แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 434

ถ. สัตบุรุษ ไม่ถูกถามก็พยายามพูดถึงความดีของผู้อื่น แต่ความเสียหายของผู้อื่น แม้ถูกถาม สัตบุรุษก็พยายามอ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ผู้อื่นรู้ จริงอยู่ จิตขณะนั้นก็เป็นกุศล ข้อนี้แน่นอน แต่ว่าคำพูดที่อ้อมค้อม ที่หน่วงเหนี่ยว ปิดความจริงไว้นี้ คำพูดนั้น ไม่น่าเป็นสัมมาวาจาเลย

สุ. ชีวิตตามความเป็นจริง รู้เรื่องความเสียหายของคนอื่นบ้างไหม ก็รู้ เป็นประโยชน์ไหมในการที่จะกล่าวให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย หรือว่าไม่มีประโยชน์เลย เป็นเรื่องของเขาจริงๆ ถ้าคนอื่นๆ รู้ ก็จะเพิ่มอกุศลมากมาย มีแต่วาจาที่ต่อกันไปต่อกันมา โดยที่ไร้ประโยชน์

นี่เป็นความจริง และเป็นชีวิตจริงด้วย ซึ่งก่อนที่จะกล่าวควรจะพิจารณาแต่ละเรื่อง แต่ละรายว่า มีประโยชน์บ้างไหม ถ้าไม่มีประโยชน์ ก็เว้น ไม่กล่าวเลย ซึ่งเวลาที่สติเกิด ก็สามารถจะให้เป็นไปในทางที่ควรได้ทุกประการ

บางครั้งเรื่องผ่านไปแล้ว แต่คนที่สะสมสติมาที่จะพิจารณาสภาพธรรม ก็ยังย้อนระลึกได้ว่า ได้ทำสิ่งที่ควรหรือไม่ควรประการใด แม้ว่าขณะที่กระทำสติไม่เกิดจริง สติเกิดช้า เกิดทีหลัง แต่ก็ยังพิจารณาเพื่อละเว้นได้ว่า ที่กระทำผ่านไปแล้วไม่เหมาะไม่ควรประการใด ซึ่งก็ยังเป็นประโยชน์ แม้ว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ก็เป็นสติขั้นที่พิจารณารู้ว่า อย่างไรควร อย่างไรไม่ควร อย่างไรเป็นกุศลควรเจริญ อย่างไรเป็นอกุศลควรละ

ท่านผู้ฟังเขียนถามมาว่า ทราบความประพฤติของสามีว่า พรั่งพร้อมด้วยสุรา นารี พาชี และถูกภรรยาของผู้นั้นสอบถามถึงความประพฤติต่างๆ เหล่านั้น เราก็บอกเล่าโดยละเอียดให้ภรรยาของผู้นั้นทราบ อย่างนี้จัดเป็นอสัตบุรุษหรือไม่

เรื่องของใจ ละเอียด ลึกซึ้ง คนอื่นล่วงรู้ได้ยาก ถ้าจะดูเพียงการกระทำภายนอก ผิวเผิน จะไม่แน่นอนเท่ากับสติที่ระลึกรู้ได้ในขณะนั้นว่า เป็นจิตประเภทใด คนที่กำลังบรรยายโดยละเอียดให้ภรรยาของผู้นั้นทราบ ขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร ผู้นั้นรู้ดีว่าเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านผู้ถามเจริญสติระลึกรู้ ถ้าก่อนจะพูดสติเกิดพร้อมปัญญาที่รู้ความควรและไม่ควร ก็จะรู้ได้ว่า จะพูดหรือจะไม่พูด จะพูดมากหรือจะพูดน้อย จะพูดละเอียดหรือไม่พูดละเอียด จะพูดเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์หรือรวมส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วย ก็แล้วแต่กำลังของกิเลส ซึ่งอกุศลนี้จะผลักดันให้เป็นวจีทุจริตประการใด ประกอบด้วยกิเลสอกุศลแรงกล้าอย่างไร ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นจริงตามการสะสมของบุคคลนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้นที่จะทราบได้ ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล ก็รู้ว่าเป็นอกุศล

เรื่องของคำพูดมีมาก ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องของคำพูดไว้มาก ทรงโอวาทเพื่อที่จะให้พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นวจีทุจริตทุกประการ

ข้อความใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อรณวิภังคสูตร ณ พระวิหาร เชตวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องการพูดที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ แต่พระสูตรนี้ยาวมาก จะขอกล่าวถึงข้อความบางประการ

ข้อ ๖๖๐ มีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น พึงรู้วาทะลับหลังใดไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด

แม้รู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น และรู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น

