แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 428

สุ. ชีวิตของท่านผู้ฟังก็ประสบพบเห็นบุคคลต่างๆ ได้ยินได้ฟังวาจาต่างๆ และวาจาที่ท่านได้ยินได้ฟังทางหู เป็นปัจจัยให้เวทนา คือ ความรู้สึกประเภทใดเกิดขึ้น เป็นอุเบกขาเวทนา หรือว่าโสมนัสเวทนา หรือว่าเป็นโทมนัสเวทนา

สำหรับการละคำหยาบคาย ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค สาเลยยกสูตร มีข้อความเรื่องความประพฤติธรรมทางวาจา ที่เป็นเว้นจากวาจาหยาบว่า

ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ชอบใจ

วาจาหยาบทั้งหมดไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเว้นได้ ละได้ เปลี่ยนเป็นวาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นที่นิยมตามความนิยมของชาวเมือง ก็เป็นการกล่าววาจาที่รู้จักกาลเวลา รู้จักบริษัท บุคคล สถานที่ ทำให้ขณะนั้น บุคคลที่ได้ยินได้ฟังไม่เดือดร้อนใจ

อีกสูตรหนึ่ง ใน ขุททกนิกาย ชาดก พรหมทัตตชาดก มีข้อความว่า

ดูกร มหาบพิตร ผู้ขอย่อมได้ ๒ อย่าง คือ ได้ทรัพย์หรือไม่ได้ทรัพย์ แท้จริง การขอมีอย่างนี้เป็นธรรมดา

เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า เรื่องของการขอ บางทีคนอื่นขอท่าน บางทีท่านก็มีธุระที่จะขอจากบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ก็ควรรู้จักการขอว่า การขอของท่านนั้นควรจะเป็นอย่างไร เพราะว่าการขอไม่ใช่จะสำเร็จทุกครั้ง บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องวางใจให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า อาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร มหาบพิตร ผู้เป็นใหญ่ในปัญจาลรัฐ บัณฑิตกล่าวถึงการขอว่า เป็นการร้องไห้ ผู้ใดปฏิเสธคำขอ บัณฑิตกล่าวคำปฏิเสธของผู้นั้นว่า เป็นการร้องไห้ตอบ

ถ้าไม่มีกิจธุระ ไม่มีความจำเป็น ไม่มีความลำบาก ใครๆ ก็คงไม่อยากจะขอคนอื่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีกิจธุระ มีความเดือดร้อน มีความจำเป็น การขอนั้น บัณฑิตจึงกล่าวถึงการขอว่า เป็นการร้องไห้ เป็นการแสดงถึงความทุกข์ เป็นการแสดงถึงความเดือดร้อน และ ผู้ใดปฏิเสธคำขอ บัณฑิตกล่าวคำปฏิเสธของผู้นั้นว่า เป็นการร้องไห้ตอบ ลำบากทั้งผู้ขอและผู้ที่ปฏิเสธคำขอด้วย เพราะว่าเมื่อไม่สามารถที่จะให้ผู้อื่นคลายทุกข์ หรือสมกับความตั้งใจ ตนเองก็ย่อมรู้สึกไม่สบายใจด้วย เพราะฉะนั้น การปฏิเสธ ก็เป็นการร้องไห้ตอบ

ข้อความต่อไปมีว่า

ชาวปัญจาลรัฐผู้มาประชุมกันแล้ว อย่าได้เห็นอาตมภาพผู้กำลังร้องไห้อยู่ คือกำลังขอ หรืออย่าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงกรรแสงตอบอยู่ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงปรารถนาขอเฝ้าในที่ลับ

นี่คือ การเห็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งตนซึ่งเป็นฝ่ายขอ และผู้ที่ถูกขอด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอถวายวัวแดงหนึ่งพัน พร้อมด้วยวัวจ่าฝูงแก่ท่าน อันอารยชนได้ฟังคาถาอันประกอบด้วยเหตุผลของท่านแล้ว ทำไมจะไม่พึงให้แก่ท่านผู้เป็นอารยชนเล่า

จบ พรหมทัตตชาดกที่ ๓

นี่เป็นข้อความจากชาดกซึ่งเป็นธรรมที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก สำหรับเรื่องราวก็ขอให้ท่านผู้ฟังศึกษาจากชาดก

