไหม มี จะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า ท่านรูปนั้นเป็นพระอรหันต์ หรือว่าท่านรูปนี้เป็นพระอรหันต์
ถ. มีพระรูปหนึ่ง เขาว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ขณะนี้มรณภาพแล้ว อยู่วัดใกล้ๆ ทางหัวลำโพง ท่านฉันหนเดียว มีความมัธยัสถ์ เคร่งครัดในวินัย และครั้งหนึ่ง เดินกลางแดดท่านไม่กระพริบตา เท่านี้ก็ว่าท่านเป็นพระอรหันต์
สุ. เพราะฉะนั้น ในสมัยปัจจุบันนี้ กับสมัยอดีต ก็ไม่ต่างกัน คือ ย่อมมีการคิดเข้าใจว่า บุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นพระอริยเจ้า หรือว่าได้บรรลุโลกุตตรธรรมแล้ว
ข้อความในอรรถกถามีว่า
พระเถระรูปนั้น คือ รูปที่มีผู้ยกย่องว่าท่านบรรลุโลกุตตรธรรม ได้ถามภิกษุทั้งหลายที่เป็นสัทธิวิหาริกเป็นต้น ซึ่งพากันมาไหว้ และยืนอยู่ว่า พวกเธอมากันเพื่อประโยชน์อะไร พวกสัทธิวิหาริกตอบว่า มาเพื่อถามกัมมัฏฐานที่ควรมนสิการขอรับ
เวลาที่อ่านพระไตรปิฎกโดยผิวเผิน บางทีเข้าใจความหมายตามที่ท่านเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง หรือว่าตามที่ท่านคาดคะเนเอาเองบ้าง อย่างเช่น ข้อความที่ว่า มาเพื่อถามกัมมัฏฐานที่ควรมนสิการ บางคนเข้าใจว่า คงจะเจาะจงให้กัมมัฏฐานหนึ่งกัมมัฏฐานใด และเอาไปปฏิบัติ โดยที่ไม่ต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยทั่ว โดยชิน โดยชัดแจ้ง และถือว่า คงจะเป็นกัมมัฏฐานที่เหมาะกับจริตอัธยาศัย ที่ควรจะอบรมเจริญ
แต่ถ้าท่านเข้าใจแล้วว่า อวิชชานั้นมีมากมายเหลือเกิน ตราบใดขณะที่กำลังเห็นและไม่รู้ชัดว่าเป็นนามธรรม ก็เป็นอวิชชา เป็นความเห็นผิด เป็นสักกายทิฏฐิ ที่ยังยึดถือสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า มาเพื่อถามกัมมัฏฐานที่ควรมนสิการ ทำไมไม่เข้าใจให้ถูกต้องว่า ถ้าไม่รู้กัมมัฏฐาน คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เข้าใจเป็นอย่างอื่นไป เช่น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาวรูปที่กำลังปรากฏ แต่พยายามที่จะไปรู้รูปอื่นที่เป็นอสภาวรูป นั่นไม่ใช่กัมมัฏฐานที่ควรพิจารณา
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูปปรมัตถ์ รูปใดที่ควรแก่การพิจารณา เป็นสัมมสนรูป รูปนั้นเป็นกัมมัฏฐานที่ควรพิจารณา
เพราะฉะนั้น เมื่อมาสอบถาม ก็เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า นามใด รูปใดเป็นสภาวธรรม เป็นของจริงที่ควรพิจารณา ไม่คลาดเคลื่อนไปปฏิบัติผิด นั่นเป็นความหมายของข้อความนี้ก็ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่า ให้เจาะจงรู้เพียงรูปเดียวหรือนามเดียว และก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ถ้าท่านเข้าใจเอง หรือตามที่ได้ยินได้ฟังมา ท่านก็อาจจะคิดว่า มาเพื่อถามกัมมัฏฐานที่ควรมนสิการ ให้เจาะจงว่า จะให้เจริญอบรมกัมมัฏฐานใด แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะรู้อัธยาศัยของแต่ละบุคคลได้ หรือแม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ไม่ได้ทรงแสดงว่า การรู้เพียงอย่างเดียวจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ทรงแสดงเรื่องของการที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะรู้ชัดขึ้น ชินขึ้น สามารถที่จะละคลายความเห็นผิด จนกระทั่งดับความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