เป็นชีวิตจริงใช่ไหม ซึ่งตรงกับข้อความที่เขียนถามมาว่า ทราบความประพฤติของสามีว่า พรั่งพร้อมด้วยสุรา นารี พาชี และถูกภรรยาของผู้นั้นสอบถามถึงความประพฤติต่างๆ เหล่านั้น เราก็บอกเล่าโดยละเอียดให้ภรรยาของผู้นั้นทราบ อย่างนี้จะจัดเป็นอสัตบุรุษหรือไม่

นี่เป็นวาทะลับหลัง แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงรู้วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด

ถ้าไม่จริง ไม่กล่าวเลย เพราะฉะนั้น ที่รู้นี้จริงแค่ไหน ถ้าจริงหรือเท็จยังไม่ทราบ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ข้อความต่อไปที่ว่า แม้รู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น ทรงเพ่งเล็งถึงประโยชน์ สำคัญที่สุด และรู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น

ครบทุกประการ ถึงแม้ว่าจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น

แสดงให้เห็นว่า เรื่องของคำพูดต้องระวังจริงๆ และให้เป็นประโยชน์จริงๆ มิฉะนั้น ท่านไม่ทราบเลยว่า จะเกิดความเสียหายกับคนอื่นมากน้อยสักแค่ไหน อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ได้ อาจจะมีเรื่องใหญ่โตร้ายแรงเกิดขึ้นก็ได้จากคำพูดเพียงไม่กี่คำ โดยความไม่ระวังของท่าน

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น พึงรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด

แม้รู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น และรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว ฯ

แม้แต่วาทะ หรือคำพูดลับหลัง หรือคำล่วงเกินต่อหน้า ก็ต้องระวังไปทุกประการสำหรับผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงโอวาทแม้ภิกษุผู้มีชีวิตอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะทรงทราบชัดถึงการสะสมของจิตของภิกษุแต่ละรูปว่า มีการสะสมมาต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส สะสมมาอย่างไร แม้ว่าจะบรรพชาอุปสมบทแล้ว ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เป็นวจีทุจริตประการต่างๆ ซึ่งจะต้องขัดเกลาจริงๆ พร้อมด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นตามความเป็นจริง จึงจะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่อไป

ข้อความต่อไป

ข้อ ๖๖๑

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น เมื่อรีบด่วนพูด กายก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูดก็ไม่สละสลวย ไม่พึงรู้ชัดได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น เมื่อไม่รีบด่วนพูด กายไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ แม้คำพูดของผู้ที่ไม่รีบด่วนพูดก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว ฯ

ยังจะรีบด่วนพูดอีกไหม ก็แล้วแต่ปัจจัยอีกเหมือนกัน บังคับบัญชาอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว มีหน้าที่ที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้จริง จึงจะละได้

ข้อความต่อไป

ข้อ ๖๖๒

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสีย นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภาชนะนั่นแลในโลกนี้ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปาตี ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปัตตะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปิฏฐะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าสราวะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าหโรสะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าหนะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปิปิละ ภิกษุพูดปรักปรำโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะนั้นกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า อย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่า เป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และไม่เป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภาชนะนั่นแลในโลกนี้ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปาตี ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปัตตะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปิฏฐะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าสราวะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าหโรสะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าหนะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปิปิละ ภิกษุพูดโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ อย่างไม่ใช่ความแน่ใจว่า เป็นอันท่านผู้มีอายุทั้งหลายพูดแก่ข้าพเจ้าหมายถึงภาชนะนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญ นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว ฯ

ข้อสำคัญที่สุด คือ อย่าให้เข้าใจสภาพธรรมผิด คลาดเคลื่อน จะใช้คำพูดตามภาษาของชนบท หรือภาษาอื่นที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจธรรมได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง นั่นเป็นจุดประสงค์ของการแสดงธรรมหรือการกล่าวธรรม แต่ถ้าใช้คำที่ทำให้คนอื่นเข้าใจสภาพธรรมผิด ก็ควรที่จะแก้ และพยายามใช้คำที่จะให้ผู้อื่นสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ไม่เห็นผิด เข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อนไปจากลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของวาทะลับหลัง

ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นธรรมมีทุกข์ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นการปฏิบัติผิดๆ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์

คือ ขณะใดที่มีวาทะลับหลัง ซึ่งไม่จริง ไม่แท้ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นธรรมที่มีทุกข์ เพราะเป็นกิเลส มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นการปฏิบัติผิด และธรรมนั้นยังมีกิเลสต้องรณรงค์ ซึ่งเป็นกิเลสของตัวเอง เป็นปัจจัยที่จะให้กล่าววาทะลับหลังที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

แม้วาทะลับหลัง จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นธรรมมีทุกข์ มีความเร่าร้อน มีการประพฤติผิด ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์

