แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 422

บทว่า สทุกฺโข ได้แก่ มีความทุกข์ด้วยวิปากทุกข์บ้าง กิเลสทุกข์บ้าง

บางท่านปรารภว่า มีความทุกข์ ก็ควรที่จะแยกได้ว่า ความทุกข์ที่มีอยู่นี้เป็น วิปากทุกข์ เป็นผลของกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว นั่นเป็นส่วนของผลของกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่ากิเลสทุกข์มีไหม คือ ความเร่าร้อนใจ ความไม่สบายใจ ความเดือดร้อนใจที่เกิดขณะที่ได้รู้อารมณ์ที่ไม่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สำหรับอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่ากรรมในอดีตได้กระทำแล้ว แต่กิเลสทุกข์นี้สามารถที่จะระงับบรรเทาละคลายได้ด้วยการระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของอกุศลจิต ซึ่งถ้าเกิดบ่อยๆ ก็สะสมไป ทำให้จิตของตนเองนั้นเศร้าหมอง ไม่สามารถจะดับความเศร้าหมองนั้นได้ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นรู้ว่า สภาพของจิตในขณะนั้นเป็นอกุศล

แต่ถ้าสติเกิดระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่ไม่ดี ซึ่งจิตที่ไม่ดีของตนเองในขณะนั้น บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้ นอกจากสติและปัญญาจะรู้ในขณะนั้นว่า เป็นสภาพที่เศร้าหมองไม่เป็นกุศล และจะทำให้จิตเศร้าหมองมากขึ้นถ้าสะสมมากขึ้น

ถ้ารู้อย่างนี้ คงไม่มีใครที่อยากจะสะสมสภาพของจิตที่เศร้าหมอง ซึ่งตนเองเท่านั้นที่จะบรรเทาให้ละคลายได้

บทว่า สอุปฆาโฏ ได้แก่ มีการกระทบกระทั่ง ด้วยการกระทบกระทั่ง ด้วยอำนาจวิบาก และการกระทบกระทั่งด้วยอำนาจกิเลสนั่นเอง คือว่า มีความเร่าร้อน

บทว่า มิจฺฉา ปฏิปทา ความว่า ข้อปฏิบัตินี้ เป็นอกุศลปฏิปทา

ถ้าปล่อยให้จิตเศร้าหมองเดือดร้อน เร่าร้อนด้วยกิเลส ไม่ระลึกรู้ในขณะนั้น ก็ไม่สามารถจะดับได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอกุศลปฏิปทา

สำหรับข้อความข้างต้นที่พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทาน ใน สักการสูตร ว่า ท่านทั้งหลายผู้อันสุขและทุกข์ถูกต้องแล้ว ในบ้าน ในป่า ไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากตน ไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากผู้อื่น

หนีไม่พ้น ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านในเมือง หรือว่าในป่าก็ตาม เวลาที่อกุศลกรรมให้ผล ก็ย่อมจะได้รับฟังผรุสวาจา แต่ถ้าไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากตน และไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากผู้อื่น คือ ถ้าไม่มีตัวท่าน และไม่มีบุคคลอื่น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดปรากฏแล้วดับไป จึงจะเห็นว่า ไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากตน และไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากผู้อื่น แต่ว่าถ้ายังมีตัวตน สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ย่อมเร่าร้อนขุ่นเคืองใจ

สำหรับชีวิตของทุกท่าน ก็ย่อมประสบทั้งอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นของธรรมดา เพราะว่าเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว แม้บุคคลผู้ประเสริฐสุด เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่พ้นจากการที่จะได้รับกระทบกับอนิฏฐารมณ์ แม้ ผรุสวาจา

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังถูกผรุสวาจาใดๆ ก็ตามกระทบกระทั่ง ขอให้ทราบว่าไม่ใช่ตัวท่านผู้เดียว ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมแล้วแต่กรรมที่ได้กระทำไว้แล้วทั้งสิ้น แม้บุคคลผู้ประเสริฐสุด เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังมีบุคคลที่เรียกพระองค์ว่า คนถ่อย

