แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 421

เจตนานี้สำคัญ บางท่านอาจจะไม่มีคำพูดที่จะสรรหามาเป็นผรุสวาจาได้ เพราะท่านไม่คุ้นเคย ไม่ชำนาญ ไม่ได้อบรมมาในเรื่องของผรุสวาจา แต่ใจนี้ประทุษร้ายอย่างแรงได้ เพราะฉะนั้น คำพูดใดๆ ถึงแม้ว่าจะไม่หยาบกระด้างเหมือนจอบเหมือนขวาน แต่กระนั้นถ้าเป็นคำพูดที่เกิดจากจิตที่ประทุษร้าย ก็เป็นผรุสวาจาด้วย

จิตใจเป็นเรื่องสำคัญ กิเลสอยู่ที่จิต ถ้าสติเกิดระลึกก็จะรู้ว่า ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ประทุษร้าย แม้ว่าท่านไม่สามารถสรรหาผรุสวาจาที่จะกล่าวเพราะไม่ได้สะสมมาที่จะกล่าวอย่างนั้น แต่ถ้าจะกล่าว ก็คงจะเท่าๆ กัน เพราะฉะนั้น แม้คำพูดนั้นจะไม่หยาบก็ถือว่าวาจานั้นเป็นผรุสวาจา เพราะเกิดจากจิตที่ประทุษร้าย

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ มีข้อความเรื่องการด่าและการบริภาษทั้งหลายว่า

คำว่า อกฺโกสกปริภาสกานิ ได้แก่ การด่าทั้งหลาย และการบริภาษทั้งหลาย อธิบายว่า ย่อมด่าด้วยอักโกสวัตถุ (เรื่องที่ด่า) ๑๐ อย่าง คือ ท่านเป็นโจร ๑ เป็นคนพาล ๑ เป็นคนหลง ๑ เป็นอูฐ ๑ เป็นโค ๑ เป็นลา ๑ เป็นสัตว์เกิดในอบาย ๑ เป็นสัตว์นรก ๑ เป็นดิรัจฉาน ๑ สุคติของท่านไม่มีพึง หวังทุคติเท่านั้น ๑

มากหรือน้อย อักโกสวัตถุ ๑๐ คำด่าทั้งหลาย คำบริภาษทั้งหลาย

ถ. อักโกสวัตถุ ความจริงบางคำ บางประเทศเขาไม่ถือ ผมว่าคำอะไรๆ นี้ แล้วแต่จะสมมติขึ้น

สุ. ถ้าจะประมวลคำหยาบและคำบริภาษทั้งหลายอาจจะเห็นว่า มีมากมายเหลือเกิน แต่ละภาษา แต่ละยุค แต่ละสมัยคงจะไม่พ้นจาก ท่านเป็นโจร ๑ จะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ก็อยู่ในเรื่องของเป็นโจร ๑ เป็นคนพาล ๑ เป็นคนหลง ๑ เป็นอูฐ ๑ เป็นโค ๑ เป็นลา ๑

จะไม่โกรธว่าเป็นอูฐ เป็นโค เป็นลา แต่ถ้าจะโกรธว่าเป็นสัตว์อย่างอื่น ก็ยังเป็นประเภทของดิรัจฉาน

ท่านเป็นสัตว์เกิดในอบาย ๑ เป็นสัตว์นรก ๑ เป็นดิรัจฉาน ๑ สุคติของท่านไม่มี พึงหวังทุคติเท่านั้น ๑

ประมวลคำบริภาษคำด่าทั้งหลายที่มุ่งจะให้ผู้ฟังเดือดร้อนไม่สบายใจ แล้วแต่ว่าท่านจะเดือดร้อนใจมากน้อยแค่ไหน ผู้ฟังจะรู้ว่าท่านเดือดร้อนใจ เพราะประการใดก็อาจจะใช้คำผรุสวาจาที่คิดว่า จะให้สมกับความโกรธ หรือความหยาบกระด้างของจิต

สำหรับผรุสวาจา มีองค์ ๓ คือ

๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นอันตนพึงด่า

๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ

๓. อกฺโกสนาติ การด่า

นี่เป็นองค์ ๓ ของผรุสวาจา บางท่านโกรธอยู่ในใจเงียบๆ อาจจะมีการนึกถึงคำที่ไม่เพราะหู แต่ว่าไม่ล่วงออกไป เพราะฉะนั้น ผรุสวาจาจึงมีองค์ ๓

สำหรับโทษของผรุสวาจา ถ้าเป็นผู้มีคุณมากก็โทษมาก ถ้าเป็นผู้มีคุณน้อยก็โทษน้อย

พิจารณาตัวท่านเองว่า เคยมีผรุสวาจาไหม ถามว่า เคยมีไหม ถ้าตรงต่อตัวเองตามความเป็นจริง ก็เคย ยังมีไหมเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ยังมีอยู่ ต่อไปจะมีไหม ก็ไม่แน่

