แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 393

ถ้าสติเกิด และความรู้ค่อยๆ เกิด นั่นเป็นหนทางที่จะทำให้รู้ชัด เหมือนกับการเพาะปลูก ถ้าท่านปลูกเมล็ดพืชลงในดิน ท่านมองเห็นต้น ท่านมองเห็นก้าน ท่านมองเห็นกิ่ง ท่านมองเห็นใบ ท่านมองเห็นดอก แต่ท่านมองเห็นผลในเมล็ดบ้างไหม ยังไม่ปรากฏเลย

แต่เมื่อท่านทะนุบำรุงต่อไป จนกระทั่งเกิดเป็นต้น เกิดเป็นกิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผลก็ย่อมเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ฉันใด การอบรมเจริญปัญญาก็เช่นเดียวกัน ชั่วขณะแรกๆ ที่สติเกิด ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรม ยังไม่แยกขาดออกจากลักษณะของรูปธรรม แต่อาศัยการเกิดขึ้นเนืองๆ เพิ่มเป็นความรู้ขึ้น ไม่ต้องคำนึงถึงว่าสงบไหม สุขไหม หรืออะไรเลย เพราะว่าจุดประสงค์ของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อให้ปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็สอบทานกับตัวท่านเอง ซึ่งเป็นผลของการเจริญสติปัฏฐานว่า เริ่มรู้ขึ้นบ้างไหม อาจจะทีละเล็ก ทีละน้อย เหมือนกับการจับด้ามมีด หรือว่าเหมือนกับการเพาะปลูกต้นไม้ ซึ่งถ้าท่านอบรมเจริญต่อไป ก็ย่อมปรากฏดอก ปรากฏผลในภายหลังได้

แต่ว่าอย่าเข้าใจผิดในการอบรมเจริญปัญญา เพราะถ้าตัณหาและทิฏฐิมีกำลัง จะทำให้ท่านพยายามหาทางลัด ทางอื่นที่จะให้บรรลุมรรคผล โดยที่ไม่ใช่ความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นเรื่องของความเข้าใจเหตุและผลโดยละเอียด พร้อมกันนั้น ท่านต้องอบรมเจริญสติปัญญาประกอบไปด้วย จึงจะไม่เข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่เข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ

เรื่องของการเข้าใจผิดในข้อปฏิบัตินี้ไม่ยาก เพราะมีความเห็นผิดที่สะสมมา ที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนอยู่แล้ว พร้อมกันนั้น ตัณหาก็มีเป็นประจำ ที่ต้องการ โดยไม่รู้ว่าการที่จะดับกิเลสได้จริงๆ นั้น ต้องเป็นปัญญาจริงๆ

แต่ท่านก็ข้ามการอบรมเจริญปัญญา โดยหวังว่า วิธีอื่นหรือขณะอื่นสามารถที่จะดับกิเลสได้ สามารถที่จะทำให้รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง อ่านหนังสือเล่มหนึ่งและถามว่า ที่หนังสือเล่มนี้อธิบายไว้ว่า เวลาที่จิตสงบแล้ว จิตนั้นเองเป็นแสงสว่างเกิดขึ้น เข้าใจว่า แสงสว่างเป็นจิต ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจชัดเจนว่า นามธรรม คือ จิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้ เป็นธาตุรู้ ไม่มีสีสัน ไม่มีแสงอะไรทั้งนั้น เป็นแต่เพียงอาการรู้ ลักษณะรู้ เป็นสภาพรู้เท่านั้น ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาในขั้นของการศึกษาพร้อมกับการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะเข้าใจตามที่ได้อ่านว่า แสงสว่างเป็นจิต

ผู้ใดก็ตามที่เขียนอย่างนั้น หรือที่เข้าใจตามอย่างนั้น ไม่มีโอกาสที่จะรู้ลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม เพราะเข้าใจว่า รูปธรรมเป็นนามธรรม เช่น ในขณะนี้ สีสันวัณณะกำลังปรากฏทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง ที่จะไม่ปรากฏทางอื่นเลย นอกจากปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท แต่ว่าลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ใช่สภาพรู้ แต่ที่กำลังเห็น กำลังรู้ใน สีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะไม่เข้าใจผิดว่า รูปธรรมเป็นนามธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นนาม แต่เริ่มที่จะเข้าใจว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้ มีสภาพธรรม ๒ อย่าง สภาพธรรมที่ปรากฏไม่ใช่สภาพรู้ แต่ปรากฏให้รู้ได้ทางจักขุปสาท ทาง จักขุทวาร ส่วนที่กำลังเห็น ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุที่รู้สีสันวัณณะทางจักขุปสาท