มีผู้ที่สนใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนาท่านหนึ่งกล่าวว่า ตามมหาสติปัฏฐานสูตร พระผู้มีพระภาคให้ไปสู่ป่า โคนไม้ เรือนว่าง และให้ระลึกรู้ลมหายใจ พร้อมกันนั้น ก็นำมหาสติปัฏฐานสูตรมายืนยันด้วยว่า นี่เป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งดิฉันได้เรียนถามว่า ช่วยกรุณาชี้พยัญชนะที่แสดงให้เห็นว่า ตรัสเจาะจงให้เลือกอารมณ์ คือ ให้รู้ลักษณะของลมหายใจเป็นอันดับแรก ก็ไม่มีข้อความนั้นเลยใน มหาสติปัฏฐานสูตร
บางท่านที่เริ่มอ่านมหาสติปัฏฐานสูตร จะเห็นว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นบรรพแรก และในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพแรกนั้น เป็นอานาปานบรรพ จึงเข้าใจเองว่า พระผู้มีพระภาคเจาะจงให้ทำอย่างนั้นเป็นขั้นแรก ซึ่งไม่มีข้อความที่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเจาะจงให้บุคคลนั้นต้องทำประการนั้นเลย เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม เป็นเรื่องที่จะต้องฟัง และพิจารณาในเหตุผล ในอรรถ ในพยัญชนะ ให้ตรงกันด้วย
ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า
พวกสัทธิวิหาริกตอบว่า มาเพื่อถามกัมมัฏฐานที่ควรมนสิการขอรับ
ซึ่งพระเถระรูปนั้น ผู้เข้าใจผิดในมรรค ในการปฏิบัติ ก็ได้กล่าวกะภิกษุที่เป็นสัทธิวิหาริกเหล่านั้นว่า
พวกเธอจงนั่งลง กระผมจักบอกกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่สามารถจะให้บรรลุพระอรหัตได้ในขณะทีเดียว
นี่ด้วยความมั่นใจจริงๆ ว่า กัมมัฏฐานที่จะบอกให้ปฏิบัตินั้น สามารถที่จะทำให้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ได้โดยขณะทีเดียว ซึ่งท่านผู้ฟังจะสังเกตข้อความที่พระเถระจะกล่าวได้ว่า ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดแล้ว จะให้รู้สภาพธรรมทั่ว หรือว่าไม่ต้องทั่ว เพียงบางสิ่งบางประการเท่านั้น นี่เป็นการเทียบเคียงในข้อปฏิบัติที่ถูก กับข้อปฏิบัติที่ผิด
พระเถระจึงกล่าวอีกว่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปสู่ที่อยู่ของตนแล้ว นั่งแล้ว มนสิการมูลกัมมัฏฐานอยู่ เมื่อเธอมนสิการมูลกัมมัฏฐานอยู่ โอภาสย่อมบังเกิดขึ้น นี้ชื่อว่ามรรคที่ ๑
เธอทำโอภาส และญาณที่ ๒ ให้เกิดขึ้น มรรคที่ ๒ จึงเป็นอันเธอทำให้ บังเกิดขึ้นแล้ว เธอทำโอภาส และญาณที่ ๓ และที่ ๔ ให้บังเกิดขึ้นอยู่อย่างนี้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ เธอจึงเป็นอันบรรลุมรรค และบรรลุผลแล้ว
เข้าใจผิด เพียงกระทำโอภาสให้เกิดขึ้น ก็เข้าใจว่าเป็นญาณ และเป็นการบรรลุมรรคผล
