แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 418

, ผมยังไม่ค่อยเข้าใจว่า สัมมาอาชีพนั้นเป็นไฉน และมิจฉาอาชีพนั้นเป็นไฉน คือ ทุกวันนี้ผมมีอาชีพหนึ่ง ถ้านำศีล ๕ มาเทียบก็ไม่ผิด ถ้านำศีล ๘ มาเทียบก็ไม่ผิด ก็คงจะเป็นสัมมาอาชีพได้ แต่ถ้านำพระสูตรๆ หนึ่งมาเทียบ ก็ชักจะเขวๆ

เมื่อก่อนนี้อาจารย์ได้บรรยายถึง พราหมณ์ผู้หนึ่งมีอาชีพเล่นละคร ทั้งอาจารย์และปาจารย์ก่อนของพราหมณ์ผู้นี้สอนว่า บุคคลที่แสดงละครด้วยความจริงบ้าง ความเท็จบ้าง สามารถทำให้คนดูปีติยินดีชอบใจ ผู้แสดงละครนั้นเมื่อตายไปจะได้ไปเกิดในสวรรค์ พราหมณ์ผู้นั้นก็มาทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้อนี้พระองค์จะทรงพยากรณ์ว่าอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามถามถึง ๓ ครั้ง พราหมณ์นั้นก็ไม่ฟัง หนสุดท้ายจึงทรงพยากรณ์ว่า บุคคลผู้ที่ยังไม่มีราคะ ก็ทำให้เขามีราคะ บุคคลที่ยังไม่มีโทสะ ก็ทำให้เขามีโทสะ บุคคลที่ยังไม่มีโมหะ ก็ทำให้เขามีโมหะ ตัวเองก็เหมือนกัน ยังไม่มีราคะ ก็ทำให้มีราคะ ยังไม่มีโทสะ ก็ทำให้มีโทสะ ยังไม่มีโมหะ ก็ทำให้มีโมหะ ถ้าบุคคลเช่นนี้แตกกายตายไป ต้องเกิดเป็นเปรต หรือสัตว์ดิรัจฉาน

ทุกวันนี้อาชีพของผม ซื้อตู้เพลงมาตั้งไว้ตามร้าน ผิดกับพราหมณ์นิดหน่อย คือ ผมไม่ได้ไปโกหกเขา ไม่ได้ไปทำให้เขาหัวเราะรื่นเริงด้วยตนเอง แต่ใช้อุปกรณ์ คือ ตู้เพลง ผู้ที่ต้องการฟังเพลง นำเหรียญบาทหยอดลงไป ก็ได้ฟังเพลง ขณะนั้นคงทำให้เขาเกิดโลภะ โทสะ โมหะขึ้น แต่ผมไม่ได้แสดงเอง อยากจะทราบว่า เป็นสัมมาอาชีพหรือไม่

สุ. ทุกท่านคงเคยอ่านหนังสือ เคยดูละคร ดูโทรทัศน์ ดูหนัง เวลาที่ยังไม่รู้เรื่องในหนังสือ จิตใจก็รู้สึกจะปกติดี ก็แล้วแต่เหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น ชีวิตจริง ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงเป็นอย่างไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่เวลาอ่านหนังสือ สังเกตความรู้สึกที่หวั่นไหวไปตามเรื่องในหนังสือบ้างไหม บางคนอาจจะคิด ผูกพันถึงเรื่องที่อ่าน ติดอกติดใจในเรื่องราวนั้น คิดถึง หรือว่าคุยกัน สนทนากัน วิพากษ์วิจารณ์กันถึงเรื่องในหนังสือ ในละคร ในหนังต่างๆ จิตใจหวั่นไหวหรือไม่

บางทีอาจจะเป็นคำพูดของพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ตัวโกง อะไรก็แล้วแต่ ถ้าผู้เขียนเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการเขียน ทำให้ผู้อ่านติดใจ อารมณ์หวั่นไหวไปตามเรื่อง เขียนเก่ง ทำให้จิตใจหวั่นไหว ซาบซึ้ง หรือว่าติดอกติดใจ โน้มไปในการที่จะระลึกถึงเรื่องราว กิเลสหลั่งไหลมาจากหนังบ้าง ละครบ้าง หนังสือต่างๆ บ้าง เป็นของที่แน่นอน

สำหรับผู้ที่จะดับกิเลส ก็เห็นตามความเป็นจริงว่า กิเลสมาอย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร มากน้อยอย่างไร หนักเบาอย่างไร หนาบางอย่างไร เป็นโทษอย่างไร และสำหรับชาวโลก ก็ยังจะต้องมีการพักผ่อนหย่อนใจ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะอยู่ สิ่งใดที่กระทำไปด้วยโลภะ แต่ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นทุจริตกรรม ไม่ผิดศีล ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปด้วยกำลังของโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ไม่มีใครสามารถที่จะไปห้าม ไปกันใครไม่ให้ทำอะไร เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้ที่มีโลภะ โทสะ โมหะด้วยกันทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ก็ประคับประคองกัน ไม่ให้ประพฤติทุจริตกรรมล่วงศีล ๕ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะเกื้อกูลกัน เพราะแม้แต่ฆราวาสที่ครองเรือน ก็ยังอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นพระอริยเจ้าได้

ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ มีว่า

คำว่า อุปาสกสิกขา ได้แก่ สิกขาทั้งหลายอันอุบาสกทั้งหลายพึงศึกษา อุบาสกสิกขานั้น ย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งศีล ๕ และศีล ๑๐

คำว่า อุปาสิกาสิกขา ได้แก่ สิกขาทั้งหลายอันอุบาสิกาทั้งหลายพึงศึกษา อุบาสิกาสิกขานั้น ย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งศีล ๕ และศีล ๑๐

เพราะฉะนั้น คนฟังเพลงไม่ใช่ศีล ๑๐ ใช่ไหม ก็ไม่เป็นไร ศีล ๕ ก็ได้

ในนิทเทสแห่งบทนั้น สิกขาของภิกษุและภิกษุณีทั้งหลาย ย่อมเป็นไปจนถึงอรหัตตมรรค สิกขาของอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปจนถึงอนาคามิมรรค

สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็เจริญกุศลขัดเกลาเท่าที่จะกระทำกันได้ ไม่ใช่เกินกำลังความสามารถ แล้วแต่ว่า บุคคลใดสามารถที่จะอบรมเจริญกุศลขั้นใด ก็กระทำไปตามเหตุปัจจัยเท่าที่สามารถจะกระทำได้

สำหรับผู้ที่เป็นนักประพันธ์ก็ดี นักแต่งเพลง นักดนตรีก็ดี ก็ยังเป็นผู้ที่มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งแล้วแต่อัธยาศัยว่า จะมีความโน้มเอียง มีความพอใจอย่างไร จะพอใจทางตา พอใจทางหู พอใจทางจมูก พอใจทางลิ้น พอใจทางกาย แต่ก็มีขอบเขตว่า ไม่กระทำทุจริตกรรม ไม่ล่วงศีล ๕ และเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นสิกขาของฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา ที่จะทำให้รู้แจ้งคุณธรรมได้ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

เป็นผู้ที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง เวลาอ่านหนังสือ รู้สึกอย่างไร เคลิบเคลิ้ม ซาบซึ้งตรึงใจ ครุ่นคิด ฝังจิตฝังใจไว้มากมายเท่าไร สติระลึกรู้ ก็รู้ได้ ถ้าไม่อ่านเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ก็ไม่เป็น แต่เวลาอ่านก็ห้ามไม่ได้ เพราะว่า ธรรมทั้งหลายไม่มีใครรู้ล่วงหน้าเลยสักขณะจิตเดียวว่า ความรู้สึกจะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือจะเฉยๆ จะโสมนัส หรือจะโทมนัส จะมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น หรือว่าจะมีกุศลวิบากมากมายเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ล่วงหน้าเลย เพราะว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้นจึงได้เกิดขึ้น

สำหรับท่านที่เป็นนักประพันธ์ นักดนตรี นักแต่งเพลง ถ้าท่านมีกุศลจิตที่จะให้เป็นคติธรรม ก็ใช้เรื่อง ใช้เพลง ใช้ดนตรีก็ได้ ทำให้เกิดโสมนัส ทำให้ได้เห็นชีวิตที่เป็นไปตามบุญตามกรรม ตามวิถีชีวิต ตามหลักธรรมได้ แล้วแต่ว่าท่านจะมีกุศลเจตนาประกอบด้วยในขณะนั้นมากน้อยเพียงไร หรือว่ามีเจตนามุ่งที่จะก่อให้เกิดโลภะ ราคะ โทสะ โมหะเท่านั้น นั่นก็แล้วแต่บุคคล แต่ท่านสามารถที่จะใช้ศิลปะ ความชำนาญของท่านในทางที่เป็นกุศลได้ เพราะว่าบางท่านอ่านหนังสือที่มีคติธรรม ก็เกิดความซาบซึ้งได้ โน้มน้าวจิตใจให้ใคร่ที่จะเป็นผู้ที่บำเพ็ญบุญกุศลมากยิ่งขึ้นก็ได้