ถ้าอบรมเจริญปัญญาอย่างนี้ แม้ว่าแสงสว่างปรากฏ จะไม่เข้าใจผิดเลยว่า แสงสว่างเป็นนามธรรม แต่จะรู้ชัดว่า ขณะที่แสงสว่างปรากฏนั้น แสงสว่างเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ และที่กำลังเห็นแสงสว่างนั้น สภาพรู้แสงสว่างนั้น อาการเห็นนั้น เป็นนามธรรม ปัญญาสามารถเกิด รู้ชัดว่า รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม และนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม

แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาอย่างนี้ประกอบกันไป ก็จะเข้าใจคลาดเคลื่อน มีความเข้าใจผิด ถือรูปธรรมว่าเป็นนามธรรม เพราะไม่รู้จริงในลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นแต่เพียงธาตุรู้ ลักษณะรู้ อาการรู้ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกาย ทางใจบ้าง

ที่สำคัญที่สุด คือ ขออย่าได้เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะต้องอบรมเจริญนานสักเท่าไร กี่ภพ กี่ชาติก็ตาม อย่าใจร้อน หรือรีบเป็นพระอริยเจ้าโดยไม่ได้อบรมปัญญาจริงๆ ที่จะเป็นความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าการเห็นผิดนี้ไม่ยาก

เรื่องของท่านพระพาหิยะ แม้ว่าท่านจะเคยอบรมเจริญสติปัฏฐาน เจริญปัญญามาในอดีตมากสักเพียงไรก็ตาม แต่ในชาติสุดท้าย ก่อนที่จะได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านยังเข้าใจผิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แต่เมื่อได้ฟังธรรม พร้อมทั้งความเห็นถูกที่เคยสะสมมา ความเป็นผู้หนักแน่นในเหตุในผล ทำให้ท่านสามารถที่จะทิ้งความคิด ความเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ได้

สำหรับผู้ที่ได้อบรมความเห็นถูกมาแล้ว ย่อมมีปัจจัยที่จะทิ้งความเห็นผิด แม้ว่าในชาตินั้นอาจจะได้รับ ได้ยิน ได้ฟังความเห็นผิดมามากสักเท่าไร อาจจะคล้อยไปตามความเห็นผิดนั้นแล้ว แต่เวลาที่ได้ฟังเรื่องของความเห็นถูก ก็มีปัจจัยที่จะทิ้งความเห็นผิดนั้นได้ แต่ถ้าท่านไม่ได้สะสมอบรมความเห็นถูกไว้ให้มาก ให้เป็นปัจจัยที่เพียงพอ เมื่อได้ฟังความเห็นผิด ก็จะคล้อยตามความเห็นผิด เพิ่มความเห็นผิดขึ้น โดยไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ทิ้งความเห็นผิดไปสู่ความเห็นถูกได้เลย

เพราะฉะนั้น การพิจารณาเหตุผลของสภาพธรรม ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ต้องอาศัยการมนสิการในเหตุในผล การพิจารณา การสอบสวน การเทียบเคียงจริงๆ พร้อมกันนั้นก็ต้องอบรมปัญญาที่จะให้เป็นความรู้ ที่จะละความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วย

อย่างไรก็ตาม ขอให้ท่านผู้ฟังอย่าถือความเห็นผิดประการหนึ่งประการใดเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งดูเหมือนว่า ท่านปรารถนาจริงๆ ที่จะถึงวิปัสสนาญาณขั้นหนึ่งขั้นใด ถ้าไม่ใช่ขั้นสูงจริงๆ ท่านอาจจะขอเพียงวิปัสสนาญาณแรก คือ นามรูปปริจเฉทญาณ แต่ขอให้ทราบว่า ถ้าเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นรู้จริง รู้ชัด ท่านจะหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ด้วยการประจักษ์ชัดในสภาพของนามธรรม และรูปธรรมนั้น โดยไม่ต้องเทียบเคียง

