แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 402

ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นได้อย่างไรว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ถ้าไม่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยคิดนึกในเรื่องนั้นๆ มาก่อน ก็จะไม่นึกคิดเรื่องนั้นอีก เพราะฉะนั้น แต่ละขณะอาศัยปัจจัยจริงๆ เป็นสังขารปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะวิญญาณนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เพราะวิญญาณดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้ว เพราะความเข้าไปสงบแห่งวิญญาณ ฯ

วิญญาณอยู่ที่ไหน ธรรมดาที่สุด คือ การเห็น เห็นแล้ว เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ วิญญาณอยู่ที่ไหน ได้ยิน ได้ยินแล้ว เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งสุขทุกข์ทั้งหมด ถ้าไม่อาศัยเกิดกับวิญญาณ คือ จิตซึ่งเป็นสภาพที่รู้สี รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะแล้ว สุขทุกข์ก็ย่อมเกิดไม่ได้

และการที่จะเข้าใจพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัส การเข้าใจถึงอรรถของธรรมที่ทรงแสดงโดยประการต่างๆ นั้น ก็เพราะการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

แต่ถ้าการเจริญสติปัฏฐานยังน้อย ยังไม่พอ ยังไม่รู้ว่า ที่กำลังได้ยินเป็นลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ความสุข ความทุกข์ ความพอใจที่เกิดจากการได้ยิน ก็เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเนื่องมาจากการได้ยิน ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ ก็จะไม่เห็นความเป็นปัจจัยของวิญญาณเลยว่า สุขทุกข์ทั้งหมดที่มีได้ ก็เพราะมีวิญญาณนั่นเองเป็นปัจจัย

เคยได้ยินคำสรรเสริญไหม ดับไปแล้ว ความพอใจเกิดไหม เกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าไม่ได้ยิน ความพอใจในสรรเสริญนั้นจะมีได้ไหม ก็มีไม่ได้ เคยได้ยินคำนินทาว่าร้ายไหม ได้ยินแล้ว ดับไป ความทุกข์โทมนัส ความวิตกกังวลต่างๆ มี ถ้ามีก็เพราะอาศัยการได้ยินนั้นเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่จริงแล้ว ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม รูปธรรมแต่ละชนิด ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว และหมดสิ้นไปจริงๆ ดับไปจริงๆ แต่ความผูกพัน ความเชื่อมโยงติดต่อเป็นเรื่องราวต่างๆ ย่อมนำทุกข์และสุขมาให้

ถ้าได้ยินเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง คนที่มาเล่าให้ฟังก็เล่าจบไปแล้ว กลับบ้านไปแล้ว แต่ไม่ได้หมดเพียงแค่นั้นใช่ไหม ถ้าเป็นเรื่องไม่ดี ก็ยังเป็นทุกข์ระทมตรมใจต่อไปอีกนานทีเดียว ทั้งๆ ที่เสียงก็ดับไปแล้ว ได้ยินก็ดับไปแล้ว แต่สภาพที่รู้ในความหมาย สภาพที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล สุขทุกข์ทั้งหลายนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย

ข้อความต่อไป เป็นความละเอียดยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะประจักษ์ เพื่อละการยึดถือนามธรรมรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะผัสสะนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ของชนทั้งหลายผู้อันผัสสะครอบงำแล้ว ผู้แล่นไปตามกระแสแห่งภวตัณหา ผู้ดำเนินไปแล้วสู่หนทางผิด ย่อมอยู่ห่างไกล ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้ผัสสะด้วยปัญญา ยินดีแล้วในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบ ชนแม้เหล่านั้นเป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้ว เพราะการดับไปแห่งผัสสะ ฯ

ยังไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมพร้อมสติที่ประจักษ์ในความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรม แต่ก็รู้โดยการศึกษาขั้นปริยัติ บางท่านบอก ว่า ที่รู้ว่าเป็นนามธรรม เพราะว่าสีมากระทบผัสสะ หรือมากระทบกับจักขุปสาท

แต่ว่าลักษณะของสภาพรู้ ซึ่งเป็นการเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่รูปารมณ์ ซึ่งเป็นรูปที่ปรากฏทางตา แยกขาดจากกันนั้นเป็นอย่างไร

เมื่อยังไม่ทราบ ผัสสะก็เป็นแต่เพียงความคิด เป็นแต่เพียงชื่อที่ใช้โดยเหตุผล เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์ รู้ว่าเพราะผัสสะเป็นปัจจัยจริงๆ ต้องหลังจากที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงจะรู้ในความเป็นปัจจัยว่า ที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏ ต้องมีปัจจัย และมีผัสสะ จึงจะสามารถเกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของการประจักษ์ในสภาพธรรมที่มีจริง แม้แต่ผัสสะ ไม่ใช่โดยขั้นการฟัง แต่โดยการที่ปัญญาจะต้องอบรมเพิ่มขึ้น มีความรู้มากขึ้นที่จะละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น และเมื่อเป็นความรู้ทั่ว ก็เกื้อกูลอุปการะแก่การที่จะละคลาย ไม่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ แต่ให้ทราบว่า ไม่ใช่โดยรู้ชื่อ แต่ว่าต้องเป็นการรู้โดยลักษณะ โดยปัญญาที่แทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะเวทนาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะเวทนานั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