ส่วนวาทะลับหลังซึ่งจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์

เป็นเรื่องของกิเลสซึ่งทุกคนจะทราบดีด้วยตัวเองว่า มีมากน้อยแค่ไหน และการที่จะละกิเลสนั้นๆ ยากแค่ไหน ไม่ใช่ของที่จะละได้โดยง่ายเลย ท่านที่มีสัมผัปปลาปวาจามากๆ ละเร็วๆ ได้ไหม ไม่มีทางเลย แต่ข้อแรก คือ ต้องรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และละวจีทุจริตที่เป็นมุสาวาทให้เป็นสมุจเฉทก่อน

ข้อความใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค สาเลยยกสูตร ข้อ ๔๘๔ พระผู้มีพระภาคตรัสกับพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านสาละว่า

ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง คือ เป็นผู้กล่าวเท็จ เป็นผู้ส่อเสียด เป็นผู้มีวาจาหยาบ เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ

สำหรับข้อที่ว่า เป็นผู้เพ้อเจ้อ มีข้อความว่า

เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีที่ตั้ง ไม่มีหลักฐานที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร

ส่วนความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ อย่าง คือ ละการพูดเท็จ ละวาจาอันส่อเสียด ละวาจาหยาบ ละการพูดเพ้อเจ้อ

สำหรับข้อที่ว่า เป็นผู้ละการพูดเพ้อเจ้อ มีข้อความว่า

เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูด พูดตามจริง พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ พูดเรื่องที่เป็นธรรม พูดเรื่องที่เป็นวินัย และกล่าววาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างได้ มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร

เรื่องของสัมผัปปลาปวาจา และการละเว้นสัมผัปปลาปวาจาในพระไตรปิฎก จะมีข้อความตรงกันอย่างนี้ ไม่ใช่หมายความว่า ไม่ให้พูด แต่หมายความว่า ให้พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่าเข้าใจผิดว่า สัมผัปปลาปวาจาเป็นการพูดเพ้อเจ้อ เพราะฉะนั้น ที่จะเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อได้ คือ ไม่พูดเลย ถ้าเข้าใจอย่างนั้นไม่ถูก

ขอให้ดูชีวิตของพระอรหันต์ตามความเป็นจริงว่า ท่านพูดไหม แต่คำพูดนั้นๆ เป็นสิ่งที่ควรพูด ถูกกาละ และเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในข้อของเพ้อเจ้อ ไม่ใช่มุสา แต่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริง หรือยังไม่เป็นจริง เช่น บางท่านอาจจะบอกว่า ถ้าถูกสลากกินแบ่งจะทำอะไรบ้าง ยังไม่เป็นจริง แต่เพ้อฝันไปแล้ว เป็นสัมผัปปลาปวาจา

บางท่านกล่าวว่า ต้องเว้นสัมผัปปลาปวาจาด้วยการไม่พูด เพราะฉะนั้น เวลาเจริญสติปัฏฐานจึงไม่พูด นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ถ้าใครเจริญสติปัฏฐานและเว้นสัมผัปปลาปวาจา ไม่พูด ตลอดชีวิตนี้จะทำอย่างไร เป็นชีวิตจริงหรือเปล่า ทรงแสดงไว้ที่ไหนว่า ให้กระทำอย่างนั้น ก็ไม่มี

การศึกษาธรรมต้องพิจารณาเหตุผลจริงๆ และพิสูจน์สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงจะรู้อรรถของพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าหมายความถึงอะไร

สำหรับเรื่องของสัมผัปปลาปวาจา เพื่อที่จะให้เข้าใจชัดเจนละเอียดขึ้น ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต กถาวัตถุสูตร ข้อ ๕๐๗ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ พูดถ้อยคำปรารภถึงอดีตกาลว่า อดีตกาลได้มีแล้วอย่างนี้ ๑ พูดถ้อยคำปรารภถึงอนาคตกาลว่า อนาคตกาลจักมีอย่างนี้ ๑ พูดถ้อยคำปรารภถึงปัจจุบันกาลว่า ปัจจุบันกาลย่อมมีอย่างนี้ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา ไม่เฉลยโดยส่วนเดียวซึ่งปัญหาที่ควรเฉลยโดยส่วนเดียว ไม่จำแนกเฉลยซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกเฉลย ไม่สอบถามเฉลยซึ่งปัญหาที่ควรสอบถามเฉลย ไม่หยุดปัญหาที่ควรหยุด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา ย่อมเฉลยโดยส่วนเดียวซึ่งปัญหาที่ควรเฉลยโดยส่วนเดียว ย่อมจำแนกเฉลยซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกเฉลย ย่อมสอบถามเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรสอบถามเฉลย ย่อมหยุดปัญหาที่ควรหยุด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด

เปิด  247
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566