แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 414

ถ. ถ้าเราดื่มสุราโดยหลงเข้าใจผิด คิดว่าไม่ใช่สุรา หรือว่าดื่มโดยคิดว่าเป็นยารักษาโรคได้ จะมีโทษเพียงใดหรือไม่

สุ. สำหรับฆราวาสไม่มีโทษเลย นี่เป็นความต่างกันของเพศคฤหัสถ์กับ เพศบรรพชิต สำหรับเพศบรรพชิตต้องมีความระวังที่จะรักษาสิกขาบทโดยละเอียด จริงๆ เป็นผู้ประมาทไม่ได้ แต่สำหรับฆราวาสก็ไม่เป็นอกุศลกรรมอะไร

ถ. คำว่า มัชชะ มีความหมายว่าอย่างไร และบุคคลที่สมาทานศีลอุโบสถแล้ว กินหมากพลู สูบบุหรี่ สูบกัญชา สูบฝิ่น สูบเฮโรอีน อย่างนี้จะถือว่าละเมิดศีลข้อ ๕ นี้หรือไม่ อีกประการหนึ่ง บุคคลที่สมาทานศีลแล้ว ฉีดมอร์ฟีนเข้าร่างกายของตนเอง อย่างนี้จะเป็นการละเมิดศีลข้อนี้หรือไม่

สุ. สำหรับเรื่องของมัชชะ ใน มังคลัตถทีปนีแปล ข้อ ๑๖๙ มีข้อความว่า

อรรถกถา อามกธัญญเปยยาล ในมหาวรรค สังยุตตนิกายว่า

สุราและเมรัยทั้ง ๒ อย่างนั้นนั่นแล หรือปานะแม้อย่างอื่น ซึ่งพ้นจากสุราและน้ำดอง อันเป็นที่ตั้งแห่งความเมา ชื่อว่ามัชชะ

หมายความว่า สุรา เมรัย ทั้งสองอย่างนั้น หรือแม้น้ำเมาอย่างอื่นก็ตามซึ่งไม่ใช่สุราและน้ำดอง ดังที่ได้อธิบายไว้ว่า สุราเป็นอย่างไร น้ำดองเป็นอย่างไร แต่ถ้าวัตถุนั้นเป็นที่ตั้งแห่งความเมา ชื่อว่ามัชชะ

ถ. กินหมากพลูก็มึนเมาเหมือนกัน ถ้าคนกินไม่เป็น แต่คนกินเป็น เคยแล้วก็ไม่เมา

สุ. แต่คงจะไม่เมาเท่ากับสุรา

ถ. ไม่เมาเท่ากับสุรา แต่ปัญหาว่า จะละเมิดศีลข้อนี้หรือไม่

สุ. การติดในรสยากที่จะกล่าวว่า จะเป็นโทษมากน้อยแค่ไหน อย่างท่านที่พอใจในรสเผ็ด ก็รู้ว่ารสเผ็ดมีโทษหลายประการ อาจจะทำให้สุขภาพไม่ดี กระเพาะอาหารอาจจะเป็นแผลอักเสบต่างๆ

บางท่านอาจเห็นโทษของสุราหรือของมึนเมาว่า เพียงให้ผลกระทบกระเทือนแก่ร่างกายเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว อาจจะถึงกับทำให้หมดสติ ทำกรรมที่เป็นอกุศล ซึ่งถ้าไม่ดื่ม ไม่เสพแล้ว จะไม่สามารถกระทำได้ อย่างการฆ่าบิดาก็ดี มารดาก็ดี หรือว่ากระกระทำอย่างอื่นๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่เสพสุรา แต่ถ้าเป็นหมากพลู คงไม่ถึงที่จะกระทำอย่างนั้นกระมัง