ถ้ายังเทียบเคียงอยู่ตราบใด ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ บางท่านได้ยินอย่างนี้ ก็แน่ใจเสียเลย อย่าสงสัยเลย ประเดี๋ยวจะไม่ใช่ อย่างนั้นยิ่งเป็นการหลอกตัวเองด้วยตัณหา ด้วยความต้องการ จนกระทั่งไม่สามารถที่จะละทิ้งความเห็นผิดนั้นได้ และไม่สามารถอบรมปัญญาที่จะละ และเกิดปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

และถ้าท่านเห็นว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น เป็นการรู้การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับตามปกตินี่เอง จะยาก หรือจะง่าย เพราะว่าขณะนี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน ก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะประจักษ์ว่า เกิดแล้วก็ดับเลย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ประจักษ์ จะเป็นปัญญาที่คมกล้าเพียงใดที่สามารถประจักษ์ได้จริงๆ ในการเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

บางท่านสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นผู้ที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม เป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ขณะนี้นามรูปคงจะเกิดดับอย่างละเอียดรวดเร็วมากมายเหลือเกินตลอดเวลาสำหรับบุคคลนั้น

แต่อย่าลืม นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่อรวดเร็วเหลือเกิน จนทำให้การเกิดของนามธรรมและรูปธรรมใหม่ปิดบัง ไม่ให้ปรากฏความดับของนามธรรมและรูปธรรมเก่าที่เพิ่งดับไป แต่ปัญญาที่อบรมคมกล้าแล้ว สามารถที่จะเกิดในขณะนั้น เป็นวิปัสสนาญาณ ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับ โดยความเป็นอนัตตา

เมื่อประจักษ์แล้ว จะกลับไปเป็นความไม่รู้อีก เป็นความไม่ประจักษ์อีกไม่ได้ และการประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับ ก็เป็นเพราะปัจจัยในขณะนั้นมีกำลังถึงการที่จะประจักษ์ ก็ประจักษ์ และวิปัสสนาญาณก็ดับ และการเกิดดับสืบต่อกันของนามรูปก็เหมือนเดิม ปกติอย่างนี้เอง และผู้นั้นจะไม่สงสัยอีก เพราะได้ประจักษ์แล้วว่า นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับทางมโนทวารวิถีเป็นอย่างไร

แต่ไม่ใช่หมายความว่า ตลอดเวลาตั้งแต่นั้นมา ก็เกิดดับระยิบระยับอย่างรวดเร็ว ผิดปกติไปสำหรับบุคคลที่ได้ประจักษ์แล้ว เพราะเหตุว่าการประจักษ์เป็นขณะที่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยที่สมบูรณ์ ที่จะแทงตลอดในขณะนั้น ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และวิปัสสนาญาณก็ดับ

เมื่อความรู้ขั้นประจักษ์แล้ว มีแล้ว เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ถึงการที่จะแทงตลอด ละคลายเป็นพระอริยเจ้าได้ จึงเป็นปริญญาที่จะต้องมนสิการในความเกิดขึ้น ความดับไป ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ของนามธรรมและรูปธรรมเป็นปกติต่อไป จนกว่าปัญญานั้นจะสมบูรณ์ มีปัจจัยพร้อมที่จะประจักษ์เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่อไปอีก ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นตามควรแก่ปัจจัยนั้นๆ ตามกาล นั้นๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีทั้งวิปัสสนาญาณ และปริญญาขั้นต่างๆ

ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง จดหมายของท่านผู้ฟังมีเรื่องส่วนตัวของท่านด้วย เพราะฉะนั้น จะไม่ขอกล่าวถึงตำบลที่อยู่ของท่านเจ้าของจดหมาย ข้อความในจดหมายมีว่า

เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ ที่เคารพอย่างสูง

หนูตั้งใจว่า จะเขียนจดหมายมาปรึกษาอาจารย์หลายครั้งแล้ว แต่นึกไปนึกมา ก็พยายามตัดปัญหาโดยการเจริญสติปัฏฐาน หนูสังเกตเห็นว่า ส่วนมากหนูจะตกเป็นทาสของโทสะ แต่แปลก คือ หนูเป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาว่า หรือจุกจิกอะไร แต่ทำไมคนอื่นว่าหนู หนูไม่พอใจ หนูก็จะเจริญสติว่า นามไม่พอใจปรากฏ แล้วหนูก็จะเจริญเกี่ยวกับรูปนามอื่นต่อไปได้โดยปกติเป็นส่วนใหญ่ แต่ทำไมกับสามีหนู เมื่อใดที่เขาว่าหนู หนูจะเจริญสติไปได้หน่อยหนึ่ง แต่พอเขาว่าหนูอีกที หนูจะตกเป็นทาสของโทสะทุกครั้ง จนหนูเบื่อ แทบจะหนีไปจากเขาให้ได้เลยอาจารย์

