แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 426

สำหรับบุคคลประเภทที่ ๕ คือ บุคคลที่มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร

แต่แม้กระนั้นคนที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ยังไม่พอใจในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยังเกิดความขุ่นเคืองใจในบุคคลเช่นนั้นได้ การที่จะละความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่มีน้ำใส มีน้ำอร่อยดี มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ ดาระดาดไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่างๆ บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน ระหายน้ำ เขาพึงลงสู่สระน้ำนั้น อาบบ้าง ดื่มบ้าง แล้วขึ้นมานั่งบ้าง นอนบ้าง ที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำนั้น แม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร แม้ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย เพราะอาศัยบุคคลผู้เป็นที่น่าเลื่อมใสโดยประการทั้งปวง จิตย่อมเลื่อมใส

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้แล ฯ

จบ อาฆาตวินยสูตรที่ ๒

สำหรับพระสูตรนี้ประมวลย่อลงมา คือ ไม่ใส่ใจถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น และพยายามระลึกถึงความดีของบุคคลอื่นที่มี แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่มีเลยทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจไม่บริสุทธิ์ ก็ควรจะเกิดความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความกรุณา ใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นละกายทุจริต อบรมกายสุจริต ละวจีทุจริต อบรมวจีสุจริต ละมโนทุจริต อบรมมโนสุจริต เพื่อว่าเมื่อเขาตายไป จะได้ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อย่าเกิดอกุศลจิตที่อยากจะให้เขาไปสู่นรก เพราะถ้าคิดอย่างนั้น ในขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตของท่านเอง

ท่านผู้ฟังกล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่า ยากที่จะไม่เกิดอกุศลในขณะนั้น และก็ยากเหลือเกินที่จะไม่กล่าวคำรุนแรง หรือว่าคำที่ไม่น่าฟัง ซึ่งสิ่งที่ยากนี้เป็นความยากในเบื้องต้น แต่ถ้าท่านอบรมการเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ในขณะที่กิเลสมีกำลัง ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะประการใดๆ ก็ตาม สติย่อมมีความชำนาญที่จะเกิดระลึกรู้ความควร ความไม่ควร สิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ในขณะนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า ท่านหวังว่าท่านจะทำได้ทันที หรือหวังว่า เมื่อท่านได้รับฟังข้อความที่เป็นประโยชน์อย่างนี้แล้ว จะพยายามนึก มนสิการอย่างนี้ แต่ที่จะเป็นไปได้จริงๆ นั้น ต้องอบรมด้วยการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา พรหมทัตตเถรคาถา มีข้อความว่า

ที่ไหนความโกรธจะพึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่โกรธ ผู้ฝึกตนแล้ว เลี้ยงชีพโดยชอบ ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ผู้สงบ ผู้คงที่

บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ จัดว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะความโกรธตอบนั้น

บุคคลผู้ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก

บุคคลใดรู้ว่าบุคคลอื่นโกรธแล้ว มีสติ สงบใจได้ บุคคลนั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ แก่ตนและบุคคลอื่น

ชนเหล่าใด เป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรม ชนเหล่านั้นย่อมสำคัญบุคคลผู้รักษาทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ตนและบุคคลอื่นว่า เป็นคนโง่เขลา ถ้าความโกรธเกิดขึ้น จงระลึกถึง พระโอวาทอันอุปมาด้วยเลื่อย ถ้าตัณหาในรสเกิดขึ้น จงระลึกถึงพระโอวาทอันอุปมาด้วยเนื้อบุตร ถ้าจิตของท่านแล่นไปในกามและภพทั้งหลาย จงรีบข่มเสียด้วยสติ เหมือนบุคคลห้ามโคที่ชอบกินข้าวกล้า ฉะนั้น

เห็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่ายังไม่เห็นด้วยบางประการที่ว่า บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ จัดว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะความโกรธตอบนั้น

