แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 404

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีประมาณเท่าใด โลกกล่าวว่ามีอยู่ อารมณ์ ๖ อย่างเหล่านี้ โลกพร้อมทั้งเทวโลก สมมติกันว่าเป็นสุข แต่ว่าธรรมเป็นที่ดับอารมณ์ ๖ อย่างนี้ ชนเหล่านั้นสมมติกันว่าเป็นทุกข์

ความดับแห่งเบญจขันธ์ พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นว่าเป็นสุข ความเห็นขัดแย้งกันกับโลกทั้งปวงนี้ ย่อมมีแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นอยู่

ชนเหล่าอื่นกล่าววัตถุกามใดโดยความเป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าววัตถุกามนั้นโดยความเป็นทุกข์

ชนเหล่าอื่นกล่าวนิพพานใดโดยความเป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งกล่าวนิพพานนั้นโดยความเป็นสุข ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยาก ชนพาลทั้งหลายผู้ไม่รู้แจ้งพากันลุ่มหลงอยู่ในโลกนี้

ความมืดตื้อย่อมมีแก่ชนพาลทั้งหลายผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ผู้ไม่เห็นอยู่ ส่วนนิพพานเป็นธรรมชาติเปิดเผยแก่สัตบุรุษผู้เห็นอยู่ เหมือนอย่างแสงสว่าง ฉะนั้น

ชนทั้งหลายเป็นผู้ค้นคว้า ไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ใกล้

ชนทั้งหลายผู้ถูกภวราคะครอบงำแล้ว แล่นไปตามกระแสภวตัณหา ผู้เข้าถึงวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมารเนืองๆ ไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ได้โดยง่าย

นอกจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย ใครหนอย่อมควรจะรู้บท คือ นิพพานที่ พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ดีแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีอาสวะ เพราะรู้โดยชอบ ย่อมปรินิพพาน ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุประมาณ ๖๐ รูป หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล ฯ

จบทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผลของการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ แม้ขณะที่ได้ฟัง พระธรรมเทศนานี้ ก็สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

ในคราวก่อนได้สนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านกล่าวว่า แม้ว่าท่านจะเป็น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ท่านก็ยังไม่อยากจะถึงนิพพาน เป็นความจริงใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ก่อนปรารถนาที่จะถึงนิพพาน ก็ควรจะได้รู้สภาพของจิตใจตามความเป็นจริงว่า ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสมากมายเพียงใด และการที่จะละคลายกิเลสที่มีมากนั้น จะต้องอาศัยสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง จนเป็นความรู้จริงๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่อบรมเจริญอย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

บางท่านหวังแต่เพียงว่า อยากจะทำวิปัสสนาเพื่อละความโกรธ แต่โลภะไม่ละหรืออย่างไร จะละแต่ความโกรธ เพราะไม่ชอบเวลาที่มีความขัดเคือง ขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น เห็นว่าไม่สบายใจ ไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้น บางคนก็ปรารถนาที่จะทำวิปัสสนาเพื่อจะละความโกรธโดยไม่คำนึงถึงความโลภ ความยินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ้าไม่โกรธ แต่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ โลภะมีหรือเปล่าในขณะนั้นก็ไม่รู้ ชอบโลภะ ไม่ชอบโทสะ ซึ่งที่ถูกแล้ว ต้องตรงต่อความเป็นจริงว่า มีกิเลส ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ มานะ อิสสา มัจฉริยะ ประการใดๆ ก็ตาม แม้ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็เป็นกิเลส ที่จะต้องละ ต้องขัดเกลา เป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น จึงจะดำเนินไปสู่ทางที่จะประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อประจักษ์ว่า เป็นทุกข์เพราะเกิดขึ้นและดับไป เมื่อนั้นจึงจะเห็นว่า นิพพานเป็นสภาพธรรมที่สงบ ที่เป็นสุขอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เพิ่งเริ่มเจริญสติ จะต้องรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามปกติตามความเป็นจริง และจะเห็นว่า จากความที่ไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเปรียบเหมือนความมืดสนิทนั้น ก็มีแสงสว่างลางๆ ที่เริ่มจะปรากฏ คือ รู้ลักษณะว่า สภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรม สภาพธรรมนี้เป็นรูปธรรม ค่อยๆ อบรมให้เป็นความรู้ที่เจริญขึ้น และไม่ทิ้งหนทาง มีความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมยิ่งขึ้น ไม่หันไปสู่ข้อปฏิบัติอื่น

แม้ว่าสติจะเกิดน้อย ปัญญาจะไม่มาก แต่เมื่อรู้ว่า สติเกิดได้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อสติสามารถจะเกิดได้ ปัญญาก็ย่อมสามารถจะรู้ได้ในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็อบรมเจริญปัญญาที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยทั่วทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนสามารถที่จะเป็นพละ ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

