แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 397

ถ. อยากจะให้ท่านอาจารย์วินิจฉัย ผม ๖๐ – ๗๐ ปี ก็ยังสงสัยอยู่ คือ ในบาลีธรรมบท ภาค ๔ ที่ท่านพุทธโฆษาจารย์แต่งขึ้นมา เรื่องมีว่า

โจรเคราแดงรับจ้างฆ่าคน จนกระทั่งอายุมาก ถูกเขาปลด ก็กลับมาบ้าน อาบน้ำ ทำอาหาร ไหนๆ ก็ถูกปลดแล้ว จะกินข้าวให้อิ่มสักมื้อ กำลังจะนั่งกิน ท่านพระสารีบุตรมาพอดี โจรเคราแดงก็คิดว่า เราทำบาปมามากแล้ว ไม่เคยทำบุญเลย วันนี้จะทำบุญ ก็ยกอาหารไปถวายท่านพระสารีบุตร พอท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จ เทศน์ให้ฟัง ระหว่างที่ฟัง ใจของโจรเคราแดงก็คิดไปถึงเรื่องฆ่าคน ฆ่าไปไม่รู้กี่พัน ใจไม่สงบ ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่า โยมทำไมจึงเป็นอย่างนั้น โจรก็ตอบว่า ผมฟังธรรมของท่าน แต่ใจไม่สงบ นึกถึงที่ฆ่าคนมาไม่รู้กี่พันคน

พระสารีบุตรฟังโจรพูดว่า ใจไม่สงบ คิดถึงคนที่ถูกฆ่า ท่านพระสารีบุตรใช้คำอย่างนี้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ท่านพระสารีบุตรใช้ เป็นท่านพุทธโฆษาจารย์ท่านใช้ศัพท์อย่างนี้ วญฺเจตฺสามิ นํ

นํ หมายถึงตัวท่าน แต่ วญฺเจตฺสามิ จะแปลกันว่าอย่างไร ผมก็พยายามหาคำแปลแล้ว ไม่พ้นจากคำว่าลวง คือ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็ว่า จะต้องลวงโจรนี้ พระสารีบุตรคิดขึ้นมาอย่างนั้น แต่จริงอย่างไร เราก็ไม่รู้

ผมสงสัยมาตลอด แต่ก็เชื่อว่า พระอรหันต์ไม่พูดเท็จ ท่านกุสโลบายฉลาด พระอรหันตสาวกท่านก็บอกว่า โยม ที่โยมฆ่ามาตั้งกี่พันกี่หมื่นคนนั้น โยมทำของโยมเอง หรือใครให้ทำ โจรเคราแดงก็บอกว่า ผมไม่ได้ทำเอง พระราชาให้ฆ่า ก็ฆ่าไปอย่างนั้นแหละ พระสารีบุตรตอบไปว่า ถ้าเขาใช้ให้โยมทำน่ะ บาปหรือ

โจรก็เลยคิดไปว่า เราไม่ได้ทำเอง เขาใช้ให้ทำ เราไม่บาป เลยตั้งใจฟังธรรม ได้สำเร็จเป็นพระโสดา

เพราะฉะนั้น วญฺเจตฺสามิ นํ พระพุทธโฆษาท่านนำมาใช้เป็นคำกล่าวของท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรจะกล่าวจริงในพระไตรปิฎกตรงไหน ผมก็ไม่รู้

แต่ วญฺเจตฺสามิ แปลว่า ลวง

แต่พระอรหันต์ท่านไม่กล่าวเท็จ อาจจะเป็นคำบอกว่า เราไม่ได้ทำเอง คนอื่นใช้ให้ทำ จะบาปหรือ คล้ายๆ เป็นคำถาม พอพูดเท่านี้ โจรก็คิดว่า คนอื่นใช้ให้เราทำ เราไม่บาป จึงตั้งใจฟังธรรม จนสำเร็จเป็นพระโสดา

สุ. คงต้องยกให้เป็นหน้าที่ของท่านที่รู้ภาษาบาลี ที่ท่านจะวินิจฉัยความหมายของศัพท์ แต่ว่าการกระทำใดๆ ก็ตาม ถ้าเพื่อประโยชน์แล้ว ไม่ใช่คำเท็จ ก็ควรกล่าวใช่ไหม ท่านถาม ท่านไม่ได้พูดคำเท็จอะไร ถามให้คนฟังเกิดความสบายใจด้วยคำถามนั้น

ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านไม่พูดเท็จแน่ แต่เป็นคำถามที่ท่านถามโจร ไม่ใช่คำเท็จ และแล้วแต่ประโยชน์ จะถามอย่างไรให้ท่านผู้ฟังเกิดสลดใจ หรือเกิดปีติ หรือเกิดมนสิการในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

สำหรับท่านผู้ฟังเอง เมื่อได้ทราบข้อความใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ที่ว่า คำว่า พึงเว้นจากความพูดเท็จ ความว่า ภิกษุพึงเว้นจากความพูดเท็จ

และพยัญชนะต่อไป ที่พระผู้มีพระภาคทรงเตือน ทรงอุปการะด้วยพยัญชนะต่างๆ คือ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งความพูดเท็จ

เพราะว่าการพูดเท็จนั้นเป็นกิเลส ซึ่งผู้ที่เป็นปุถุชน ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ก็ยังมีกิเลสนั้นอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อจะดับการพูดเท็จให้เป็นสมุจเฉท ก็ควรประพฤติธรรมจนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ให้ถึงความไม่มีซึ่งความพูดเท็จ

เป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องความพูดเท็จ พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเว้นจากการพูดเท็จ

ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวท่านเป็นแน่ ในเรื่องของการพูดเท็จว่า ล่วงไปบ้างหรือเปล่า แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่ควรจะเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ถ้ายังมี พิสูจน์ได้แล้วว่า ท่านยังจะต้องขัดเกลากิเลส เจริญปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปจนกว่าการพูดเท็จนั้นจะดับเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย โดยเฉพาะในเรื่องของทิฏฐิ ความเห็น อย่าให้ผิด อย่าให้คลาดเคลื่อน

ถ. มีผู้บอกว่า วญฺเจตฺสามิ นํ ที่ผมแปลเมื่อสักครู่ว่า ลวง แปลอย่างนี้หลายสิบปีแล้ว หาคำอื่นไม่ได้ แต่มีท่านหนึ่งที่นี่ ท่านบอกว่า ถามนำกระมัง ผมก็เห็นด้วย วญฺเจตฺสามิ แปลว่า ถามนำ ทำนองว่า อย่างนี้บาปหรือ คล้ายๆ อย่างนั้น โจรเคราแดงก็เห็นว่า ถ้าจะไม่บาป ใจก็สงบ ฟังธรรมได้ ขอขอบพระคุณครับ

สุ. ก็ขอให้ยกเป็นหน้าที่ของท่านผู้ที่รู้บาลี ที่จะวินิจฉัยด้วย

สำหรับเรื่องของการละเว้น การพูดเท็จ ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะละการพูดเท็จเป็นสมุจเฉท ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองจริงๆ และถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญ สติปัฏฐาน ท่านจะรู้ในขณะนั้นว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล แม้เป็นการพูดเท็จในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่เรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับทิฏฐิ หรือความเห็นถูก ที่จะต้องตรงยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ท่านมีความรู้สึกว่า มีความหวัง หรือมีความต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จนกระทั่งปิดบังความจริง แม้ว่าจะยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่เพราะการที่อยากจะรู้อริยสัจธรรม เลยทำให้คิดว่า ท่านได้ประจักษ์แล้ว แม้ว่าจะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือว่าพระธรรมเทศนาที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดแสดงว่า ปัญญาที่ถูกต้องนั้น จะต้องเป็นปัญญาที่รู้อะไร และอบรมเจริญอย่างไร แต่ความปรารถนา ความต้องการอย่างมาก จะปิดกั้นไม่ให้ท่านพิจารณาพระธรรมเทศนาที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดนั้น

ถ้าเป็นไปโดยประการนั้น ท่านก็ปกปิดทิฏฐิ ซึ่งยังไม่ใช่ความเห็นถูก ปกปิดความควร ซึ่งควรจะละความเห็นที่ยังไม่ถูกต้องนั้นเสีย และประพฤติปฏิบัติในทางที่ควร ในทางที่จะทำให้ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ซึ่งในขณะนั้น ท่านอาจจะไม่ทราบว่า ท่านได้ปกปิดความชอบใจในการที่ยึดถือทิฏฐิ ความเห็นนั้นไว้

ปกปิดสัญญา ความจำ ซึ่งยังไม่ได้ประจักษ์ชัดแจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง แต่ก็ปกปิดไว้ เสมือนว่าได้รู้แจ้ง ได้ประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นการปกปิดความจริง

