แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 398

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า

ข้าพระองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับเพื่อฟังธรรม พระองค์ทรงแสดงธรรมอย่างเยี่ยมยอด ประณีตยิ่งนัก ทั้งฝ่ายดำ ฝ่ายขาว พร้อมด้วยอุปมาแก่ข้าพระองค์ พระองค์ทรงแสดงธรรมอย่างเยี่ยมยอด ประณีตยิ่งนัก ทั้งฝ่ายดำ ฝ่ายขาว พร้อมด้วยอุปมาด้วยประการใดๆ ข้าพระองค์ก็รู้ยิ่งในธรรมนั้น ด้วยประการนั้นๆ ได้ถึงความสำเร็จธรรมบางส่วนในธรรมทั้งหลายแล้ว จึงเลื่อมใสในพระองค์ว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว

นี่เป็นผู้ที่เห็นคุณของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างเยี่ยมยอด อย่างประณีตยิ่งนัก ทั้งฝ่ายดำ ฝ่ายขาว พร้อมด้วยอุปมา ซึ่งท่านพระสารีบุตรเองก็ได้กราบทูลว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอย่างเยี่ยมยอด ประณีตยิ่งนัก ทั้งฝ่ายดำ ฝ่ายขาว พร้อมด้วยอุปมาด้วยประการใดๆ ท่านพระสารีบุตรก็รู้ยิ่งในธรรมนั้นด้วยประการนั้นๆ

ต่อจากนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงความเลื่อมใสที่ท่านมีต่อพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ กุศลธรรมเหล่านี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในกุศลธรรมทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไป ซึ่งสมณะหรือพราหมณ์อื่นรู้ยิ่งแล้วจะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระองค์ ในฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ท่านพระสารีบุตรกราบทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงเกื้อกูลอุปการะ โดยการทรงแสดงกุศลธรรมเหล่านี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน

สามารถที่จะอบรมเจริญได้จริงๆ แล้วแต่ว่าการอบรมสะสมเหตุปัจจัยของท่านนั้น พร้อมที่จะให้เกิดผลเมื่อไร ก็เกิดผลเมื่อนั้น

ต่อจากนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ได้กราบทูลความเลื่อมใสที่ท่านมีต่อพระผู้มีพระภาคโดยประการอื่นๆ อีกมาก ล้วนเป็นความไพเราะทั้งสิ้น และข้อหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการขัดเกลากิเลสทางวาจานั้น ใน สัมปสาทนียสูตร ข้อ ๘๓ ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายภัสสสมาจาร (มรรยาทเกี่ยวด้วยคำพูด) คนบางคนในโลกนี้ ไม่กล่าววาจาเกี่ยวด้วยมุสาวาท ไม่กล่าววาจาส่อเสียด อันทำความแตกร้าวกัน ไม่กล่าววาจาอันเกิดแต่ความแข่งดีกัน ไม่มุ่งความชนะ กล่าวแต่วาจาซึ่งไตร่ตรองด้วยปัญญา อันควรฝังไว้ในใจ ตามกาลอันควร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายภัสสสมาจาร ฯ

ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาข้อความที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวถึง วาจาที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นสุภาษิต ท่านกล่าวว่า กล่าวแต่วาจาซึ่งไตร่ตรองด้วยปัญญา อันควรฝังไว้ในใจ

สิ่งใดที่ท่านผู้ฟังพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นเหตุผล เป็นถ้อยคำอันก็ควรฝังไว้ในใจ ไม่ควรที่จะลืม เพราะจะเกื้อกูลแก่กุศลธรรมนานาประการทีเดียว

ต่อจากนั้นท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นข้อความที่ขัดเกลากิเลสทางวาจาว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายศีลสมาจารของบุรุษ คนบางคนในโลกนี้เป็นคนมีสัจจะ มีศรัทธา ไม่เป็นคนพูดหลอกลวง ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดหว่านล้อม ไม่พูดและเล็ม ไม่แสวงหาลาภด้วยลาภ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ทำความสม่ำเสมอ ประกอบชาคริยานุโยค ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร เพ่งฌาน มีสติ พูดดี และมีปฏิภาณ มีคติ มีปัญญาทรงจำ มีความรู้ ไม่ติดอยู่ในกาม มีสติ มีปัญญารักษาตน เที่ยวไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายศีลสมาจารของบุรุษ ฯ

สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับคำพูด จะเห็นได้ว่า มีคำพูดหลายอย่างที่ควรเว้น ไม่ควรพูด ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีสัจจะ มีศรัทธา ไม่เป็นคนพูดหลอกลวง ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดหว่านล้อม ไม่พูดและเล็ม ไม่แสวงหาลาภด้วยลาภ

นี่เป็นตัวของท่านจริงๆ ที่ยังมีกิเลสอยู่ อาจจะย้อนกลับไปคิดถึงในกาลก่อนก็ได้ว่า ท่านมีวาจาอย่างนี้หรือไม่ และวาจาเช่นนั้น เกิดขึ้นเพราะกุศลหรืออกุศลประการใด ในขณะที่พูดหลอกลวง เกิดขึ้นเพราะกุศลหรืออกุศล

ขณะใดที่ท่านจะหลอกลวงประการใดๆ ก็ตาม ขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะอกุศล ขณะใดที่ท่านพูดเลียบเคียง มีไหม เวลาอยากจะได้ของๆ คนอื่น แต่ไม่กล้าพูดตรงๆ แต่เพราะความปรารถนา ความต้องการ ก็เป็นเหตุให้กล่าววาจาเลียบเคียง ดูว่า ท่านจะได้หรือจะไม่ได้ในขณะนั้น มีไหมคำพูดเลียบเคียง ก็มี ซึ่งถ้าท่านเจริญสติจะทราบว่า ขณะนั้นเป็นความปรารถนา เป็นความต้องการ อยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงได้กล่าววาจาเลียบเคียงเพื่อที่จะได้สิ่งนั้น

และบางครั้ง ท่านอยากได้ของๆ บุคคลอื่น แต่ก็รู้ว่าบุคคลนั้นยังคงมีความยินดีพอใจในของๆ เขา ยังไม่อยากให้ของๆ เขาแก่ท่าน แต่เพราะความอยากได้ที่มีมาก ก็เป็นเหตุให้ท่านกล่าววาจาหว่านล้อมด้วยประการต่างๆ

เวลาอยากได้ของอะไรๆ จากคนอื่น อาจจะเลียบเคียงบ้าง หรืออาจจะหว่านล้อมด้วยเหตุผลนานาประการที่จะได้ของสิ่งนั้นมา หรือบางครั้งท่านอาจจะพูดและเล็ม คือ ไม่พูดตรงๆ ไม่บอกตรงๆ ไม่ขอตรงๆ แต่มีถ้อยคำที่แสดงให้คนอื่นทราบว่า ท่านอยากจะได้

บางครั้งก็แสวงหาลาภด้วยลาภ คือ รู้ว่าถ้าให้สิ่งใดไปแล้ว ก็จะได้อะไรตอบแทน ก็เป็นการแสวงหาลาภด้วยลาภ

ทั้งหมดเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเหตุให้เกิดคำพูดประการต่างๆ ขึ้น เป็นชีวิตจริง เป็นเรื่องของวจีทุจริต ซึ่งควรละ ควรเว้น

ถ. วินิจฉัยศัพท์ คำว่า เลียบเคียง อย่างสมมติว่า ท่านรองมีเสื้อ ๕ ตัว ผมมีตัวเดียว ผมก็กล่าวว่า แหม ผมมีเสื้อเพียงตัวเดียว ท่านรองมีตั้งหลายตัว อย่างโน้น อย่างนี้ ก็เรียกว่า เลียบไป เคียงมา พูดใกล้ๆ ตัวเองนั่นแหละ เขาเรียกว่า เลียบเคียง