ภิกษุรู้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา กับอทุกขมสุขเวทนาที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีความสาบสูญไปเป็นธรรมดา มีความทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา ถูกต้องด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว เห็นความเสื่อมไปอยู่ ย่อมรู้แจ่มแจ้ง ความเป็นทุกข์ในเวทนานั้นอย่างนี้ เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั้นเอง ทุกข์จึงไม่เกิด ฯ

นี่ก็อีกเหมือนกัน หลายท่านก็อยากจะฟังแต่เรื่องวิปัสสนาญาณว่า แต่ละญาณนั้นเป็นอย่างไร และที่พูดถึงกันมาก คือ อุทยัพพยญาณ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุรู้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา กับอทุกขมสุขเวทนาที่มีอยู่ ทั้งภายในและภายนอกว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีความสาบสูญไปเป็นธรรมดา มีความทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา ถูกต้องด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว เห็นความเสื่อมไปอยู่ ย่อมรู้แจ่มแจ้งความเป็นทุกข์ในเวทนานั้นอย่างนี้ เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั้นเอง ทุกข์จึงไม่เกิด

แต่บางท่านบอกว่า ข้ามไป ไม่ต้องรู้ เมื่อไม่ต้องรู้ จะละได้อย่างไร

เวทนานี้สำคัญจริงๆ และมีมากด้วย อยากได้สุขเวทนากันอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้มีใครปรารถนาทุกขเวทนาเลย เวลาที่ทุกขเวทนาเกิด ก็ไม่พอใจ ต้องการที่จะให้เกิดสุขเวทนาขึ้น โดยไม่ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ซึ่งก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับ ต้องรู้จริงๆ ในสภาพธรรมที่กำลังเป็นความรู้สึกในขณะนี้ ข้ามไม่ได้

แม้จะระลึกรู้ลักษณะของนามประเภทนั้นบ้าง รูปประเภทนี้บ้าง ทางทวารนั้นบ้าง ทางทวารนี้บ้างแล้วก็จริง แต่อย่าคิดว่า สามารถที่จะแทงตลอดอริยสัจธรรมโดยไม่รู้เวทนา เพราะว่าบางท่านไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึกเลย

ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติจะทราบว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ในลักษณะของเวทนา การยึดถือยึดมั่นในเวทนาว่าเป็นตัวตนก็ยังมีอยู่เต็ม เพราะสติไม่เคยระลึกรู้เลยว่า ลักษณะของสุขเวทนาในขณะนั้น เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะของทุกขเวทนาในขณะนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ความรู้สึกเฉยๆ ในขณะนี้ ถ้ามี ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน ไม่มีสีสันวัณณะใดๆ ทั้งสิ้น แต่ท่านผู้ฟังก็สามารถจะรู้ได้ว่า เป็นความรู้สึกเฉยๆ เพียงขณะที่กำลังรู้ ควรที่จะระลึกรู้บ่อยๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพื่อที่จะได้ชินขึ้นในลักษณะของเวทนาชนิดต่างๆ เพื่อที่จะได้ละคลายการยึดถือในเวทนาแต่ละอย่างว่าเป็นตัวตน ไม่ข้าม อะไรที่ไม่เคยรู้ ก็ขอให้สติระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ ขึ้น

ถ. ที่อาจารย์ถามผู้ที่เจริญสติตามปกติในชีวิตประจำวันว่า สงสัยไหมว่า ที่ปฏิบัติไป เป็นรูปหรือเป็นนาม ผมครับ ปฏิบัติไป มีความสงสัยในปรมัตถ์ พยายามสังเกต สำเหนียก พิจารณา แต่ก็ไม่รู้เลยว่าเป็นอย่างไร ตามที่ผมได้ศึกษามาว่า ขณะที่เคลื่อนไหว เหยียด หรือคู้ หรือยกของ ที่ตึงหรือไหว ตามปริยัติแล้ว ลักษณะนั้นเป็นธาตุลม แต่ว่าขณะที่ยกของมีลักษณะที่ตึงนั้น มีความจริงอยู่อย่างหนึ่ง คือ ขณะนั้นต้องมีกำลัง ถ้าไม่มีกำลังแล้วยกของไม่ไหวแน่

กำลังนี้เป็นของจริง เกิดขึ้นขณะที่ยกของ แต่ในรูป ๒๘ นั้นไม่มีคำว่ากำลัง ทำไมในปริยัติไม่มีชื่อนี้ กำลังไม่ใช่ปรมัตถ์หรืออย่างไร

