แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 407
ผู้ที่รู้ความจริงว่า บุคคลใดยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า หรือเข้าใจเหตุที่จะให้บรรลุฌานต่างๆ และรู้ด้วยว่า ภิกษุเหล่านั้นไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างนั้น ยังไม่บรรลุคุณธรรมอย่างนั้น แต่อ้างว่าบรรลุแล้ว จะเลื่อมใสภิกษุเหล่านั้นได้ไหม สำหรับผู้ที่รู้ความจริง ก็ไม่เลื่อมใส
แต่เพียงบางบุคคลที่ไม่รู้ความจริง ก็ตื่นเต้น ชื่นชม โดยที่ไม่รู้ว่าข้อปฏิบัติอย่างไรจึงจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ข้อปฏิบัติก็แจ่มแจ้งชัดเจนในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และบุคคลใดจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในวันไหน คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย ไม่ว่าเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่เป็นการสมควรเลยที่จะอวดอุตตริมนุสสธรรม
ครั้นแล้วทรงกระทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดังนี้
มหาโจร ๕ จำพวก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจร ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก มหาโจร ๕ จำพวกเป็นไฉน
ท่านผู้ฟังคิดถึงอุปกมัณฑิกาบุตรบ้างหรือไม่ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียด แต่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะเป็นการตำหนิบุคคลอื่น ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดนั้นหาประมาณมิได้ เพราะว่าเป็นประโยชน์จริงๆ ที่จะให้ประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพอกุศลธรรมที่มีโดยประการต่างๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจักเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญ สมัยต่อมา เขาเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญ ฉันใด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร สมัยต่อมา เธอเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อม แล้ว เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในโลก
การศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อที่จะให้มีบุคคลร้อยหนึ่ง พันหนึ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง แต่เพื่อการดับกิเลส ซึ่งคนอื่นดับให้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็ดี ประพฤติปฏิบัติธรรมก็ดี เพื่อประโยชน์อย่างเดียว คือ การดับกิเลส แต่ไม่ใช่ด้วยการคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะมีบริษัท บริวารร้อยหนึ่ง พันหนึ่งแวดล้อม และก็ได้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ อันหามูลมิได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์ เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลายด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อาราม วิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว เครื่องไม้ เครื่องดิน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก
ไม่ควรที่จะเกลี่ยกล่อม หรือหวังในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพราะเหตุว่าภิกษุนั้นมีกิจ คือ การศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม เผยแพร่ธรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อการขัดเกลา เพื่อการดับกิเลส
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย
พวกโจรก็ปรากฏชัดๆ ในอาการกิริยา การกระทำของโจรจริงๆ ให้ผู้อื่นประจักษ์ว่าเป็นโจร แต่นี่ลักษณะอาการเป็นบรรพชิต แต่คุณธรรมไม่มีจริง ก็อวดอ้าง โดยอาการหลอกลวง โดยอาการเท็จ และได้ลาภสักการะปัจจัยต่างๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี้จัดเป็นยอดมหาโจร
นิคมคาถา
ภิกษุใดประกาศตนอันมีอยู่โดยการอื่น ด้วยอาการอย่างอื่น โภชนะนั้นอันภิกษุนั้นฉันแล้ว ด้วยอาการแห่งคนขโมย ดุจพรานนกลวงจับนก ฉะนั้น
ภิกษุผู้เลวทรามเป็นอันมาก มีผ้ากาสาวะพันคอ มีธรรมทราม ไม่สำรวมแล้วภิกษุผู้เลวทรามเหล่านั้น ย่อมเข้าถึงซึ่งนรก เพราะกรรมทั้งหลายที่เลวทราม
ภิกษุผู้ทุศีล ผู้ไม่สำรวมแล้ว บริโภคก้อนเหล็กแดงดังเปลวไฟ ประเสริฐกว่าการฉันก้อนข้าวของชาวรัฐ จะประเสริฐอะไร
ทรงบัญญัติปฐมบัญญัติ
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาโดยอเนกปริยายแล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า ดังนี้
พระปฐมบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นความรู้ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ เปล่าๆ แม้ภิกษุนั้น ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ ฯ
จบเรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
ความละเอียดของจิต ความล้ำลึกของจิต มีประการต่างๆ เพราะฉะนั้น เรื่องของการอวดอุตตริมนุสสธรรมไม่ได้จบแค่พระปฐมบัญญัติ ยังมีข้อความละเอียดต่อไปอีกในเรื่องของพระวินัยที่ว่า ถ้าเป็นความจริงเป็นโทษขั้นใด และถ้าเข้าใจผิดคิดว่าได้บรรลุ จะเป็นโทษหรือไม่เป็นโทษประการใด ซึ่งใครจะรู้ นอกจากตัวของบุคคลนั้นเองที่รู้ว่า ได้อวดอุตตริมนุสสธรรมนั้นด้วยจิตประเภทใด ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีก็อวด หรือว่าด้วยการเข้าใจผิดคิดว่าได้บรรลุแล้วก็อวด หรือว่ากล่าวจริง แต่ไม่มีเจตนาที่จะอวด นี่ก็เป็นเรื่องของสภาพจิตของแต่ละบุคคลที่ละเอียดมาก ด้วยเหตุนี้พระวินัยบัญญัติจึงละเอียดจริงๆ และมุสาวาทที่สำคัญสำหรับบรรพชิตที่จะทำให้ถึงปาราชิก คือ การอวดอุตตริมนุสสธรรม ซึ่งเป็นคุณอันประเสริฐที่ไม่มีจริง แต่กล่าวว่ามี
ถ. ในสมัยปัจจุบันนี้ หลังจากออกพรรษา จะมีพระธุดงค์ปักกลดตามสถานที่ที่เป็นบ้านเรือนบ่อยๆ และกล่าวว่า อาตมารู้ หรือนั่งทางใน อะไรอย่างนั้น และมักจะให้เลข ๒ ตัว ๓ ตัว ไม่ใช่ให้ธรรม อย่างนี้เป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรมหรือไม่
สุ. ท่านผู้ฟังไม่ควรจะวินิจฉัยด้วยตัวของท่านเอง แต่ควรที่จะได้ศึกษาพระวินัยบัญญัติ เพื่อให้พระวินัยบัญญัตินั้นเองเป็นผู้พิจารณาว่า เป็นโทษขั้นใด ประการใด เพราะว่าได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดมาก
ขอกล่าวถึงปาราชิกทั้ง ๔ ข้อ ซึ่งเป็นการประพฤติผิดสมณเพศอย่างร้ายแรง เป็นโทษหนักที่ทำให้ขาดภาวะของการเป็นภิกษุ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมวิภาค
ปาราชิกข้อที่ ๑ มีข้อความว่า
พระปฐมบัญญัติ
ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
อาบัติหนักแต่ละข้อนั้น เป็นเพราะเหตุว่าภาวะหรือเพศของบรรพชิตนั้นต่างกับฆราวาส เมื่อมีเจตนาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ก็จะต้องมีการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสม ควรแก่เพศบรรพชิตด้วย เพราะฉะนั้น ปาราชิกทั้ง ๔ นี้ ถ้าภิกษุใดล่วงประพฤติไป ก็ขาดจากภาวะเพศของบรรพชิต
ปาราชิกข้อที่ ๒ มีข้อความว่า
พระปฐมบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว พึงประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนี้ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
ปาราชิกข้อที่ ๓ มีข้อความว่า
พระปฐมบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ ฯ
ปาราชิกข้อที่ ๔ มีข้อความว่า
พระปฐมบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นความรู้ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ เปล่าๆ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ ฯ
จะเห็นได้ว่า สำหรับพระภิกษุนั้น ความประพฤติผิดซึ่งเป็นโทษหนักที่จะทำให้พ้นจากภาวะของเพศภิกษุ มีเพียง ๔ ประการ คือ ปาราชิก ๔
ด้วยทรงพระมหากรุณาที่เห็นว่า แม้ว่าจะมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แต่ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้กระทำทุจริตทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง แต่ว่ากายทุจริตใด วจีทุจริตใดก็ตาม ที่ไม่หนักถึงขั้นทำให้พ้นภาวะของความเป็นภิกษุ ก็เป็นโทษ แต่เป็นอาบัติที่ไม่ทำให้ถึงความสิ้นการเป็นพระภิกษุ เพราะฉะนั้น อาบัติทั้งหมดในพระวินัยปิฎก ปริวารว่าด้วยการรู้อาบัติ แสดงอาบัติไว้ทั้งหมด ๗ ประการ คือ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฏ อาบัติทุพภาษิต
ข้อความใน พระวินัยปิฎก ปริวาร ข้อ ๑,๑๙๓ ท่านพระอุบาลีกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า มุสาวาทมีเท่าไรหนอแล พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุบาลี มุสาวาทนี้มี ๕ อย่าง ๕ อย่างอะไรบ้าง คือ
๑. มีอยู่ มุสาวาทถึงต้องอาบัติปาราชิก
๒. มีอยู่ มุสาวาทถึงต้องอาบัติสังฆาทิเสส
๓. มีอยู่ มุสาวาทถึงต้องอาบัติถุลลัจจัย
๔. มีอยู่ มุสาวาทถึงต้องอาบัติปาจิตตีย์
๕. มีอยู่ มุสาวาทถึงต้องอาบัติทุกกฎ
ดูกร อุบาลี มุสาวาท ๕ อย่างนี้แล
ต่อไปเป็นข้อความในพระวินัยที่แสดงให้เห็นว่า มุสาวาทประการใดมีโทษหนักเบาประการใด เพราะสภาพของจิตซึ่งเป็นปัจจัยให้กระทำมุสาวาทนั้น มีความวิจิตรต่างๆ กันไป