เรื่องของการพูดคำที่ไม่หยาบคาย คำพูดที่อ่อนหวาน ก็ไม่น่าจะยาก ยิ่งรู้ว่ามีประโยชน์และฝึกหัดอบรมได้ ก็ควรที่จะฝึกหัดอบรม และควรจะทราบด้วยว่า ขณะที่ละวาจาหยาบคาย ขณะนั้นเป็นกุศลจิต และคำพูดอ่อนหวานก็ควรเป็นคำพูดจากใจจริง ที่เปี่ยมด้วยความเมตตาจริงๆ ซึ่งขณะใดที่ละเว้นคำหยาบคาย ผรุสวาจา ขณะนั้นเป็นกุศลที่จะให้ผลทำให้เกิดวิบากที่เป็นสุข

ใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ทวารปาลกวิมาน มีข้อความว่า

ท่านพระโมคคัลลานเถระได้ถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า

วิมานของท่านสูงมาก ทั้งยาวและกว้าง ๑๒ โยชน์ มียอด ๗๐๐ ยอด มีเสาล้วนแล้วด้วยแก้วมณี ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญกรรมอะไร

เทพบุตรนั้นอันพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีความปลาบปลื้มใจ จึงพยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกถามนั้นว่า

พันปีทิพย์เป็นอายุของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าได้ทำกุศลด้วยเหตุเพียงพูดอ่อนหวาน ประพฤติด้วยใจ บุคคลผู้ทำบุญด้วยเหตุเพียงพูดอ่อนหวาน และยังใจให้เลื่อมใสเท่านี้ จักดำรงอยู่ในชั้นดาวดึงส์นี้สิ้นพันปี และพรั่งพร้อมไปด้วยทิพยกามคุณ ข้าพเจ้ามีวรรณะงามเช่นนี้ เพราะบุญกรรมนั้น ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญกรรมนั้น

จบ ทวารปาลกวิมานที่ ๕

เพียงนิดเดียวที่ละเว้นผรุสวาจา เกิดกุศลจิต มีวาจาที่อ่อนหวาน ไม่ทำความเดือดร้อนใจให้คนอื่น เมื่อได้รับผลของกุศลกรรม ก็สามารถทำให้ปฏิสนธิในสุคติ ในสวรรค์ได้ และได้รับผลของกุศลกรรมนั้นถึงพันปีทิพย์

เพราะฉะนั้น กุศลแม้เพียงชั่วขณะเล็กน้อยอย่างไรก็ตาม ที่ท่านรู้สึกว่า เป็นกุศลที่ไม่ใหญ่โตอะไรเลย เพียงแต่วาจาที่อ่อนหวาน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนใจ ก็อย่าประมาทในกุศลเล็กๆ น้อยๆ นั้น และควรที่จะอบรมเจริญจริงๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมการละเว้นผรุสวาจา จิตใจของท่านย่อมไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าคนที่รับฟังคำของท่านไม่เดือดร้อนใจ จึงไม่นำความเดือดร้อนใจมาให้ท่านซึ่งเป็นผู้กล่าวด้วย

แต่ถ้าท่านกล่าวผรุสวาจา คนอื่นเดือดร้อนใจ ท่านเห็นกิริยาอาการความเดือดร้อนใจของบุคคลอื่น ท่านเองก็ย่อมจะได้รับความเดือดร้อนด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กุศลทุกประการควรเจริญ

สำหรับเรื่องของคำพูด พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทแก่ภิกษุอยู่เสมอ เพราะเหตุว่าการพูดเป็นชีวิตประจำวันของทุกคน และเวลาพูด ส่วนมากเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าไม่ระลึกรู้ในขณะนั้นจะไม่ทราบเลย เพราะเหตุว่าวจีทุจริตนั้นมีหลายประการ

ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุภาษิตสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และวิญญูชนไม่พึงติเตียน องค์ ๔ เป็นไฉน คือ ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมกล่าวแต่คำที่เป็นสุภาษิต ไม่กล่าวคำที่เป็นทุพภาษิต ๑ ย่อมกล่าวแต่คำที่เป็นธรรม ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม ๑ ย่อมกล่าวแต่คำอันเป็นที่รัก ไม่กล่าวคำอันไม่เป็นที่รัก ๑ ย่อมกล่าวแต่คำสัตย์ ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ นี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และวิญญูชนไม่พึงติเตียน ฯ

ในวันหนึ่งๆ ย่อมกล่าวแต่คำที่เป็นวาจาสุภาษิตหรือเปล่า ไม่กล่าวคำที่เป็นทุพภาษิต หรือว่ามีทั้ง ๒ อย่าง ย่อมกล่าวแต่คำที่เป็นธรรม ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม ย่อมกล่าวแต่คำอันเป็นที่รัก ไม่กล่าวคำอันไม่เป็นที่รัก ย่อมกล่าวแต่คำสัตย์ ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ

ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศล มีความประพฤติที่สะอาด ที่เป็นธรรมทางวาจา ท่านก็จะมีองค์ ๔ ที่เป็นคำสุภาษิต ที่เป็นธรรม ที่เป็นที่รัก ที่เป็นคำสัตย์ แต่บางท่านไม่ได้ขัดเกลาความประพฤติธรรมทางวาจา เพราะฉะนั้น บางครั้งก็คงจะกล่าวคำที่เป็นทุพภาษิต ที่ไม่เป็นธรรม ที่ไม่เป็นที่รัก และเป็นคำเหลาะแหละ

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

สัตบุรุษทั้งหลาย ได้กล่าวคำอันเป็นสุภาษิตว่า เป็นคำสูงสุด บุคคลพึงกล่าวแต่คำที่เป็นธรรม ไม่พึงกล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม ข้อนั้นเป็นที่ ๒ บุคคลพึงกล่าวคำอันเป็นที่รัก ไม่พึงกล่าวคำอันไม่เป็นที่รัก ข้อนั้นเป็นที่ ๓ บุคคลพึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงกล่าวคำเหลาะแหละ ข้อนั้นเป็นที่ ๔ ฯ

ลำดับนั้นแล ท่านพระวังคีสะลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระธรรมเทศนาย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่ พระสุคต พระธรรมเทศนาย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร วังคีสะ ธรรมเทศนาจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด ฯ

ลำดับนั้นแล ท่านพระวังคีสะได้ชมเชยด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรในที่เฉพาะ พระพักตร์ว่า

บุคคลพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นเครื่องทำตนให้เดือดร้อน และไม่พึงเบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นเป็นสุภาษิตแท้

บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รัก อันชนชื่นชม ไม่ถือเอาคำอันลามก กล่าววาจาอันเป็นที่รักของผู้อื่น

คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของเก่า สัตบุรุษทั้งหลายตั้งมั่นแล้วในคำสัตย์ที่เป็นอรรถและเป็นธรรม

วาจาที่พระพุทธเจ้าตรัส เป็นวาจาเกษม เพื่อบรรลุนิพพาน เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดทุกข์ วาจานั้นแล เป็นวาจาสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย ฯ

จบ สุภาษิตสูตรที่ ๓

ถ้าท่านผู้ฟังสงสัยว่า วาจาอย่างไรชื่อว่า เป็นวาจาสุภาษิต วาจาสุภาษิตนั้นคือ บุคคลพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นเครื่องทำตนให้เดือดร้อน และไม่พึงเบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นเป็นสุภาษิตแท้

แม้เป็นเรื่องของวาจาสุภาษิต แต่ก็เป็นไปโดยลำดับ จนถึงขั้นของการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ตามข้อความตอนท้ายที่กล่าวว่า วาจาที่พระพุทธเจ้าตรัส เป็นวาจาเกษม เพื่อบรรลุนิพพาน เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดทุกข์ วาจานั้นแล เป็นวาจาสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย คำพูดมีมาก แต่ว่าคำพูดที่มีประโยชน์จริงๆ คือ วาจาซึ่งกล่าวเพื่อบรรลุนิพพาน