จากข้อความใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ทวยตานุปัสสนาสูตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีประมาณเท่าใด โลกกล่าวว่ามีอยู่

จริงไหมที่ยังไม่อยากถึงนิพพาน

ผู้ที่ยังติดในโลก ยังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เพราะเห็นว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น เป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ สามารถที่จะพรรณนากันได้ไม่จบสิ้นถึงความน่าพอใจของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ น่าดู น่าเพลิดเพลินไปหมดทุกอย่าง สีก็สวย เสียงก็เพราะ กลิ่นก็หอม รสก็อร่อย อย่างนี้จะไปถึงนิพพานได้ไหม ก็ยัง

เป็นเรื่องที่จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมเสียก่อน และภายหลังเมื่อปัญญาสมบูรณ์ขึ้น ก็จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า นามธรรมและรูปธรรมแต่ละอย่างนั้น เกิดขึ้นและก็ดับไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อารมณ์ ๖ อย่างเหล่านี้ โลกพร้อมทั้งเทวโลก สมมติกันว่าเป็นสุข ก็เพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงสมมติกันว่าเป็นสุข

แต่ว่าธรรมเป็นที่ดับอารมณ์ ๖ อย่างนี้ ชนเหล่านั้น สมมติกันว่าเป็นทุกข์

ถ้าไม่ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา ที่กำลังพอใจอยู่ ก็เป็นทุกข์ เดือดร้อนจริงๆ ที่จะไม่ได้ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่น่าพอใจ

ความดับแห่งเบญจขันธ์ พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นว่าเป็นสุข ความเห็นขัดแย้งกันกับโลกทั้งปวงนี้ ย่อมมีแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นอยู่ ชนเหล่าอื่นกล่าววัตถุกามใดโดยความเป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าววัตถุกามนั้นโดยความเป็นทุกข์

เพราะว่าสภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

ชนเหล่าอื่นกล่าวนิพพานใดโดยความเป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งกล่าวนิพพานนั้นโดยความเป็นสุข ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยาก

ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าไม่มีสภาพรู้ทางตา คือ ไม่มีการเห็น โลกสีสันวัณณะต่างๆ ก็ปรากฏไม่ได้ ที่จะปรากฏเป็นโลก เป็นจักรวาลกว้างใหญ่นี้ จะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เห็น เป็นสภาพธรรมที่รู้ทางตา เสียงก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีสภาพรู้ เสียงก็ไม่ปรากฏ

แต่ว่าทั้งๆ ที่สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไปแต่ละลักษณะสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยาก ชนพาลทั้งหลายผู้ไม่รู้แจ้ง พากันลุ่มหลงอยู่ในโลกนี้ ความมืดตื้อย่อมมีแก่ชนพาลทั้งหลาย ผู้ถูกอวิชชาห่อหุ้มแล้ว ผู้ไม่เห็นอยู่ ส่วนนิพพานเป็นธรรมชาติเปิดเผยแก่สัตบุรุษผู้เห็นอยู่ เหมือนอย่างแสงสว่าง ฉะนั้น

ขณะนี้นามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าสติไม่เกิด ไม่รู้จริงๆ ว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ หรือว่าขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าสติไม่เกิด ไม่สำเหนียก ไม่พิจารณา ไม่แยกลักษณะของนามธรรมออกจากลักษณะของรูปธรรมตามความเป็นจริง จะไม่รู้เลยว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม

ท่านที่มักจะพูดถึงเรื่องการดู การทำ และวิปัสสนาญาณ แต่ไม่พูดเลยเรื่องการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะเหตุใดจึงไม่พูดเรื่องปัญญา หรือความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

พูดแต่เรื่องดู เรื่องทำวิปัสสนา เรื่องวิปัสสนาญาณ แต่มีความรู้อะไรในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ย่อมมีแต่ความไม่รู้ ยังคงไม่รู้อยู่ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่างๆ เหล่านี้

จะหลอกตัวเองได้ไหมว่ารู้แล้ว ถ้าพยายามหลอกตัวเองว่ารู้แล้ว ว่าเป็นนามธรรมเท่านั้น เป็นรูปธรรมเท่านั้น จะเกิดความสงสัยไหมว่า กำลังเห็นที่ว่าเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ มีลักษณะอย่างไร แยกขาดจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่เป็นลักษณะของรูปที่ปรากฏอย่างไร

ถ้าจะหลอกตัวเอง ก็คงหลอกได้ไม่นาน ความสงสัยจะเกิดขึ้น ปรากฏเป็นความไม่รู้ในลักษณะของสภาพเห็นที่กำลังเห็น และสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร

ถ้าสติไม่เกิดจริงๆ ปัญญาไม่รู้จริงๆ แต่บอกว่ารู้แล้ว หลอกไปได้ไม่นาน ความสงสัยก็ต้องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพธรรม ต้องเป็นเรื่องที่อบรมเพื่อความรู้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ท่านอยากแต่จะทำ ขอให้บอกเถอะว่าทำอย่างไร แต่ว่าไม่ได้รู้จากขั้นของการฟังในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่สติจะต้องระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ จนเป็นความรู้ชัดขึ้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนทั้งหลายเป็นผู้ค้นคว้า ไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ใกล้ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ใกล้ที่สุด คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใกล้ที่สุด คือ ในขณะนี้ ตาขณะนี้ หูขณะนี้ จมูกขณะนี้ ลิ้นขณะนี้ กายขณะนี้ ใจขณะนี้ ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ก็คิดว่า จะต้องเป็นอย่างอื่นที่ยังไม่ปรากฏในขณะนี้

ชนทั้งหลายผู้ถูกภวราคะครอบงำแล้ว แล่นไปตามกระแสภวตัณหา ผู้เข้าถึงวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมารเนืองๆ ไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ได้โดยง่าย

นอกจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย ใครหนอย่อมควรจะรู้บท คือ นิพพานที่ พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ดีแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีอาสวะ เพราะรู้โดยชอบ ย่อมปรินิพพาน ฯ

เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าจะถึงนิพพานพรุ่งนี้ โดยการนั่งสักหน่อย หรือว่าพยายามที่ให้จิตเป็นสมาธิ แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง

การบรรลุนิพพานจะไม่ง่ายอย่างนั้นเลย เพราะเหตุว่าต้องเป็นปัญญาจริงๆ เริ่มตั้งแต่รู้ว่า ขณะไหนมีสติ เพราะเหตุใดจึงรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสติ มีสติ และขณะไหนหลงลืมสติ ต่างกับขณะที่มีสติอย่างไร

และเมื่อมีสติแล้ว ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดเพิ่มขึ้น มากขึ้น ที่จะละความไม่รู้ ละข้อปฏิบัติที่ผิด และดำเนินไปตามหนทางข้อปฏิบัติที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้

เพราะฉะนั้น ไม่เป็นเรื่องแปลก ถ้าท่านผู้ใดเริ่มเจริญสติปัฏฐานแล้ว แต่ยังไม่อยากถึงนิพพาน ก็เป็นความจริง เป็นเครื่องวัดที่แสดงให้เห็นว่า ยังมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

เมื่อเห็นว่าตนเองมีความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมากเท่าไร ก็เจริญสติอบรม เพื่อจะรู้ชัด เพื่อละ แต่ว่าไม่ใช่โดยการทำอย่างอื่น

สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะเกิด เพราะว่ากิเลสในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะยังมีอยู่ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เกิด

แต่พร้อมกันนั้น การได้สดับตรับฟัง และการเห็นคุณประโยชน์ของสติก็มี ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม สะสมอบรมการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิด

เพราะฉะนั้น ยิ่งอบรมเจริญสติปัฏฐานมากเท่าไร ก็จะเห็นความจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้ายังไม่ประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ย่อมเป็นความไม่รู้บ้าง เป็นความสงสัยบ้าง เป็นความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะบ้าง

แต่เมื่อมีความรู้มากขึ้น การยึดถือสภาพนามธรรมและรูปธรรมเหล่านั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็จะค่อยๆ ถอยลง คลายลง ละไป บรรเทาไป จนกว่าจะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ดับความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

ถ. ผมได้สนทนากับสหายธรรมหลายคนที่เข้าใจสภาพของนิพพานผิด ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ลักษณะของนิพพานนั้น หมดเหตุ หมดปัจจัย เมื่อตายแล้วก็ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยให้เกิด แต่ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่า เมื่อขันธ์ ๕ ดับไปแล้ว ก็ยังมีวิญญาณอีกดวงหนึ่งขึ้นไปสู่บนสวรรค์ และไม่ต้องลงมาตลอดกัป ไม่ต้องลงมารับทุกขเวทนา คนที่เข้าใจลักษณะของนิพพานแบบนี้ก็มี และเคยได้ยินบางคนบอกว่า ถ้านิพพานนั้นดับสูญ เขาก็ไม่อยากไปนิพพานเหมือนกัน

สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ความเห็นผิดมีมากมายหลายขั้นทีเดียว เห็นผิดคิดว่านิพพานเป็นสถานที่บรมสุข แม้ว่าจะสิ้นชีวิตลงแล้ว ก็ยังมีวิญญาณที่เที่ยงไปเสวยสุขในนิพพาน นั่นเป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เมื่อมีวิญญาณเกิดขึ้น วิญญาณนั้นก็ต้องดับ เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่สุขที่แท้จริง เพราะว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ปรินิพพานจริงๆ

เปิด  265
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565