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย แม้แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ รู้ทุกอย่างโดยปริยัติว่าอะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ มากน้อยเท่าไร แต่ทั้งๆ ที่รู้ ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นก็เกิด แต่ว่าสติสามารถที่จะเกิดขึ้น เพราะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง

ขณะที่กำลังสะสมความรู้ ความรู้ไม่ได้หนีหายไปไหนเลย แต่ว่าจะเพิ่มขึ้น อย่าให้ผิดปกติ เพราะถ้าผิดปกติจะไม่รู้ทั่วในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เวลาที่โกรธ มีผรุสวาจา ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่มีการละการยึดถือนามธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

ผรุสวาจาเป็นธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่สติจะต้องระลึกรู้ จึงจะละได้

อรรถกถา สัพพลหุสสูตร แสดงผลวิบากของผรุสวาจาว่า

ข้อว่า คำหยาบ เป็นคำไม่ประเสริฐ เสียงที่ไม่พึงใจ ความว่า เขาย่อมได้ฟังวาจาที่เป็นหนาม หยาบคาย เผ็ดร้อน ตัดความเยื่อใยในที่ที่ตนไปแล้ว ไม่ได้ฟังเสียงเป็นที่ชื่นใจ เป็นผลวิบากของผรุสวาจา

ไปที่ไหนบังคับให้ผู้อื่นไม่พูดผรุสวาจาได้ไหม ได้ยินแล้ว แม้ว่าท่านจะไม่ใช่บุคคลที่ถูกบริภาษ แต่กระนั้นวิบากกรรมที่ท่านได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้พร้อมที่จะได้ยินเสียงนั้น ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่พึงใจ และถ้าได้ฟังคำพูดอย่างนี้จะทำอย่างไร

สำหรับชีวิตประจำวันจริงๆ คงจะไม่มีใครพ้นจากผรุสวาจา บางทีท่านอาจจะกล่าวเองบาง ครั้งท่านไม่ได้กล่าวเอง แต่ได้ยินได้ฟังคำที่ระคายหู คำที่หยาบคาย คำซึ่งไม่เป็นที่ชื่นใจ ล้วนเป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้รับฟังแล้ว ยากที่จะให้จิตนี้ไม่เกิดความไม่แช่มชื่น แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในขณะนั้นจะรู้สึกได้ว่า ไม่ยึดถือ ไม่เดือดร้อนใจกับวาจาที่หยาบคาย วาจาที่ไม่เป็นที่รักนั้น แต่ถ้าขณะใดที่สติไม่เกิดขึ้น ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า จิตใจหวั่นไหวไปตามวาจาที่ได้ยินได้ฟัง และย่อมจะเดือดร้อนใจ

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเพื่อให้เห็นภัยของวัฏฏะ ซึ่งจะให้ประสบกับสิ่งที่พอใจเท่านั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าทุกท่านได้กระทำมาแล้วทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าขณะไหนกรรมใดจะให้ผล

ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ได้รับกระทบอารมณ์ที่น่ายินดี น่าพอใจ แต่ว่าเวลาที่เป็นผลของอกุศลกรรม ก็ย่อมจะได้รับอารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้างที่ไม่น่าพอใจ แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่ได้ฟังผรุสวาจา ขณะนั้นเป็นเพียงผลของอกุศลกรรมทางวาจาอย่างเบาที่สุด ถ้าเป็นอย่างหนัก ก็ทำให้เกิดในนรก

หลายท่านที่ได้รับผลของกรรมเกิดในนรกเป็นเวลานาน แต่ยังมีเศษของกรรมเหลืออยู่ เมื่อผลของกุศลกรรมทำให้เกิดในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์ ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ได้ยินได้ฟังผรุสวาจา ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมอย่างเบาที่สุด

ขุททกนิกาย อุทาน สักการสูตร มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารส่วนพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นผู้อันมหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ยำเกรง ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

ครั้งนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกอดกลั้นสักการะของพระผู้มีพระภาคและของภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุทั้งหลายในบ้านและในป่าแล้ว ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย ไม่ใช่ของสัตบุรุษ

ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพนับถือ บูชา ยำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นผู้อันมหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ยำเกรง ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวก อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น อดกลั้นสักการะของพระผู้มีพระภาคและของภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุสงฆ์ในบ้านและในป่าแล้ว ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราดเบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย ไม่ใช่ของสัตบุรุษ ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ท่านทั้งหลาย ผู้อันสุขและทุกข์ถูกต้องแล้ว ในบ้าน ในป่า ไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากตน ไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากผู้อื่น ผัสสะทั้งหลายย่อมถูกต้องเพราะอาศัยอุปธิผัสสะทั้งหลายพึงถูกต้องนิพพานอันไม่มีอุปธิเพราะเหตุไร ฯ

