แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 441

ข้อความต่อไปใน จิตตหัตถิสารีปุตตสูตร มีว่า

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เขากล่าวว่า เราได้จตุตถฌาน (แต่ว่า) ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนห้วงน้ำในที่ไม่ถูกลม ปราศจากคลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้คลื่นจักไม่มีปรากฏที่ห้วงน้ำแห่งโน้นอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูกร อาวุโส ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ ลมฝนที่แรงกล้าพึงพัดมาจากทิศตะวันออก ก็พึงพัดให้เกิดคลื่นขึ้นที่ห้วงน้ำแห่งนั้น ลมฝนที่แรงกล้าพึงพัดมาจากทิศตะวันตก ... จากทิศเหนือ ... จากทิศใต้ ก็พึงพัดให้เกิดคลื่นขึ้นที่ห้วงน้ำแห่งนั้น ฉันใด ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุจตุตตฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เขากล่าวว่า เราได้จตุตถฌาน (แต่ว่า) ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ฯ

ถ้ายังมีความโน้มเอียงในการคลุกคลีกับมิตรสหาย ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา และกิเลสยังมีกำลังแรง แม้ว่าบุคคลนั้นจะได้อบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงจตุตฌาน ก็ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ได้

ข้อความต่อไปแสดงให้เห็นถึงความเหนียวแน่นของกิเลสจริงๆ เพราะแม้ว่าบุคคลนั้นจะได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าปัญญายังไม่รู้แจ้งสภาพธรรมจนรู้แจ้งอริยสัจธรรม และกิเลสมีกำลัง ก็ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เขาย่อมกล่าวว่า เราได้เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต แต่ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์ เมื่อเขาคลุกคลีด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุยอยู่ ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวนแล้ว ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชา มีจตุรงคเสนาเดินทางไกลไปพักแรมคืนอยู่ที่ป่าทึบแห่งหนึ่ง ในป่าทึบแห่งนั้น เสียงจักจั่นเรไรพึงหายไปเพราะเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงพลเดินเท้า เสียงกึกก้องแห่งกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และพิณ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้ ที่ป่าทึบแห่งโน้น เสียงจักจั่นเรไร จักไม่มีปรากฏอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูกร อาวุโส ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ เมื่อใดพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาพ้นไปจากป่าทึบแห่งนั้น เมื่อนั้นเสียงจักจั่นเรไรพึงปรากฏได้อีก ฉันใด ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เขากล่าวว่า เราได้เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตแล้ว แต่ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุยอยู่ ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวนแล้ว ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ฯ

เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต คือ สมาธิที่เกิดร่วมกับวิปัสสนา ใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา จูฬสุญญตสูตร มีข้อความคำอธิบายว่า

ข้อว่า เจโตสมาธิ ได้แก่ จิตตสมาธิในวิปัสสนา จริงอยู่ ในสมาธินั้น ชื่อว่า ไม่มีนิมิต เพราะเว้นจากนิมิตว่าเที่ยง เป็นต้น

ข้อความต่อไปมีว่า

สมัยต่อมา ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ครั้งนั้น พวกภิกษุผู้เป็นสหายของบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตร ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโกฏฐิตะถึงที่อยู่ แล้วถามว่า

ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้กำหนดรู้ใจบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ๆ และจักลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ หรือเทวดาทั้งหลายได้แจ้งเนื้อความนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ๆ และจักลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

ท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กำหนดรู้ใจบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ๆ และจักลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ แม้เทวดาก็บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้า

ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้เป็นสหายของบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตร ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ๆ และได้ลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไม่นานนัก บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรจักระลึกถึงคุณแห่งเนกขัมมะได้ ฯ

ครั้งนั้นไม่นานเท่าไร บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรก็ปลงผมและหนวด นุ่งห่ม ผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตแน่วแน่ ไม่นานนักก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเทียวเข้าถึงอยู่ ได้ทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ก็แหละท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