วาจาสุภาษิตนี้ ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาต่อไปจะเห็นว่า เป็นคำจริงที่สามารถจะทำให้บรรลุถึงนิพพานได้ และวจีทุจริตนี้ ก็จะค่อยๆ บรรเทา ละคลายได้เป็นลำดับขั้น จนสามารถจะดับได้เป็นสมุจเฉทตามขั้นของการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่จะละหรือจะดับวจีทุจริตได้ตามความปรารถนา เช่น ผรุสวาจา ถ้าไม่โกรธก็ไม่กล่าว แต่ถ้าโกรธ ยับยั้งไม่ได้แล้ว

เพราะฉะนั้น แม้แต่วาจาหยาบ วาจาที่ไม่เป็นที่รัก วาจาซึ่งทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ต้องแล้วแต่การรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่จะทำให้ละวจีทุจริตเป็นลำดับขั้นไป

สำหรับการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น สามารถดับได้เพียงมุสาวาท คำเท็จ คำไม่จริงเท่านั้น แต่ยังมีวจีทุจริตอื่นอยู่ เมื่อเจริญอบรมปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว จึงจะดับปิสุณาวาจาและผรุสวาจาได้ สำหรับสัมผัปปลาปวาจา พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะละได้

และที่จะรู้ว่าจะดับได้หรือไม่ได้ จะขัดเกลาได้หรือไม่ได้ จะบรรเทาละคลายได้หรือไม่ได้ ก็จากชีวิตประจำวันนี้เอง ซึ่งท่านก็จะพิสูจน์ธรรมได้ว่า วจีทุจริตเหล่านี้ยังมีอยู่หรือไม่ เมื่อยังมีอยู่ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นหรือไม่ ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ ก็ไม่สามารถที่จะละวจีทุจริตเหล่านี้ได้ ต่อเมื่อใดอบรมเจริญปัญญา สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงจะค่อยๆ ละคลาย บรรเทา ขัดเกลา และก็ดับได้ตามควรแก่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถ. บาลีมีคำว่า มุสาวาทะ คือ กล่าวคำเท็จ บาลีมีเท่านี้ ทำไมถึงมี ปิสุณาวาท ผรุสวาท สัมผัปปลาปวาท มาจากไหน

สุ. มาจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓

กายกรรม ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร

วจีทุจริต ๔ ได้แก่ มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปวาจา

เพราะฉะนั้น การละกิเลส ก็ควรที่จะละจนหมด แต่ว่าเมื่อละไม่ได้ทีเดียวหมดก็แล้วแต่ความสามารถที่จะละได้ เช่น ผู้ที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็ควรที่จะรักษาศีล ๕ ได้แก่ การเว้นปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และการดื่มสุรา นั่นเป็นศีล ๕ สำหรับอุบาสก อุบาสิกา

แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ควรอบรมเจริญปัญญาที่จะละแม้กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ซึ่งมีอาชีพเป็นเหตุด้วย ที่เป็นอาชีวัฏฐมกศีล

ถ. กรรมบถ ๑๐ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ก็จำแนกไป ศีล ๕ ก็มุสาวาทเท่านั้น ทำไมเอากรรมบถ ๑๐ มารวมกับศีล ๕ เป็นองค์ ๔

สุ. ไม่ได้รวม เรื่องศีล ๕ จบไปแล้ว ตอนนี้เป็นศีล ๘ เพิ่มขึ้นอีกที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้นตามความสามารถที่จะกระทำได้ เพราะถ้าจะละ จะคลาย จะบรรเทา จะดับกิเลสเป็นพระอริยเจ้า ก็ไม่ควรที่จะพอใจเพียงแค่ละมุสาวาทเท่านั้น คำพูดใดที่เกิดเพราะอกุศลจิต และสติระลึกได้ ก็ควรที่จะขัดเกลาพร้อมกันไปด้วย

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ศีล ๕ ขณะนี้เป็นศีล ๘ ที่มีอาชีวะเป็นเหตุ เป็นอาชีวัฏฐมกศีล ถ้าพูดถึงศีล ๕ ก็เว้นมุสาวาทเท่านั้น แต่ขณะนี้กำลังพูดถึงอาชีวัฏฐมกศีลสำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ควรที่จะละกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔

เปิด  293
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566