แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 399

ท่านผู้ฟังจะเห็นความละเอียดในเรื่องที่ ภิกษุไม่พึงตั้งอยู่ในการซื้อการขาย ไม่พึงทำกิเลสเป็นเครื่องค่อนขอดในที่ไหนๆ

การค่อนขอดนี่ดีไหม ดีหรือไม่ดี เป็นกุศลหรืออกุศล ละเอียดไหม ไม่ใช่ควรละมุสาวาทอย่างเดียว ไม่ว่าคำพูดใดๆ ที่เป็นไปเพราะอกุศล ก็ควรละ ควรบรรเทา ควรสลัดออก ควรที่จะดับเป็นสมุจเฉท

สำหรับข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุไม่พึงตั้งอยู่ในการซื้อการขาย ก็เป็นความละเอียดยิ่งขึ้น สำหรับการที่ภิกษุจะขัดเกลากิเลส

ซึ่งข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔ ข้อ ๗๖๑ อธิบายว่า

คำว่า ภิกษุไม่พึงตั้งอยู่ในการซื้อการขาย ความว่า การซื้อการขายเหล่าใด อันพระผู้มีพระภาคตรัสห้ามไว้ในวินัย การซื้อการขายเหล่านั้น มิได้ทรงพระประสงค์เอาในอรรถนี้

ภิกษุตั้งอยู่ในการซื้อการขายอย่างไร ภิกษุทำความลวง หรือปรารถนาความเจริญ ย่อมแลกเปลี่ยนบาตรก็ดี จีวรก็ดี บริขารอื่นอะไรๆ ก็ดี กับสหธรรมิก ๕ จำพวก ภิกษุตั้งอยู่ในการซื้อการขายอย่างนี้

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ละเอียดยิ่งขึ้นจากพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้แล้วว่า ภิกษุไม่พึงค้าขาย แต่นี่ไม่ใช่การซื้อการขายจริงๆ แต่โดยลักษณะนี้ คือ ภิกษุตั้งอยู่ในการซื้อการขายอย่างนี้

ภิกษุไม่ตั้งอยู่ในการซื้อขายอย่างไร ภิกษุไม่ทำความลวง หรือไม่ปรารถนาความเจริญ ย่อมแลกเปลี่ยนบาตรก็ดี จีวรก็ดี บริขารอื่นอะไรๆ ก็ดี กับสหธรรมิก ๕ จำพวก ภิกษุไม่ตั้งอยู่ในการซื้อขายอย่างนี้

คือ ไม่ใช่เป็นเพราะอยากจะได้ของดีๆ ที่มีค่า หรือว่ามีราคาแพงๆ บางครั้งเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อความเหมาะสม จีวรแคบไป กว้างไป ยาวไป ใหญ่ไป แลกได้ ถ้าไม่เป็นเพราะปรารถนาในลาภ หรือว่าในการที่จะได้วัตถุปัจจัยที่มีค่ายิ่งขึ้น

ท่านผู้ฟังเองไม่ซื้อไม่ขาย แต่แลกอะไรกันบ้างหรือเปล่า

เวลาแลกนี่ อยากจะได้ของดีมากกว่าที่มีอยู่หรือเปล่า บางทีท่านมีของที่ดี และรู้ว่าคนอื่นอยากจะได้ของของท่าน ท่านก็ให้ นั่นเป็นผู้ที่ไม่ติดข้องในวัตถุ เห็นว่าเมื่อบุคคลอื่นอยากจะได้ และสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ เมื่อได้ไปแล้ว ก็จะมีความสุขโสมนัส ก็แลกไป ให้ไป นี่เป็นกุศลจิต

เพราะฉะนั้น แม้แต่การแลก ก็ขอให้คำนึงถึงทั้งสองฝ่ายที่กำลังจะแลกว่า ในขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร ต้องการลาภ ต้องการความเจริญ ต้องการสิ่งที่มีค่า ที่ดีกว่าที่ตนมีอยู่หรือเปล่า หรือว่าเป็นกุศลจิตในการที่จะให้คนอื่นได้ปลาบปลื้มยินดีโสมนัสในวัตถุที่ได้

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า ภิกษุไม่พึงตั้งอยู่ในการซื้อการขาย ความว่า ภิกษุไม่พึงตั้งอยู่ ไม่พึงดำรงอยู่ในการซื้อการขาย พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งการซื้อการขาย พึงเป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออกไป สลัด พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อการขาย พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในการซื้อการขาย

ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ไม่เกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานเลย แต่คิดอย่างนี้ถูกหรือผิด เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการดับกิเลสจนเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น จะพ้นจากการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้เลย ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นเรื่องของการรู้จักนามธรรมและรูปธรรมละเอียดยิ่งขึ้น จึงจะละได้ หรือดับได้ ถ้าท่านผิวเผิน ข้ามไป ไม่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียด จะรู้ได้อย่างไรว่า มีอกุศลธรรมอย่างบาง อย่างละเอียดที่ควรจะละ ควรจะขัดเกลา เพราะฉะนั้น ผู้รู้เท่านั้นที่จะบรรเทา ที่จะละ ที่จะคลาย ที่จะดับกิเลสได้จนเป็นสมุจเฉท

ข้อความต่อไป ข้อ ๗๖๒

คำว่า ภิกษุไม่พึงทำกิเลสเป็นเครื่องค่อนขอดในที่ไหนๆ

อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลย แม้ว่าจะได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ถ้ากิเลสยังมี เรื่องที่จะไม่ค่อนขอดนั้น เป็นไปไม่ได้ เมื่อกิเลสยังมีอยู่ ก็มีการค่อนขอดทางวาจาด้วย และกิเลสนั้นก็มีหลายขั้น มีทั้งกิเลสหยาบ มีทั้งกิเลสปานกลาง มีทั้งกิเลสละเอียด

สำหรับกิเลสหยาบ ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต

กิเลสปานกลาง คือ กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก

จิตที่คิดอกุศล ค่อนขอดได้ไหม ในความคิดนึก ยังไม่ทันที่จะล่วงออกไปเป็นวาจา นึกค่อนขอดอยู่ในใจ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว และถ้าถึงขั้นที่จะคิดเบียดเบียน ด้วยความขุ่นเคือง ไม่พอใจ มีความเห็นผิด เข้าใจผิด คิดเบียดเบียนด้วยพยาปาทวิตก กามวิตก วิหิงสาวิตก ให้ทราบว่า แม้เป็นขั้นความคิดนึก ก็เป็นกิเลสปานกลาง

สำหรับกิเลสละเอียด คือ ความวิตกถึงญาติ ความวิตกถึงชนบท ความวิตกถึงอมรเทพ ความวิตกอันปฏิสังยุตด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น ความวิตกอันปฏิสังยุตต์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ ความวิตกอันปฏิสังยุตด้วยความไม่ถูก ดูหมิ่น วิตกเหล่านี้เรียกว่า กิเลสละเอียด

นี่ก็เป็นเยื่อใย ความผูกพัน เป็นตัวตนแล้ว

วิตกถึงญาติ ก็เป็นกิเลสละเอียด ค่อนขอดได้ไหม เพราะกิเลสละเอียด

วิตกถึงชนบท ความวิตกถึงอมรเทพ ความวิตกอันปฏิสังยุตด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น เคยค่อนขอดผู้ที่เป็นที่รักบ้างไหม เยื่อใย ความผูกพันที่อยากจะให้เป็นคนดี ก็เลยค่อนขอด เพื่อจะให้เปลี่ยนความประพฤติ หรือว่ากระทำในสิ่งที่ดีขึ้น

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิจารณาวาจาของท่านได้ว่า ขณะนั้นเป็นด้วยกิเลสหยาบ หรือด้วยกิเลสปานกลาง หรือด้วยกิเลสละเอียด ถ้าเป็นด้วยกิเลสละเอียดก็เป็นเยื่อใย เป็นความวิตก เป็นความผูกพันถึงญาติ ถึงชนบท ถึงสถานที่ต่างๆ หรือเป็นความวิตกที่สัมปยุตต์ด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น หรือว่าความวิตกอันปฏิสังยุตด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญต่างๆ ความวิตกอันปฏิสังยุตด้วยความไม่ถูกดูหมิ่นไม่อยากจะให้ใครดูหมิ่นท่านด้วยประการใดๆ ก็ตาม นั่นก็เป็นเยื่อใยของตัวตน

ข้อความต่อไปมีว่า

สมณพราหมณ์และเทวดาเหล่านั้น พึงค่อนขอดด้วยกิเลสหยาบบ้าง ด้วยกิเลสปานกลางบ้าง ด้วยกิเลสละเอียดบ้าง ภิกษุไม่พึงทำกิเลสเป็นเครื่องค่อนขอด คือ ไม่ควรทำกิเลสทั้งหลาย อันเป็นเครื่องทำความค่อนขอด ไม่ควรยังกิเลสเหล่านั้นให้เกิด ให้เกิดพร้อม ให้บังเกิด ให้บังเกิดเฉพาะ พึงละ บรรเทา พึงทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งกิเลสทั้งหลายอันเป็นเครื่องทำความค่อนขอด พึงเป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออกไป สลัด พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลสอันเป็นเครื่องทำความค่อนขอด พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่