จบ สูตรที่ ๖

จากพระสูตรนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นชีวิตที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิต ประจำวัน แม้ว่าท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรจะเป็นพระภิกษุ แต่ในเบื้องต้นท่านยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น กาย วาจาของท่านที่เป็นไปด้วยกำลังของกิเลส เช่น การกล่าวสอดแทรกพระภิกษุที่สนทนาอภิธัมมกถากันก็ย่อมมีได้ และเมื่อท่านลาสิกขาสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ แสดงให้เห็นว่า ท่านไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยเจ้า ซึ่งท่านอบรมเจริญทั้งสมถภาวนาและสติปัฏฐาน แต่ขณะที่ท่านกำลังอบรมเจริญสมถภาวนาและสติปัฏฐานนั้น อินทรีย์ยังไม่แก่กล้าที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังมีความโน้มเอียงของกิเลสที่สะสมมา ทำให้ท่านคลุกคลีกับบริษัททั้งหลาย เช่น ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นต้น เมื่อมีเหตุมีปัจจัยท่านก็ลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

แต่ผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่นานเท่าไรท่านก็อุปสมบทเป็นบรรพชิตอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าท่านได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมาในเพศของบรรพชิตเป็นอุปนิสัย และการอบรมเจริญสติปัฏฐานของท่านที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ไม่เพียงให้ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ท่านมีอุปนิสัยสะสมมาที่จะบรรลุคุณธรรมถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงบำเพ็ญเพียรในเพศของบรรพชิตและได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์

การอบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นกำลังที่สะสมจนกว่าจะถึงกาลที่สมควร ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมขั้นอนาคามีบุคคลในเพศคฤหัสถ์ หรือว่าขั้นอรหันต์ในเพศของบรรพชิต ซึ่งทุกท่านรู้จักตัวของท่านเองดีกว่าผู้อื่นว่า ชีวิตจริงของท่านเป็นอย่างไร และท่านควรเจริญสติปัฏฐานอบรมปัญญาตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมาจริงๆ ในเพศใด

เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น ที่จะทำให้รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมา จนถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้ามีการเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในข้อปฏิบัติ ไม่ตรงต่อสภาพธรรมที่ท่านได้สะสมมาตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถ. มีท่านผู้สนใจอบรมเจริญสติปัฏฐานท่านหนึ่ง ท่านมีปัญหาว่า ท่านทราบว่า นามก็ดี รูปก็ดี ย่อมมีลักษณะเฉพาะของตนๆ ไม่ปะปนกัน และนามรูปนั้นเองเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ท่านบอกว่า เมื่อนามก็ดี รูปก็ดีปรากฏขึ้น ท่านอดคิดไม่ได้ว่า นี่เป็นนาม นี่เป็นรูป และคิดต่อไปอีกว่า นามนี้ หรือรูปนี้เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่จริงนามรูปดับไปนานแล้ว แต่ท่านอดที่จะคิดเช่นนี้ไม่ได้ จะมีหนทางแก้ไขอย่างไร ท่านบอกให้ผมช่วยเรียนถามท่านอาจารย์

สุ. เพราะเหตุว่า ยังรู้ไม่ทั่ว ขณะนั้นไม่ทราบว่า ที่กำลังคิดก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ต้องแยกลักษณะของนามธรรมแต่ละประเภท แต่ละลักษณะด้วย เป็นเรื่องที่ต้องอบรมนาน จนกระทั่งเป็นความรู้จริงๆ ถ้ายังไม่ใช่ความรู้จริงๆ ก็ยังหมดความสงสัยไม่ได้ ยังสงสัยอยู่อย่างนี้ว่า ทำไมจึงต้องมีคิดขึ้นมา

คิด ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังรู้เรื่องที่กำลังคิด ซึ่งการยึดถือนามธรรมที่คิดว่าเป็นตัวตนนี้เหนียวแน่นเหลือเกิน ถ้าไม่เริ่มอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า สภาพที่คิดก็เป็นสภาพของนามธรรมประเภทหนึ่งเท่านั้น ก็จะไม่สามารถละการยึดถือการคิดนึกว่าเป็นตัวตนได้เลย