ขุททกนิกาย สุตตนิบาต วสลสูตรที่ ๗ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนคร สาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ก่อไฟแล้ว ตกแต่งของที่ควรบูชาอยู่ในนิเวศน์ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกใน พระนครสาวัตถี เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอัคคิกภารทวาชพราหมณ์ อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนโล้น หยุดอยู่ที่นั่นแหละสมณะ หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนถ่อย

พุทธศาสนิกชนสมัยนี้ใคร่ที่จะได้เฝ้า ได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ไม่รู้สึกเป็นสุขเลยที่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลและได้เข้าไปในบ้านของพราหมณ์นั้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นโทษของการสะสมความเห็นผิด ซึ่งควรที่จะปลาบปลื้มโสมนัสที่ได้เห็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สำหรับผู้ที่สะสมความเห็นผิดกลับเห็นว่า พระผู้มีพระภาคควรจะหยุดอยู่ที่นั่น ไม่ควรที่จะเข้าไปในบ้านของตน ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะเสียดายโอกาสของการเห็นของอัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ที่ไม่รู้คุณค่าว่า การที่จะได้มีโอกาสเห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นโอกาสที่ยากยิ่ง

เมื่ออัคคิกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า

ดูกร พราหมณ์ ก็ท่านรู้จักคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยหรือ ฯ

อัคคิกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อย ดีแล้ว ขอท่านพระโคดมจงแสดงธรรมตามที่ข้าพเจ้าจะพึงรู้จักคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยเถิด ฯ

ท่านผู้ฟังจะได้มีโอกาสได้ฟังว่า คนถ่อยนั้นเป็นอย่างไร หรือว่าธรรมที่เป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยนั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้พิจารณาตนเองว่า ท่านเป็นคนถ่อยบ้างหรือไม่ และถ้ายังคงเป็นอยู่ ก็อบรมเจริญธรรมฝ่ายกุศลที่จะดับความเป็นคนถ่อยเสีย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาประพันธ์นี้ว่า คนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่อย่างเลว มีทิฏฐิวิบัติ และมีมายา พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

มีทิฏฐิวิบัติ คือ มีความเห็นผิด ไม่ว่าจะมีความเข้าใจผิดในธรรม หรือในการปฏิบัติธรรม หรือในการบรรลุธรรมก็ตาม เป็นผู้ที่มีทิฏฐิวิบัติ และมีมายา พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

ประการต่อไปมีว่า คนผู้เบียดเบียนสัตว์ที่เกิดหนเดียว แม้หรือเกิดสองหน ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ

สำหรับสัตว์ที่เกิดหนเดียว คือ สัตว์ที่ไม่ได้เกิดในฟองไข่ แต่สำหรับสัตว์ที่เกิด สองหน ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในฟองไข่ เช่น นก ไก่ เป็นต้น

เป็นเรื่องของกาย เรื่องของวาจาทั้งนั้นสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ คนถ่อยนี้มีมากไหม ทีแรกอาจจะคิดว่าไม่ค่อยจะมีใครที่เป็นคนถ่อย แต่ถ้าฟังธรรมซึ่งจะเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อย จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสจะต้องเป็นผู้ที่ขัดเกลามากจริงๆ