ถ. เรื่องดื่มสุราเมรัย พระผู้มีพระภาคท่านเพ่งเล็งผลของ ๒ สิ่งนี้ คือ สุราเมรัยทำให้เกิดความประมาท กับทำให้เกิดความเมา แต่ทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้าดื่มแล้วไม่เกิดความเมา และไม่ให้ถึงความประมาท คงจะไม่เป็นไรกระมัง คือ เพื่อเป็นยา อย่างการฉีดมอร์ฟีน ก็เป็นการดับทุกข์อย่างหนึ่ง การฉีด การกิน ไม่ใช่เพื่อการเมา เพื่อรักษาโรค ผมว่าไม่เป็นไร

สุ. เรื่องของสุราเมรัย ตามอรรถกถาที่ได้ประมวลไว้ใน มังคลัตถทีปนีแปล ซึ่งท่านผู้ฟังจะศึกษาค้นคว้าได้ละเอียดหลายนัยทีเดียว มีข้อความว่า

ข้อ ๑๖๕

วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความเมา ๑๐ อย่าง ด้วยสามารถแห่งสุรา ๕ อย่าง และเมรัย ๕ อย่าง ชื่อว่าน้ำเมา สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในวิภังค์แห่งสุราปานสิกขาบทว่า สุราแป้ง สุราขนม สุราข้าวสุก สุราใส่เชื้อ สุราผสมเครื่องปรุง ชื่อว่า สุรา น้ำดองดอกไม้ น้ำดองผลไม้ น้ำดองน้ำหวาน น้ำดองน้ำอ้อย น้ำดองผสมเครื่องปรุง ชื่อว่าเมรัย

นี่เป็นคำอธิบายคำว่าน้ำเมา สุรา และเมรัย ซึ่งโดยเฉพาะสำหรับสิกขาบทที่บัญญัติสำหรับพระภิกษุนี้ ต้องแสดงไว้ให้ชัดเจน เพื่อภิกษุที่มีเจตนาจะประพฤติตาม พระวินัย จะได้ไม่ล่วงพระวินัยบัญญัติสิกขาบทให้เป็นโทษ เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาเรื่องของสุราว่าได้แก่อะไรบ้าง เมรัยได้แก่อะไรบ้าง

สำหรับมัชชะ ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มีว่า

สุราและเมรัยทั้ง ๒ อย่างนั่นแล ชื่อว่าน้ำเมา เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเมา ก็หรือปานะอะไรๆ แม้อย่างอื่น อันเป็นที่ตั้งแห่งความเมามีอยู่ ปานะนั้นก็ชื่อว่ามัชชะ

คือ ถ้าพ้นจากสุราและเมรัยแล้ว อะไรๆ แม้อย่างอื่น อันเป็นที่ตั้งแห่งความเมามีอยู่ ปานะนั้นก็ชื่อว่ามัชชะ

มังคลัตถทีปนีแปล ข้อ ๑๗๕

ก็คำใดที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ ในอรรถกถาสุราปานสิกขาบทว่า ก็ในสุราปานสิกขาบทนี้ บัณฑิตพึงทราบความที่การดื่มน้ำเมาเป็นอจิตตกะ เพราะไม่รู้วัตถุ (ก็เป็นอาบัติ)

นี่สำหรับภิกษุ ต้องแยกระหว่างภิกษุกับสามเณรด้วยในความละเอียด ถ้าสำหรับภิกษุแล้ว บัณฑิตพึงทราบความที่การดื่มน้ำเมาเป็นอจิตตกะ เพราะไม่รู้ก็เป็นอาบัติ

ความที่การดื่มน้ำเมานั้น ชื่อว่าเป็นโลกวัชชะ เพราะความเป็นน้ำเมาอันบุคคลพึงดื่มด้วยจิตเป็นอกุศลแท้

ในคำนั้น ความที่การดื่มสุราเป็นอจิตตกะ ย่อมมีได้ด้วยสามารถแห่งภิกษุ เพราะเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวไว้ในอรรถกถามหาขันธกะว่า