ผู้ที่จะละกิเลสได้นั้น จะต้องเป็นผู้ตรง และต้องรู้ด้วยว่า ขณะใดท่านได้ล่วงมุสาวาท และขณะที่ล่วงนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญาอีกมากเหลือเกิน เพื่อที่จะดับมุสาวาทเป็นสมุจเฉท หรือแม้แต่ไม่ใช่ในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติธรรม ทุกครั้งที่มุสาวาทเกิดขึ้น ก็ย่อมมีด้วยอาการ ๓ อย่าง ด้วยอาการ ๔ อย่าง ด้วยอาการ ๕ อย่าง ด้วยอาการ ๖ อย่าง ด้วยอาการ ๗ อย่าง ด้วยอาการ ๘ อย่างนี้ เพียงแต่ว่าท่านจะพิจารณาละเอียดหรือไม่เท่านั้นเอง แต่ถ้าท่านพิจารณาโดยละเอียด ท่านจะเห็นได้ว่า ไม่พ้นจากอาการ ๘ อย่างนี้

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในพระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลส และการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่ว่าท่านสามารถดับกิเลสได้เองโดยไม่ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็เป็นการขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ให้เบาบาง ให้บรรเทา ให้ละคลาย และสามารถที่จะถึงการดับเป็นสมุจเฉทได้

ในทุกๆ พระสูตร ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า มีทั้งเรื่องใหญ่ และเรื่องที่ท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องย่อย รวมกันอยู่ในแต่ละพระสูตร ซึ่งความจริงแล้ว เป็นเรื่องที่ควรจะได้พิจารณาโดยละเอียด และควรขัดเกลา เพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ควรคิดว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็ก เช่น เรื่องมุสาวาท เป็นต้น หรือว่าเรื่องทุจริตทางวาจา ก็ไม่ควรจะคิดว่าเป็นเรื่องที่เล็กน้อย

ซึ่งเรื่องคำพูดนี้ พูดกันมากมายหลายเรื่องเหลือเกิน และไม่ได้พิจารณาเลยว่า ที่พูดไปแล้วนั้น เป็นวจีทุจริตหรือเปล่า และเป็นวจีทุจริตขั้นใด เพราะฉะนั้น พระสูตรทั้งหมด จะเกื้อกูลให้ท่านเห็นประโยชน์ของการที่จะขัดเกลากิเลสของท่าน ทั้งในการประพฤติปฏิบัติตามศีลข้อต่างๆ และในการเจริญธรรม คือ สติปัฏฐานด้วย

ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สัมปสาทนียสูตร มีข้อความที่เป็นเรื่องของการพูด ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขตเมืองนาลันทา ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบเรียบแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่จะมีความรู้ ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าในทางพระสัมโพธิญาณ

นี่ก็เป็นการพูดระหว่างท่านพระสารีบุตรกับพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นการพูดที่มีประโยชน์แน่นอน

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

สารีบุตร เธอกำหนดใจด้วยใจ แล้วรู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ซึ่งได้มีแล้วในอดีตว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น ได้มีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีพระปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรมอย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ได้ละหรือ

พระสารีบุตรกราบทูลว่า

ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า

และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงถามท่านพระสารีบุตรทำนองเดียวกันนี้ ในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดซึ่งจักมีในอนาคต และที่มีอยู่ในบัดนี้ ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็กราบทูลเช่นเดิมว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า

เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นเพียงพระอัครสาวกนั้น ไม่สามารถที่จะกำหนดรู้จิตของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทั้งหมด แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถรู้จิตของแม้พระอัครสาวก หรือแม้บุคคลใดๆ ก็ได้ คือ ผู้ที่มีคุณธรรมสูงย่อมรู้จิตของผู้ที่มีคุณธรรมต่ำกว่าได้ แต่ผู้ที่มีคุณธรรมต่ำกว่าไม่สามารถที่จะรู้จิตของผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าได้