อาชีวัฏฐมกศีล เป็นศีลซึ่งมีอาชีวะเป็นที่ ๘

สำหรับเรื่องของการเว้นกายกรรม ๓ และวจีกรรม ๔ ซึ่งมีอาชีวะเป็นเหตุ จะเห็นได้ว่า ทุจริตกรรมที่เป็นมิจฉาอาชีวะนั้น จะสำเร็จได้โดยกายกรรมและวจีกรรม ถ้าเฉพาะทางมโนทวารแล้ว ไม่สามารถที่จะสำเร็จเป็นมิจฉาอาชีวะได้ คือ เพียงแต่คิด ยังไม่ได้กระทำ เพราะฉะนั้น เรื่องของอาชีพที่จะเป็นทุจริตกรรมนั้น จะต้องเป็นไปด้วยกายกรรม ๓ และวจีกรรม ๔

เมื่อท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นว่า กิเลสมากจริงๆ ถ้ายังไม่เห็น ก็หมายความว่า สติไม่ได้ระลึกรู้ และไม่รู้ว่าที่หลงลืมสตินี้มากมายสักเท่าไร แต่ขณะใดที่สติระลึก ก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ที่สภาพธรรมนั้นกำลังเป็นอย่างนั้น

ถ้าโลภะเกิดขึ้นปรากฏแล้วหลงลืมสติ ก็ไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมที่เป็นโลภะนั้น แต่เวลาที่โลภะเกิดขึ้น สติเกิดระลึกรู้ในลักษณะของสภาพความยินดี ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จะเห็นได้จริงๆ ว่า โลภะนี้มาก ไม่น้อยเลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ทางใจ ไม่ได้กระทำกายกรรมหรือวจีกรรม แต่ไม่ว่างที่จะไม่คิดเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และในขณะที่คิดเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่องสัตว์ เรื่องบุคคลต่างๆ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ มากมาย ในขณะนั้น ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น ในขณะนั้นก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล มากเหลือเกิน

ความรัก ความชัง ยังไม่หมดไปจากใจ มีทั้งความรัก ความชัง เต็มไปด้วยความตรึกนึกคิดถึงบุคคลนั้น ถึงเรื่องนั้น ก่อนที่จะล่วงออกไปเป็นกายกรรมและวจีกรรม เพราะฉะนั้น จะต้องขัดเกลาทันทีด้วยการที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือกิเลสใดๆ ก็ตามที่เกิดปรากฏในขณะนั้น

ข้อสำคัญที่สุด คือ ตามความเป็นจริง และตามความเป็นจริงของแต่ละคน แต่ละขณะ ไม่เหมือนกันเลย ต่างคนก็ต่างคิด เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริง คือ ขณะนั้น สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร กำลังปรากฏ สติระลึกรู้ทันทีในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงจะละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

บางคนคิดจะหลีกเลี่ยง ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ในขณะนั้น คิดว่าจะต้องไปทำอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีวันที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้

อาชีวัฏฐมกศีลเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านจะเป็นผู้ทราบเองว่า กิเลสที่ท่านมีอยู่ในจิตใจที่สะสมมา จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดกายทุจริต หรือวจีทุจริตขึ้นในขณะใดบ้าง

และสำหรับกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ นั้น ก็ได้กล่าวถึงแล้วในเรื่องของศีล ๕ ที่เป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๑ คือ ข้อมุสาวาท

สำหรับอาชีวัฏฐมกศีล จะขอกล่าวถึงวจีทุจริตต่อไป คือ เว้นจากการพูดส่อเสียด ซึ่งคงจะทราบด้วยตัวของท่านเองว่า ท่านมีบ้างไหมในชีวิตประจำวัน

การเว้นจากการพูดส่อเสียดนั้น คือ

ปิสุณาย วาจาย เวรมณี ได้แก่ เจตนาเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาที่ยังกายปโยคะและวจีปโยคะให้ตั้งขึ้น เพื่อทำลายคนเหล่าอื่น หรือเพื่อปรารถนาให้ตนเป็นที่รักของคนเหล่าอื่น แห่งบุคคลผู้มีจิตเศร้าหมอง ชื่อว่าปิสุณาวาจา

ความหมายของคำพูดส่อเสียด คือ เจตนาที่ยังกายปโยคะและวจีปโยคะให้ตั้งขึ้น เพื่อทำลายคนเหล่าอื่น นี่ต้องด้วยโทสะ หรือปรารถนาให้ตนเป็นที่รักของคนเหล่าอื่น นี่ด้วยโลภะ คือ มีความต้องการที่จะให้ตนเองเป็นที่รัก จึงมีปิสุณาวาจา เพื่อที่จะทำลายบุคคลอื่นไม่ให้เป็นที่รัก วจีทุจริตนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลส จึงทำให้เกิดปิสุณาวาจาขึ้น

ลองพิจารณาดูชีวิตประจำวัน คำพูดอย่างนี้มีบ้างไหม คำพูดที่ทำลายบุคคลอื่น หรือคำพูดที่ปรารถนาให้ตนเองเป็นที่รัก เคยพรรณนาคุณความดีของตนเองไหม ทำไมถึงจะต้องพรรณนาคุณความดีของตนเอง เพื่ออะไร เพื่อให้ตนเองเป็นที่รักของคนเหล่าอื่นหรือเปล่า