ก็ในเพราะการดื่มน้ำเมา สำหรับภิกษุผู้แม้ไม่รู้ ดื่มน้ำเมาตั้งแต่พืช ต้องปาจิตตีย์ สามเณรต่อรู้แล้วดื่ม จึงถึงศีลเภท (ศีลขาด) ไม่รู้แล้วดื่ม ไม่ถึงศีลเภท

การดื่มน้ำเมาสำหรับพวกสามเณรเป็นสจิตตกะ เป็นวัตถุแห่งปาราชิก

ต้องต่างกันทั้งภิกษุ สามเณร ฆราวาส สำหรับฆราวาสไม่เป็นไร เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดเกลาโดยรักษาวินัยบัญญัติดังเพศบรรพชิตเช่นสามเณรและภิกษุ

ฆราวาสถ้ากระทำอกุศลกรรม เป็นอกุศลกรรม ต้องได้รับผลของอกุศลกรรม แต่ไม่ต้องปาราชิกอะไร เพราะว่าไม่ได้รักษาพระวินัยบัญญัติอย่างพระภิกษุ แต่แม้กระนั้นในบางพระสูตรก็ได้ทรงแสดงไว้ว่า การฆ่ามารดาบิดาเป็นปาราชิกของคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะกระทำมรรคผลนิพพานได้ เช่นเดียวกับพระภิกษุ ซึ่งถ้าท่านปาราชิกแล้วยังทรงอยู่ในเพศของบรรพชิต ก็ไม่สามารถที่จะทำมรรคผลนิพพานได้ และสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลก็ยังต่างกัน คือ ใน มังคลัตถทีปนีแปล ข้อ ๑๙๓ มีข้อความว่า

ใครๆ ก็สามารถจะรู้ได้ว่า สุราย่อมทำปัญญาอันเป็นโลกีย์บางอย่างให้มีกำลัง เพลาโดยแท้ จริงอย่างนั้น พระอรรถกถาจารย์กล่าวคำว่า มคฺคปฺปญฺญมฺปน เป็นต้น ก็เพื่อรับรองเนื้อความนั้น โดยมุขคือพยดิเรก (คือ มีเนื้อความตรงกันข้าม) ด้วยคำว่า อนฺโตมุขเมว นปฺปวิสติ นี้ พระอรรถกถาจารย์กล่าวถึงภาวะของการที่สุราทำมรรคปัญญาให้ถอยกำลัง เป็นโทษ ถูกมรรคปัญญายกไว้เสียไกลแล้ว

ถามว่า ก็การที่สุราทำลายความเป็นผู้สามารถ ในเพราะการทำปัญญานั้นให้ถอยกำลังอย่างนั้น เป็นอันพระอรรถกถาจารย์ไม่ทักท้วงแล้ว เพราะความที่การไม่กระทบสุราของพระอริยเจ้าทั้งหลายอันท่านท้วงแล้ว มิใช่หรือ

แก้ว่า ข้อนี้หาเป็นอย่างนั้นไม่ เพราะท่านกล่าวความนี้ไว้แล้วว่า ชื่อว่า แม้การเข้าไปประกอบ (คือ เสพ) สุรานั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านเหล่านั้น

หมายความว่า พระอริยเจ้าจะไม่เสพสุราเลย

ก็ถ้าการประกอบสุรานั้นพึงมีได้ในกาลบางครั้ง ด้วยสามารถการกำหนดฐานะอันไม่ควร (คือเข้าใจผิด) แม้กระนั้น สุรานั้นก็ชื่อว่า ไม่อาจทำมรรคปัญญานั้นให้ถอยกำลังได้แม้น้อยหนึ่งเลย

เพราะความที่มรรคปัญญานั้น ตั้งมั่นดีแล้วโดยความเป็นคุณชาติไกลจากธรรมอันเป็นข้าศึกโดยชอบแท้ ความที่สุราเป็นธรรมชาติไม่สามารถในการยังปัญญาอันเป็น โลกียะและโลกุตตระแม้ทั้งหมดของพระอริยเจ้าทั้งหลายให้ถึงความเป็นคุณชาติถอยกำลังได้ อันพระอรรถกถาจารย์แสดงไว้แล้ว ผลย่อมสำเร็จด้วยธรรมชาตินั้น เหตุนั้นธรรมชาตินั่นชื่อว่า เป็นเครื่องถึง คือ เป็นเหตุ