อย่างเช่น ผู้ที่เป็นปุถุชน ก็ไม่สามารถที่จะคาดคะเนได้ว่า ญาณแต่ละขั้นของ ผู้ที่ได้ประจักษ์ในญาณนั้นแล้วเป็นอย่างไร หรือไม่สามารถที่จะรู้จิตของพระอริยเจ้าได้ว่า โลกุตตรจิตนั้นมีลักษณะอย่างไร แต่พระอริยเจ้าสามารถที่จะรู้จิตของบุคคลอื่นได้ เพราะท่านเคยมีโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา ริษยา ตระหนี่ มัจฉริยะ ประการใดๆ ก็ตาม เพียงอาการที่ปรากฏ ท่านก็สามารถที่จะรู้ถึงจิตของบุคคลนั้นได้ หรือแม้ในคำพูดของแต่ละท่าน พูดด้วยจิตประเภทใด ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ และก่อนที่ท่านจะเป็นพระอริยเจ้า ท่านก็เคยมีกิเลสนั้นๆ ที่ทำให้พูดในอาการนั้นๆ อย่างนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็สามารถที่จะรู้จิตของผู้ที่มีคุณธรรมต่ำกว่าได้

ด้วยเหตุนี้ท่านพระสารีบุตรจึงได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงว่าข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีในอดีต อนาคต และปัจจุบันก็จริง แต่ข้าพระองค์ก็ทราบอาการที่เป็นแนวของธรรมได้ เปรียบเหมือน เมืองชายแดนของพระราชา มีป้อมแน่นหนา มีกำแพงและเชิงเทินมั่นคง มีประตูๆ เดียว คนยามเฝ้าประตูของพระราชาที่เมืองนั้นเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จักไม่ให้เข้าไป ยอมให้แต่คนรู้จักเข้าไป เขาเที่ยวตรวจดูทางแนวกำแพงรอบๆ เมืองนั้น ไม่เห็นที่ต่อหรือช่องกำแพง โดยที่สุดแม้พอแมวลอดออกมาได้ จึงคิดว่า สัตว์ที่มีร่างใหญ่จะเข้ามาเมืองนี้ หรือจะออกไป สัตว์ทั้งหมดสิ้นจะต้องเข้าออกทางประตูนี้เท่านั้น ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ก็ทราบอาการที่เป็นแนวของธรรมได้ ฉันนั้น

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มีแล้วในอดีตทั้งสิ้น ล้วนทรงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา ล้วนมีพระมนัสตั้งมั่นใน สติปัฏฐาน ๔ เจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งจักมีในอนาคตทั้งสิ้น ก็จักต้องทรงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา จักมีพระมนัสตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงจะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถึงแม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ บัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีพระมนัสตั้งมั่นใน สติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ในพระสูตรนี้ ได้กล่าวถึงลำดับของการสนทนาระหว่างท่านพระสารีบุตร กับ พระผู้มีพระภาค ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เริ่มต้นตั้งแต่สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังอุปมาที่ว่า เปรียบเหมือน เมืองชายแดนของพระราชา มีป้อมแน่นหนา มีกำแพงและเชิงเทินมั่นคง มีประตูประตูเดียว

คือ การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่มีหนทางอื่น นอกจากการเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น เป็นความรู้ชัด เป็นการประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนแทงตลอด ดับกิเลสเป็นพระอริยเจ้าได้

คนยามเฝ้าประตูที่เมืองนั้นเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก ยอมให้แต่คนที่รู้จักเข้าไป

คือ ไม่ใช่ว่าใครปฏิบัติผิดถูกอย่างไร ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติ และประพฤติปฏิบัติถูกต้องด้วย

เขาเที่ยวตรวจดูทางแนวกำแพงรอบๆ เมืองนั้น ไม่เห็นที่ต่อหรือช่องกำแพง โดยที่สุดแม้พอแมวลอดออกมาได้ จึงคิดว่า สัตว์ที่มีร่างใหญ่จะเข้ามาสู่เมืองนี้ หรือจะออกไป สัตว์ทั้งหมดสิ้นจะต้องเข้าออกทางประตูนี้เท่านั้น ฉันใด

คือ ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอัครสาวก หรือพระ อริยสาวก ท่านใดก็ตาม ที่จะพ้นไปจากการอบรมเจริญสติปัฏฐาน และจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นไม่มี

นี่ก็เป็นข้ออุปมาที่ให้เห็นแนวของธรรม ที่ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ถึงแม้ว่าท่านจะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีในอดีต อนาคต และปัจจุบันก็จริง แต่ท่านก็ทราบอาการที่เป็นแนวของธรรม ที่จะทำให้บรรลุคุณธรรม เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

เปิด  273
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566