เห็นด้วยไหม หรือว่าคนที่โกรธก่อนน่าจะเป็นคนเลว ทำไมคนที่เมื่อคนอื่นโกรธและเราโกรธบ้าง เราถึงจะเป็นคนเลวกว่าบุคคลนั้น คิดอย่างนี้หรือเปล่า เพราะว่าเวลาที่บุคคลใดโกรธ ก็เป็นอกุศลของบุคคลนั้น แต่กระนั้นเราก็ยังโกรธตอบสภาพของจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น ซึ่งถ้ามีการโกรธตอบ ก็ไม่มีทางสิ้นสุด ก็ต้องมีการตอบกันไปตอบกันมา ก็จะไม่เป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก

สงครามในใจของตัวเองนี้สำคัญที่สุด แต่โดยมากทุกท่านอยากจะชนะสงครามที่บุคคลอื่น ซึ่งเวลาที่กำลังจะชนะสงครามกับบุคคลอื่น ไม่ทราบเลยว่าเป็นการแพ้กิเลสของตนเอง แต่ถ้าจะชนะสงครามที่ชนะได้ยาก คือ ชนะกิเลสของตนเองในขณะนั้น เห็นโทษจริงๆ ว่า บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะว่าบุคคลผู้โกรธมีอกุศลจิตเกิดขึ้น แต่บุคคลผู้โกรธตอบทั้งๆ ที่เห็นว่าเป็นอกุศล ก็ยังให้อกุศลจิตของตนเกิดด้วย

บุคคลใดรู้ว่า บุคคลอื่นโกรธแล้ว มีสติ สงบใจได้ บุคคลนั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ แก่ตนและบุคคลอื่น

ข้อนี้ก็คงจะเห็นด้วย

ชนเหล่าใดเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรม ชนเหล่านั้นย่อมสำคัญบุคคลผู้รักษาทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ตนและบุคคลอื่นว่า เป็นคนโง่เขลา

ธรรมกับโลกย่อมจะมีความเห็นที่ต่างกัน สำหรับโลกไม่ยอมแน่ แต่สำหรับธรรมแสดงว่า ชนเหล่าใดเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรม ชนเหล่านั้นย่อมสำคัญบุคคลผู้รักษาทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ตนและบุคคลอื่นว่า เป็นคนโง่เขลา

ผู้ที่ยังไม่ได้อบรมรู้สึกว่า กระทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่จะได้จริงๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ฝึกหัด อบรม และเห็นโทษของกิเลสที่มีสะสมอยู่ในใจ และรู้ว่าหนทางเดียวที่จะละได้ก็ด้วยการที่สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สภาพของกิเลส สภาพของอกุศลทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรจะสะสมให้มากขึ้น

สำหรับผลของผรุสวาจา ถ้าบุคคลที่ท่านกล่าวผรุสวาจา เป็นผู้ที่มีคุณน้อย ก็มีโทษน้อย ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีคุณมาก ก็มีโทษมาก

อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต สุเนตตอนุสาสนีสูตร มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่อว่าสุเนตตะ เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็สุเนตตศาสดานั้นมีสาวกอยู่หลายร้อยคน เธอแสดงธรรมให้สาวกฟัง เพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก สาวกเหล่าใด เมื่อ สุเนตตศาสดากำลังแสดงธรรมเพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก ไม่ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไป ต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อสุเนตตศาสดากำลังแสดงธรรมเพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไป ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ฟังเผินๆ เหมือนกับสาวกของสุเนตตศาสดานั้น เพียงไม่ยังจิตให้เลื่อมใส เมื่อตายไป ต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่ขอให้คิดถึงความจริงว่า ผู้ใดก็ตามที่ไม่ยังจิตให้เลื่อมใส วาจาจะเป็นอย่างไร วาจาก็คงเป็นทุจริต มีการกระทบกระทั่งเปรียบเปรย ลบหลู่ดูหมิ่น และแม้ว่าสุเนตตศาสดาไม่ได้แสดงธรรมเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ เรื่องของอริยสัจ ๔ แต่ก็ไม่ได้แสดงธรรมที่ผิด แสดงธรรมให้สาวกฟังเพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก คือ สอนให้บุคคลนั้นมีความประพฤติสุจริตจนกระทั่งสามารถที่จะเป็นสหายของเทวดาชั้นพรหมโลกได้ ซึ่งก็เป็นกุศลขั้นหนึ่ง