ส่วนคำว่า และเล็ม ถ้าจะเปรียบอย่างโคกินหญ้าอิ่มแล้ว ยังไม่เข้าคอก ปล่อยไปตามหลังบ้าน ก็เล็มหญ้าเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่กินจริงจัง นี่เรียกว่า และเล็ม

สุ. ก็เป็นเรื่องของความอยากได้ เป็นเหตุให้กล่าววาจาลักษณะต่างๆ

ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย มหานิทเทส ซึ่งมีข้อความวินิจฉัยเรื่อง การพูดเลียบเคียง ใน ตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔ ข้อ ๗๖๔ มีว่า

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ไม่พึงพูดเลียบเคียงกะชน เพราะความอยากได้ลาภ ดังต่อไปนี้ การพูดเลียบเคียงเป็นไฉน การพูดหว่านล้อม การพูดเลียบเคียง การพูดเลียบเคียงด้วยดี การพูดยกย่อง การพูดยกย่องด้วยดี การพูดผูกพัน การพูดผูกพันด้วยดี การพูดอวดอ้าง การพูดอวดอ้างด้วยดี การพูดฝากรัก ความเป็นผู้พูดมุ่งให้เขารักตน ความเป็นผู้พูดเหลวไหลดังว่าแกงถั่ว ความเป็นผู้พูดประจบ ความเป็นผู้พูดแคะไค้ (ดุจกินเนื้อหลังผู้อื่น) ความเป็นผู้พูดอ่อนหวาน ความเป็นผู้พูดไพเราะ ความเป็นผู้พูดด้วยไมตรี ความเป็นผู้พูดไม่หยาบคายแก่ชนเหล่าอื่น แห่งภิกษุผู้มั่นหมายลาภ สักการะ และความสรรเสริญ มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ เป็นผู้เห็นแก่อามิส หนักอยู่ในโลกธรรม กิริยานี้เรียกว่า การพูดเลียบเคียง

ท่านผู้ฟังพูดอ่อนหวานก็จริง แต่เจตนาผิดกันได้ บางคนหวานเสียจริง จนกระทั่งหมดเนื้อหมดตัว

การพูดเลียบเคียงเป็นไฉน การพูดหว่านล้อม การพูดเลียบเคียง การพูดเลียบเคียงด้วยดี

พูดอย่างดี ตัวอย่างเมื่อครู่นี้ก็ได้ พูดอย่างดีๆ ว่า แหมมีตั้งมาก ส่วนอีกท่านหนึ่งมีนิดหน่อยเท่านั้นเอง นั่นก็พูดด้วยดี

การพูดยกย่อง การพูดยกย่องด้วยดี การพูดผูกพัน การพูดผูกพันด้วยดี การพูดอวดอ้าง การพูดอวดอ้างด้วยดี

บางท่านอาจจะมีบารมีใหญ่ มีอำนาจมาก อยากจะได้อะไรก็ใช้คำพูดที่อวดอ้างได้ การพูดอวดอ้างด้วยดี ก็มีลักษณะ ๒ อย่าง จะพูดอวดอ้างอย่างไม่ดี อย่างอำนาจบาตรใหญ่จริงๆ หรือว่าการพูดอวดอ้างด้วยดี ก็แล้วแต่บุคคลจะใช้ต่างๆ กันไป แต่ด้วยอกุศลจิตแล้ว ก็เหมือนกัน คือ การที่ปรารถนาจะได้ของของบุคคลอื่นมาเป็นของตนเอง

การพูดฝากรัก ความเป็นผู้พูดมุ่งให้เขารักตน

แต่ใจจริงๆ ต้องการของของเขา เพราะฉะนั้น มีวิธีใดที่จะได้มา ก็พูดด้วยประการต่างๆ พูดให้เขารัก เพื่อที่จะให้เขาให้ นั่นก็เป็นอกุศลจิต

ความเป็นผู้พูดเหลวไหลดังว่าแกงถั่ว ความเป็นผู้พูดประจบ ความเป็นผู้พูดแคะไค้ (ดุจกินเนื้อหลังผู้อื่น)