ประการต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนเบียดเบียนเที่ยวปล้น มีชื่อเสียงว่าฆ่าชาวบ้านและชาวนิคม พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนลักทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ได้อนุญาตให้ในบ้านหรือในป่า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนที่กู้หนี้มาใช้แล้วกล่าวว่า หาได้เป็นหนี้ท่านไม่ แล้วหนีไปเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาสิ่งของเพราะอยากได้สิ่งของ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนถูกเขาถามเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุแห่งตนก็ดี เพราะเหตุแห่งผู้อื่นก็ดี เพราะเหตุแห่งทรัพย์ก็ดี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนผู้ประพฤติล่วงเกินในภริยาของญาติก็ตาม ของเพื่อนก็ตาม ด้วยข่มขืน หรือด้วยการร่วมรักกัน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนผู้ทุบตีด่าว่ามารดาบิดา พี่ชายพี่สาว พ่อตาแม่ยาย แม่ผัวหรือพ่อผัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนผู้ถูกถามถึงประโยชน์ บอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ พูดกลบเกลื่อนเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนทำกรรมชั่วแล้ว ปรารถนาว่าใครอย่าพึงรู้เรา ปกปิดไว้ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนผู้ไปสู่สกุลอื่นแล้ว และบริโภคโภชนะที่สะอาด ย่อมไม่ตอบแทนเขาผู้มาสู่สกุลของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนผู้ลวงสมณะพราหมณ์ หรือแม้วณิพกอื่นด้วยมุสาวาท พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

เมื่อเวลาบริโภคอาหาร คนผู้ด่าสมณะหรือพราหมณ์ และไม่ให้โภชนะ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนในโลกนี้ผู้อันโมหะครอบงำแล้ว ปรารถนาของเล็กน้อย พูดอวดสิ่งที่ไม่มี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนเลวทราม ยกตนและดูหมิ่นผู้อื่นด้วยมานะของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ

คนฉุนเฉียว กระด้าง มีความปรารถนาลามก มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่ละอาย ไม่สะดุ้งกลัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

คนติเตียนพระพุทธเจ้า หรือติเตียนบรรพชิต หรือคฤหัสถ์สาวกของพระพุทธเจ้า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

ผู้ใดแลไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญาณว่าเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้นแลเป็นคนถ่อย ต่ำช้า เป็นโจรในโลก พร้อมทั้งพรหมโลก

คนเหล่าใดเราประกาศแก่ท่านแล้ว คนเหล่านั้นนั่นแล เรากล่าวว่าเป็นคนถ่อย

บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ท่านจงรู้ข้อนั้น ตามที่เราแสดงนี้

บุตรของคนจัณฑาลเลี้ยงตัวเอง ปรากฏชื่อว่ามาตังคะ เป็นคนกินของที่ตนให้สุกเอง เขาได้ยศอย่างสูงที่ได้แสนยาก กษัตริย์และพราหมณ์เป็นอันมากได้มาสู่ที่บำรุงของเขา เขาขึ้นยานอันประเสริฐไปสู่หนทางใหญ่อันไม่มีฝุ่น เขาสำรอกกามราคะเสียได้แล้ว เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ชาติไม่ได้ห้ามเขาให้เข้าถึงพรหมโลก

พราหมณ์เกิดในสกุลผู้สาธยายมนต์ เป็นพวกร่ายมนต์ แต่พวกเขาปรากฏในบาปกรรมอยู่เนืองๆ พึงถูกติเตียนในปัจจุบันทีเดียว และภพหน้าก็เป็นทุคติ ชาติห้ามกันพวกเขาจากทุคติ หรือจากครหาไม่ได้

บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ฯ

ท่านผู้ฟังยังเป็นคนถ่อยอยู่คนละนิดคนละหน่อยบ้างหรือไม่ เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในความหมายของคำว่าคนถ่อย เพราะว่าชาติและตระกูลไม่สามารถที่จะห้ามกันคนที่มีกิเลสให้พ้นจากทุคติหรือครหาได้ ถ้าเป็นผู้ที่ตระกูลสูง แต่ว่ามีกรรมที่เป็นอกุศล ชาติตระกูลก็จะห้ามบุคคลนั้นให้พ้นจากทุคติหรือครหาไม่ได้ และชาติตระกูลก็ไม่สามารถที่จะห้ามกันคนที่เจริญกุศลไม่ให้ไปสู่สุคติได้

เพราะฉะนั้น คนถ่อย คือ คนที่ยังมีกิเลส และพราหมณ์ผู้ประเสริฐ คือ ผู้ที่ขัดเกลาละคลายกิเลสแล้ว