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นซึ่งเป็นสัทธิวิหาริก จึงสันนิษฐานว่า ธรรมดาว่าภิกษุที่ไม่ใช่พระขีณาสพ ย่อมไม่สามารถบอกกัมมัฏฐานได้แม้สักข้อหนึ่ง ภิกษุรูปนี้เป็น พระขีณาสพแน่แท้
สันนิษฐานง่ายๆ คือ เพียงแต่ใครบอกกัมมัฏฐาน จะผิดจะถูกอย่างไร ถ้าสามารถบอกได้ ก็อัศจรรย์ว่า ผู้นั้นต้องเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าคนที่ไม่ใช่ พระอรหันต์ ย่อมไม่สามารถที่จะบอกกัมมัฏฐานได้แม้สักข้อหนึ่ง แต่ไม่ได้ไตร่ตรองว่า ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น รู้ธรรมอะไร
สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนี้เป็นธรรม หรือไม่ใช่ธรรม ควรรู้ หรือไม่ควรรู้ และถ้าเป็นปัญญาจริงๆ รู้แจ้งได้ไหม ถ้ายังไม่รู้แจ้งสภาพธรรม ก็ไม่ใช่ปัญญา แต่ภิกษุเหล่านั้น เพียงสันนิษฐานว่า ธรรมดาภิกษุที่ไม่ใช่พระขีณาสพ ย่อมไม่สามารถบอกกัมมัฏฐานได้แม้สักข้อหนึ่ง เพราะฉะนั้น ภิกษุรูปนี้เป็นพระขีณาสพแน่แท้
สมัยต่อมา พระเถระนั้นได้มรณภาพลง ก็พวกมนุษย์ในบ้านที่พระเถระเที่ยวบิณฑบาตโดยรอบ มาถามว่า
ท่านผู้เจริญ ใครถามปัญหาพระเถระ
พวกภิกษุก็ตอบกันว่า
ดูกร อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย ก็ในกาลก่อน พระเถระถามปัญหาพวกเรา
หมายความว่า ใครเป็นผู้สอบถามความรู้นั่นเอง ผู้ที่มีความรู้มากกว่า ย่อมสอบถามผู้ที่มีความรู้น้อยกว่าว่า รู้ถูกรู้ผิดประการใด
พวกมนุษย์เหล่านั้น จัดแจงมณฑปดอกไม้ เรือนยอดดอกไม้ จึงให้กระทำเครื่องปิดตาและปิดปากด้วยทองคำ บูชาด้วยดอกไม้และของหอมทั้งหลาย เล่นสาธุกีฬากันตลอด ๗ วัน
สาธุกีฬา เป็นการเล่นซึ่งน้อมนำให้เกิดความสังเวชสลดใจ และให้อาจหาญ ร่าเริงในธรรม จะเป็นการร้อง จะเป็นการเล่นใดๆ ก็ตาม ที่เกื้อกูลให้เข้าใจสภาพธรรมให้คล้อยตามความจริงของสภาพธรรม ก็เป็นสาธุกีฬา
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ที่ชาวบ้านเหล่านั้นจัดแจงมณฑปดอกไม้ เรือนยอดดอกไม้ เพราะเข้าใจว่า พระเถระนั้นเป็นพระอรหันต์ และเมื่อฌาปนกิจแล้ว ก็ได้นำกระดูกไปสร้างเจดีย์ไว้
ข้อความต่อไปมีว่า
พวกภิกษุอาคันตุกะเหล่าอื่น มาถึงวิหารนั้น ล้างเท้า แล้วก็คิดว่า เราจักเยี่ยมพระมหาเถระ ดังนี้แล้ว จึงไปถามว่า
อาวุโสทั้งหลาย พระเถระอยู่ที่ไหน
พวกภิกษุที่เป็นสัทธิวิหาริกของพระเถระตอบว่า
พระเถระนิพพานเสียแล้วขอรับ
ภิกษุอาคันตุกะจึงกล่าวว่า
อาวุโสทั้งหลาย พระเถระทำมรรคผลให้บังเกิดขึ้นได้ ชื่อว่ากระทำสิ่งที่กระทำได้ยาก อาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถามปัญหาแล้วหรือ