บางทีเวลาที่อยากจะได้ แทนที่จะพูดด้วยดี ก็กลับพูดแคะไค้ให้เขารำคาญ เขาก็อาจจะให้ท่านมาเสียเร็วๆ อย่างนั้นก็เป็นได้ ก็แล้วแต่ท่านจะรู้จักบุคคลที่ท่านต้องการของของเขามากน้อยประการใด

ความเป็นผู้พูดอ่อนหวาน

ถ้าเป็นกุศลจิตนี่ดีแน่ แต่ต้องระวัง เพราะว่าบางครั้งความเป็นผู้พูดอ่อนหวาน ก็ด้วยความปรารถนาลามก ด้วยความปรารถนาครอบงำ ด้วยการเห็นแก่อามิส ด้วยการอยากได้สมบัติของคนอื่น

ความเป็นผู้พูดไพเราะ

บางคนพูดเพราะมาก แต่ว่าเจตนาจริงๆ นั้น เพราะอยากจะใช้สอยไหว้วาน หรืออยากจะให้ทำกิจธุระของท่านให้สำเร็จด้วยดี ก็เป็นได้ เจตนาอย่างนี้มีหรือเปล่าในขณะที่พูดอ่อนหวาน

ท่านผู้ฟังกล่าวว่า กลัวเขาจะไม่ทำให้ ก็ต้องพูดเพราะๆ เพื่อที่จะให้เขาทำให้

ความเป็นผู้พูดด้วยไมตรี

นี่ด้วยความปรารถนาของๆ ของบุคคลอื่นก็ได้ เช่น พวกทูต หรือนักธุรกิจ ต่างๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นการพูดในลักษณะใด แต่เมื่อมีความปรารถนา มีความอยากได้แล้ว เป็นผู้พูดด้วยไมตรีก็ได้

ความเป็นผู้พูดไม่หยาบคายแก่ชนเหล่าอื่น แห่งภิกษุผู้มั่นหมายลาภ สักการะ และความสรรเสริญ

บางคนพูดเพราะ แต่ไม่ใช่เพราะอยากจะได้ลาภ เพราะว่าท่านมีมากมายแล้วก็ได้ แม้กระนั้นความติดในความเป็นตัวตน ต้องการคำสรรเสริญจากคนอื่นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีมรรยาทดี มีตระกูลดี มีวาจาดี มีคำพูดไพเราะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านเองจะเป็นผู้ทราบอย่างละเอียด โดยที่บุคคลอื่นไม่สามารถจะทราบได้เลยว่า วาจาของท่านที่กล่าวออกไปนั้น มีจิตประเภทใดเป็นปัจจัยให้กล่าว

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพูดเลียบเคียงกะชน ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ตั้งตนต่ำ ยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกะชน ๑ ยกตนสูง ตั้งผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกะชน ๑

นี่เป็นลักษณะของการพูดเลียบเคียง ซึ่งมี ๒ ประการ แล้วแต่ว่าจะพูดเลียบเคียงโดยประการใด

ภิกษุตั้งตนต่ำ ยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกะชนอย่างไร

ภิกษุตั้งตนต่ำ ยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกะชนอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายมีอุปการะมากแก่ฉัน ฉันได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเพราะอาศัยท่านทั้งหลาย แม้คนอื่นๆ ย่อมสำคัญเพื่อจะให้ หรือเพื่อจะทำแก่ฉัน คนเหล่านั้นอาศัยท่านทั้งหลาย เห็นแก่ท่านทั้งหลาย จึงให้ จึงทำแก่ฉัน แม้ชื่อเก่าเป็นของมารดาและบิดา ชื่อแม้นั้นของฉันหายลับไป ฉันย่อมปรากฏเพราะท่านทั้งหลายว่า เป็นกุลุปกะของอุบาสกโน้น เป็นกุลุปกะของอุบาสิกาโน้น ภิกษุตั้งตนต่ำ ยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกะชนอย่างนี้