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนักๆ พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์ กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

จบ วสลสูตรที่ ๗

นี่เป็นอานิสงส์ของการฟังธรรม และผู้ที่จะเรียกคนอื่นว่าคนถ่อย ก็ควรที่จะระลึกได้ว่า ใครเป็นคนถ่อยกันแน่ ผู้ที่กล่าววาจาอย่างนั้นซึ่งยังมีกิเลสอยู่เป็นคนถ่อย หรือคนซึ่งเป็นผู้ที่ขัดเกลาละคลายดับกิเลสเป็นคนถ่อย ก็ควรที่จะได้ทราบ และจะเห็นได้ว่า เมื่ออัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ทราบชัดทีเดียวว่า ใครเป็นคนถ่อย และใครไม่ใช่คนถ่อย

เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะกล่าวผรุสวาจากับท่าน หรือว่าท่านจะได้ยินผรุสวาจาในขณะใด ซึ่งเป็นผลของกรรมในอดีตที่ทำให้ต้องได้รับกระทบกับวาจาซึ่งไม่เป็นที่รักอย่างนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เมื่อพร้อมจะเกิด ก็เกิดขึ้นเท่านั้นเอง แต่ข้อสำคัญคือว่า ต้องขัดเกลาธรรมเครื่องทำให้เป็นคนถ่อย จนกระทั่งเป็นผู้ที่ประเสริฐได้

ข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ภิกขุสังยุต ติสสสูตร ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นสภาพชีวิตที่เป็นไปกับความโลภ ความโกรธ ความทุกข์ต่างๆ เป็นธรรมดา เป็นของประจำในชีวิต แม้นานมาแล้วก็เป็นอย่างนี้ ปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องมีทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเพศคฤหัสถ์ หรือเพศบรรพชิตก็ตาม

ข้อความมีว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระติสสะผู้เป็นโอรสพระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาค เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่งเป็นทุกข์เสียใจ หลั่งน้ำตาอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระติสสะว่า ดูกร ติสสะ ไฉนหนอ เธอจึงมานั่งเป็นทุกข์เสียใจหลั่งน้ำตาอยู่ ฯ

ท่านพระติสสะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายกลุ้มรุมเสียดแทงข้าพระองค์ด้วยวาจาดุจประฏัก ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จริงอย่างนั้น ติสสะ เธอว่าเขาข้างเดียว แต่เธอไม่อดทนต่อถ้อยคำ ข้อที่เธอว่าเขาข้างเดียว ไม่อดทนต่อถ้อยคำนั้น ไม่สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา แต่ข้อที่เธอว่าเขาด้วย อดทนต่อถ้อยคำได้ด้วย นั่นแล สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ฯ

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า เธอโกรธทำไมหนอ เธออย่าโกรธ ติสสะ ความไม่โกรธเป็นความประเสริฐของเธอแท้จริง บุคคลย่อมประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกำจัดความโกรธ ความถือตัว และความลบหลู่คุณท่าน ดังนี้ ฯ

จบ ติสสสูตรที่ ๙

แม้ว่าจะเป็นพระสูตรสั้น แต่มีประโยชน์อะไรบ้างไหม ถ้าไม่มีประโยชน์ พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดง ซึ่งพระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่จะไม่พ้นจากผรุสวาจา บางทีได้รับฟังบ้าง บางทีกล่าวเองบ้าง เพราะฉะนั้น ก็ควรเป็นผู้ที่ไม่ว่าบุคคลอื่นข้างเดียว แต่ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อถ้อยคำของบุคคลอื่นด้วย

ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นถ้าสติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นไม่เดือดร้อนจริงๆ และบุคคลอื่นจะอัศจรรย์ว่า ทำไมท่านไม่โกรธ ทำไมท่านไม่เดือดร้อนใจ ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น เพราะเหตุปัจจัย เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ถ้าสติไม่เกิด ก็ต้องหวั่นไหว มีความเร่าร้อนใจ

เปิด  263
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565