แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 435

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลผู้ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่ดำรงอยู่ในฐานะและ อฐานะ ไม่ดำรงอยู่ในปริกัป (คือ ความตรึก ความดำริ ความพิจารณาเนื้อความและเหตุผล) ไม่ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง ไม่ดำรงอยู่ในปฏิปทา เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ดำรงอยู่ในฐานะและ อฐานะ ดำรงอยู่ในปริกัป ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง ดำรงอยู่ในปฏิปทา เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่องนอกราว แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความเสียใจให้ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่องนอกราว ไม่แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความเสียใจให้ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าควรพูด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดฟุ้งเฟ้อ พูดวุ่นวาย หัวเราะเยาะ คอยจับผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่พูดฟุ้งเฟ้อ ไม่พูดวุ่นวาย ไม่หัวเราะเยาะ ไม่คอยจับผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบบุคคลว่า มีอุปนิสัยหรือว่าไม่มีอุปนิสัย ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ผู้ที่ไม่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนไม่มีอุปนิสัย ผู้ที่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนมีอุปนิสัย เมื่อเขาเป็นผู้มีอุปนิสัย ย่อมจะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะละซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเขารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง กำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ละธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะถูกต้องวิมุตติโดยชอบ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การสนทนามีข้อนี้เป็นประโยชน์ การปรึกษาหารือมีข้อนี้เป็นประโยชน์ อุปนิสัยมีข้อนี้เป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟังมีข้อนี้เป็นประโยชน์ คือ จิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ฯ

ชนเหล่าใดเป็นคนเจ้าโทสะ ฟุ้งซ่าน โอ้อวด เจรจา ชนเหล่านั้นมาถึงคุณที่มิใช่ของพระอริยเจ้า ต่างหาโทษของกันและกัน ชื่นชมคำทุพภาษิต ความพลั้งพลาด ความหลงลืม และความปราชัยของกันและกัน ก็ถ้าบัณฑิตรู้จักกาลแล้ว พึงประสงค์จะพูด ควรเป็นคนมีปัญญา ไม่เป็นคนเจ้าโทสะ ไม่โอ้อวด มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใจเบาหุนหันพลันแล่น ไม่เพ่งโทษ กล่าวแต่ถ้อยคำที่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมพูดกัน และประกอบด้วยธรรมซึ่งพระอริยเจ้าพูดจากัน เพราะรู้ทั่วถึงได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น เขาจึงพาทีได้

บุคคลควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต ไม่ควรรุกรานในถ้อยคำที่กล่าวชั่ว ไม่ควรศึกษาความแข่งดี และไม่ควรยึดถือความพลั้งพลาด ไม่ควรทับถม ไม่ควรข่มขี่ ไม่ควรพูดถ้อยคำเหลาะแหละ เพื่อรู้ เพื่อเลื่อมใส

สัตบุรุษทั้งหลายจึงมีการปรึกษาหารือกัน พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมปรึกษา หารือกันเช่นนั้นแล นี้การปรึกษาหารือของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมธาวีบุคคลรู้เช่นนี้แล้ว ไม่ควรถือตัว ควรปรึกษาหารือกัน ฯ

ถ้าท่านพิจารณาข้อความใน กถาวัตถุสูตร จะเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมถึงบุคคลผู้ควรพูดว่า บุคคลที่ควรพูดนั้นควรเป็นอย่างไร เพราะว่าถ้าไม่เป็นไปด้วยกุศลจิตที่เป็นธรรมแล้ว จะเป็นคำเพ้อเจ้อ เป็นสัมผัปปลาปวาจา ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย พร้อมกันนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมถึงผู้ฟังว่า เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยหรือว่าไม่มีอุปนิสัย เพราะว่าผู้ที่มีอุปนิสัยนั้น ย่อมจะรู้ได้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะละธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง

นี่คือประโยชน์ของการฟังธรรม ฟังแล้วเข้าใจ และกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง คือสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ควรรู้ที่เข้าใจแล้วว่า สติจะระลึกรู้สภาพธรรมนั้นอย่างไร และย่อมจะละธรรมอย่างหนึ่ง คือ ในขณะที่ปัญญาเกิด รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ละความสงสัย ความเข้าใจผิด ความเห็นผิด ความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน

ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง คือ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเขารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง กำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ละธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะถูกต้องวิมุตติโดยชอบ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การสนทนามีข้อนี้เป็นประโยชน์ การปรึกษาหารือมีข้อนี้เป็นประโยชน์ อุปนิสัยมีข้อนี้เป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟังมีข้อนี้เป็นประโยชน์ คือ จิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ฯ

และผู้ที่จะได้ประโยชน์จริงๆ คือ ผู้ที่สะสมการไตร่ตรอง การพิจารณาเหตุผลถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเป็นอุปนิสัยมาแล้ว จึงสามารถที่จะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการฟังธรรม

ถ. มีผู้ที่มีความสงสัยเป็นอันมาก ซึ่งท่านได้ฟังการโต้ตอบระหว่างท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกับท่านอาจารย์ ท่านปรารภว่า มีผู้ที่ถามเรื่องอิริยาบถ ทำไมท่านอาจารย์ สุจินต์กลับไปถามเขาว่า ที่ยืนอยู่นี่ เห็นไหม ได้ยินไหม ก็เขาถามอิริยาบถ ทำไปไปถามเขาว่า เห็นไหม ได้ยินไหม ทำไมไม่ตอบให้ตรงคำถาม

ผมก็เรียนว่า ท่านผู้นั้นท่านไม่ได้ถามถึงอิริยาบถในกายานุปัสสนา แต่ถาม ลอยๆ เรื่องอิริยาบถเฉยๆ ท่านอาจารย์ก็เลยถามว่า ยืนอยู่นี่ เห็นไหม ได้ยินไหม ท่านก็ว่า เขาถามเรื่องอิริยาบถ จะมีอื่นได้อย่างไร นอกจากในกายานุปัสสนาเท่านั้นเอง เขาต้องการทราบตรงนี้ ทำไมตอบเฉไฉไปทางอื่น ท่านว่าอย่างนั้น

ผมได้ฟังมาอย่างนี้ ก็มาเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบ คือ เขาต้องการจะทราบเรื่องอิริยาบถ ๔ ที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานว่า รู้รูปอะไร รู้นามอะไร เขาต้องการทราบเท่านั้น เขาว่าอย่างนี้ครับ

ถ2. สมมติว่า ผมเป็นท่านผู้นั้น จะมาซักถามเรื่องรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน รูปนอน ผมขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การที่จะไปกำหนดท่านั่ง หรือรูปยืน รูปเดิน รูปนอนนั้น ท่านอาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร เป็นการกำหนดรูปหรือมิใช่ครับ

สุ. ที่จะรู้ว่าเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนี้ ต้องมีลักษณะอาการปรากฏให้รู้แต่ละลักษณะ ขอเรียนถามท่านผู้ฟังว่า มีลักษณะของรูปใดที่ปรากฏในอิริยาบถที่กำลังนั่ง ถ้าท่านกำลังนั่ง

ถ. อิริยาบถที่นั่ง ไม่ใช่รูปใดรูปหนึ่งในรูป ๒๘ ความจริงเป็นอย่างนั้นตาม ที่ผมศึกษามา แต่ท่านผู้ถามและท่านนักศึกษาส่วนมากยังสงสัยอยู่ ซึ่งความจริงรูป ๒๘ ไม่มีรูปนั่ง

ที่ผมมาเรียนถามท่านอาจารย์ ก็เพื่อช่วยคลี่คลายความสงสัยว่า การที่ไปกำหนด หรือไปดูรูปนั่ง ท่านั่ง เพื่อที่จะให้รู้อะไร

สุ. ท่านั่งเป็นอย่างไรที่จะไปกำหนดได้ ในเมื่อทุกคนกำลังนั่งอยู่ และที่จะรู้ว่าเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ต้องมีลักษณะของรูปปรากฏ ซึ่งสามารถที่จะรู้ด้วยว่า ปรากฏทางทวารไหน และลักษณะของรูปนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตอบเฉยๆ ว่า รูปนั่ง ท่านั่ง เพราะการที่จะรู้ว่าเป็นรูปธรรมนั้นต้องชัดเจน คือ มีลักษณะแต่ละลักษณะปรากฏจริงๆ ทางทวารไหน

เวลานี้กำลังนั่ง รูปใดที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ขอลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏของรูป

ถ. ลักษณะจริงๆ ของรูปนั่ง ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ได้ยินบางท่านบรรยายว่า ที่จะรู้ท่านั่ง รูปนั่งได้ ท่านบอกว่ารู้ทางใจ แต่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