เพราะฉะนั้น การที่จะให้บุคคลใดได้อบรมเจริญกุศล ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ว่าอย่าแสดงธรรมที่ผิด และให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นธรรมที่ถูก เช่น ข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด และแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก นั่นเป็นความเห็นผิด แสดงมิจฉามรรคเป็นสัมมามรรค เป็นการแสดงธรรมที่ผิด ไม่ใช่เป็นกุศล

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงศาสดาชื่อว่ามูคปักขะ ศาสดาชื่อว่า อรเนมิ ศาสดาชื่อว่ากุททาละ ศาสดาชื่อว่าหัตถิปาละ ศาสดาชื่อว่าโชติปาละ ศาสดาชื่อว่าอรกะ เป็นต้น โดยนัยเดียวกัน และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า พึงบริภาษศาสดาเจ้าลัทธิทั้ง ๗ นี้ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมด้วยหมู่สาวก ผู้นั้นจะพึงประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมากหรือ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

อย่างนั้นพระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า พึงบริภาษศาสดาเจ้าลัทธิทั้ง ๗ นี้ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมด้วยหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก แต่ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย ด่า บริภาษบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิคนเดียว ผู้นี้ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญมากกว่านั้นอีก ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเราไม่กล่าวความอดทนเห็นปานนี้ โดยเฉพาะในเพื่อนพรหมจรรย์ภายนอกจากธรรมวินัยนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่มีจิตประทุษร้ายในเพื่อนพรหมจรรย์เลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

จบ สุเนตตอนุสาสนีสูตรที่ ๙

พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่า บุคคลผู้มีจิตประทุษร้าย ด่า บริภาษศาสดาเจ้าลัทธิ ซึ่งเป็นผู้ที่ปราศจากความกำหนัดในกาม เป็นผู้ที่สอนเพื่อให้ถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นพรหมโลก ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก แต่ ถ้ามีจิตประทุษร้าย ด่า บริภาษบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ คือ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นพระอริยเจ้า ผู้นั้นย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมากยิ่งกว่านั้นอีก คือ ถ้านั้นเป็นผู้ที่มีคุณธรรมน้อย โทษก็น้อย คุณธรรมมาก โทษก็มาก

เพราะฉะนั้น บุคคลใดก็ตามเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่ควรมีจิตประทุษร้าย หรือด่าบริภาษบุคคลนั้น และยิ่งเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี มีการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมถูกต้อง ก็ไม่สมควรเลยที่จะมีจิตประทุษร้าย หรือด่า หรือบริภาษบุคคลเช่นนั้น แต่ข้อสำคัญ ท่านผู้ฟังก็จะต้องทราบว่า ธรรมใดเป็นธรรมที่ถูก และธรรมใดเป็นธรรมที่ผิด

ถ้าแสดงเรื่องของศีลว่าเป็นศีล เรื่องของทานว่าเป็นทาน เรื่องสมาธิว่าเป็นสมาธิ นั่นเป็นธรรมที่ถูก เป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นโทษ เพราะเหตุว่าเป็นการเกื้อกูลบุคคลอื่นให้เข้าใจ ให้อบรมเจริญกุศลที่ถูกต้องควรแก่เหตุและผล แต่ถ้าเป็นธรรมที่ผิด เช่น แสดงข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดว่าเป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูก แสดงมิจฉามรรคว่าเป็นสัมมามรรค นั่นผิด

. คำว่า ผรุสวาจา ครั้งก่อนพูดกันนัยหนึ่งว่า วาจาเพียงดังขวาน ผมเปิดพจนานุกรม ๔ ภาษา ผรุส ท่านแปลว่า หยาบคาย แต่ที่แปลว่า ขวาน ท่านมีอีกศัพท์หนึ่ง คือ ผรสุ สระอุอยู่คนละที่ ผรสุ ท่านแปลว่า ขวานหรือผึ่ง ผึ่งนี้พจนานุกรมภาษาไทยแปลว่า เครื่องถากไม้ชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายจอบ

สุ. ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ได้กรุณาค้นคว้าความรู้ที่เกี่ยวกับศัพท์ภาษาบาลีที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเพื่อความชัดเจน

เปิด  235
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566