ถ. เรื่องคิด เรื่องพูดนี้ ผมก็เหมือนกัน อดไม่ได้ที่จะต้องคิด ถ้าไม่คิดก็ไม่รู้จะพิจารณาอย่างไร เช่น บางครั้งผมเห็นเนื้อก็ดี เห็นรูปคนก็ดี เห็นแขนตัวเองก็ดี ซึ่งใน สติปัฏฐานสูตร ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำให้พิจารณาโดยความเป็นปฏิกูลบ้าง พิจารณาโดยความเป็นธาตุบ้าง ถ้าเราเห็น และสำเหนียก สังเกตเฉยๆ ไม่คิด ไม่พูด ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า พิจารณาโดยความเป็นปฏิกูล หรือว่าจะพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ก็เห็นเฉยๆ เห็น จ้องอยู่อย่างนั้น ซึ่งถ้าเราจะพิจารณาโดยความเป็นปฏิกูลแต่ไม่คิด จะพิจารณาอย่างไร

สุ. ไม่ใช่ว่าต้องให้คิด สภาพธรรมทั้งหลายแม้แต่ความคิดนึก จะคิดนึกไปในธรรม ในสภาพธรรมที่ปรากฏก็ตาม เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย สร้างให้เกิดขึ้นด้วยความจงใจได้ไหม

ถ. หมายความว่า ถ้าเราจะพิจารณาโดยความเป็นปฏิกูล หรือว่าพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ก็จำเป็นจะต้องคิด เพียงแต่ว่าให้มีความรู้สึกตัว รู้ว่าความคิดนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

สุ. ความคิด ใครจะห้ามได้ จะเป็นกุศลหรืออกุศล จะคิดเป็นปฏิกูล หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นความคิดที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้น แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่เพียงรู้เฉยๆ สติระลึกรู้ในสภาพที่คิด ขณะนั้นรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น พระผู้มีพระภาคไม่เคยตรัสว่า ไม่ให้คิด เป็นไปได้อย่างไรที่จะห้ามคิด

ถ. ในพระไตรปิฎกมีมากมายที่บอกว่า ชีวิตฆราวาสนี้คับแคบ เมื่อเห็นชีวิตของฆราวาสคับแคบจึงออกบวชเป็นบรรพชิต คำว่า คับแคบ ในที่นี้หมายถึงอะไร

สุ. หมายถึงกิเลส

ถ. ถึงบวชก็ยังมีกิเลส

สุ. แต่ขัดเกลายิ่งขึ้นได้ ทางกาย ทางวาจากิเลสมีมาก ขัดเกลาได้ด้วยศีล ยิ่งขึ้นก็ได้ด้วยปัญญา ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ได้ จนกว่าจะหมด

ถ. ผมเป็นคนส่งของ ชีวิตฆราวาสย่อมจะมีกิจการงานมากกว่าบรรพชิตแน่นอน เท่าที่ผมปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน เท่าที่สังเกต ขณะที่จัดของขึ้นรถ หรือขณะที่จัดของลงจากรถมาหลายปีแล้ว นับเป็นพันๆ ครั้ง ไม่เคยมีสติเกิดขึ้นเลย ขณะที่จัดของขึ้นรถหรือจัดของลงรถ สติไม่เกิด ไม่รู้เป็นอย่างไร แต่ว่าเมื่อจัดของเสร็จแล้ว ขับรถไป หรือว่าจัดของเสร็จแล้ว กำลังจดรายการต่างๆ สติเกิดขึ้นได้ แต่ระหว่างจัดของ สติไม่เกิดเลย ผมเห็นว่า ความคับแคบคงจะอยู่ตรงนี้ใช่ไหม

สุ. ข้อความในอรรถกถาได้อธิบายความหมายของคำว่า คับแคบ ว่ามีความหมาย ๒ อย่าง คือ หมายความถึงกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และหมายความถึงนิวรณธรรม ได้แก่ อกุศลจิตอีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า คับแคบ

เวลาที่ท่านผู้ฟังสังเกตว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดสติไม่เกิด ก็เป็นเรื่องของการสังเกตของท่านเอง แต่ถ้าท่านอบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไปอีก สติก็ย่อมสามารถจะเกิดได้ แม้ในขณะที่ยังไม่เคยเกิด

เปิด  250
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565