ท่านผู้ฟังจะเห็นกิเลสที่ทำให้เกิดผรุสวาจาได้ ความริษยาความปรารถนาในสักการะ ในลาภ ในการเคารพนับถือบูชาของบุคคลอื่น ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดผรุสวาจาได้ ทำให้เบียดเบียนบุคคลอื่นด้วยวาจา โดยเฉพาะแม้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่ควรจะเบียดเบียน แต่กำลังของกิเลสที่มีในใจ ก็ยังเป็นปัจจัยให้สามารถที่จะเบียดเบียนผู้นั้นได้

อรรถกถา จูฬกัมมวิภังคสูตร มีข้อความว่า

บทว่า อุปทุสฺสติ ได้แก่ เข้าไปด่าด้วยอำนาจความริษยานั้นเอง ชื่อว่า ประทุษร้ายอยู่

สองบทว่า อิสฺสํ พนฺธติ ย่อมผูกไว้ซึ่งความริษยา ดังนี้ ความว่า ความริษยาไม่หายไปดุจบุคคลมัดอยู่ซึ่งข้าวเหนียว ยาว กลาปํ ฉันใด ความริษยาตั้งอยู่ราวกะว่ามัดไว้ ฉะนั้น

ข้าวเหนียวนี่เหนียว แกะเท่าไรก็ไม่ออก ยากเหลือเกินที่จะออก เพราะฉะนั้น ถ้าใจของใครผูกไว้ด้วยความริษยา ความริษยาก็ติดแน่น ยากที่จะสลัดออก ผลคือ เข้าไปด่าด้วยอำนาจความริษยานั้นเอง

บทว่า อปฺเปสกฺโก คือ ผู้มีศักดาน้อย ความว่า ได้แก่ผู้ไม่มีบริวาร คือว่าย่อมไม่ปรากฏ ดุจลูกศรที่เขายิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น

บางท่านต้องการลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ แต่ไม่ทราบว่ากรรมอะไรเป็นเหตุที่จะให้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ลาภ ยศ สรรเสริญ

เมื่อไม่เข้าใจถึงกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ได้รับความเคารพ ยกย่อง นับถือ บูชา ลาภ สักการะ ก็เลยกระทำทุจริตกรรมด้วยผรุสวาจา แต่ผลของการกระทำด้วยความริษยาเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ก็ให้ผลตามควรแก่กำลังของความริษยานั้น คือ ทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีศักดาน้อย ไม่มีบริวาร คือ ย่อมไม่ปรากฏดุจลูกศรที่เขายิงไปในเวลากลางคืน มีใครมองเห็นไหมลูกศรที่ยิงไปในเวลากลางคืนไหม ไปจริงแต่ไม่ปรากฏให้คนอื่นเห็น คนที่ไม่มีบริวารก็เช่นเดียวกัน ซึ่งการไม่มีบริวารนั้นก็ด้วยอกุศลจิต ที่ประกอบด้วยความริษยานั่นเอง

ทุกท่านควรที่จะได้ระลึกถึงวจีกรรมที่มีอยู่ว่า เป็นคำพูดที่เป็นไปในลักษณะใดเพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อดับกิเลส ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรเลยที่จะดับกิเลสได้ และถ้าสะสมกิเลสไว้มากๆ ถึงแม้ว่าไม่อยากให้กิเลสเกิดเลย กิเลสก็ต้องเกิด แม้ว่าจะไม่พอใจที่จะกล่าวผรุสวาจา แต่เวลาที่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้ผรุสวาจาเกิด ผรุสวาจาก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้น เรื่องของวจีกรรมก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง

อรรถกถา อรณวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มีข้อความเรื่องคำพูดว่า

คำว่า เนวุสฺสาเทยฺย อปสาเทยฺย ความว่า ไม่พึงยกคำไรๆ ขึ้น คือ ไม่พึงรุกรานอะไรๆ กะบุคคลด้วยอำนาจแห่งตัณหาที่อาศัยเรือน

นี่เป็นคำพูดซึ่งมีอยู่ ถ้ายังมีตัณหา มีความพอใจในลาภ ในสรรเสริญ หรือว่าในบุคคลใดๆ ก็ตาม อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดแม้คำพูดที่รุกรานบุคคลอื่นนิดๆ หน่อยๆ บ้างไหม คำพูดที่รุกรานบุคคลอื่นอาจจะไม่ถึงกับเป็นผรุสวาจา แต่พอท่านรู้สึกว่าท่านเป็นผู้ชนะ หรือรุกรานผู้อื่นได้ด้วยวาจาอย่างไร วาจาอย่างนั้นจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปก่อนที่จะรู้สึกตัวก็เป็นได้

คำว่า สุมฺมุขา นาติขีณํ ได้แก่ ไม่พึงกล่าวคำหยาบ คือ คำที่กล่าวด้วยความเดือดร้อน ได้แก่ คำที่เศร้าหมอง

ขณะนี้ไม่มีคำหยาบเพราะใจไม่เดือดร้อน แต่เวลาที่ใจเดือดร้อน ผรุสวาจานั้นก็กล่าวออกไปได้ เพราะสภาพของจิตที่เดือดร้อน

เปิด  274
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566