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยเจ้า มีเหตุที่จะให้หลงลืมสติ และมีเหตุที่จะให้ทอนกำลังปัญญามากทีเดียว แต่ถ้าได้เจริญอบรมปัญญา จนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว แม้สุราก็ไม่อาจที่จะบั่นทอนกำลังของปัญญาของพระอริยเจ้าได้

ถ. เหล้าดื่มแล้วบั่นทอนปัญญา แต่บางคนเขาดื่มแล้วเกิดปัญญา เช่น สุนทรภู่ หรือคุณโชติ แพร่พันธุ์ ดื่มแล้วเขียนผู้ชนะสิบทิศ คนนิยมมาก คนที่ดื่มแล้วบั่นทอนปัญญาก็อย่าดื่ม ถ้าดื่มแล้วเกิดปัญญา ก็ให้เขาดื่ม และบางคนเขาดื่มแล้วเกิดกำลังก็ดื่ม คนที่ดื่มแล้วเสื่อมกำลังก็อย่าดื่ม ผมคิดว่าอย่างนั้น

สุ. ความหมายของคำว่าปัญญาสำหรับคนทั่วไป กับลักษณะของธรรมชาติที่เป็นคุณธรรมที่เป็นปัญญาเจตสิกนั้นต่างกัน คนทั่วไปเห็นใครทำอะไรได้แนบเนียน บังเกิดผล ก็กล่าวว่าคนนั้นมีปัญญา หรือกระทำไปด้วยปัญญา

แต่โดยสภาพของคุณธรรมที่เป็นปัญญาเจตสิก จะไม่เกิดกับอกุศลจิต จะเกิดกับโสภณจิต ถ้าใครเรียนหนังสือเก่ง แต่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นไม่ชื่อว่าปัญญา

ถ. ปัญญาที่เขียนหนังสือ คนอ่านกันทั่วโลก ไม่ใช่ปัญญาวิเศษ เขียนแล้วคนชอบ อ่านสนุก ชมเชยกันนั้น ไม่สำเร็จนิพพานเลย

สุ. โดยมากเข้าใจว่า ความฉลาดในทางโลกเป็นโลกียปัญญา อย่างเรียนหนังสือเก่ง มีความรู้มากทางโลก เข้าใจกันว่าเป็นโลกียปัญญา ซึ่งยังไม่ตรงกับความหมายที่เป็นปัญญาตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ถ้าจิตเป็นมหากุศลประกอบด้วยปัญญา ก็จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ในสภาพของนิพพาน ปัญญานั้นยังคงเป็นโลกียปัญญาอยู่ ต่อเมื่อใดอบรมเจริญโลกียปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้โลกุตตรปัญญาเกิดขึ้น ประจักษ์ในสภาพของนิพพาน แต่ถ้าตราบใดยังไม่ประจักษ์สภาพของนิพพาน ตราบนั้นก็ยังคงเป็นโลกียปัญญาอยู่

ถึงแม้ว่าจะมีความรู้มาก เป็นคนที่ทำอะไรได้เก่งในทางโลก ก็ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก และไม่ใช่โลกียปัญญาด้วย โลกียปัญญาต้องเกิดกับมหากุศลจิต หรือว่าโสภณจิตอื่น ซึ่งขณะนั้นยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของนิพพาน ต่อเมื่อใดกำลังประจักษ์แจ้งในสภาพของนิพพาน จึงจะเป็นโลกุตตรปัญญา เพราะว่าสภาพของนิพพานเป็นโลกุตตระ ปัญญาที่กำลังประจักษ์ในสภาพของโลกุตตรธรรมจึงเป็น โลกุตตรปัญญาด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่า โลกียปัญญา กับโลกุตตรปัญญา โดยถูกต้อง ท่านก็จะทราบว่า ท่านอบรมเจริญโลกียปัญญาหรือไม่ หรือว่าท่านเพียงแต่มีความรู้ในทางโลก ซึ่งโดยทั่วไปปัญญาทางโลกจะใช้คำว่าโลกียปัญญา แต่เป็นการใช้คำที่ไม่ถูกต้องกับสภาพธรรมที่เป็นปัญญาเจตสิก