ไม่ใช่เฉพาะภิกษุเท่านั้น ทุกท่านควรที่จะได้ทราบขณะจิตอย่างละเอียดทีเดียวว่า เคยกล่าวอย่างนี้ไหม สำหรับภิกษุก็จะกล่าวกับบุคคลอื่นว่า ท่านทั้งหลายมีอุปการะมาก ได้จีวร บิณฑบาต ปัจจัยต่างๆ ก็เพราะท่านทั้งหลาย หรือแม้คนอื่นๆ ย่อมสำคัญจะให้ หรือจะทำแก่ภิกษุนั้น ก็เพราะอาศัยท่านทั้งหลาย หมายความว่าท่านเป็นผู้ที่สำคัญ ยกท่านไว้สูงทีเดียวว่า ผู้ที่จะมาอุปการะ ถวายปัจจัยแก่ภิกษุนั้น ก็เพราะท่านทั้งหลายนั้นนั่นเอง และท่านก็ได้กล่าวว่า แม้ชื่อเก่าจะเป็นของมารดาและบิดา ชื่อแม้นั้นของท่าน ก็หมดไปแล้วด้วยความเป็นภิกษุ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงศ์ญาติ แต่ว่าเป็นกุลุปกะของอุบาสกโน้นบ้าง เป็นกุลุปกะของอุบาสิกาโน้นบ้าง นี่ชื่อว่า ภิกษุนั้นตั้งตนต่ำ ยกผู้อื่นสูง

ข้อที่ว่า ภิกษุยกตนสูง ตั้งผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกะชนอย่างไร

ภิกษุยกตนสูง ตั้งผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกะชน แม้อย่างนี้ว่า ฉันมีอุปการะมากแก่พวกท่าน พวกท่านอาศัยฉันจึงถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทในเพราะดื่มกินน้ำเมา คือ สุราและเมรัย ฉันย่อมบอกให้พระบาลี ย่อมบอกให้คำอธิบายพระบาลี ย่อมบอกอุโบสถ อำนวยการก่อสร้างแก่ท่านทั้งหลาย ก็แต่ท่านทั้งหลาย ลืมฉันเสียแล้ว ย่อมสักการะเคารพนับถือบูชาภิกษุเหล่าอื่น ภิกษุยกตนสูง ตั้งผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกะชนแม้อย่างนี้

แล้วแต่ลักษณะของบุคคลว่า จะยกผู้อื่นสูง หรือว่าจะยกตนไว้สูง และตั้งผู้อื่นไว้ต่ำ บางสำนักก็ติดตามลูกศิษย์ เวลาที่ลูกศิษย์หายไปสู่สำนักอื่น ท่านติดตาม ไม่ใช่เพื่อจะถามถึงทุกข์สุข แต่ติดตามเพื่อจะให้กลับมาสู่สำนักของท่าน หรือว่าบำรุงสำนักของท่าน นี่เป็นการพูดเลียบเคียงกับชน โดยการที่ยกตนไว้สูง ตั้งผู้อื่นไว้ต่ำ หรือว่าบางท่านอาจจะยกผู้อื่นสูง และตั้งตนไว้ต่ำก็ได้

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า ไม่พึงพูดเลียบเคียงกะชนเพราะความอยากได้ลาภ ความว่า ภิกษุเมื่อจะให้ลาภสำเร็จ ไม่พึงพูดเลียบเคียงกะชน คือ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งการพูดเลียบเคียงกะชน เป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องการพูดเลียบเคียงเพราะเหตุแห่งลาภ เพราะการณะแห่งลาภ เพราะความบังเกิดขึ้นแห่งลาภ พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงพูดเลียบเคียงกะชนเพราะความอยากได้ลาภ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

ภิกษุไม่พึงตั้งอยู่ในการซื้อขาย ไม่พึงทำกิเลสเป็นเครื่องค่อนขอดในที่ไหนๆ ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน ไม่พึงพูดเลียบเคียงกะชนเพราะความอยากได้ลาภ

เปิด  274
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566