สุ. ถ้าศึกษาปรมัตถธรรมโดยละเอียด จะทำให้เข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่กล่าวว่า รูปรู้ทางใจ ขอให้ทราบว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้ สีสันวัณณะปรากฏให้จิตรู้ทางจักขุทวารและก็ดับไป ภวังคจิตเกิดต่อหลายขณะ แต่เพราะการกระทบกันของสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่ทำให้รู้สีสันวัณณะทางจักขุทวารนั้นเอง เป็นปัจจัยให้มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ คือ รูปใดปรากฏทางใจต้องมีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏสืบต่อ

ในขณะนี้มีมโนทวารวิถีจิตเกิดสลับทั้งทางตา ทางหู ถ้ามีกลิ่นปรากฏ ก็ทางจมูก มโนทวารวิถีก็จะต้องเกิดต่อสลับ ทางลิ้น ทางกาย ทั้งหมด

ถ. หมายความว่า ถ้าเราเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส หรือทางกายได้รับสัมผัส คือ ทางปัญจทวาร ซึ่งเมื่อเกิดกับเราแล้ว ต้องผ่านทางมโนทวารทุกครั้งไป ใช่ไหมครับ

สุ. ใช่ค่ะ เพราะฉะนั้น ทางใจที่ว่ารู้รูป จะไม่พ้นจากขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มโนทวารวิถีจิตจะต้องรับรู้อารมณ์เหล่านี้ต่อจากทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร

ถ. การที่เรากำหนดท่านั่ง ท่านว่ารู้ได้ทางใจ ท่านอาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร

สุ. ลักษณะอาการของท่านั่งเป็นอย่างไรที่จะปรากฏทางใจ นั่งอยู่นี่ อ่อนแข็งปรากฏ หรือท่านั่งปรากฏ ที่กายนี้

เรื่องของอิริยาบถบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของการระลึกรู้รูปที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ ลักษณะสภาพปรมัตถธรรมจริงๆ ที่ปรากฏที่กายคืออะไร เย็นไหม ปรากฏหรือไม่ปรากฏที่กาย เย็นมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ เย็นเป็นท่าได้ไหม หรือว่าเป็นแต่เพียงลักษณะที่เย็น

ลักษณะที่เย็นเป็นของจริง เป็นอนัตตา เพราะว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะที่เย็นนั้นให้เป็นอย่างอื่น ไม่สามารถที่จะบังคับไม่ให้ลักษณะที่เย็นปรากฏได้ ตราบใดที่มีกาย จะต้องมีลักษณะเย็นปรากฏ ร้อนปรากฏ อ่อนปรากฏ แข็งปรากฏ ตึงปรากฏ ไหวปรากฏ เป็นลักษณะจริงๆ ที่รู้ได้ที่กาย

เพราะฉะนั้น เวลาระลึกรู้ที่กายขณะนี้ ไม่ใช่ให้นึกถึงท่าทาง แต่ว่าอ่อนกำลังปรากฏที่ส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้นึกถึงเลย ซึ่งลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏที่กาย ไม่ว่าจะกระทบสัมผัสกายขณะใด หรือว่าระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กายขณะใด จะไม่พ้นจากเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นลักษณะจริงๆ โดยไม่ต้องนึก และลักษณะที่อ่อนก็ไม่ใช่ตัวตน แข็ง ตึง ไหว ร้อน เย็น ทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน

ทำไมไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะเพียงอ่อน เพียงแข็ง เพียงเย็น เพียงร้อน เพียงตึง เพียงไหว และบังคับบัญชาไม่ได้ เปลี่ยนแปลงให้เป็นลักษณะอื่นก็ไม่ได้

นี่คือความหมายของอนัตตา ซึ่งไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่ให้นึกเป็นท่าทาง แต่อ่อนที่ปรากฏไม่รู้ เย็นที่ปรากฏไม่รู้ แข็งที่ปรากฏไม่รู้ แต่ไปนึกรู้ขึ้นมาว่า ท่าทางที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ตัวตน