คำว่า ในที่ไหนๆ คือ ในที่ไหนๆ ในที่ทุกๆ แห่ง ภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ทั้งภายในและภายนอกบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงทำกิเลสเป็นเครื่องค่อนขอดในที่ไหนๆ

เรื่องของกิเลสมีมาก และคำพูด พูดอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็ควรที่จะได้พิจารณาคำพูดให้ละเอียดยิ่งขึ้นว่า ในขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตประเภทใด พร้อมกันนั้น ขณะนั้น เป็นการเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะสภาพธรรมที่แท้จริง ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ที่บังเกิดเฉพาะแล้วในขณะนั้น ทำให้สภาพธรรมในขณะนั้นเป็นอย่างนั้นๆ และเมื่อรู้อย่างนั้น จึงจะละได้ จึงจะบรรเทาได้ จึงจะทำให้สิ้นไปได้

รู้ว่า มีกิเลสมากนี่ ดีหรือไม่ดี รู้ถูกหรือรู้ผิด ถ้ารู้ถูกก็ดี

เรื่องของความเท็จก็มีหลายอย่าง แม้แต่มายา การหลอกลวงบุคคลอื่น ก็เป็นลักษณะของความเท็จประการหนึ่ง ซึ่งข้อความใน ขุททกนิกาย อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕ ข้อ ๘๑๙ ว่าด้วยความเป็นผู้มีมายา ข้อความมีว่า

ความประพฤติลวงเรียกว่า มายา ในคำว่า ไม่มีมายา ปราศจากคำส่อเสียด

บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ ย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุจะปกปิดทุจริตนั้น ย่อมปรารถนาว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา (ว่าเราประพฤติชั่ว) ย่อมดำริว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา คิดว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา ดังนี้ แล้วก็กล่าววาจา (ว่าตนไม่มีความประพฤติชั่ว) คิดว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา ดังนี้ แล้วก็บากบั่นด้วยกาย (เพื่อจะปกปิดความประพฤติชั่วของตน)

ความลวง ความเป็นผู้ลวง กิริยาเป็นเครื่องปิดบัง กิริยาที่ซ่อนความจริง กิริยาที่บังความผิด กิริยาที่ซ่อนความผิด กิริยาที่พรางความชั่ว กิริยาที่ปิดบังความชั่ว กิริยาที่ซ่อนความชั่ว ความทำให้ลับ ความไม่เปิดเผย กิริยาที่คลุมความผิด กิริยาที่ชั่ว นี้เรียกว่า มายา

มายานี้ อันบุคคลใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือ ญาณ บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้ไม่มีมายา

ท่านผู้ฟังคงสงสัยว่า ทำไมข้อความในพระไตรปิฎกจึงมีพยัญชนะหลายพยัญชนะ แต่ลักษณะจริงๆ เป็นอย่างนั้น เช่นข้อความที่ว่า ความลวง ความเป็นผู้ลวง กิริยาเป็นเครื่องปิดบัง กิริยาที่ซ่อนความจริง กิริยาที่บังความผิด กิริยาที่ซ่อนความผิด กิริยาที่พรางความชั่ว ซึ่งเวลาที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ละครั้ง แต่ละขณะ จะมีอาการต่างๆ กันไป อย่างละนิดอย่างละหน่อย สมควรที่จะได้ทรงบัญญัติพยัญชนะในลักษณะอาการต่างๆ นั้น โดยครบถ้วนจริงๆ

ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับความเท็จ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เห็นลักษณะสภาพของอกุศลธรรมว่า จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้มีลักษณะอาการต่างๆ อย่างไรบ้าง

ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส ข้อ ๗๔๕ มีข้อความว่า

วัตถุแห่งความโกหก ในคำว่า ไม่โกหก มี ๓ อย่าง คือ วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการเสพปัจจัย ๑ วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งอิริยาบถ ๑ วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการพูดอิงธรรม ๑

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ที่ไม่ตรงจริงๆ ไม่ใช่อุชุปฏิปันโน ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะเหตุว่ายังมีความคดงอ ยังมีความเป็นผู้ที่ไม่ตรง เพราะฉะนั้น จึงทำให้แม้ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ยังมีมายา ความโกหก ความหลอกลวงได้

วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการเสพปัจจัยเป็นไฉน

เรื่องของโลภะ ก็ไม่พ้นไปจากเรื่องของปัจจัย วัตถุที่จะพึงใช้สอย พึงบริโภค เพราะฉะนั้น เมื่อมีความยินดี ความต้องการมากในวัตถุปัจจัยที่พึงใช้พึงสอย พึงบริโภค ก็เป็นเหตุให้เป็นวัตถุแห่งความโกหก เป็นส่วนแห่งการเสพปัจจัย

ข้อความต่อไปมีว่า

วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการเสพปัจจัยเป็นไฉน

พวกคฤหบดีในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ภิกษุด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้นมีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำแล้ว มีความต้องการด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร มุ่งความเป็นผู้ใคร่ได้มาก บอกเลิกรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เธอพูดอย่างนี้ว่า

สมณะจะประสงค์อะไรด้วยจีวรมีค่ามาก สมณะควรจะเที่ยวเลือกเก็บผ้าเก่าๆ จากป่าช้าบ้าง จากกองหยากเยื่อบ้าง จากตลาดบ้าง แล้วทำสังฆาฏิบริโภค นั่นเป็นความสมควร

สมณะจะประสงค์อะไรด้วยบิณฑบาตมีค่ามาก สมณะควรเลี้ยงชีพด้วยอาหารที่ได้มาด้วยปลีแข้ง โดยการเที่ยวแสวงหา นั่นเป็นความสมควร

สมณะจะประสงค์อะไรด้วยเสนาสนะมีค่ามาก สมณะพึงอยู่ที่โคนต้นไม้ หรือพึงอยู่ในที่แจ้ง นั่นเป็นความสมควร

สมณะจะประสงค์อะไรด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันมีค่ามาก สมณะควรทำยาด้วยมูตรเน่าบ้าง ด้วยชิ้นลูกสมอบ้าง นั่นเป็นความสมควร

เธอมุ่งความเป็นผู้ใคร่ได้มาก ก็บริโภคจีวรที่เศร้าหมอง ฉันบิณฑบาตที่เศร้าหมอง ใช้สอยเสนาสนะที่เศร้าหมอง เสพคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่เศร้าหมอง

พวกคฤหบดีก็รู้จักภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า สมณะรูปนี้มีความปรารถนาน้อย เป็นผู้สันโดษ ชอบวิเวก ไม่เกี่ยวข้อง ปรารภความเพียร เป็นผู้มีวาทะอันขจัดแล้ว ก็นิมนต์มากไปด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

ภิกษุนั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า

กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะประสบบุญเป็นอันมาก ก็เพราะมีปัจจัย ๓ อย่าง พร้อมหน้ากัน คือ กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะประสบบุญเป็นอันมาก เพราะมีศรัทธาพร้อมหน้า ๑ เพราะมีไทยธรรมพร้อมหน้า ๑ เพราะมีทักขิไณยบุคคลพร้อมหน้า ๑ ท่านทั้งหลายก็มีศรัทธานี้อยู่ ไทยธรรมก็ปรากฏอยู่ และอาตมาผู้เป็นปฏิคาหกก็มีอยู่ ถ้าอาตมาจักไม่รับ ด้วยเหตุที่อาตมาไม่รับ ท่านทั้งหลายก็จักเสื่อมบุญ อาตมาไม่มีความประสงค์ด้วยปัจจัยนี้ ก็แต่ว่า อาตมาจักรับเพื่ออนุเคราะห์แก่ท่านทั้งหลาย

ภิกษุนั้นมุ่งความเป็นผู้อยากได้มาก ก็รับจีวรมาก รับบิณฑบาตมาก รับเสนาสนะมาก รับคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมาก ความสยิ้วหน้า ความเป็นผู้สยิ้วหน้า ความโกหก กิริยาที่โกหก ความเป็นผู้โกหกเห็นปานนี้ ท่านกล่าวว่า วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการเสพปัจจัย

เรื่องของความอยากได้มาก ก็แสดงออกมาโดยวิธีการต่างๆ ที่แยบคายได้ เพราะฉะนั้น เป็นความล้ำลึกของจิตใจของแต่ละคน ซึ่งท่านเองเป็นผู้รู้ดีว่า มีกิเลสประเภทนั้นๆ หรือไม่ เมื่อรู้แล้ว ควรละไหม เพราะเหตุว่ากิเลสทั้งหลายเป็นภัยที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งอยู่ภายในตัวเอง ไม่ได้อยู่ไกลเลย เป็นสิ่งไม่ดีที่มีอยู่ในจิตใจ เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมต่างๆ และจะเป็นผู้ที่ได้รับวิบาก คือ ผลของอกุศลกรรมนั้นๆ เองด้วย

เปิด  289
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566