ถ้าพิจารณาจริงๆ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่อยู่เพียงในหนังสือ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่มี และถ้ารู้ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลกรรมอย่างไร เป็นวจีทุจริต หรือว่าเป็นวจีสุจริต สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ควรหรือไม่ควรในการที่จะกล่าววาจาอย่างนั้น แต่ถ้าสติไม่เกิดเลย ไม่พิจารณาเลย ไม่ระลึกรู้เลย ขณะที่พร่ำรำพันถึงคุณความดีของตนเอง ไม่รู้เลยว่าขณะนั้นจิตใจเป็นอะไร ผูกพันในตัวตน และปรารถนาที่จะให้ตัวเองนั้นเป็นที่รักของบุคคลอื่น ขณะใดที่พรรณนาถึงความห่วงใย ความหวังดี ความผูกพันของตนเองที่มีต่อบุคคลอื่น มุ่งประสงค์ที่จะให้บุคคลอื่นเห็น และตนเองก็จะเป็นที่รัก ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นกิเลสหรือไม่ ถ้าไม่เป็น จะต้องพูดไหม

บางคนกิเลสแรงถึงกับเป็นวจีทุจริต คือ มีเจตนามุ่งจริงๆ ที่จะทำลายบุคคลอื่นให้แตกแยกกัน หรือว่าให้ไม่เป็นที่รัก โดยกล่าวถึงบุคคลอื่นในแง่ร้ายต่างๆ ไม่ได้มองดูส่วนอื่นที่ดีเลย กล่าวติแม้ในการแต่งกาย กล่าวติแม้ในกิริยามรรยาท เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

ขอให้ระลึกรู้ว่า ตัวท่านเองมีวาจาอย่างนี้บ้างไหม ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร กล่าวด้วยเมตตา หรือกล่าวด้วยเจตนาที่จะมุ่งทำลายบุคคลอื่นไม่ให้เป็นที่รัก และถ้าไม่ขัดเกลา กิเลสเหล่านี้จะมากมายทับถมยิ่งขึ้นเท่าไร

เพราะฉะนั้น กิเลสทั้งหลายที่ล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา ก็จะประมาณให้รู้ถึงจิตใจ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดวาจาอย่างนั้นว่า กิเลสแรงกล้าถึงขั้นที่จะกระทำวจีทุจริตประการใดบ้าง การแก่งแย่งแข่งดีต่างๆ ในทางส่วนตัว หรือว่าในกิจการงาน หรือว่าในลาภ ในสักการะ ในยศ ในสรรเสริญต่างๆ เหล่านี้ ต้องมีกิเลสเป็นปัจจัย ทำให้วาจาอย่างนั้นเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ คำพูดเหล่านี้ก็ผ่านไป โดยไม่รู้ว่าในขณะนั้นจิตใจเป็นอย่างไร วาจาเป็นอย่างไร และกิเลสก็เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

ข้อความใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค สาเลยยกสูตร ข้อ ๔๘๔ มีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสกับพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านสาละว่า

ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง คือ เป็นผู้กล่าวเท็จ เป็นผู้ส่อเสียด เป็นผู้มีวาจาหยาบ เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ

สำหรับการเป็นผู้ส่อเสียด มีข้อความอธิบายว่า

คือ ได้ฟังข้างนี้แล้วนำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้าง หรือฟังข้างโน้นแล้วนำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก ยินดีในความแตกกันเป็นพวก และกล่าววาจาที่ทำให้แตกกันเป็นพวก

นี่เป็นการส่อเสียด คือ การทำลายบุคคลให้แตกแยกกัน แต่ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาด้วย ที่ว่า เป็นผู้ส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้วนำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้าง หรือฟังข้างโน้นแล้วนำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง

เจตนาอะไร เพื่อทำลายพวกข้างนี้ หรือเพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง ขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นใหญ่ ถ้าเป็นเรื่องที่จะทำให้ธรรมแจ่มแจ้ง ไม่มีเจตนาอย่างนี้ แม้ในครั้ง พระผู้มีพระภาค พระสาวกทั้งหลายที่ได้ฟังพวกเดียรถีย์แสดงธรรมที่ไม่ถูกต้อง ก็ได้ไปเฝ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคเพื่อความแจ่มแจ้งของธรรม ถ้าเพื่อประโยชน์ต่อธรรม เพื่อความแจ่มแจ้งแก่ธรรม นั่นเป็นกุศล

แต่ถ้าเพื่อการทำลาย อาจจะกลัวว่า บุคคลอื่นจะเด่น จะดี จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สักการะ ได้สรรเสริญ ถ้าเป็นเจตนาอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่า ผลของปิสุณาวาจานั้น ทำให้เกิดในอบายภูมิ

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565