สุ. ลักษณะใดเป็นปรมัตถธรรม หมายความว่า มีสภาพลักษณะปรากฏ ไม่ใช่ชื่อปรากฏ กำลังมี ปรากฏไหม ถ้าปรากฏ ในขณะนั้นลักษณะที่ปรากฏเป็นอย่างไร ธาตุลมก็มีกำลัง สามารถที่จะดัน ผลักไส ทำให้มีการเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ ไม่ต้องเอาชื่อไปติด หรือเป็นห่วงเลย

ปรมัตถธรรม หมายความถึง สภาพที่มีลักษณะปรากฏ โดยไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีลักษณะอาการต่างๆ ชนิด และคำที่ใช้กันอยู่ในทางโลก เป็นคำที่รวมสภาพปรมัตถธรรมหลายลักษณะด้วยกัน ไม่ได้แยกออกเป็นลักษณะของ ปรมัตถธรรมแต่ละชนิด เพราะว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนั้นแยกจากกันไม่ได้

ที่ใดมีธาตุดิน ก็มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ใดมีธาตุไฟ ก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ที่ใดมีธาตุน้ำ ก็มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ใดมีธาตุลม ก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ แต่ว่าลักษณะของแต่ละธาตุนั้นก็แยกออกไป เพราะว่าเป็นรูปแต่ละรูป โดยสภาพของปรมัตถธรรม แต่โดยชื่อ เป็นการรวมลักษณะของปรมัตถ์หลายๆ อย่าง ไม่ได้แยกออกเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละประเภท แต่ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะรู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ชื่อ ซึ่งในขณะนั้นต้องมีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ทางหนึ่งทางใด แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

ธาตุไฟ ก็ไม่ได้แยกไปจากธาตุลม รวมๆ กันเป็นคำที่ใช้ว่า พลัง หรือกำลัง ซึ่งการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติจะรู้ว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิดที่ปรากฏแล้วก็ดับไป

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะตัณหาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะตัณหานั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสาระอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นผู้มีตัณหาปราศจากไปแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ ฯ

เห็นตัณหาเป็นเพื่อนสองในชีวิตประจำวันบ้างไหม อยู่คนเดียวจริงๆ หรือเปล่า ในความคิดนึก มีคนนั้นคนนี้วุ่นวายหลายคนหรือเปล่า หรือว่าเป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ต้องเห็นจริงในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งลักษณะของตัณหานั้นเป็นเพื่อนสอง อยู่ด้วยตลอดเวลา เฉพาะเวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ประกอบด้วยปัญญาที่คมกล้า จึงสามารถที่จะละเยื่อใยความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ มิฉะนั้นแล้ว ตัณหาก็จะทำให้ไม่ได้อยู่เพียงคนเดียว แต่ว่าจะอยู่กัน ๒ คน ๓ คน หลายคน เต็มโลกทีเดียว

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปาทานนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ภพย่อมมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย สัตว์ผู้เกิดแล้วย่อมเข้าถึงทุกข์ ต้องตาย นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้แล้วโดยชอบ รู้ยิ่งความสิ้นไปแห่งชาติแล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทาน ฯ

เห็นอุปาทานบ้างไหม หรือว่าเห็นแต่ตัณหา ลักษณะของกิเลสมีหลายขั้น หลายระดับจริงๆ ซึ่งผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจึงจะเห็นชัดตามความเป็นจริงว่า ลักษณะของอุปาทานนั้น เหนียวแน่นแค่ไหน ยึดติดจริงๆ แสนยากที่จะละ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ลึก และสะสมมาเนิ่นนานทีเดียว

เพราะฉะนั้น การที่จะสามารถดับเป็นสมุจเฉทได้ ต้องรู้จริง รู้ชัด ประจักษ์แจ้ง จึงจะละได้จริงๆ ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่สามารถรู้ถึงความเหนียวแน่น ความลึก ความมีลักษณะอาการต่างๆ ของกิเลสต่างๆ ได้เลย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะการริเริ่มนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย เพราะความริเริ่มดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว สละคืนความริเริ่มได้ทั้งหมดแล้ว น้อมไปในนิพพานที่ไม่มีความริเริ่ม ถอนภวตัณหาขึ้นได้แล้ว มีจิตสงบ มีชาติสังสาระสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่ ฯ

ท่านผู้ฟังทราบ หรือว่ารู้สึกตัวบ้างไหมว่า ริเริ่มอะไรบ้างในวันหนึ่งๆ หรือว่าไม่ได้ริเริ่มอะไรเลย ริเริ่มอยู่ทุกขณะทีเดียว มีแต่เรื่องที่จะริ ที่จะเริ่ม ที่จะทำ ที่จะให้เป็นไปอย่างนั้น ที่จะให้เป็นไปอย่างนี้ ในสิ่งที่ยังไม่เป็น ก็จะให้เป็น ให้เกิดขึ้น

เปิด  254
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566