ถ. ที่ท่านอาจารย์อธิบายมาก็เข้าใจ แต่ความจริงในขณะที่เรานั่งก็รู้ว่า เก้าอี้แข็ง บางทีมีลมพัดมา เราก็รู้ว่าเย็น แต่เมื่อเรานั่งนานๆ เราก็รู้สึกว่าเคร่งตึง เป็นเรื่องของวาโยธาตุ แต่การที่ไปเพ่ง หรือไปกำหนดว่า ท่านั่งอยู่อย่างนี้ พอจะสงเคราะห์ได้ว่า เราไปยึดบัญญัติมาเป็นอารมณ์ หรืออย่างไรครับ

สุ. เป็นความทรงจำ ซึ่งทรงจำไว้ในลักษณะอาการที่เคยจำได้ว่า ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในลักษณะอย่างนั้น แต่ไม่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ

ถ. ถ้าเช่นนั้น ที่ไปกำหนดโดยยึดอย่างนั้น ก็เท่ากับว่า ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาหรืออย่างไรครับ ไปดูท่านั่ง ก็เท่ากับว่า ไปทำให้เกิดสมาธิขึ้นนั่นเอง

ถ. ไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังมีจุดประสงค์ที่จะไปดูท่านั่งให้เป็นความทรงจำขึ้นมาเพื่ออะไร เพราะถ้าจะพิจารณาในชีวิตจริงของท่านว่า ท่านติดในอะไร ยึดถือในอะไร ท่านติดในสิ่งที่ท่านเห็นทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ในรสที่ปรากฏทางลิ้น ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย หรือว่าในท่าทาง

เวลาที่ท่านอยากจะได้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา ท่านต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) หรือเปล่า

เพราะฉะนั้น การที่ท่านจะละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ก็เพราะรู้ความจริงในขณะนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน ทั้งสภาพของรูปที่ปรากฏ ก็เกิดขึ้นและดับไป และนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้รูปเหล่านั้น ก็เกิดขึ้นและดับไปด้วย ต้องอบรมเจริญปัญญาให้รู้จริงอย่างนี้ จึงจะละความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปทั้งหมดว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นท่าทาง เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้

แต่การที่ท่านจะไปนึกรู้ขึ้นว่า เป็นท่าทางที่กำลังนั่ง ไม่ใช่ตัวตน จะทำให้ท่านละการติด การยึดถือในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เหตุกับผลไม่ตรงกัน และจุดประสงค์ที่จะไปนึกรู้ว่า ที่นั่งอยู่นี่ ท่าทางอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตน เป็นการอบรมเจริญความรู้ในอะไร

ถ. ตามความเข้าใจของผม การทำเช่นนั้นทำให้เกิดสมาธินั่นเอง แต่บางท่านกล่าวว่า การไปกำหนดท่านั่ง หรือรูปนั่งนี้ เป็นรูปปรมัตถ์ หมายถึงวิการรูป ถ้าเรากำหนดวิการรูปมาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา อย่างนี้จะถูกต้องหรือไม่ครับ

สุ. วิการรูป ไม่ใช่สภาวรูป ไม่มีสภาพลักษณะของตนต่างหากไปจาก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะว่าวิการรูปนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะที่วิการหรือพิเศษ คือ เป็นความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

ถ. สรุปว่า วิการรูปเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไม่ได้ ความจริงท่านที่ศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๖ ว่าด้วยรูปปรมัตถ์ มีกล่าวไว้ว่า อนิปผันนรูป ๑๐ นั้นเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไม่ได้

ในวิสุทธิมรรคว่าด้วยการเจริญวิปัสสนา ว่าด้วยรูปขันธ์ ท่านอธิบายไว้ว่า ในรูป ๒๘ นั้น แต่ในนั้นท่านเขียน ๒๗ เพราะภาวรูปท่านนับเป็น ๑ ท่านกล่าวว่า ในรูป ๒๗ นั้น รูปที่จะเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้มีเพียง ๑๗ เท่านั้น ตัดอนิปผันนรูปออกเสีย ๑๐ ตำรามีอยู่อย่างนี้ แต่บางท่านยังบอกว่า วิการรูปนี้ดูได้ ดูวิการรูปนี้จนเป็นพระอรหันต์ก็เป็นได้ ท่านว่าอย่างนั้น

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาปรมัตถธรรม จะทราบได้ว่า ไม่เคยมีที่ไหนกล่าวไว้เลยว่า วิการรูป ได้แก่ ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน แต่วิการรูปเป็นลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานของมหาภูตรูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

เปิด  266
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566