หนูจะเล่าเหตุการณ์เมื่อก่อนที่หนูจะฟังคำอธิบายของอาจารย์ คือ เมื่อตอนที่หนูเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม.ศ. ๔ หนูมีเพื่อนอยู่กลุ่มหนึ่ง และในกลุ่มนั้นมี ๒ – ๓ คน เขาจะไม่ชอบหนูหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ตลอดเวลาเรียนเขาจะว่าหนูอยู่เรื่อยๆ หนูก็ทำเฉยๆ จนกระทั่งครั้งหนึ่งหนูโกรธมาก จะเป็นเพราะบุญกุศล หรือเป็นเพราะอะไรก็ไม่ทราบได้ พอหนูหลับตา เห็นภาพพระพุทธรูปเปล่งรัศมีมายังตัวหนู พอสักครู่ หนูจึงคลายโทสะลงได้ และอยู่ต่อมาพวกเขาเหล่านั้นก็ยังว่าหนูอยู่เรื่อยๆ หนูก็ไม่เข้าใจว่าหนูไปทำอะไรให้เขาไม่พอใจ จนกระทั่งหนูโกรธยิ่งกว่าคราวก่อน เผอิญหนูนึกถึงคำพระว่า นี่ไม่ใช่ตัวเรา หนูได้แต่ท่องภาวนาคำๆ นี้ทุกวัน จนกระทั่งหนูบังเกิดความเบื่อในทุกสิ่งทุกอย่าง จนวันหนึ่ง หนูเกิดความสงบภายในใจ คือว่า ไม่มีความรู้สึกใดๆ ภายในใจของหนูเลย นอกจากการรู้สึกเฉยๆ เหมือนหุ่นที่เดินได้ ไม่มีความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นเลย และพร้อมกันนั้น ทุกครั้งที่หนูมองทุกๆ คน จะเป็นการมองเห็นโครงกระดูกไปหมด ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเดิน หรือนั่ง หรือจะทำอาการอย่างไร หนูจะมองเห็นเขาเหล่านั้น กลายเป็นโครงกระดูกทำอาการเช่นนั้น ทีแรกหนูก็เข้าใจว่า หนูตาฝาด แต่เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นเวลา ๖ วันเต็ม จากนั้นหนูก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปกติ แต่สิ่งที่ยังติดอยู่ไม่หาย คือ ความเบื่อหน่าย จนปัจจุบันนี้ ความเบื่อหน่ายนั้นก็ยังปรากฏแก่หนูบ่อยๆ ครั้ง หนูก็ได้พยายามเจริญสติ เมื่อความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น หนูก็พยายามเจริญว่า นามเบื่อหน่ายปรากฏ ซึ่งบางครั้งก็ทุเลาความเบื่อหน่ายลงบ้าง

ตอนที่หนูเริ่มเจริญสตินั้น หนูมีความรู้สึกว่า หนูมีความสงบเกิดขึ้นทางใจมาก คือ หนูมีสติตลอดเวลา พอเจริญสติมาได้สัก ๒ – ๓ อาทิตย์ หนูเกิดปัญหาวุ่นวาย จนกระทั่งหลงลืมสติบ่อยๆ จนทุกวันนี้หนูมีความเห็นว่า สติหนูถอยลงกว่าตอนแรก เพราะการหลงลืมสติ และการตกเป็นทาสโทสะ

อาจารย์ช่วยแก้ข้อนี้ให้หนูทีเถอะ หนูก็ได้พยายามเจริญสติ แต่พอสามีว่าหนูสัก ๒ – ๓ ครั้งเท่านั้น หนูจะตกเป็นทาสโทสะทุกที การที่หนูเจริญสติ เช่น เมื่อได้ยินเสียง หนูจะเจริญว่า นามรู้รูปทางหู นามรู้รูปทางตา และอื่นๆ หนูเจริญเช่นนี้ เป็นการถูกวิธีหรือเปล่า เพราะอาจารย์ว่า การเห็นผิดนั้นเป็นอันตรายมาก