ถ. ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยยกตัวอย่างโลกียปัญญา

สุ. โลกียปัญญา เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น รู้ว่ากรรมเป็นอย่างไร ผลของกรรมเป็นอย่างไร ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งเป็นวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณก็ยังคงเป็นโลกียปัญญา จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น โลกุตตรจิตเมื่อไร ปัญญาที่เกิดกับจิตที่รู้แจ้งนิพพานนั้น จึงเป็นโลกุตตรปัญญา

คำว่า โลก ในภาษาไทยมาจากคำว่าโลกะ หรือโลกียะในภาษาบาลี ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป สภาพธรรมที่แตกทำลายไปทั้งหมดเป็นโลกะ หรือเป็นโลก

โลกียปัญญา คือ ปัญญาที่รู้ในสภาพของโลก ในสภาพของธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ยังไม่ใช่ปัญญาที่รู้แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นปัญญาขั้นที่เพียงรู้ลักษณะของโลก คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ปัญญานั้นจึงเป็นโลกียปัญญา

ถ้าอบรมเจริญสมาธิ สมถภาวนา จนกระทั่งฌานจิตเกิดเป็นโลกุตตรปัญญาหรือไม่ ก็ไม่ใช่ ยังคงเป็นปัญญาที่เป็นโลกียปัญญา เพราะเหตุว่ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า อบรมเจริญอย่างไรจิตจึงจะสงบจนกระทั่งไม่รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ เพราะเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นโทษ ทำให้เกิดอภิชฌา ความยินดี ทำให้เกิดโทมนัส ความยินร้าย ผู้ที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชื่อว่าเป็นผู้ที่เห็นถูก เพราะเหตุว่าคนส่วนมากไม่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นประจำ ถ้าท่านอยากจะได้อะไร จะไม่พ้นจากรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย

เพราะฉะนั้น ธรรมดาของคนที่หมกมุ่นเพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ไม่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ผู้ใดที่เห็นโทษ เป็นความเห็นถูกขั้นหนึ่ง ที่พยายามจะอบรมเจริญความสงบ จนกระทั่งจิตไม่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รู้อยู่แต่เฉพาะอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นฌานจิต ขณะนั้นก็เป็นปัญญาขั้นโลกียปัญญา เพราะว่ารู้ในสภาพธรรมขั้นที่ยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นโลกุตตระ

หรือว่า ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม ขณะนั้นเป็นความเห็นถูก แต่เป็นโลกียปัญญา ไม่ใช่โลกุตตรปัญญา ต่อเมื่อใดโลกุตตรจิตเกิด เมื่อนั้นปัญญาที่เกิดกับโลกุตตรจิต จึงจะเป็นโลกุตตรปัญญา

ความหมายของคำว่า อบรมเจริญปัญญา คืออย่างไร คือ การที่จะให้ปัญญารู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั่นเอง

กำลังเรียนหนังสือเป็นกุศลจิตหรือไม่

จิตจะเป็นกุศล ก็ต่อเมื่อจิตนั้นเป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา จึงจะเป็นกุศลจิต แต่ถ้าขณะนั้นจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศลจิต เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเรียนหนังสือขยันขันแข็ง เป็นทานหรือไม่ เป็นศีลหรือไม่ เป็นภาวนาหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ จะกล่าวว่าเป็นกุศลได้ไหม ก็ไม่ได้ก็ต้องเป็นอกุศล

เปิด  364
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566