แสดงให้เห็นว่า ภิกษุอาคันตุกะไม่ได้ตื่นตาม เชื่อตามไปง่ายๆ ว่า ใครบรรลุอรหัต เพราะเหตุว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และผู้ที่เข้าใจหนทางข้อประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นได้จริงๆ ว่า เป็นเรื่องยากเพียงไรในการที่สัมมาสติจะเกิด เป็นอนัตตา ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย และค่อยๆ เป็นปัญญาที่เริ่มรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งจะต้องอบรมไปจนเป็นปกติ จนเป็นความรู้ที่ชินขึ้น ชัดขึ้น ไม่ใช่กระทำได้โดยง่ายเลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานทุกท่าน ไม่ได้ตื่นตาม เชื่อตามไปง่ายๆ ว่า ใครบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าการที่จะบรรลุเป็น พระอรหันต์ หรือเป็นพระอริยบุคคลนั้น ไม่ใช่การกระทำโดยง่าย
พวกภิกษุที่เป็นสัทธิวิหาริกตอบว่า
ท่านขอรับ พระเถระเมื่อบอกกัมมัฏฐานแก่พระภิกษุทั้งหลาย บอกแล้วโดยทำนองนี้
คือ ได้เล่าให้ฟังว่า พระเถระได้บอกให้กระทำอย่างไร คือ ให้กระทำโอภาสให้เกิดขึ้นครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ก็เป็นการบรรลุมรรคขั้นต่างๆ
ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผลทั้งหลายนั้นย่อมมาแต่เหตุ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าบุคคลใดบรรลุคุณธรรมขั้นใด ประการใดนั้น ก็ต้องถามถึงเหตุว่า เหตุที่ปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร เจริญอบรมอย่างไร เป็นเหตุที่ถูกต้อง ที่จะให้ผลที่ถูกต้องเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาเหตุให้ตรงกับผลด้วย
ไม่ว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะกล่าวว่า ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ได้บรรลุวิปัสสนาญาณขั้นหนึ่งขั้นใดก็ตาม ก็ควรที่จะได้สอบถามเหตุให้ตรงกับผลว่า ปฏิบัติอย่างไร เป็นเหตุที่สมควรถูกต้องแก่การที่จะให้ผลเช่นนั้นเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล แล้วอ้างผล ก็หมายความว่า เป็นการปฏิบัติผิด เป็นการเข้าใจผิดของผู้ปฏิบัติผิดนั้นเอง
เมื่อภิกษุอาคันตุกะได้ฟังอย่างนั้น ก็ได้กล่าวว่า
อาวุโสทั้งหลาย นั่นไม่ใช่มรรค นั่นชื่อว่าวิปัสสนูปกิเลสต่างหาก ท่านทั้งหลายย่อมไม่รู้ อาวุโสทั้งหลาย พระเถระยังเป็นปุถุชน
สัทธิวิหาริกจะเชื่อไหมว่า พระเถระที่เป็นอาจารย์เป็นปุถุชน ในเมื่อมั่นใจเหลือเกินว่า ท่านได้ปรินิพพานไปแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว
เมื่อมีความเห็นอย่างนั้น เชื่ออย่างนั้น ภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านั้น ก็ทะเลาะกับภิกษุอาคันตุกะ ลุกขึ้น แล้วกล่าวว่า
ภิกษุในวิหารทั้งสิ้น และมนุษย์ในบ้านที่เที่ยวภิกขาจารนี้ย่อมไม่รู้ พวกท่านเท่านั้นย่อมรู้ พวกท่านพากันมาทางไหน พวกท่านไม่เห็นพระเจดีย์ที่ประตูพระวิหารดอกหรือ
พวกภิกษุอาคันตุกะจึงกล่าวว่า
ถ้าพวกภิกษุผู้พูดเช่นนี้ จะมีสักร้อย หรือสักแสนรูปก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ละความเห็นนั้น สวรรค์ก็ดี มรรคก็ดี เป็นอันพวกเธอห้ามเสียแล้ว
แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มั่นคงในข้อปฏิบัติ ในเหตุผลที่ถูกต้องจริงๆ นั้น ไม่ถือจำนวนมาก แต่ถือในเหตุและในผลของการปฏิบัติ