สุดท้ายนี้หนูหวังว่า อาจารย์จะเป็นประดุจแสงประทีป ที่ส่องให้หนูเดินได้ถูกและตรงทาง

โดยความเคารพอย่างสูง

สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นสภาพธรรมได้จากจดหมายฉบับนี้ที่ว่า ทำไมคนอื่นว่าหนู หนูไม่พอใจ หนูก็จะเจริญสติว่า นามไม่พอใจปรากฏ แล้วหนูก็จะเจริญเกี่ยวกับรูปนามอื่นต่อไปได้โดยปกติเป็นส่วนใหญ่ แต่ทำไมกับสามีหนู เมื่อใดที่เขาว่าหนู หนูเจริญสติไปได้หน่อยหนึ่ง แต่พอเขาว่าหนูอีกที หนูจะตกเป็นทาสโทสะทุกครั้ง

แสดงให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา บางครั้งสติเกิด บางครั้งสติไม่เกิด ไม่ใช่เรื่องที่จะกะเกณฑ์ได้เลยว่า เมื่อบุคคลนั้นเจริญสติปัฏฐานพอสมควรแล้ว สติจะเกิดได้ทุกครั้งเมื่อเกิดโทสะ หรืออะไรเช่นนั้น แต่แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า ตราบใดที่กิเลสยังดับไม่หมด หรือยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทแล้ว เมื่อมีปัจจัยที่เหมาะที่สมควรแก่การที่จะเกิดเมื่อไร กิเลสนั้นๆ เช่น โทสะ ก็ต้องเกิด

ซึ่งแต่ละครั้งที่กิเลสเกิด ไม่ว่าจะเป็นโลภะ จะเป็นโทสะ แสดงให้เห็นว่า ยังมีเชื้อของโลภะ โทสะที่สะสมมา ที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เป็นปัจจัย จึงทำให้โลภะเกิดอีก โทสะเกิดอีก เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะต้องสำเหนียกมนสิการจริงๆ ว่า เป็นปัญญาขั้นไหน เป็นปัญญาที่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้วหรือยัง หรือว่าเพียงแต่นึก

เช่น เวลาที่เกิดความไม่พอใจขึ้น ท่านเจ้าของจดหมายเขียนมาว่า หนูก็จะเจริญสติว่า นามไม่พอใจปรากฏ

เจริญว่า ก็เท่ากับ นึกว่า นามไม่พอใจปรากฏ เพราะฉะนั้น เป็นการคิดนึก

เวลาที่เกิดความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่แช่มชื่นใจ ลักษณะของโทสะนั้นมีอาการต่างๆ ถ้าเป็นความขุ่นเคืองเพียงเล็กน้อย และเกิดรู้ในลักษณะนั้นตรงสภาพลักษณะนั้นเท่านั้นว่า เป็นแต่เพียงลักษณะอาการ สภาพธรรมชนิดหนึ่ง ให้รู้ว่า เป็นลักษณะอาการ สภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องว่า นามไม่พอใจปรากฏ แต่ให้รู้ในลักษณะความขุ่นเคือง ความไม่พอใจ จะมีมากหรือจะมีน้อยอย่างไร ขณะนั้นปรากฏแล้ว ถ้าเกิดการนึกคิดว่า นามไม่พอใจปรากฏ ก็ไม่ใช่สติที่กำลังรู้ตรงสภาพของความขุ่นใจ

เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ แยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏจริงๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวลาที่คิดนึกเกิดขึ้น ตรึกไปในลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมก็ตามที่ปรากฏ ให้ทราบว่า ในขณะนั้น เป็นสภาพที่ตรึก เป็นสภาพที่คิด เป็นสภาพที่นึก ลักษณะของความขุ่นเคืองใจเป็นอย่างหนึ่ง สภาพที่กำลังคิดก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า มีลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่างๆ ชนิดเท่านั้น ที่ปรากฏแต่ละทาง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีลักษณะอาการจริงๆ เช่น ความดีใจเกิดขึ้น เป็นลักษณะหนึ่ง มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ

เปิด  245
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566